Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ครั้งที่แล้วผมพยายามอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับรถที่ใช้เครื่องยนต์ Internal Combustion Engine (ICE) ที่ใช้กันอยู่แพร่หลายในปัจจุบันที่ได้พัฒนามานานกว่า 100 ปี โดยกล่าวว่าเป็นเครื่องยนต์ที่มีความสลับซับซ้อนมาก แต่มีประสิทธิภาพต่ำ (นำเอาพลังงานที่ผลิตออกมาใช้งานได้เพียง 20% และอาจถูกตีตลาดโดยรถที่ใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้าที่กำลังได้รับความสนใจ อย่างกว้างขวางในประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ รถ Tesla ซึ่งผมขอสรุปสรรพคุณของรถ Tesla โดยไม่ต้องอธิบายในเชิงเทคนิคดังนี้

1) รถ Tesla นั้นนำไปบรรจุ (ชาร์จ) ไฟฟ้าครั้งหนึ่งวิ่งได้ประมาณ 320-400 กิโลเมตร จะจ่ายค่าไฟประมาณ 150 บาท แต่ ในสหรัฐอเมริกาบริษัท Tesla มีแหล่งชาร์จไฟเป็นพันแห่ง (และจะเพิ่มเป็นหลายพันแห่งทั่วประเทศภายในปลายปีหน้า) โดยอาจให้เติมไฟได้โดยไม่คิดเงินเลย ในขณะที่เราเติมน้ำมันรถยนต์เต็มถังครั้งหนึ่งประมาณ 1,500-2,000 บาท

2) เครื่องไฟฟ้ามีชิ้นส่วนที่สึกหรอน้อยกว่า ICE มาก บริษัท Tesla จึงรับประกันเครื่องยนต์ไฟฟ้า 8 ปี โดย ไม่จำกัดระยะทาง (รถ Taxi น่าจะพอใจมากที่สุด) รถไฟฟ้าไม่มีระบบระบายความร้อน ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไม่สร้างมลภาวะ และไม่มีเกียร์ นอกจากนั้นยังไม่มีเสียง จึงไม่ต้องมีท่อเก็บเสียง

3) รถ Tesla ที่เป็นรถโดยสาร 5 คนคือ modelS และล่าสุดรถอเนกประสงค์ (SUV+minivan) ที่เรียกว่า X นั่งได้ 6 คน สามารถเร่งแซงรถ Ferrari (หรือ Lamborghini หรือ McLaren) ได้เพราะเครื่องไฟฟ้านั้น แรงม้าและแรงบิดจะมา 100% ในทันที โดยไม่ต้องรอรอบ เช่น รถ ICE แต่จะต้องยอมให้ใช้พลังจากแบตเตอรี่สูง ซึ่งบริษัท Tesla ให้ทางเลือกที่เรียกว่า Ludicrous speed/mode หรือ “เร็วอย่างบ้าบิ่น” ทั้งๆ ที่รถ Tesla model X นั้น ราคาเพียง 4-5 ล้านบาท ในขณะที่ซูเปอร์คาร์ที่กล่าวถึงนั้นราคาสูงกว่า 4-5 เท่า (Ludicrous mode ทำให้ Tesla model X เร่งจาก 0 ถึง 100 กิโลเมตร/ชม. ได้ในเวลากว่า 3 วินาทีเล็กน้อย เทียบเท่ากับ Super car ที่ต้องมีแรงม้าประมาณ 500 ตัวขึ้นไป

กล่าวคือ Tesla กำลังขายรถไฟฟ้าในอเมริกาที่ราคาถูกกว่า กินน้ำมันน้อยกว่า เร็วกว่าและมีประกันศูนย์ยาวนานกว่ารถยนต์ยี่ห้ออื่นๆ ทุกยี่ห้อ และยังไม่ก่อให้เกิดมลพิษ จึงมีประโยชน์ในการลดภาษีมลภาวะ

