ประชามติสหราชอาณาจักรสั่นคลอนโลก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

ประชามติสหราชอาณาจักรสั่นคลอนโลก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    การลงประชามติของประชาชนสหราชอาณาจักรว่าต้องการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันพฤหัสที่ 23 มิถุนายน 2559 ถือเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่ง

    เมื่อผลของการลงประชามติออกมาเกือบชัดเจนว่า ฝ่ายที่ต้องการจะออกจากกลุ่ม EU ชนะ ผู้ลงทุนทั่วโลกก็เกิดความตระหนกและพยายามขายสินทรัพย์หรือตราสารที่มีความเสี่ยงสูงออกมา เช่น หุ้นทุน น้ำมัน และออกจากเงินสกุลปอนด์ และยูโร  หันไปหาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าเช่น ทองคำ เงินดอลล่าร์สหรัฐและ เงินเยน  ตลาดหุ้นทั่วโลกก็เริ่มไหลลงๆ

    มูลค่าตลาดทุนของโลกลดลงไปรวม 6 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 213 ล้านล้านบาทในวันศุกร์วันเดียว

    โดยทั่วไปคนกลัวความไม่แน่นอน ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่ในกรณีนี้นักวิเคราะห์การเมืองมองว่าเป็นการลงประชามติด้วยอารมณ์และความรู้สึก เพราะฝ่ายสนับสนุนให้ออกจากอียู นำประเด็นนโยบายผู้อพยพมาเน้นอยู่ประเด็นเดียว

    ดิฉันเองก็เห็นว่า ผู้ลงประชามติที่เป็นคนรุ่นเก่า เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกมามากมายตลอด 43 ปีของการเข้าร่วมในกลุ่มประชาคมยุโรป ย่อมถวิลหาความสงบสุขเดิมๆ โดยอาจจะไม่ทันคิดว่า ส่งผลถึงเศรษฐกิจ และสังคมด้านอื่นๆด้วย เพราะถึงจะไม่อยู่ในประชาคมยุโรป สหราชอาณาจักรก็ต้องรับผู้อพยพและแรงงานต่างด้าวอยู่ดี เพราะคนของสหราขอาณาจักร ไม่เพียงพอต่อการทำงานบริการให้กับประชาชนทั้งหมด รวมถึงนักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวที่เข้าไปติดต่อธุรกิจในประเทศด้วย

    ผลของการลงประชามตินี้ไม่ได้ทำให้โลก”ช็อค”อย่างเดียว แต่ทำให้คนอังกฤษช็อคด้วย  เพราะโพลล่าสุดออกมาว่าผลการลงประชามติจะออกมาว่า “คงอยู่” ในประชาคมยุโรปต่อไป

    เมื่อผลออกมาเป็นตรงกันข้าม ตลอดวันศุกร์ผู้ลงทุนทั่วโลกเริ่มสับสนและหวาดหวั่น  เมื่อห้าปีก่อน ทุกคนคิดว่ากรีซจะเป็นประเทศแรกที่ออกจากยูโร (และออกจากอียูด้วย) ใครจะคิดว่าสหราขอาณาจักร ซึ่งอยู่ห่างออกไปหน่อยหนึ่ง คืออยู่แต่ในอียู ไม่ได้ใช้เงินสกุลยูโรด้วยซ้ำไป จะตัดสินใจ”ออก”จากอียู

    คนภายนอกกลัว เพราะหวั่นว่าการออกจากอียูของอังกฤษในครั้งนี้ จะทำให้เกิด”ลัทธิเอาอย่าง” ประเทศอื่นๆโดยเฉพาะประเทศที่เจริญกว่าและต้องแบกภาระอุ้มประเทศอื่นในกลุ่ม ก็อาจจะทำตาม

    คนของสหราชอาณาจักรเองก็เริ่มมีความเห็นแตกแยก ผลโหวตของสก็อตแลนด์แสดงให้เห็นว่า คนสก็อตแลนด์ทุกเขตเลือกตั้ง ต้องการอยู่ในอียูต่อ สก็อตแลนด์จึงทวงถามถึงการลงประชามติครั้งที่สองว่า สก็อตแลนด์จะคงอยู่ร่วมในสหราชอาณาจักรต่อไปอีกหรือไม่

    ช่วงเวลาอีกหกเดือนต่อไปนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ที่ดิฉันเห็นว่าน่าจะเปลี่ยนไปคือ เศรษฐกิจของโลกในปีนี้จะมีการเติบโตลดลง และเฟดอาจจะตัดสินใจไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ (จากที่คาดว่าจะขึ้นหนึ่งครั้งในเดือนสิงหาคม)

    เนื่องจากประชามติครั้งนี้ เป็นการสอบถาม”แนวทาง”  ต่อนโยบาย ไม่ได้เป็นการลงประชามติ “ปฏิบัติการ” ดังนั้นจึงมีขั้นตอนที่ทางรัฐสภาอังกฤษจะต้องไปลงมติถอนตัว ก่อนที่จะยื่นถอนตัวอย่างเป็นทางการต่ออียู และขั้นตอนการถอนตัวจะใช้เวลา 2 ปี

    อย่างไรก็ดี เดวิด คาเมรอน ได้ออกมากล่าวปิดประเด็นด้วยประโยคที่ว่า “ต้องเคารพมติของประชาขน” ดังนั้นสภาคงไม่สามารถโหวตเป็นอื่นได้ และนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ประกาศลาออกในเดือนตุลาคม เพื่อหานายกคนใหม่ทำหน้าที่นำพาประเทศไปสู่เส้นทางใหม่

    การเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นนี่แหละค่ะ ที่ทำให้คนหวั่นไหว ไม่ว่าจะเป็นคนสหราชอาณาจักรที่ลงประชามติออกจากอียู หรือ ไม่ออก หรือ คนอื่นๆในโลก

    ยังมีความเปลี่ยนแปลง และสิ่งใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นอีกมากมายหลายปี จากผลของการลงประชามติในครั้งนี้ค่ะ

    คำแนะนำสำหรับผู้ลงทุนทั่วไปคือรอจนฝุ่นหายตลบสักหน่อยก่อน แล้วค่อยตัดสินใจมองหาโอกาสเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น

    ส่วนเซียนทั้งหลาย ผู้มีประสบการณ์และความชำนาญแล้ว อาจถือเป็นโอกาสในการเทรดซื้อๆขายๆทำกำไรค่ะ

    ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ต่องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
[/size]
โพสต์โพสต์