ทางสายแคบของ VI/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

ทางสายแคบของ VI/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

คนจำนวนไม่น้อยรวมถึง Value Investor จำนวนมากถ้าถูกถามว่า Value Investment แตกต่างจากการลงทุนหุ้นแบบพื้นฐานอย่างไร? หรือ การวิเคราะห์หุ้นแบบพื้นฐานที่นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ทำกันทุกวันนี้แตกต่างจากการวิเคราะห์ของ VI อย่างไร? ผมคิดว่าหลาย ๆ คนก็คงจะตอบไม่ได้หรือตอบไปคนละแนว หลายคนก็อาจจะงง เพราะดูไปแล้วหลักการทั้งสองอย่างก็คล้ายกันมากจนแยกไม่ออก ว่าที่จริงเบน เกรแฮมผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “บิดาแห่งการลงทุนแบบ VI” นั้น ก็ได้รับการยอมรับเช่นกันว่าเป็น “คณบดี” หรือ “เจ้าสำนัก” ของ “โรงเรียนการวิเคราะห์หลักทรัพย์” เขาน่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่ช่วยก่อตั้งสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของอเมริกาซึ่งเจริญเติบโตขึ้นมาจนถึงวันนี้ โดยที่หลักการการวิเคราะห์ที่ถูกต้องนั้นได้รับการศึกษาและเผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกและมีหลักการและทฤษฎีเดียวไม่ได้มีการแยกว่านี่คือการวิเคราะห์แบบนักวิเคราะห์มืออาชีพหรือแบบ VI

ถ้าเช่นนั้น อะไรคือความแตกต่างระหว่าง VI กับนักลงทุน “มืออาชีพ” โดยเฉพาะที่บริหารเงินกองทุนต่าง ๆ และใช้หลักการการวิเคราะห์และการลงทุนตาม “ตำรา” ที่ได้ร่ำเรียนและสอบผ่านมาตรฐานการจัดการการลงทุนระดับสากลเช่นได้ CFA (Chartered Financial Analyst) ระดับ 3 ที่เป็นเครื่อง “การันตี” ว่ามีความรู้ความสามารถพอที่จะเป็นนักลงทุน “มืออาชีพ” ที่น่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและมีความเสี่ยงที่เหมาะสมให้กับคนลงทุนได้

ในความเห็นของผมนั้น ผมคิดว่า VI นั้นใช้หลักการมาตรฐานของการวิเคราะห์หลักทรัพย์และการลงทุนเกือบทุกประการ ความจริง VI นั้นน่าจะเป็น “สไตล์” ของการลงทุนมากกว่าที่จะเป็นทฤษฎีของมันเอง VI เป็น “แนวทางย่อย” ของการวิเคราะห์หลักทรัพย์แบบพื้นฐานที่เป็น “แนวทางใหญ่” ดังนั้นคนที่ได้ CFA Level 3 ซึ่งถือว่าจบการศึกษา “ขั้นสูงสุดของการลงทุน” จึงสามารถที่จะเรียนรู้การลงทุนแนว VI ได้ไม่ยาก สิ่งที่เขาจะต้องทำก็เพียงแต่ปรับวิธีการคิดและเลือกแนวทางที่ “แคบ” และอาจจะฝืนความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่มักจะมี “อารมณ์” ที่เร่าร้อนและต้องการการกระทำที่เห็นผลการลงทุนในระยะสั้น แต่นี่กลับเป็นเรื่องที่ยากที่สุด!

