Fin Tech กับการลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

Fin Tech กับการลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เรื่องของเทคโนโลยีทางด้านของข้อมูลและข่าวสารโดยเฉพาะทางด้านการเงินหรือที่เรียกกันแบบสั้น ๆ ว่า “Fin Tech” นั้น กำลังมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อสถาบันการเงินดั้งเดิมทั้งหลายโดยเฉพาะที่ทำธุรกิจกับลูกค้ารายย่อยเช่นธนาคารพาณิชย์ เหตุผลก็เพราะว่าด้วยการใช้ “App” ใหม่ ๆ ทางด้านบริการทางการเงิน ในที่สุดลูกค้าก็สามารถที่จะ “By Pass” หรือไม่ต้องทำธุรกิจจำนวนมากผ่านแบงก์ ค่าธรรมเนียมหรือบริการที่แบงก์เคยได้เป็นกอบเป็นกำก็จะลดลงมาก ตัวอย่างเช่นในเรื่องของการโอนเงิน การแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เป็นต้น เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าผลกระทบนี้จะทำให้ผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินลดลงไปมากน้อยแค่ไหนในระดับโลก อย่างไรก็ตาม ผมเองคิดว่าในประเทศไทย เราคงยังมีเวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่สถาบันการเงินใหญ่ ๆ จะเริ่มรู้สึกถึงภัยคุกคามนี้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ขณะนี้บางแบงก์ก็เริ่ม “ปรับตัว” รับกับอนาคตที่กำลังจะมาถึงแล้ว

ในด้านของตลาดทุนเองนั้น บริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ที่เป็นสถาบันการเงินหลักที่ให้บริการเกี่ยวกับการลงทุนโดยเฉพาะในด้านของหุ้นนั้น ผมคิดว่าประสบกับเรื่องของฟินเทคมานานพอสมควรแล้วเนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ นั่นทำให้รายได้ส่วนนี้ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้มากนักทั้ง ๆ ที่ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของไทยเพิ่มขึ้นมามาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจนี้ยังถูกควบคุมค่อนข้างมากจากทางการและผู้เล่นหน้าใหม่ไม่สามารถ “By Pass” ระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ได้ การแข่งขันของฟินเทคจึงเป็นการแข่งขันที่มาจากบริษัทหลักทรัพย์ที่มีอยู่เป็นหลัก ผลก็คือ ธุรกิจส่วนที่ถูกกระทบแรงโดยฟินเทคนั้นไม่สามารถเติบโตหรือทำเงินมากขึ้นได้ ดังนั้น ในระยะหลัง ๆ บริษัทหลักทรัพย์จึงต้องมองหาธุรกิจอื่นเช่น การทำ IB หรือวาณิชธนกิจ เช่น การนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาในการควบรวมกิจการ และการลงทุนในตลาดหุ้นโดยใช้เงินของบริษัทเองหรือ Prop Trade เป็นต้น

ในช่วงเร็ว ๆ นี้ Fin Tech ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการลงทุนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โปรแกรมหรือ App ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มักจะมาจากบริษัทหลักทรัพย์ที่ต้องการใช้มันเพื่อเป็นเครื่องมือทางการตลาดในการดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการการซื้อขายหลักทรัพย์มากขึ้น นั่นก็คือ ชักชวนให้ลูกค้ารายใหม่เข้ามาเปิดบัญชีใช้บริการ หรือที่อาจจะสำคัญยิ่งกว่าก็คือ เพื่อที่จะชักจูงให้ลูกค้าเดิมซื้อขายหุ้นมากขึ้น

