ทำไมธุรกิจต้องสนใจเรื่องสังคม/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

ทำไมธุรกิจต้องสนใจเรื่องสังคม/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ดิฉันนำเรื่องกิจการเพื่อสังคม การลงทุนที่ยั่งยืน และเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อสังคมมาเขียนในคอลัมน์นี้เป็นระยะๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านตระหนักว่า แนวโน้มของธุรกิจในโลกปัจจุบันและอนาคต จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    ในวันพฤหัสที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา World Economic Forum ได้นำเสนอรายงานชิ้นใหม่ เรื่อง “WEF Social Innovation Guide” หนา 34 หน้า เพื่อที่จะชักชวนว่า ธุรกิจในปัจจุบันไม่สามารถจะละเลยประเด็นทางสังคมได้ และได้แสดงตัวอย่างของกิจการต่างๆที่ได้นำหรือสนับสนุนการนำนวัตกรรมสังคมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

    รายงานนี้บอกว่า ธุรกิจไม่สามารถจะเพิกเฉยต่อประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ โดยผลของการวิจัยจาก PWC พบว่า ผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทมีความกังวลเกี่ยวกับการที่ระดับความไว้วางใจต่อธุรกิจทั่วไปลดลง ในขณะที่ธุรกิจที่มีผลตอบแทนต่อสังคมที่ดีมีแนวโน้มจะได้รับความเชื่อถือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่า และมีความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจในสังคมสูงกว่า

    นอกจากนี้ สังคมยังมีแรงกดดัน ต่อบริษัทในการดูแลห่วงโซ่อุปทานและการดำเนินงานที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกิจการที่มีการดูแลประเด็นต่างๆเหล่านี้อย่างดี ดูจะมีจุดยืนด้านความสามารถในการแข่งขันที่ดีกว่า

    ทั้งนี้ นวัตกรรมสังคมยังสามารถใช้ดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถสูง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการร่วมงานกับองค์กรที่ มีความโดดเด่นในความพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กับพนักงาน และให้โอกาสในการสร้างความแตกต่างให้สังคม เมือง หรือประเทศ

    ในปัจจุบัน มีความกังวลเพิ่มขึ้น ในเรื่องความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในโลก และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่กว้างขึ้น และผู้ลงทุนที่เป็นเจ้าของทุน พิจารณาเรื่องผลทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจลงทุนในกิจการต่างๆ

    ดังนั้น ธุรกิจต่างๆจึงจำเป็นต้องเพิ่มการเข้าถึง และเพิ่มโอกาสสำหรับผู้คนที่มีรายได้น้อยหรือด้อยโอกาส หลายพันล้านคนในโลกนี้ ให้มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจของโลก

    นวัตกรรมทางสังคม มีลักษณะ 3 ประการคือ 1. จะเกี่ยวข้องกับการคิดค้นสร้างสรรค์ และยุทธศาสตร์ของธุรกิจ 2. ใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์หลักของธุรกิจ เช่น ทรัพยากรบุคคล ห่วงโซ่มูลค่า เทคโนโลยี และระบบการกระจายสินค้า 3. ใช้การจัดการจากการการดำเนินงานธุรกิจหลัก หรือจากหน่วยธุรกิจ

    โดยผลประโยชน์ที่บริษัทได้รับ จะไม่เป็นเพียงผลตอบแทนทางการเงินเท่านั้น แต่จะรวมถึงการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวด้วย

    รายงานฉบับนี้ ได้ยกตัวอย่างของธุรกิจที่นำนวัตกรรมสังคมมาใช้หลายแห่ง เช่น ไมโครอินชัวรันส์ หรือที่ดิฉันเรียกว่า “ประกันภัยคนยาก” ของ Bajaj Allianz ในอินเดีย ซึ่งขายประกันอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ขโมย อัคคีภัย ประกันพืชผลเสียหาย และภัยพิบัติ ให้กับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีรายได้ตั้งแต่ 45 ถึง 142 บาทต่อวัน

    นอกจานี้ ยังมี บริษัท Novo Nordisk ซึ่งแก้ไขปัญหาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ของบังกลาเทศ ในการเข้าถึง อินซูลิน เนื่องจากแพทย์และเภสัชกร รวมถึงร้านขายยา ไม่มีระบบทำความเย็น ที่จะเก็บสต็อคสินค้า ด้วยการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย และริเริ่มผลิตอินซูลิน ในประเทศบังกลาเทศ

    หลายบริษัทได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มผลผลิต หรือเพิ่มคุณภาพของผลผลิต เพื่อให้ได้มูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น เช่น Nespresso ทำให้ผู้ปลูกกาแฟได้มูลค่าเพิ่มขึ้น 10-15% ของราคาตลาด ของเมล็ดกาแฟในคุณภาพเดียวกัน หรือเพิ่มขึ้น 30-40% จากที่เคยได้จากผลผลิตเดิม  C&A ส่งเสริมให้ชาวไร่ฝ้ายปลูกฝ้ายออร์แกนิค เป็นต้น

    ในด้านการพัฒนาคน รายงานฉบับนี้ยกตัวอย่าง บริษัท SAP ที่รับที่จะจ้างพนักงานที่เป็นออทิสติก 700 คน ภายในปี 2020 เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานของคนเป็นออทิสติก ซึ่งว่างงานในอัตราเกือบ 80%

    บริษัท Intercorp ลงทุนในโรงเรียน Innova ให้การศึกษาในมาตรฐานระดับโลก แก่เด็กในครอบครัวรายได้น้อยถึงปานกลางในประเทศเปรู โดยในปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 19,000 คนศึกษาอยู่ในโรงเรียน และอีก 41,000 คนเรียนในวิทยาลัย/มหาวิทยาลัย

    นวัตกรรมสังคมที่มีประโยชน์อีกด้านหนึ่งคือ เรื่อง “การเงิน” โดยแผนกหนึ่งของบริษัท Telefónia ในสเปน ระดมเงินลงทุนใน กิจการเพื่อสังคม 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ   ในขณะที่ ไพรเวทอิคิวตี้ ของมอร์แกนสแตนลีย์ ได้ร่วมทุน ใน CreditEase เพื่อให้บริการ ไมโครไฟแนนซ์ กับกลุ่มชนชั้นกลางและชาวชนบทในจีน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนหลายล้านคน

    คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญในการนำนวัตกรรมสังคมเข้ามาใช้ในธุรกิจคือ 1. ระบุโอกาส 2. ออกแบบ  3. เรียนรู้ และ 4. ขยาย

    ท่านที่สนใจอ่านรายงานฉบับเต็ม สามารถติดตามได้ที่ http://www3.weforum.org/docs/WEF_Social_Innovation_Guide.pdf

    สำหรับท่านที่สนใจอยากจะดำเนินการโดยมีนวัตกรรมสังคมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ หรืออยากมีส่วนร่วมในการ ลงขันลงทุนเพื่อกิจการเพื่อสังคม หรือเพื่อกิจการตั้งใหม่ที่มีนวัตกรรมสังคม สามารถติดต่อดิฉันในฐานะกรรมการ ของคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ และในฐานะคณะทำงานประชารัฐเพื่อการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจเริ่มต้น และกิจการเพื่อสังคม ได้ค่ะ เรามีโครงการดีๆมากมายที่จะทำเพื่อสร้างและสนับสนุน SME กิจการตั้งใหม่ และกิจการเพื่อสังคม
[/size]
โพสต์โพสต์