“ทางสายแคบ” ที่เด่นชัดของการเป็น VI ก็คือ พวกเขาเน้นเลือกเฉพาะหุ้นที่มีราคาถูกหรือถูกมากเทียบกับ “มูลค่าพื้นฐาน” ที่คำนวณได้จาก “ศาสตร์” ของการวิเคราะห์หลักทรัพย์แบบพื้นฐาน ชาวVI นั้นมักจะมองถึง Margin of Safety หรือส่วนต่างระหว่างราคากับมูลค่าที่กว้างเวลาจะซื้อหุ้นลงทุน VI “ดั้งเดิม” นั้นไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “คุณภาพ” ของกิจการมากนัก อาจจะเพราะว่าหุ้นของกิจการที่มี “คุณภาพดี” นั้น มักจะไม่เคยถูกหรือไม่ค่อยถูก ดังนั้น เวลาต้องเลือกระหว่างของดีกับของถูก VI รุ่นเก่าแบบดั้งเดิมนั้นมักจะเลือกของถูก อย่างไรก็ตาม VI รุ่นหลัง ๆ ที่ “โดดเด่น” เช่นวอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นได้เปลี่ยนแนวความคิดนี้ไปแล้ว พวกเขาเองยังเน้นว่าหุ้นต้องไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับ “คุณภาพ” ของกิจการ โดยที่บางคนก็ยังเน้นเรื่องของราคามากกว่าเวลาพิจารณาเลือกหุ้นลงทุน ในขณะที่บางคนนั้นเน้นที่คุณภาพมากกว่า ตัวอย่างของ VI กลุ่มแรกก็คือ พวกเขามักจะดูว่าธุรกิจต้องดูดีพอใช้ไม่ใช่ผู้นำแต่ก็ไม่ใช่ผู้แพ้ ความแน่นอนของผลประกอบการไม่สูงมากแต่ก็ไม่เลวเกินไป แต่ถ้าราคาหุ้นค่อนข้างถูกหรือถูกมาก เขาก็จะสนใจลงทุน เขาไม่สนใจหุ้นที่ถูกมากแต่คุณภาพแย่แบบ VI ดั้งเดิม

VI อีกกลุ่มหนึ่งนั้นเน้นที่คุณภาพมากกว่าราคา พวกเขาสนใจเป็นพิเศษกับหุ้นที่มีคุณภาพสูงมากซึ่งมักจะเป็นกิจการที่มีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันสูง บางคนก็ต้องการความได้เปรียบที่ยั่งยืนด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พวกเขาก็ยังต้องดูว่าราคาหุ้นนั้นไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับคุณภาพ พูดง่าย ๆ VI กลุ่มนี้เน้นเลือกหุ้นในกลุ่มคุณภาพดีซึ่งมักจะมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มแรกมาก เท่านั้นยังไม่พอ พวกเขายังดูอีกว่าราคาหุ้นที่เห็นนั้นต้องไม่แพงเกินไป ยกตัวอย่างเช่น กิจการที่มีคุณภาพดีมากและอยู่ในเมกาเทรนด์อย่างเช่นโรงพยาบาล เขาอาจจะไม่ซื้อเนื่องจากค่า PE ของหุ้นที่อาจจะสูงเกินไปบางแห่งถึง 40-50 เท่าหรือมากกว่านั้น เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ หุ้นที่จะถูกเลือกลงทุนก็ยิ่งน้อยลงไปอีก เส้นทางการลงทุนก็จะเป็น VI สายที่แคบลงไปอีก

การวิเคราะห์ประมาณการณ์หาค่าตัวเลขของกิจการที่จะนำไปใช้คำนวณหามูลค่าหุ้นที่แท้จริงของหุ้นเองนั้น VI ก็มักจะ “เดินสายแคบ” พวกเขาเน้นว่าต้อง “อนุรักษ์นิยม” นั่นก็คือ โอกาสผิดพลาดในด้านที่แย่ลงควรจะต้องน้อย เช่น เวลาประมาณการรายได้และกำไรของบริษัท เขาจะไม่ตั้งสูงเกินกว่าแนวโน้มก่อนหน้านั้น เบน เกรแฮม เองถึงกับไม่คาดการณ์อนาคตเลย เขาบอกว่าอนาคตไม่แน่นอน เราควรใช้ตัวเลขจริงที่เกิดขึ้นแล้วมาคำนวณน่าจะดีกว่า ส่วนตัวผมเองนั้น ผมมักจะใช้ตัวเลขจริง อาจจะบวกการเติบโตบ้างถ้าผมมั่นใจสูงว่าบริษัทสามารถโตได้จริงแต่ก็มักจะไม่เกินแนวโน้มในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมจะไม่คาดการณ์อะไรที่โตกว่าปกติ ผมต้องการความแน่นอนว่าผมจะไม่พลาด

