แข่งกันเป็นนกตัวแรก/วีระพงษ์ ธัม

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

แข่งกันเป็นนกตัวแรก/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ถ้าเราอยากจะประสบความสำเร็จ สุภาษิตฝรั่งที่อยู่ในลำดับต้น ๆ ในเรื่องนี้คือ “Early Bird catches The Worm” หรือแปลว่านกที่ตื่นเช้าจะได้กินหนอน (ส่วนนกที่ตื่นสายก็จะไม่มีอะไรกิน เพราะนกที่ตื่นเช้ากินหมดแล้ว) นี่คือความเชื่อหลักซึ่งนำไปสู่กลยุทธ์ทางธุรกิจในเรื่อง First Mover Advantage หรือความได้เปรียบหากเรารีบลงมือก่อน ส่วนการผลัดวันประกันพรุ่งดูเหมือนจะเป็น “ผู้ร้าย” ในทุก ๆ เรื่อง แต่คนมักจะลืมไปว่า Early Bird catches the worm, but the early Worm gets caught แปลว่าหากเรามองอีกมุมหนึ่ง “นกตัวแรก” อาจจะได้กินหนอน  ในขณะเดียวกัน “หนอนตื่นเช้า” ก็จะถูกจับกินเป็นตัวแรกเช่นเดียวกัน ปัญหาคือเรามักจะคิดว่าตัวเองเป็น “นกตัวแรก” แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่ใช่ “หนอนตัวแรก”

    ธุรกิจในโลกส่วนใหญ่ล้วนประกอบไปด้วยคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้บุกเบิก ผู้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ลงหลักปักฐานหรือ “ผู้ชนะ” บนความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ คนสองกลุ่มนี้อาจจะเป็นคนเดียวกัน และหลายครั้งกว่ามักจะเป็นคนละคนกัน เช่นถ้าเราพูดถึงผู้คิดค้นโทรศัพท์มือถือคือโมโตโรลา แต่ผู้ชนะคือโนเกียที่ใหญ่กว่าเป็นสิบเท่าในยุคทอง แต่หลังจากนั้นโนเกียคิดค้น Smart Phone เป็นคนแรก ๆ ผู้ชนะกลับเป็น APPLE จนก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่ระดับโลก บริษัท Magnavox และอาตาริ คือผู้บุกเบิกเกมคอนโซล แต่นินเทนโดคือผู้ที่มาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ซัคเคอร์เบิร์กนำเอาแนวคิดเรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีมาตั้งแต่ปี 1999 มาสร้าง The Facebook ในปี 2004 และกลายเป็นผู้ชนะ เรื่องราวหนึ่งที่เจ็บปวดคือ ผู้ที่คิดกล้องดิจิตอลคนแรกคือโกดัก บริษัทไอคอนของอเมริกา แต่นี่คือบริษัทที่ล้มละลายในเวลาต่อมา คำถามคือ ทำไม Early Bird กลับไม่ได้ประโยชน์ เหมือนผู้ที่ตามมาในภายหลัง

    การเป็น Early Bird อาจจะหมายถึงผู้ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ “ประสิทธิภาพ” เป็นคนละเกมกับ “ความคิดสร้างสรรค์” และประสิทธิภาพสูงไม่สามารถคงอยู่ได้ในระยะยาว หากปราศจากความคิดต่อยอด ความคิดชั้นยอดในโลกมักจะเกิดขึ้นในช่วงท้าย ๆ เช่น ลีโอนาโด ดาวินชี ใช้เวลากว่า 10 ปี เพื่อวาดรูปโมนาลิซา เขา “ถ่วงเวลา” เพื่อค้นหาวิธีการวาดแสงเงา จนสามารถสร้างมาสเตอร์พีซของโลกขึ้นมาได้ ซิมโฟนีหมายเลขห้าของบีโธเฟนก็ใช้เวลากว่า 4 ปีในการเขียน นี่คือผลของการรอคอยที่สร้างผลต่างมหาศาล คำว่าผลัดวันประกันพรุ่งในภาษาอียิปต์ แปลได้สองอย่าง คือ “ขี้เกียจ” และอีกความหมายหนึ่งคือ “รอจนกว่าเวลาจะเหมาะสม” คนที่ช้าไม่ได้หมายถึงขี้เกียจเสมอไป ถ้าเป็น “การช้าอย่างตั้งใจ” การมีเวลาในการคิดอะไรสิ่งที่ดีกว่า มองเห็นจุดอ่อนของผู้บุกเบิก สามารถเติมเต็มจุดอ่อนเปลี่ยนเป็นจุดแข็งนั้นได้เป็นอย่างดี เหมือนที่ขงเบ้งพูดในศึกผาแดงว่า ทุกอย่างพร้อม แต่เราต้องรอ “ลมบูรพา”