App ตัวสำคัญที่เกิดขึ้นก่อนนั้นน่าจะเป็นเรื่องของ “Robot” หรือ “หุ่นยนต์” ในการเทรดหุ้น นี่คือโปรแกรมที่จะซื้อขายหุ้นได้อย่างรวดเร็วใน “เสี้ยววินาที” ที่คนเขียนอ้างว่าจะสามารถทำกำไรได้ดีเพราะมันถูกออกแบบมาโดยอิงกับการศึกษาข้อมูลในอดีตทางด้านของพฤติกรรมราคาของหุ้นที่ผันผวน “นาทีต่อนาที” ผมเองไม่แน่ใจว่าคนใช้ Robot จะได้กำไรจริง ๆ หรือไม่ แต่ก็มั่นใจว่าโบรกเกอร์จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณการซื้อขายหุ้นและค่าคอมมิชชั่นน่าจะมากขึ้นมากจากการใช้โรบอท อย่างไรก็ตาม หากผลงานของโรบอทไม่ดีจริงอย่างที่อ้าง ในที่สุดความนิยมก็จะลดลงโดยเฉพาะสำหรับคนที่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นสูงเช่นลูกค้าส่วนบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะที่ไม่ใช้ลูกค้ารายใหญ่

คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะที่เป็น VI ไม่เชื่อในการลงทุนโดยอาศัยข้อมูลทางด้านเทคนิค และดังนั้น ฟินเทคที่ทำ App เกี่ยวกับการซื้อขายโดยอิงกับราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นจึงไม่เป็นที่ต้องการ พวกเขาต้องการอะไรที่เป็นเรื่องของการลงทุนตามพื้นฐานของกิจการและราคาหุ้น เป็นเรื่องของการลงทุน “ระยะยาว” ที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีและทำให้พอร์ตเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เหนือสิ่งอื่นใด การศึกษาก็พบว่าการลงทุนแนวพื้นฐานหรือ VI นั้นให้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าวิธีการอื่น อย่างไรก็ตาม สำหรับโบรกเกอร์แล้ว การลงทุนระยะยาวนั้นทำให้นักลงทุนซื้อขายหุ้นน้อยลงและนั่นอาจจะทำให้รายได้ของบริษัทลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้น พวกเขาจึงไม่อยากชักชวนให้ลูกค้าทำอย่างนั้นโดยการไม่เสนอ App แนวอิงข้อมูลพื้นฐานให้กับลูกค้า

แต่ในโลกที่กระแสฟินเทคมาแรงอย่างในปัจจุบันนั้น โบรกเกอร์ไม่ได้เป็น “ผู้คุมเกม” อีกต่อไป คนธรรมดาที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความมุ่งมั่น ได้เข้ามาเล่นในเกมของการสร้างนวัตกรรมที่สามารถ “ทำลายล้าง” Establishment หรือสถาบันดั้งเดิมได้ใน “ชั่วข้ามคืน” อย่างที่เราได้เห็นในหลาย ๆ วงการ โปรแกรมที่อาศัยข้อมูลพื้นฐานและราคาค่าความถูกความแพงของหุ้นเริ่มปรากฏขึ้น การศึกษาและ “ทดสอบย้อนหลัง” พบว่า การลงทุนโดยใช้คอมพิวเตอร์กรองหุ้นโดยอิงกับผลประกอบการและราคาหุ้นของบริษัทในอดีตโดยเฉพาะแนว VI ให้ผลตอบแทนที่น่าประทับใจ ตัวอย่างเช่น การใช้ Magic Formula หรือใช้ข้อมูลค่า PE PB และอัตราปันผลต่อราคาหุ้นนั้น ให้ผลตอบแทนที่ดีเลิศในระยะยาว ว่าที่จริงบางครั้งมันดีกว่า “เซียน” ที่ทุ่มเทวิเคราะห์และติดตามหุ้นอย่างเอาเป็นเอาตายด้วยซ้ำ และนั่นนำมาซึ่งการที่บริษัทหลักทรัพย์จะอยู่เฉยไม่ได้ ดังนั้น โบรกเกอร์บางรายจึงต้องเข้า “ร่วมขบวน” ทำ App ที่เน้นการลงทุนแนวพื้นฐานเสนอให้ลูกค้าใช้

เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่าความนิยมในโปรแกรมการลงทุนหุ้นเหล่านั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป เช่นเดียวกับการพัฒนาของโปรแกรมที่จะมีหลากหลายมากขึ้น ทั้งจากบริษัทฟินเทคเองและจากบริษัทหลักทรัพย์ เป็นไปได้ว่าโปรแกรมที่มีแนวโน้มให้คนซื้อขายหุ้นสั้นลง ๆ แม้ว่ามันจะใช้ข้อมูลพื้นฐานรายไตรมาศจะเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้บริษัทหลักทรัพย์มีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นมากขึ้น นอกจากนั้น มันก็ช่วยให้นักลงทุนหรือ “คนเล่นหุ้น” ที่มักอยากเห็นผลการลงทุนระยะสั้นอยากใช้มากขึ้น

สำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI หรืออยากเป็น VI นั้น แม้ว่าหลายคนจะไม่ค่อยแน่ใจกับวิธีการลงทุนแบบ “Run ออกมาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์” โดยไม่ได้ศึกษาเรื่องของปัจจัยด้านคุณภาพ ผมเองก็เชื่อว่าพวกเขาก็จะเริ่มเข้ามาสนใจและอาจจะใช้มันมากขึ้น อาจจะไม่ได้ใช้ตัดสินใจซื้อขาย แต่อย่างน้อยมันก็อาจจะเป็นตัวประกอบหรือตัวที่ใช้ตรวจสอบกับข้อมูลเชิงคุณภาพอื่น ๆ เหนือสิ่งอื่นใด ข้อมูลเหล่านี้เขาได้มาแทบจะฟรีและมันอยู่แค่ “ปลายนิ้ว”

ผมไม่รู้ว่า App การลงทุนที่เกิดจากฟินเทคต่าง ๆ ที่กำลังออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ถ้าเรานำมาใช้จริง ๆ อย่างเป็นเรื่องเป็นราวจะให้ผลตอบแทนที่ดีมากน้อยแค่ไหน จริงอยู่ การทดสอบย้อนหลังกับข้อมูลที่ผ่านมาหลาย ๆ ปีอาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมหรือดีเลิศจนไม่น่าเชื่อ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าอนาคตมันจะเป็นอย่างนั้นต่อไป เป็นไปได้ว่าคนเขียน App นั้นไป “ขุด” ข้อมูลผลตอบแทนของหุ้นที่ดีที่ “บังเอิญ” ไปตรงกับข้อมูลพื้นฐานของบริษัทชุดหนึ่งโดยที่ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกันจริง ๆ มาได้ แต่อนาคตมันคงไม่บังเอิญแบบนั้นอีก เป็นไปได้ว่าในอดีตคนยังไม่รู้ว่าหุ้นพื้นฐานดีจะให้ผลตอบแทนที่ดี ดังนั้น คนที่เข้าไปซื้อหุ้นพื้นฐานดีราคาถูกในอดีตจึงทำกำไรได้มาก แต่ในปัจจุบันคนอาจจะรู้แล้วว่าหุ้นพื้นฐานดีจะให้ผลตอบแทนที่ดีจึงเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นแพง และหุ้นที่ดีแต่แพงนั้น อาจจะให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีในอนาคตก็เป็นไปได้

ผมเองเชื่อว่าในตลาดที่พัฒนาขึ้นนั้น การลงทุนที่จะเอาชนะตลาดมาก ๆ นั้นทำได้ยาก เหตุผลก็เพราะว่ามีนักลงทุนที่เก่งและรอบรู้มาก ถ้าคนเชื่อว่าหลักการลงทุนแบบไหนดีก็จะเข้ามาใช้มากขึ้น ซึ่งนั่นก็จะทำให้หุ้นที่อยู่ในข่ายมีราคาแพงขึ้น ดังนั้น โปรแกรมการลงทุนที่คนนิยมและใช้กันมาก สุดท้ายประสิทธิภาพของโปรแกรมก็มักจะต่ำลง เวลาจะเป็นตัวที่บอกว่า App ไหนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ในระหว่างนี้ เราก็ต้องติดตามและหลายคนก็อาจจะ “ลอง” ใช้ดู สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ เรื่องของความเสี่ยงที่มันอาจจะไม่เป็นไปตามที่หวัง และถ้าเช่นนั้น ความเสียหายคืออะไร สุดท้ายก็คือ เราต้องประเมินตลอดเวลาว่าโปรแกรมนั้นยังใช้ได้หรือไม่และเราจะต้องปรับตัวอย่างไร
โพสต์โพสต์