การประชุมสภาประชาชนประจำปีของจีนและการปฏิรูปเศรษฐกิจ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

การประชุมสภาประชาชนประจำปีของจีนและการปฏิรูปเศรษฐกิจ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โค้ด: เลือกทั้งหมด

การประชุมประจำปีของสภาประชาชนจีน (National People’s Congress) ตั้งแต่วันที่ 5-12 มีนาคมมีความสำคัญเพราะนอกจากจะเป็นการกำหนดแผนเศรษฐกิจสำหรับปี 2016 แล้ว ก็ยังเป็นการวางแผนเศรษฐกิจ 5 ปี ซึ่งนักลงทุนคาดหวังว่าจะมีการประกาศนโยบายและมาตรการที่มีความชัดเจนและ เบ็ดเสร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทั้งนี้รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอีกด้วย ซึ่งนักลงทุนคงจะอยากทราบว่ารัฐบาลจีนตั้งเป้าให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 7% ต่อปีมากน้อยเพียงใด

ผมได้เคยเล่าแล้วว่าปัญหาหลักของจีนคือการที่เศรษฐกิจโดยรวมมีหนี้สินสูง มาก (ประมาณ 260% ของจีดีพี) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทของจีนที่มีหนี้สินมูลค่าสูงถึง 160% ของจีดีพี ปัญหาพื้นฐานของจีนในขณะนี้คือความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มปริมาณสินเชื่อ (ประมาณ 15%) ให้เพียงพอที่จะเลี้ยงมิให้บริษัทมีปัญหาทางการเงินกล่าว คือมีการประเมินว่าประมาณ 20% ของสินเชื่อใหม่นั้นน่าจะนำมาจ่ายดอกเบี้ยหนี้เก่า แปลว่าแม้สินเชื่อจะเพิ่มขึ้นกว่า 30% ของจีดีพีต่อปี ในขณะที่จีดีพี (บวกเงินเฟ้อด้วย) ขยายตัวเพียง 8-9% ซึ่งแปลว่าจีนจะพยายามรักษาเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยรวมที่เกือบ 7% (ไม่รวมเงินเฟ้อ) ก็ได้ แต่จะเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน เพราะหนี้สินขยายตัวสูงกว่ารายได้กว่า 3 เท่าตัว แต่ครั้นจะตัดการขยายตัวของสินเชื่อให้เหลือ 2-3% (เพื่อลดสัดส่วนของหนี้ต่อจีดีพี) ก็จะมีความเสี่ยงสูงที่บริษัทหลายแห่งจะล้มละลาย เพราะปัจจุบันนั้นสถานะทางการเงินอ่อนแออย่างมากอยู่แล้ว นัก วิชาการคนหนึ่งประเมินว่าหากยกเลิกสินเชื่อที่ปล่อยไปแล้ว มิได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง (คือสินเชื่อที่อุ้มบริษัทที่กำลังการผลิตเกิน) แล้ว จีดีพีของจีนน่าจะขยายตัวได้ไม่เกิน 2-4% ต่อปี

การที่สินเชื่อยังขยายตัวในระดับ 12-15% ต่อปี (ของมูลค่าสินเชื่อที่สูงถึง 250% ของจีดีพีในขณะนี้) ทำให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดีส์ปรับลดการคาดการณ์หนี้สาธารณะของ จีนลงจากมีเสถียรภาพ (stable) มาเป็นแนวโน้มติดลบ (negative outlook) โดยไม่ยอมรอผลการประชุมสภาประชาชนที่กล่าวถึงข้างต้น โดยมูดีส์สรุปว่า “Without credible and efficient reforms, China’s GDP growth would slow more markedly as a high debt burden dampens business investment and demographics turn increasingly unfavorable. Government debt would increase more sharply than we currently expect” ทั้งนี้มูดีส์เป็นห่วงว่าสถานะทางการคลังของรัฐบาลจีนจะอ่อนแอลงและการลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์ เหลือ 3.24 ล้านล้านดอลลาร์ ก็เป็นข้อกังวลอีกทางหนึ่งด้วย

จึงสรุปได้ว่ามูดีส์กังวลว่าหากจีนไม่ขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการ ผลิตอย่างจริงจังให้เห็นผลในเร็ววันนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สินของบริษัทก็จะกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวช้าลงอย่างมาก และปัญหาหนี้จะกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน นอกจากนั้นการแก่ตัวลงของแรงงานของจีนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะชะลอการขยาย ตัวของเศรษฐกิจ จนในที่สุดรัฐบาลก็จะต้องเข้าไปแทรกแซงให้ความช่วยเหลือบริษัทที่อ่อนแอภาระ ทางการเงินดังกล่าวจะทำให้สถานะทางการคลังของรัฐบาลถดถอยลง ทั้งนี้นอกจากปรับลดการคาดการณ์แนวโน้มของหนี้รัฐบาลไปในทางลบแล้ว ก็ยังปรับลดความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน 25 แห่งและรัฐวิสาหกิจ 38 แห่งอีกด้วย ในขณะเดียวกันบริษัทจัดอันดับเอสแอนด์พี ยังยืนยันว่าแนวโน้มหนี้รัฐบาลยังมีเสถียรภาพ

การปฏิรูปเศรษฐกิจที่กล่าวถึงนั้นหมายถึงอะไร และทำไมจึงไม่สามารถทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้โดยง่าย?