    มองอีกมุมหนึ่งกิจกรรมที่จะได้ผลดีกับการเป็น Early Bird หรือการมี First Mover Advantage นั้น จำเป็นจะต้องควบคู่กับความสามารถในการ “รักษา” หรือ “ครอบครอง” ทรัพยากรที่เราเข้าถึงได้ก่อน เช่นถ้าเราสามารถคิดสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา เราต้องสามารถจดสิทธิบัตร หรือทรัพยากรนั้นจะต้องมี “หนึ่งเดียว” หรือ “ขาดแคลน” เช่น ทำเลที่ดีที่สุดในเมือง เหมืองที่มีอยู่แห่งเดียว นอกจากนั้น เราต้องสามารถ “ยึด” ลูกค้าไว้ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่นการมี “ตราสินค้า” ที่ผู้บริโภคหลงใหลแบบหัวปักหัวปำ หรือการสร้าง “เครือข่าย” Network Effect มี Switching Cost สูง นั่นหมายถึงลูกค้าที่อยู่ในเครือข่ายเรา ไม่สามารถ “ย้าย” ไปเครือข่ายอื่นได้ง่าย หรือการมีขนาดที่ใหญ่จนมีการประหยัดต่อขนาดที่สูงกว่ามาก เกมเหล่านี้ ผู้มาทีหลังย่อมเสียเปรียบมาก

    ในยุคที่โลกหมุนเร็วขึ้น คนต่างมุ่งหา “ความเร็ว” อยากเป็น “คนแรก” อยากเริ่มต้นยึดหัวหาดก่อน แต่ในที่สุด “เวลาที่เหมาะสม” และ “ความคิดที่ตกผลึก” คือกุญแจสำคัญกว่าในการเป็นผู้ชนะในบั้นปลาย ยุคที่ความคิดถูกคัดลอกง่าย สินค้าถูกเลียนแบบง่าย การเริ่มต้นก่อนไม่ใช่คำตอบที่จะสร้างชัยชนะในธุรกิจ ดังนั้นถ้าทรัพยากรเราน้อยกว่า การเดินเกมช้า อาจจะได้ผลดีกว่า เพราะเราไม่ต้องเสียทรัพยากรในจุดที่ไม่สำคัญ

    สำหรับการลงทุน ผมก็คิดว่าคนส่วนมากคิดว่า “ตัวเองเป็น” หรือ “พยายามจะเป็น” Early Bird เราคิดว่าเรารู้ข่าวนี้ก่อนคนอื่น เราคิดไกลกว่าคนอื่น เราต้องรีบ “ซื้อหุ้น” กว่าหุ้นจะวิ่ง แต่เท่าที่ผมรู้สึกคือจริง ๆ แล้ว นักลงทุนมีแนวโน้มจะกลายเป็น “Early Worm” เสียมากกว่า เช็คลิสต์ที่สำคัญข้อหนึ่งในการลงทุนของชาลี มังเกอร์ คือ “การคิดอย่างรอบคอบ” การรักษาเงินต้นสำคัญที่สุดในการลงทุน เพราะสำหรับนักลงทุน การไม่มี “เงิน” ย่อมไม่สามารถทำอะไรได้เลย อย่าให้ไอเดียการลงทุนมากมายที่มีทั้งโลก ไอเดีย Startups ที่ฟังดูหวือหวา ข่าวต่าง ๆ ในตลาดหุ้น มา “เร่ง” ทำให้คุณกลายเป็น Early Worm ผู้โชคร้าย
[/size]
prajuvb
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 456
ผู้ติดตาม: 5

Re: แข่งกันเป็นนกตัวแรก/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 2

โพสต์

สุดยอดเหมือนเดิมครับ
rattypor
Verified User
โพสต์: 82
ผู้ติดตาม: 1

Re: แข่งกันเป็นนกตัวแรก/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณสำหรับบทความพี่วีระพงษ์ ธัม มากครับ
ผมอ่านแล้วได้คิดตามได้อีกหลายตลบว่ามีปัจจัยอะไรอีกนอกจากขาดความสามารถ “รักษา” หรือ “ครอบครอง”และทำให้บริษัทหรือนักลงทุนเป็น early Worm gets caught
chamnan028
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 365
ผู้ติดตาม: 0

Re: แข่งกันเป็นนกตัวแรก/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณครับ

บทความของคุณ วีระพงษ์ ธัม น่าอ่าน ให้แนวคิดที่แตกต่าง

ได้มุมมองใหม่ ๆ เสมอ ๆ

เป็นกำลังใจให้ ผมติดตามตลอดครับ
Hopezz
Verified User
โพสต์: 175
ผู้ติดตาม: 0

Re: แข่งกันเป็นนกตัวแรก/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 5

โพสต์

หากไม่แน่ใจ 1000000000000% อย่าริอาจลงทุน
A tool that will help you to invest easier ---> http://stocks.ilovecalculus.net
LER1982
Verified User
โพสต์: 44
ผู้ติดตาม: 0

Re: แข่งกันเป็นนกตัวแรก/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ชอบมากครับ ทุกอย่างพร้อม แต่เราต้องรอ “ลมบูรพา”
ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: แข่งกันเป็นนกตัวแรก/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
โพสต์โพสต์