ห้าปีกับหุ้นห้าประเทศ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

ห้าปีกับหุ้นห้าประเทศ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

VI ผู้มุ่งมั่นและหวังที่จะได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ “ดีมาก” จนทำให้ตนเองรวยหรือมี “อิสรภาพทางการเงิน” ได้ในชีวิตนั้น ผมคิดว่าเขาควรจะต้องสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้ได้อย่างน้อยปีละ 10% โดยเฉลี่ยแบบทบต้นใน “ระยะยาวมาก” คำว่าผลตอบแทนที่ดีมากนั้น ผมคิดว่าควรจะได้ปีละประมาณ 15% แบบทบต้นขึ้นไปซึ่งจะทำให้เงินทุกบาทเพิ่มขึ้นเป็นสองบาทในเวลาไม่เกิน 5 ปี ส่วนคำว่ายาวมากนั้น ผมคิดว่าต้องอย่างน้อย 20-30 ปีขึ้นไป

การที่จะสามารถลงทุนให้ได้ผลตอบแทนปีละ 10% ต่อปีแบบทบต้นในระยะยาวนั้น คนจำนวนมากมักจะคิดว่าเป็นเรื่องง่ายถึงง่ายที่สุด เหตุผลก็เพราะว่ามี “ผู้รู้” จำนวนมากบอกว่าการลงทุนในหุ้นระยะยาวโดยเฉลี่ยแล้วจะให้ผลตอบแทนปีละประมาณ 10% บางคนก็บอกว่า 12% แบบทบต้น ดังนั้น วิธีที่ง่ายก็คือ ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่อิงดัชนี เช่น กองทุน SET 50 เป็นต้น แต่นั่นเป็นเรื่องใน “อดีต” ของตลาดหุ้นไทย-และอเมริกา ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีเยี่ยมมายาวนาน แต่ “อนาคต” นั้นผมเองไม่คิดว่าเราจะโตแบบเดิมได้ ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยจะยังให้ผลตอบแทนถึงปีละ 10% แบบทบต้นไปอีกหลายสิบปีจึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัย เหตุผลของผมก็เพราะว่าประเทศที่เติบโตช้านั้น ตลาดหุ้นก็มักจะไม่ให้ผลตอบแทนที่ดี ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีเพราะตลาดหุ้นแทบไม่ได้ให้ผลตอบแทนเลยในช่วงน่าจะกว่า 20 ปีที่ผ่านมาหลังจากเศรษฐกิจ “เลิกโต” มานาน

ถ้าจะหวังพึ่งการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพียงอย่างเดียวจึงเป็นเรื่องที่อาจจะยากที่จะบรรลุเป้าหมายในการลงทุน การมองออกไปสู่ตลาดหุ้นต่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น VI โดยเฉพาะที่ยังหนุ่มสาวและมีความมุ่งมั่นและอาจจะเริ่มเห็นถึงความยากลำบากของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงเร็ว ๆ นี้บางคนจึงเริ่มออกไปลงทุนต่างประเทศ ตลาดหุ้นที่พวกเขาไปลงทุนเป็นเรื่องเป็นราวดูเหมือนว่าจะเป็นตลาดหุ้นสหรัฐและเวียตนามที่ “มาแรง” มากในช่วงเร็ว ๆ นี้ ผมเองก็ได้ออกไปลงทุนในเวียตนามบ้างและได้เขียนถึงบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม ในใจผมเองนั้น ตลาดหุ้นต่างประเทศที่น่าจะอยู่ในข่ายที่นักลงทุนควรสนใจติดตามยังน่าจะรวมถึงตลาดหุ้นในประเทศ AEC ที่ “รวมกัน” มากขึ้นและในอนาคตก็อาจจะเป็นเรื่องปกติที่จะมีการซื้อขายหุ้นจากประเทศหนึ่งสู่ประเทศหนึ่งได้ง่ายจนแทบเป็นตลาดเดียวกัน นอกจากนั้น การที่ประเทศในกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีการเติบโตที่รวดเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลก ก็น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราควรสนใจและอาจจะถือเป็นเป้าหมายในการลงทุนในโอกาสต่อไป