ปัญหาหลักของ Tesla คือผลิตไม่ทันความต้องการ เพราะเข้าใจว่ารุ่น X และรุ่น S ก็ต้องรอหลายเดือน ในขณะที่เมื่อประกาศรุ่นล่าสุดคือ model 3 ราคา 35,000 ดอลลาร์ ก็มียอดจองใกล้ 4 แสนคันแล้ว ทั้งๆ ที่จะยังไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้ จนกระทั่งปลายปีหน้า

ยอดจองรถ Tesla model 3 นั้น สร้างประวัติศาสตร์รถยนต์ เพราะไม่เคยมีการจองรถยนต์รุ่นใดมากมายขนาดนี้ตั้งแต่มีการผลิตรถยนต์เกือบ 150 ปีที่ผ่านมา (โดยปัจจุบันน่าจะมีรถยนต์บนโลกนี้หลายร้อยล้านคัน) การสั่งจองรถ Tesla model 3 นั้นต้องวางเงินมัดจำคันละ 1,000 ดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา (และที่อังกฤษ 1,000 ปอนด์ แปลว่าบริษัท Tesla ได้รับเงินสดมาแล้วเกือบ 14,000 ล้านบาทสำหรับรถยนต์รุ่นเดียว ซึ่งตัวเองยังไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนเลย ทั้งนี้เพราะรถ Tesla รุ่นก่อนหน้าคือ Tesla S นั้น ได้รับคำชมเชยมากมาย เช่น consumer reports ให้คะแนน 103 จาก 100 และสรุปว่าขับดีกว่า Rolls Royce โดยมีราคาที่สหรัฐประมาณ 100,000 ดอลลาร์ขึ้นไป จึงถูกนำไปเปรียบเทียบกับรถเบนซ์รุ่น S และต่อมามียอดขายแซงหน้ารถสุดหรูรุ่นดังกล่าวของเยอรมันในบางตลาด

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ บางคนอาจบอกว่าเป็นการคัดกรองเอาข้อมูลด้านเดียวมานำเสนอให้เกิดกระแสว่ารถยนต์ไฟฟ้ากำลังจะเป็น disruptive technology ซึ่งก็เคยมีการสร้างกระแสเช่นนี้มาก่อนหน้า แต่ในที่สุดก็ไม่เป็นความจริง ซึ่งผมก็ยอมรับว่า ผมเองนั้นเชื่อมั่นในรถยนต์ ICE มาโดยตลอด จึงได้พยายามหาข้อมูลให้รอบด้านมากที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าเริ่มเป็นห่วงว่ารถยนต์ ICE อาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นการรุกฆาตทางเทคโนโลยีจริงๆ และ อาจไม่แตกต่างจากเทคโนโลยีการถ่ายแบบ digital ที่ทำให้ฟิล์มต้องสูญพันธ์ไปเกือบหมดสิ้น ทำไมจึงคิดเช่นนั้น? เพราะผมไปพบรายงานในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2016 เรื่อง “Germany to subsidize electric autos” ซึ่งสาระของข่าวมีดังนี้

Wall Street Journal เริ่มรายงานข่าวว่าเมื่อต้นปีนี้ผู้ ช่วยคนสนิท (top aide) ของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี นาง Angela MerKel ได้เรียกประชุมลับประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทรถยนต์ของประเทศเยอรมนี และถามผู้บริหารดังกล่าวว่า What are you going to do about Tesla? และ 3-4 เดือนให้หลังคำตอบของรัฐบาลเยอรมัน บริษัทรถยนต์ Volkswagen BMW และ Diamler Benz คือรัฐบาลจะออกมาตรการ “รถไฟฟ้าคันแรก” โดยจะคืนเงินให้กับผู้ที่ซื้อรถไฟฟ้าคันละ 4,000 ยูโรและผู้ที่ซื้อรถไฟฟ้าลูกผสม (Hybrid) คันละ 3,000 ยูโร (ลดราคาประมาณคันละ 12%) นอกจากนั้นรัฐบาลก็ยังจะต้องอุดหนุนการสร้างเครือข่ายสถานีไฟฟ้าทั่วประเทศ ให้ผู้ใช้รถไฟฟ้าสามารถ “เติมน้ำมัน” ได้โดยสะดวกยิ่งขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีสัญญาว่าจะเพิ่มงบประมาณวิจัย และพัฒนา ตลอดจนจ่าย 50% ของภาระของรัฐบาลมาตรการดังกล่าวข้างต้น โดยจะจ่ายเป็นผ่อนส่ง ทั้งนี้เพราะหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล บริษัทรถยนต์เยอรมนีจะไม่สามารถแข่งขันกับ Tesla ได้ เพราะตามเทคโนโลยีของ Tesla ไม่ทัน

