เศรษฐีเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนแซงหน้าเศรษฐีอเมริกาเหนือ/วิวรรณ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

เศรษฐีเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนแซงหน้าเศรษฐีอเมริกาเหนือ/วิวรรณ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ทุกปีดิฉันจะนำรายงานการวิจัยผู้มีความมั่งคั่งสูงที่จัดทำโดย Capgemini มาเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบ

    ในปีนี้ก็เช่นกันค่ะ รายงาน World Wealth Report ของปี 2016 ที่เผยแพร่ในปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ในบรรดาเศรษฐีที่มีความมั่งคั่งสูงกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลกจำนวน 15.4 ล้านคน มีความมั่งคั่งรวมกัน 58.7 ล้านล้านเหรียญนั้น เป็นผู้อยู่ในเอเชียแปซิฟิกมากเป็นอันดับหนึ่งคือ 5.1 ล้านคน มีความมั่งคั่งรวม 17.4 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นมาจากปีก่อน 4 แสนคน แซงหน้าทวีปอเมริกาเหนือซึ่งมีจำนวนเศรษฐี 4.8 ล้านคน และมีความมั่งคั่งรวมกัน 16.6 ล้านเหรียญ ไปเรียบร้อยแล้ว

    ถัดมาคือเศรษฐีในยุโรปซึ่งมีจำนวน 4.2 ล้านคน มีความมั่งคั่งรวมกัน 13.6 ล้านล้านเหรียญ ตะวันออกกลาง มีเศรษฐี 6 แสนคน มีความมั่งคั่งรวม 2.3 ล้านล้านเหรียญ ละตินอเมริกา 5 แสนคน ความมั่งคั่งรวม 7.4 ล้านล้านเหรียญ และอัฟริกา 2 แสนคน ความมั่งคั่งรวม 1.4 ล้านล้านเหรียญ

    ประเทศที่มีจำนวนเศรษฐีมากที่สุดสี่อันดับแรกคือ สหรัฐอเมริกา 4.56 ล้านคน ญี่ปุ่น 2.72 ล้านคน เยอรมนี 1.2 ล้านคน และจีน 1 ล้านคน (เพิ่มจาก 0.89 ล้านคนในปีที่แล้ว)

    เศรษฐีเหล่านี้ลงทุนอะไร ในปี 2015 เศรษฐีเหล่านี้ ลงทุนเฉลี่ยในหุ้นทุน 24.8% เงินสดเงินฝาก 23.5% ตราสารหนี้ 18% อสังหาริมทรัพย์ 17.9% และการลงทุนทางเลือก 15.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน มีการลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นทุน 2% ลดเงินสดลง 2.1% และเพิ่มในการลงทุนทางเลือก 2.7% เพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ 1.1% และเพิ่มการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 0.3%

    ในปีนี้รายงานได้เจาะลึกถามถึงช่องทางในการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆเหล่านี้ ซึ่งพบว่า เศรษฐีทั่วโลก ลงทุนโดยซื้อหุ้นรายตัว 38.3% ลงทุนผ่านกองทุนรวม 31% ผ่านกองทุนตลาดรองหรือ ETF 18.2% และ ลงในช่องทางอื่น 14%

    แต่มีข้อสังเกตว่าเศรษฐีเอเชียแปซิฟิก จะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นรายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก คือ ลงทุนหุ้นรายตัว 43.9% ลงผ่านกองทุนรวม 24.6% ลงทุนผ่าน ETF 20.1% และผ่านช่องทางอื่น 11.3%

    เศรษฐีเหล่านี้มีการจัดพอร์ตไปลงทุนในต่างประเทศด้วยค่ะ โดยลงทุนเฉลี่ย 53.9%ของพอร์ต ไล่จากมากที่สุดคือ เอเชียแปซิฟิก 67.8% ละตินอเมริกามีการลงทุนนอกประเทศ 60.3% ของพอร์ต ตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ 59.6% อเมริกาเหนือ 53.3% ยุโรป 49.7% และญี่ปุ่นลงทุนต่างประเทศน้อยที่สุด คือลงในสัดส่วนเพียง 46.2%ของพอร์ตเท่านั้น

    เหตุผลหลักของการจัดสรรเงินไปลงทุนต่างประเทศคือ มีโอกาสการลงทุนเฉพาะเจาะจงในต่างประเทศ เป็นการกระจายการลงทุนจากตลาดในบ้านของตัวเอง และเป็นห่วงหรือกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ภาวะตลาด ในบ้านของตัวเอง

    รายงานนี้ยังมองว่า ธุรกิจที่จะทำให้เกิดเศรษฐีเพิ่มขึ้นจากนี้ไปจนถึงปี 2025 หรือใน 10ปีข้างหน้า น่าจะเป็นธุรกิจบริการการเงิน เทคโนโลยีชั้นสูง รวมถึงเทคโนโลยีการเงินหรือ FinTech และธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ โดยประเทศที่จะมีการเติบโตของเศรษฐีมากๆคือ จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย และสหราชอาณาจักร

    ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตว่า แม้แต่เศรษฐีผู้มีความมั่งคั่งสูงยังนิยมใช้บริการของกองทุนรวม ดังนั้น กองทุนรวมจึงเป็นวิธีการลงทุนที่ช่วยนำพาผู้ลงทุนไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    อีกประเด็นหนึ่งที่สังเกตเห็นชัดเจนมากคือ ปัจจัยสำคัญในการเลือกผู้บริหารความมั่งคั่งให้ สำหรับเศรษฐีที่มีอายุเกิน 60ปี ความต้องการสามประการนี้จะเด่นมากคือ คำแนะนำในการลงทุน ความเชี่ยวชาญในการวางแผนการเงินโดยทั่วไป และความเชี่ยวชาญในการวางแผนเพื่อการเกษียณ ซึ่งดิฉันถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับนักวางแผนการเงินค่ะ

    เนื่องจากเนื้อที่คอลัมน์มีจำกัด ท่านที่สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จาก World Wealth Report 2016 ฉบับเต็มของ Capgemini ค่ะ
[/size]
โพสต์โพสต์