ประเทศที่ผมสนใจและอาจจะพิจารณาลงทุนแบบ VI ในระยะยาวใน AEC นั้นมี 5 ประเทศก็คือ ไทย เวียตนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย เหตุผลก็คือ ทั้ง 5 ประเทศนั้นมีระดับของการพัฒนาการทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน มีขนาดของเศรษฐกิจและ GDP ไม่ต่างกันมาก มีประชากรที่มากพอที่จะขับเคลื่อนให้บริษัทจดทะเบียนมีขนาดใหญ่และมีความหลากหลายพอที่จะลงทุนได้ และที่สำคัญที่สุด เป็นกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีตสูงติดระดับโลกและยังมีศักยภาพในการเติบโตต่อไปในระดับโลกอีกเช่นกัน

ผมจะลองมองดูภาพของเศรษฐกิจ การเงินและตลาดหุ้นของ 5 ประเทศนี้ย้อนหลังเพียง 5 ปี เนื่องจากการมองที่มากกว่านั้นคงต้องอาศัยหนังสือเป็นเล่ม

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น ผมเคยเขียนไว้ว่าตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนที่ “ดีมาก” แต่สำหรับ VI นั้น อาจจะถือว่าเป็น “ปีทอง” ทีเดียว อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผลตอบแทนทบต้นของตลาดหุ้นไทยใน 5 ปีที่ผ่านมานั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้ดีไปกว่าประเทศอื่น เราอยู่ในอันดับที่ 3 จาก 5 ประเทศ ตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดก็คือ ตลาดหุ้นเวียตนามที่ให้ผลตอบแทนจากราคาหุ้นประมาณ 12% และถ้ารวมปันผลก็คงไม่ต่ำกว่า 15% แบบทบต้น ตลาดหุ้นอันดับ 2 ก็คือ ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ที่ให้ผลตอบแทน 10.1% หรือถ้ารวมปันผลที่ผมคิดประมาณ 3% ทุกตลาด ก็จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นปีละ 13.1% ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทน 9.2% รวมปันผลก็ประมาณ 12.2% ตลาดหุ้นอันดับ 4 คือ ตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ให้ผลตอบแทน 7.1% หรือประมาณ 10.1% ต่อปี และตลาดหุ้นมาเลเซียที่ให้ผลตอบแทนน้อยมากที่ 2.6% หรือประมาณ 5.6% ต่อปีหากรวมปันผล

สิ่งที่กำหนดเรื่องของผลตอบแทนหุ้นในตลาดที่สำคัญตัวหนึ่งก็คือเรื่องของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมานั้น อัตราดอกเบี้ยของไทยเคยสูงสุดที่ 3.5% และลดลงมาต่อเนื่องจนล่าสุดอยู่ที่ 1.5% และนี่ก็คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนที่ดีมาก อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะลดลงอีกยาก ตลาดเงินของเวียตนามเองนั้น ดอกเบี้ยก็เคยสูงถึง 15% เมื่อประมาณ 4 ปีก่อนและก็ลดลงเรื่อย ๆ จนปัจจุบันอยู่ที่ 6.5% ซึ่งก็ยังถือว่าสูงอยู่ แต่โอกาสจะลดลงอีกในอนาคตก็อาจจะเป็นไปได้แม้ว่าในช่วงนี้ดูเหมือนว่าจะมีโอกาสไม่มาก ฟิลิปปินส์เคยมีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในช่วง 4-5 ปีก่อนที่ 4.5% แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 3% และดูเหมือนว่าจะไม่ผันผวนมากนัก อินโดนีเซียปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.75% ลดลงจากประมาณ 7.5% เมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่มาเลเซียนั้น อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3% และมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ดูจากเรื่องของอัตราดอกเบี้ยแล้วก็จะเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่อัตราดอกเบี้ยในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมานั้นลดลงเป็นสัดส่วนมากที่สุดและนั่นน่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้หุ้นขึ้นไปสูง เวียตนามเองก็มีอัตราดอกเบี้ยลดลงคิดเป็นตัวเลขสูงสุดหรือลดลงถึง 8.5% และนี่ก็คงมีส่วนสำคัญที่ทำให้หุ้นขึ้นไปได้สูงที่สุดในอาเซียน อินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์นั้นอัตราดอกเบี้ยลดลงมาในสัดส่วนพอ ๆ กันแต่ผลต่อการขับเคลื่อนราคาหุ้นก็อาจจะไม่มากนักเทียบกับไทยและเวียตนาม ในขณะที่มาเลเซียนั้นอัตราดอกเบี้ยแทบไม่มีส่วนในการดันราคาหุ้นขึ้นเลย และนั่นก็อาจจะเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นมาเลเซียให้ผลตอบแทนที่แย่ที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดของไทยและต่ำกว่าประเทศอื่นมาก ตลาดหุ้นไทยก็น่าจะเสี่ยงสูงที่สุดกับการปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ยในอนาคตซึ่งอาจจะทำให้หุ้นตกลงมาได้

การเติบโตของรายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP/ capita) ของ 5 ประเทศนั้น ผมคิดว่าน่าจะมีผลต่อการปรับขึ้นของราคาหุ้นในระยะยาว ตัวเลขของ 5 ประเทศนั้นก็น่าสนใจเริ่มจากประเทศไทยนั้นในช่วง 5 ปีมีการเติบโตขึ้นน้อยที่สุดที่เพียง 12.23% หรือคิดเฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นปีละประมาณเพียง 2.45% ดังนั้นปัจจัยพื้นฐานตัวนี้คงไม่ได้มีส่วนทำให้หุ้นไทยขึ้นมาค่อนข้างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตรงกันข้าม เวียตนามมีการเติบโตของรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในกลุ่มที่ 25.48% หรือเฉลี่ยปีละ 5.1% และนี่น่าจะมีส่วนสำคัญที่ผลักดันดัชนีให้ขึ้นไปสูงที่สุดในกลุ่มในขณะที่ฟิลิปปินส์ที่ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นสูงเป็นอันดับ 2 นั้นก็มีการเติบโตของรายได้ต่อหัวค่อนข้างสูงที่ 19.93% ประเทศที่ดูเหมือนจะแปลกก็คืออินโดนีเซียที่มีการเติบโตของรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงที่ 23.94% หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.79% รองจากเวียตนามเพียงเล็กน้อย แต่ดัชนีหุ้นหรือผลตอบแทนการลงทุนกลับมาอยู่ในอันดับที่สี่ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นอินโดนีเซียก่อนหน้านั้นมีการปรับตัวขึ้นมาแรงมากขึ้นไปถึง 200% ในเวลาเพียง 2 ปีซึ่งอาจจะทำให้ตลาดมีราคาแพงกว่าปกติและทำให้ 5 ปีต่อมาตลาดหุ้นขึ้นน้อยกว่าที่ควรเป็นแม้จะมีปัจจัยสนับสนุนที่ดี และสุดท้ายก็คือมาเลเซียที่รายได้ต่อหัวของประชาชนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้นมีการเติบโตน้อยมากที่ 13.49% หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 2.7% และนี่น่าจะมีส่วนที่ทำให้ตลาดหุ้นมาเลเซียในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้นเพิ่มต่ำที่สุดในกลุ่ม