ตรงนี้ผมต้องขอเพิ่มเติมข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ให้ครบถ้วนดังนี้ครับ Tesla เป็นบริษัทขนาดเล็กที่ปัจจุบันผลิตรถยนต์เพียง 2 รุ่น (รุ่น S กับรุ่น X) รวมปีละไม่กี่หมื่นคัน โดยบริษัทมีอายุประมาณ 12-13 ปี แต่บริษัทรถยนต์เยอรมนี 3 บริษัทนั้นผลิตรถยนต์ปีละเป็นหลายล้านคันและผลิตรถยนต์มานาน 150 ปีแล้ว บริษัท Volkswagen นั้นผลิตหลายยี่ห้อ เช่น Volkswagen Audi Bentley Lamboghini และร่วมลงทุนผลิตรถ Porche Seat และอื่นๆ ในขณะที่ BMW ก็ยังเป็นผู้ผลิต Rolls Royce และเป็นผู้ผลิตจักรยานยนต์รายใหญ่อีกด้วย สำหรับ Diamler Benz นั้นคงไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มอีกมาก เพราะคนไทยรู้จักและนิยมยี่ห้อนี้มากที่สุด

ครั้งต่อไปผมจะเล่าต่อว่าประเทศเยอรมนีกลัวรถ Tesla จนต้องออกมาตรการ “รถยนต์ไฟฟ้าคันแรก” ครับ
[/size]
ภาพประจำตัวสมาชิก
พ่อน้องเพชร
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 302
ผู้ติดตาม: 1

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ดูราคาmodel 3 แล้ว แบบนี้อุตสาหกรรมรถในเมืองไทยถ้าจะแย่แน่ครับ
yoko
Verified User
โพสต์: 4395
ผู้ติดตาม: 8

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ไทยเจ๋งอุตรถยนต์ไฟฟ้าแห่ลงทุน จี้กรมขนส่งรื้อระเบียบเก่า-ตั้งเป้าดีเดย์ผลิตปี60

updated: 20 มิ.ย. 2559 เวลา 10:00:00 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าญี่ปุ่นหารือกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมตั้งฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในไทย คาดเดินเครื่องผลิตได้ภายในปี 2560 ตั้งเป้ายอดขาย 4 หมื่นคันภายใน 5 ปี เจาะกลุ่มอาเซียน-ยุโรป

นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นเข้าพบว่า บริษัท FOMM Corporation จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่จากญี่ปุ่น ที่เชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก มีแผนที่จะเข้ามาลงทุนร่วมกับผู้ผลิตของไทย เพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 4 หมื่นคันภายใน 5 ปี เพื่อส่งขายในตลาดอาเซียน และสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีราคาประมาณคันละ 3 แสนบาท ขณะนี้รถต้นแบบได้ผลิตเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการทดสอบด้านความปลอดภัย

ที่ผ่านมา FOMM ได้เข้ามาร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการวิจัยพัฒนาด้านความปลอดภัย โดยในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าของ FOMM สามารถวิ่งได้ไกล 150 กม./ชม. ต่อการชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง (6 ชม.) มีความเร็ว 90 กม./ชม. แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงประสิทธิภาพ คาดว่าหลังจากสร้างโรงงานเสร็จในปี 2017 จะเพิ่มระยะทางวิ่งได้ 300 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง ทำให้สามารถสู้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันได้มากขึ้น รวมทั้งยังมีคุณสมบัติพิเศษสามารถลอยน้ำ และขับเคลื่อนในน้ำได้หากเกิดน้ำท่วม

