ลงทุนรอบใหม่/วีระพงษ์ ธัม

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

ลงทุนรอบใหม่/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    องค์ประกอบสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของบริษัทที่จะเติบโตได้นั้น คือบริษัทต้องมีการ “ลงทุน” เพื่อขยายงาน ถ้าบริษัทเติบโตในขณะที่การลงทุนอยู่ในระดับต่ำ แสดงว่าบริษัทนั้นกำลัง “กินบุญเก่า” ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนยังช่วย “ปกป้องรักษา” ความสามารถในการแข่งขัน เสมือนเป็นการเพิ่มป้อมคูเมืองให้แข็งแรง การประหยัดอดออม “ค่อย ๆ โต” อาจจะใช้ในสำหรับการอยู่รอดในการแข่งขันในอดีต แต่โลกธุรกิจในยุคใหม่ การลงทุนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการ “แข่งขัน” รุนแรงกว่าเดิม อย่างไรก็ดีการลงทุนนั้นคู่กับความเสี่ยงที่อาจจะไม่ได้ “ผลตอบแทน” ที่คุ้มค่า และที่สำคัญกว่านั้น การลงทุนต้องมีสัดส่วนที่ “เหมาะสม” คือไม่มากเกินไป และไม่น้อยจนเกินไป ประเทศไทยและบริษัทจดทะเบียนเติบโตช้าลงในหลายปีที่ผ่านมา ผมคิดว่านี่คือสัญญาณที่บอกว่า สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญที่สุดในวันนี้คือการเริ่มต้น “ลงทุนรอบใหม่”

    ประวัติศาสตร์มักจะเขียนถึงความโหดร้ายของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ “ลงทุนเกินตัว” ทำให้เกิด “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่รุนแรงในปี 2540 แต่ในขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงนัก คือ “ผลพวง” ของการการลงทุนครั้งนั้น ช่วยให้ประเทศไทยมาเติบโตมาได้เป็น 10 ปี การส่งออกเติบโตขึ้นมาจากสัดส่วนประมาณ 50% ต่อ GDP มาเป็น 70% แต่ข่าวร้ายที่แอบอยู่ในเรื่องนี้ คือการลงทุนไทย ลดลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ เนื่องจากที่ผ่านมาเราพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI เมื่อกระแสเงินค่อย ๆ “เปลี่ยนทิศ” ไปยังประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า การลงทุนจึงตกต่ำ นิคมอุตสาหกรรมเริ่มว่าง พื้นที่เช่าในหลาย ๆ ปีก่อนซึ่งเต็มมาตลอด มาปัจจุบันก็ว่างมากขึ้น การลงทุนลดลงจากสัดส่วน 40% เหลือประมาณ 20% ต่อ GDP

    ผมไม่มีตัวเลขแยกที่ชัดเจน แต่คิดว่าการลงทุนใหม่ ๆ ของบริษัท ไทยนั้น ก็ลดลงเช่นเดียวกัน สังเกตจากที่นักธุรกิจรุ่นพ่อลดการขยายงาน เงิดสดท่วมบริษัท และเริ่มเอาเงินเข้าตลาดหุ้น ทำให้ “ราคาหุ้น” ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นมาตลอด มีการลงทุนไหลไปเข้าบริษัทนอกตลาด อย่างเช่น STARTUP ทำให้มูลค่าบริษัทเหล่านี้สูงลิ่ว ที่จริงแล้วในสภาวะนี้ การลงทุนในภาคการผลิตจริง ๆ จะมีความคุ้มค่าสูงขึ้นมาก เพราะถ้าขยายงานได้หรือธุรกิจสำเร็จ ธุรกิจนั้นจะมี “มูลค่าสูงมาก” เพราะมีนักลงทุนพร้อมซื้อหุ้นและให้ราคา สภาวะนี้จะดึงให้นักธุรกิจเริ่มจริงจังกับการขยายธุรกิจมากขึ้น เพราะลงทุนทำธุรกิจเองแม้เหนื่อย แต่ “คุ้ม”