- ปัจจุบันจีนมีรัฐวิสาหกิจที่เป็นเป้าของการปฏิรูป (คืออุตสาหกรรม “ผีดิบหรือ zombie” คือเป็นอุตสาหกรรมที่ตายมากกว่าเป็น) รวมทั้งสิ้นประมาณ 150,000 แห่ง โดยประเมินว่ามีพนักงานรวมทั้งหมดประมาณ 63 ล้านคน

- ทั้งนี้อดีตที่ปรึกษาของธนาคารกลางของจีนประเมินว่ารัฐบาลจะ ต้องสั่งปิดบริษัทผีดิบเป็นจำนวนมาก เพราะมีกำลังการผลิตเกินความต้องการมากถึง 35% ในบางอุตสาหกรรม

- อุตสาหกรรมที่มีปัญหามากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก เหมืองแร่ (โดยเฉพาะถ่านหิน) และอสังหาริมทรัพย์ ในกรณีของอุตสาหกรรมเหล็กและถ่านหินนั้น รัฐบาลมีแผนการที่จะลดจำนวนพนักงาน 1.8 ล้านคนใน 5 ปีข้างหน้า โดยรัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนการปรับตัวของพนักงาน (รวมถึงการฝึกฝนอาชีพใหม่และทำงานใหม่) มูลค่ารวมทั้งสิ้น 100,000 ล้านหยวน (15,300 ล้านดอลลาร์) แต่นักวิเคราะห์มองว่าการลดกำลังการผลิตเหล็กรวมทั้งสิ้น 150 ล้านตันภายในปี 2020 นั้น อาจจะยังไม่มากพอ เพราะขณะนี้มีกำลังการผลิตเกินประมาณ 400 ล้านตัน

- แม้รัฐบาลกลางจะสั่งการให้ปฏิรูปการผลิต แต่การปฏิบัติตามคำสั่งนั้นมิได้เกิดขึ้นเสมอไป เพราะรัฐบาลท้องถิ่นไม่มีแรงจูงใจที่จะลดขนาดของบริษัท เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในระดับท้องถิ่น ตัวอย่าง เช่นเมื่อปี 2009 รัฐบาลกลางสั่งปิดโรงถลุงเหล็กขนาดเล็กที่ไม่สามารถแข่งขันกับโรงถลุงเหล็ก ขนาดใหญ่ได้ (เพราะต้นทุนต่อหน่วยสูงกว่า) แต่เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นนำคำสั่งมาปฏิรูปนั้นปรากฏว่าได้มีการขยายการลง ทุนอย่างก้าวกระโดด เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตของโรงถลุงขนาดเล็กให้มีขนาดใหญ่ตามที่รัฐบาลกลาง กำหนดให้สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้

- การบริโภคเหล็กของจีนลดลง 5% ในปีที่แล้ว ทำให้โรงถลุงเหล็กหลายแห่งขาดทุน จึงได้พยายามส่งออก ซึ่งทำให้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 25.5% แต่ก็กำลังเผชิญปัญหาจากประเทศคู่ค้า เช่นสหรัฐและสหภาพยุโรป ซึ่งอุตสาหกรรมภายในฟ้องร้องให้รัฐบาลสอบสวนว่าเหล็กจีนนั้นขายต่ำกว่าราคา ต้นทุนคือพยายามทุ่มตลาด (dumping) หรือไม่

จีนได้เคยทำการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจนประสบความสำเร็จอย่างงดงามมาแล้วภายใต้การนำของประธานาธิบดี จูหลงจี ในปี 1998-2003 โดยก่อนหน้านั้นได้เป็นรองประธานาธิบดีในปี 1993-1998 (โดยควบตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาติจีนในช่วง 1993-1995 อีกด้วย) ประธานาธิบดี จู ขับเคลื่อนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างมุ่งมั่นและมีความเด็ดขาด แม้ว่าจะต้องปลดพนักงานไปทั้งสิ้น 20-35 ล้านคน แต่ในช่วงนั้นเศรษฐกิจจีนมีขนาดเล็กกว่าปัจจุบันอย่างมาก กล่าวคือจีดีพีในปี 1998 นั้นมีมูลค่าเพียง 8.5 ล้านล้านหยวนและมีแรงงานทั้งสิ้น 706 ล้านคน โดยเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ 90.6 ล้านคน (แต่ปัจจุบันจีดีพีมูลค่า 67.7 ล้านล้านหยวนและมีแรงงาน 774.5 ล้านคน) และการปรับทักษะของแรงงานก็ทำได้ไม่ยากนักเพราะอุตสาหกรรมก็ยังเป็น อุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน การปฏิรูปเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวในระดับตัวเลขสองหลักต่อไปอีกหลายปี และจีนสามารถเข้าเป็นภาคีขององค์กรการค้าโลก (WTO) ในเดือนธันวาคม 2001

แต่อีกส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้วนั้น รวมถึงการลดค่าเงินหยวนจากประมาณ 5.9 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐมาเป็น 8.7 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐด้วยในต้นปี 1994 ซึ่งแม้จะเป็นการปรับอัตราแลกเปลี่ยนของทางการให้สะท้อนอัตราแลกเปลี่ยนใน ตลาดมืด แต่ก็เป็นการลดค่าเงินที่รุนแรงและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของจีนอย่าง มาก (เพราะลดค่าเงินไปถึง 32%) และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยไม่ขยายตัวในปี 1996 และเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจของไทยในปี 1997 ครับ
[/size]
โพสต์โพสต์