ทั้งหมดก็คือข้อมูลของตลาดทั้ง 5 แห่งใน AEC ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเวียตนามนั้นจะมีปัจจัยที่ดีที่สุดใน 5 ปีที่ผ่านมาและปัจจัยดี ๆ ก็น่าจะคงอยู่ต่อไป ตลาดหุ้นไทยนั้นดูดีปานกลางแต่เกิดจากปัจจัยที่อนาคตดูไม่ยั่งยืนเช่นเรื่องของดอกเบี้ยต่ำเป็นหลัก มาเลเซียเองก็ดูไม่ดีนักเพราะทั้งรายได้ต่อหัวที่โตช้าและอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำมานาน ฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียนั้นดูเหมือนว่าทุกด้านจะใกล้เคียงกัน โดยที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นฟิลิปปินส์อาจจะดูดีกว่า แต่มองทางด้านปัจจัยที่จะขับดันดัชนีหุ้นนั้นอินโดนีเซียกลับดีกว่าเล็กน้อยนั่นคือรายได้ต่อหัวเติบโตสูงและอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูงกว่าเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม อนาคตของตลาดทั้งคู่ก็ดูน่าสนใจกว่าไทยและมาเลเซีย
leky
Verified User
โพสต์: 1803
ผู้ติดตาม: 1

Re: ห้าปีกับหุ้นห้าประเทศ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ผมว่าก่อนที่เราจะไปลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ๆ โดยเฉพาะ ถ้าเราคิดว่าประเทศนั้นจะเดินตามอย่างประเทศไทย ลองศึกษาประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ก่อนก็น่าจะดีครับ

ผมอยากลองให้ไปอ่านเล่มนี้กันครับ คนเขียนคืออ.วิกรม เกษมวุฒิ ที่ถือหุ้น SCC ตั้งแต่ IPO

https://www.se-ed.com/product/%E0%B8%99 ... 9749169254

ตลาดหุ้นไทยเอง ช่วงที่นิ่งมากไม่ไปไหนเลยบางช่วงก็กินระยะเวลาที่ยาวนาน

ความผันผวนอย่างรุนแรงของตลาดไทยในบางช่วง จากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ

การเร่งขึ้นของตลาดหุ้นไทย ที่มีปัจจัยเรื่องของการเปิดเสรีทางการเงินในช่วงยุคปี 30

การเพิ่มเพดานการถือครองหุ้นของนลท.ต่างชาติ

มุมมองของสถาบันต่อการเมือง ความยืดหยุ่น ความเสี่ยงต่อการถือครองหลักทรัพย์ในประเทศแบบนี้

แต่ก็ตามมาด้วยภาวะฟองสบู่ในปี 40

ระบบค่าเงินของไทยในยุคก่อนจะเกิดวิกฤติปี 40 เทียบกับของต่างประเทศ ระบบอัตราแลกเปลี่ยน

กว่าจะมีตลาดหุ้นไทยในวันนี้ มันผ่านทั้งเรื่องดีและร้ายมามากมายครับ
"Become a risk taker, not a risk maker"
ภาพประจำตัวสมาชิก
neuhiran
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 817
ผู้ติดตาม: 10

Re: ห้าปีกับหุ้นห้าประเทศ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ผมถามหน่อยครับ เรื่อง TPP ที่อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยของท่าน ปธน.ทรัมป์ นี่จะเป็นปัจจัยที่ไม่แน่นอนอันนึง และมันจะกระทบต่อตลาดหุ้นและเศรษฐกิจอย่างเวียตนามมากน้อยแค่ไหน :?:
leky
Verified User
โพสต์: 1803
ผู้ติดตาม: 1

Re: ห้าปีกับหุ้นห้าประเทศ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ถ้าจะมองในแง่มหภาค ก็คงต้องมองหลาย ๆ มุม ทั้งหนี้สินของประเทศ

http://www.bangkokbanksme.com/article/3563

ระบบอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเท่าที่ทราบมาจะคล้ายกับของประเทศไทยก่อนวิกฤติปี 40 ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนของเงินไม่ได้อยู่ในระบบลอยตัว และทางรัฐบาลเวียดนามเองก็มีการลดค่าเงินมาแล้วหลายครั้ง
"Become a risk taker, not a risk maker"
dr1
Verified User
โพสต์: 881
ผู้ติดตาม: 30

Re: ห้าปีกับหุ้นห้าประเทศ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขออนุญาตแปะเรื่องTPPนะฮะ

http://www.businessinsider.com/heres-wh ... Disengaged
samatah
โพสต์โพสต์