นอกจากนี้ FOMM ยังได้จับมือลงนามเอ็มโอยูกับ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ในความร่วมมือพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้า หรือสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ รวมทั้งการบริหารหลังการขายร่วมกัน โดยในระยะแรกจะตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงก่อน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

สำหรับการเข้ามาหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ ทาง FOMM ขอให้กระทรวงผลักดันแก้ไขปัญหากฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบกที่กำหนดให้รถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งตามท้องถนนจะต้องมีกำลังไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 15 กิโลวัตต์ จึงจะสามารถจดทะเบียนได้ แต่จากเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้กำลังไฟฟ้าได้ต่ำกว่าที่กำหนดได้แล้ว ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหารือในเรื่องของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในท้องถนนว่าจะมีความปลอดภัยเพียงไร ซึ่งหากผ่านข้อกำหนดด้านความปลอดภัยได้ ก็เชื่อว่าจะมีการแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถวิ่งในท้องถนนหลวงได้

นายสมชายกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงอยู่ระหว่างการหารือเรื่องการผลิตรถบัสไฟฟ้า ที่ภาคเอกชนอยากให้ในระยะแรกนำเข้ารถบัสไฟฟ้าทั้งคันจากจีนก่อนเพื่อทดสอบตลาด จากนั้นจึงค่อย ๆ ส่งเสริมให้เกิดการตั้งโรงงานประกอบ และผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ต่อไป ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องหารือในรายละเอียดของการส่งเสริมว่าจะต้องมีมาตรการใดบ้าง คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้

"มาตรการอุดหนุนทางภาษีของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สูงสุด 8 ปี ยังไม่เพียงพอต่อการดึงดูดการลงทุน เพราะประเทศคู่แข่งต่างอุดหนุนในด้านต่าง ๆ มากกว่านี้ ดังนั้นหากไทยต้องการดึงผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกให้เข้ามาตั้งฐานการผลิต จะต้องมีมาตรการอื่น ๆ สนับสนุน จึงจะมีแรงในการชักจูงการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยไทยยังมีข้อได้เปรียบประเทศอื่นในด้านของการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีผู้ผลิตชิ้นส่วนจำนวนมาก หากมีมาตรการด้านอื่น ๆ มาเพิ่ม ก็จะทำให้ต่างชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนได้ง่ายขึ้น" นายสมชายกล่าว

นายณัฐพล รังสิตพล รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าได้เกือบทุกพื้นที่ เพราะระบบไฟฟ้าของไทยเป็นไฟฟ้าแรงสูง ใช้เวลาชาร์จประมาณ 20 นาที ขณะที่การเติมน้ำมันใช้เวลา 5 นาที ขณะที่ต่างประเทศตามถนนในเมืองจะเป็นไฟฟ้าแรงต่ำ จะมีความยุ่งยากในการสร้างสถานีชาร์จ"
dsdumrong
Verified User
โพสต์: 530
ผู้ติดตาม: 1

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 4

โพสต์

:B
jonny11
Verified User
โพสต์: 572
ผู้ติดตาม: 1

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ถ้าหันไปใช้รถไฟฟ้าจริงอนาคตพวกโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยคงม้วนเสื่อแน่ๆ. โรงกลั่น ปั้มน้ำมัน ปั้มแก๊ส เจ๊งเรียบ. ปตท ไปทำโรงแรมจิ้งหลีด ทั้งหมดนี้คงไม่เกิน 30ปี
สัมปทานขุดแก๊สในอ่าวไทยไม่ต้องทะเลาะกัน ไม่เกิน 30 ปี คนหันมาใช้โซล่าเซลกันหมด แก๊ส น้ำมันต้นทุนสูงขุดมาไม่มีคนซื้อ
โพสต์โพสต์