VI “พันธุ์แท้” จำนวนมากนั้นมักจะไม่คาดการณ์หรือประมาณการณ์อะไรถ้าไม่มีความมั่นใจสูงว่ามันจะเกิดขึ้น ผมเองไม่สนใจว่าใครจะประมาณการว่าเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเท่าไรไม่ต้องพูดถึงว่าดัชนีหุ้นจะไปที่จุดไหนในอนาคตระยะสั้น ๆ ข้างหน้า ผมเชื่อว่าโอกาสที่จะถูกต้องนั้นมีพอ ๆ กับผิด ผมจะตั้งสมมุติฐานว่าตัวเลขเหล่านี้ก็จะ “เท่าเดิม” เท่าปีก่อน ในบางกรณีเช่นดัชนีหุ้นผมก็จะบวกเป็นเปอร์เซ็นต์ตามเทรนด์ระยะยาวที่เกิดขึ้นแล้วเช่น ดัชนีหุ้นบวก 7% ในปีหน้าเป็นต้น นี่ก็เป็น “ทางสายแคบ” เพราะมันจำกัดไม่ให้เรา “คาดเดา” ไปไกลแล้วทำให้เราคาดผิดในทางที่แย่ลง ทางสายแคบนี้อาจจะตัดโอกาสที่เราจะคาดการณ์ถึงความสดใสและตัดสินใจซื้อหุ้นในตลาดหรือหุ้นบางตัวที่อาจจะ “ดีมากจริง ๆ” ก็ได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ VI เป็นทางสายแคบของการลงทุนแบบพื้นฐานก็คือ เรื่องของอารมณ์ที่มักจะไปมีผลต่อกลยุทธ์ของการลงทุน VI นั้นมักจะเลือกที่จะลงทุนยาวกว่านักลงทุนกลุ่มอื่น ราคาหุ้นที่ผันผวนในระยะสั้น ๆ มักจะไม่ใช่จุดตัดสินใจที่จะขายหุ้นถ้าราคานั้นยังไม่เกินมูลค่าพื้นฐานไปมาก เช่นเดียวกัน ราคาหุ้นที่ตกลงมากเนื่องมาจากปัจจัยที่ไม่ได้เกี่ยวกับพื้นฐานโดยตรงก็ไม่ใช่จุดที่จะตัดสินใจขายหุ้น การซื้อและการขายหุ้นของ VI นั้นมักจะมาจากปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจมากกว่าราคาที่ผันผวนซึ่งถ้าไม่มากเกินไปแล้ว VI ก็มักจะไม่อยากทำอะไร ความคิดเรื่อง “หุ้นก็คือธุรกิจ” การวิเคราะห์ว่าจะซื้อหรือขายหุ้นนั้นสำหรับ VI เราก็เลือกจากมุมมองของธุรกิจเป็นหลัก การคิดและคาดการณ์จิตวิทยาการซื้อขายหุ้นของฝูงชนประกอบอย่างนักลงทุนกลุ่มอื่นนั้นมักจะไม่ใช่หนทางที่ VI เลือก นี่ก็เป็นทางสายแคบอีกสายหนึ่งของการลงทุน

VI พันธุ์แท้นั้น มักจะมีความคิดที่เป็น “อิสระ” มากกว่านักลงทุนกลุ่มอื่น VI นั้นมักจะเป็นคนที่ “เปิดหูเปิดตา” มาก เขาอาจจะคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการลงทุนกับคนอื่นแต่เวลาสรุปและตัดสินใจเขามักจะตัดสินใจด้วยตนเอง VI บางคนนั้นก็เดินทาง “สายเปลี่ยว” มีโลกของตนเองและไม่ใคร่ปรึกษากับใครเลย