    นอกจากนั้นการลงทุนภาครัฐ ซึ่งเป็น “หัวรถจักร” นำขบวนก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว โครงสร้างพื้นฐานแข็งแรงขึ้น และเกิดการสนับสนุนมากมาย ธุรกิจส่วนใหญ่เหมือนกับว่าจะรอ “ลมฟ้าอากาศ” ให้เศรษฐกิจดีขึ้นก่อน แต่ประวัติศาตร์บอกว่าการลงทุนดี ๆ มักจะเกิดขึ้นในเวลาที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ เพราะธรรมชาติของการลงทุนนั้น “กว่าจะพร้อม” ก็ “สาย” ไปเสียแล้ว น่าดีใจที่มีนักธุรกิจรุ่นใหม่ เริ่มลงทุน “สร้าง” ธุรกิจยุคใหม่ ตั้งแต่ e-commerce ทำโฮสเทล STARTUPS ต่าง ๆ ซึ่งดูเหมือนจะไปได้ดี นักธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่กำลังหา “โอกาสใหม่” เพื่อเปิดช่องการทางเติบโต เพราะอุตสาหกรรมในโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปสูง สิ่งที่เคยผลิตได้ อาจจะขายไม่ได้ในอนาคต ธุรกิจไม่ควรรอแค่ “อัตราการใช้กำลังการผลิตให้เต็ม” เพราะบางครั้งการรอเฉย ๆ อาจจะนำไปสู่ความยากลำบากในอนาคต อย่างไรก็ดี การลงทุนที่ “ฝืน” เช่น ลงทุนในสิ่งที่ไม่ชำนาญ ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ย่อมจบลงด้วยหายนะเช่นเดียวกัน

    สำหรับนักลงทุน การ “เลือก” บริษัทที่จะลงทุน นอกจากดู “รูปร่างหน้าตา” ของบริษัทในปัจจุบันแล้ว สิ่งที่จำเป็นมากกว่าคือดู “ความสามารถของบริษัทในการลงทุน” ว่าการลงทุนนั้นมีประสิทธิภาพแค่ไหน มีผลตอบแทนต่อเงินลงทุน หรือ ROIC คุ้มค่ากับต้นทุนการเงินหรือไม่ มีช่องทางการลงทุนหรือโอกาสให้เลือกมากมายหรือไม่ เพราะนี่คือหัวใจของ “การเติบโต” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นักลงทุนควรจะสนับสนุนราคาหุ้นให้สูงขึ้นสำหรับบริษัทที่มีอนาคตที่ดี มีการลงทุนที่ดี นี่คือตัวช่วยหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ เพราะ “บริษัทที่ลงทุนขยายงานได้ดี” สมควรจะได้ “รางวัลชิ้นงาม” จากนักลงทุน

    สำหรับคนทั่ว ๆ ไป สิ่งแรกที่เราควรจะเริ่มคิดลงทุนรอบใหม่ คือ การลงทุน “ความรู้” ที่เป็นการลงทุนที่ดีที่สุด และวิธีได้ความรู้ที่ถูกและคุ้มค่าที่สุด คือ “การอ่าน” ปัจจัยความสำเร็จในการลงทุนแบบนี้ คือใช้เวลา “เลือก” หนังสือที่ดีมาอ่าน สิ่งที่สองคือ หาวิธีการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขึ้นทุก ๆ วัน ถ้าเราทำงานเร็วขึ้น เวลาก็จะเหลือให้เราสามารถลงทุนทำอย่างอื่นได้ หาทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น เช่น ด้านเทคโนโลยีและภาษา อนาคตชีวิตคนมีแนวโน้มว่าจะยืนขึ้น คนอายุ 60 ที่จะเกษียณและหยุดเรียนรู้อาจจะต้อง “คิดใหม่” เพราะอาจจะมีเวลาในชีวิตเหลือมากกว่านั้น ดังนั้นเวลาการ “เรียนรู้” ก็ควรจะยาวขึ้นเช่นเดียวกัน สิ่งสุดท้ายคือ ให้เวลากับการ “คิด” มากขึ้น เหมือนกับที่ชาร์ลี มังเจอร์พูดว่า สิ่งที่สวยงามที่สุดของการอ่านและการคิด คือ ถ้าคุณทำมันได้ดี คุณจะแทบไม่ต้องทำอย่างอื่นมากมายเลย
[/size]
โพสต์โพสต์