การเลือกทางสายแคบของ VI นั้น วัตถุประสงค์หรือข้อดีหลักก็คือ เราจะได้ไม่ผิดหรือมีโอกาสผิดน้อยลง ข้อเสียก็คือ โอกาสที่จะกำไรมาก ๆ ในหุ้นบางตัวก็อาจจะหายไป นี่ก็ตรงกับปรัชญาสำคัญของ VI ที่ว่า จง “อย่าขาดทุน” และผมขอเสริมว่า “แล้วกำไรก็จะดูแลตัวมันเอง” ในระยะยาวแล้ว โอกาสที่เราจะไม่ประสบความสำเร็จก็จะน้อยลงมาก ส่วนโอกาสที่จะประสบความสำเร็จอย่างสูงก็อาจจะไม่น้อยกว่าแนวทางสายกว้างอื่น ๆ
ภาพประจำตัวสมาชิก
KentaII
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 383
ผู้ติดตาม: 1

Re: ทางสายแคบของ VI/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอกดล้านไลค์ ครับ
ผู้ใดบอกว่าตัวเองเป็น "แมงเม่า" เขาผู้นั้นมักไม่ใช่แมงเม่า...แต่ผู้ใดบอกว่าตัวเองเป็น "เซียน" เขาผู้นั้น จะกลายเป็น แมงเม่าในไม่ช้า เพราะเขา "หยุดพัฒนาตนเอง"
ภาพประจำตัวสมาชิก
Ii'8N
Verified User
โพสต์: 3682
ผู้ติดตาม: 7

Re: ทางสายแคบของ VI/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

Thai VI Article เขียน:

โค้ด: เลือกทั้งหมด

.....

       ว่าที่จริงเบน เกรแฮมผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น  “บิดาแห่งการลงทุนแบบ VI” นั้น  ก็ได้รับการยอมรับเช่นกันว่าเป็น  “คณบดี” หรือ “เจ้าสำนัก” ของ “โรงเรียนการวิเคราะห์หลักทรัพย์”  เขาน่าจะเป็นคนแรก ๆ  ที่ช่วยก่อตั้งสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของอเมริกาซึ่งเจริญเติบโตขึ้นมาจนถึงวันนี้  โดยที่หลักการการวิเคราะห์ที่ถูกต้องนั้นได้รับการศึกษาและเผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกและมีหลักการและทฤษฎีเดียวไม่ได้มีการแยกว่านี่คือการวิเคราะห์แบบนักวิเคราะห์มืออาชีพหรือแบบ VI

    ถ้าเช่นนั้น  อะไรคือความแตกต่างระหว่าง VI กับนักลงทุน  “มืออาชีพ” โดยเฉพาะที่บริหารเงินกองทุนต่าง ๆ  และใช้หลักการการวิเคราะห์และการลงทุนตาม  “ตำรา” ที่ได้ร่ำเรียนและสอบผ่านมาตรฐานการจัดการการลงทุนระดับสากลเช่นได้ CFA (Chartered Financial Analyst) ระดับ 3 ที่เป็นเครื่อง “การันตี” ว่ามีความรู้ความสามารถพอที่จะเป็นนักลงทุน  “มืออาชีพ” ที่น่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและมีความเสี่ยงที่เหมาะสมให้กับคนลงทุนได้

...


[/size]


สิ่งที่คนจำนวนมาก ไม่รู้ รวมถึงคนที่ได้ CFA แต่ไม่ค่อยจะเชื่อมั่นในการวิเคราะห์แนว VI จำเป็นต้องทำตัวเลขออกมางั้นๆ ตามหน้าที่ (คนที่ได้ CFA อาจเคยรู้ เพราะมีในบางเอกสาร CFA พูดไว้ แต่อาจจะลืมไปแล้ว)

นั่นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง CFA institute ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆ คืออาจารย์เบน โดยเป็นตัวแทน NYSSA (The New York Society of Security Analysts) เพราะก่อนหน้าเป็นผู้ก่อตั้ง NYSSA อีกด้วย ที่อ.นิเวศน์พูดถึงในบทความ
ลองดูเอกสารนี้
http://celebrate.cfainstitute.org.s3-we ... raham.html



clip ที CFA institute จัดไว้เป็นเรื่องที่ควรต้องเรียนรู้

https://www.cfainstitute.org/learning/p ... edProducts


เรียกอาจารย์ Ben ทำให้นึกถึงปรมาจารย์เจได Obi-Wan "Ben" Kenobi :D
โพสต์โพสต์