ปัญหาจีนกับปัญหาเศรษฐกิจโลก(1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

ปัญหาจีนกับปัญหาเศรษฐกิจโลก(1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงปัญหาเศรษฐกิจของจีนซึ่งทำให้เกิดการคาดการณ์กันอย่างแพร่หลายว่า ในที่สุดจีนจะต้องยอมลดค่าเงินหยวนและเนื่องจากการดำเนินการใดๆ ของจีนย่อมจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก เพราะเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่เป็นที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา ตลอดจนมีการดำเนินนโยบายการเงินที่สวนทางกัน (policy divergence) จึงมีความเป็นไปได้และเกิดการคาดหวังกันว่าการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มจี20 ที่นครเซี่ยงไฮ้ในวันที่ 26-27 กุมภาพันธ์ นี้อาจมีการออกมาตรการร่วมกันที่จะประสานการปรับค่าเงินและนโยบายการเงิน เพื่อลดความผันผวนและผลกระทบเชิงลบกับเศรษฐกิจและตลาดโลก
ผมต้องขอขยายความเพิ่มว่าตรงนี้เป็นการประเมินของผมเองว่า ตลาดจะมีความคาดหวังในระดับหนึ่งกับการประชุมจี20 ที่ กล่าวข้างต้น เพราะการประชุมดังกล่าวย่อมจะต้องนำเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและ การดำเนินนโยบายการเงินที่สวนทางกันมาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เนื่องจากจะมีผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศกลุ่มจี20 เข้าร่วมการประชุมกับรัฐมนตรีคลังพร้อมกับไอเอ็มเอฟด้วย กล่าวคืออย่างไรกลุ่มนี้ก็จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องที่มี หน้าที่รับผิดชอบโดยตรงไปได้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการประชุมจี20 จะให้ผลออกมาอย่างเป็นแก่นสารและชัดเจนจนสามารถทำให้ความผันผวนและข้อกังวลต่างๆ หมดลงไปได้ กล่าวคืออย่าหวังมากนักว่ากลุ่มจี20 จะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกันของประเทศหลักน่าจะทำให้กลุ่มจี20 ไม่สามารถแสวงหาทางออกร่วมกันได้ อย่างไรก็ดีอาจมีความพยายามที่จะร่างแถลงการณ์ให้ออกมาในเชิงบวก เช่นคงจะพยายามเขียนแถลงการณ์ออกมาว่า มีการตกลงที่จะประสานนโยบายร่วมกัน (policy coordination) เพื่อลดความไม่แน่นอนและความผันผวน

โดยอาจบอกว่าเป็นเรื่องที่จะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด (close cooperation) เพื่อนำไปสู่มาตรการหรือนโยบายร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม (work towards common policies and measures) โดยให้ความหวังว่าจะเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อรัฐมนตรีคลัง (และผู้ว่าการธนาคารกลาง) ของกลุ่มจี20 จะสามารถจัดทำข้อเสนอให้กับการประชุมผู้นำกลุ่มจี20 ในโอกาสต่อไป เป็นต้น การแถลงการณ์ในเชิงบวกดังกล่าวอาจทำให้บรรยากาศการลงทุนดีขึ้นและมีผลทางบวก ในเชิงจิตวิทยาได้ในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของประเทศหลักนั้นมีความขัดแย้ง ที่ไม่สามารถหาจุดยืนร่วมกันได้มากนัก หากจำได้หลังจากวิกฤติซับไพร์มของสหรัฐในปี 2008 ได้มีการประชุมผู้นำจี20 ที่กรุงลอนดอน และมีการแถลงการณ์ร่วมให้ใช้ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังกระตุ้นให้ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวโดยเร็วที่สุด ซึ่งในส่วนของนโยบายการเงินนั้น นอกจากการกดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือศูนย์แล้ว ก็ยังแถมด้วยการทำคิวอี (ธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมากว้านซื้อพันธบัตรคุณภาพดี เพื่อให้ประชาชน/นักลงทุนมีเงินสดอยู่ในมือที่จะต้องนำไปลงทุนในสินทรัพย์ ที่เสี่ยง)

แต่มาวันนี้คิวอีสหรัฐต้องยุติลงแล้ว และสหรัฐต้องเริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้น ขณะที่ทั้งยุโรปและญี่ปุ่นยังต้องเพิ่มคิวอีอีกต่อไป นโยบายการเงินจึงขัดแย้งกัน ส่วนนโยบายการคลังนั้นก็ไม่สามารถขยับตัวได้ เพราะ ในกรณีของสหรัฐนั้นมีการทะเลาะกันอย่างรุนแรงระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามากับพรรคฝ่ายค้านที่คุมเสียงข้างมาก ทั้งในสภาผู้แทนฯและวุฒิสภาสำหรับยุโรปก็มีปัญหาว่าเกือบทุกประเทศรัฐบาลมี หนี้สินมากเกินความเหมาะสมแล้ว และยังมีกระแสขัดขวางการใช้นโยบายการคลังเพิ่ม

หลังจากที่รัฐบาลแกนกลางของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (เยอรมันกับฝรั่งเศส) ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลเข้าไปอุ้มเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่รอบนอก เช่น กรีซและแม้กระทั่งอิตาลี รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็มีหนี้สาธารณะสูงถึง 250% ของ จีดีพีแล้ว จึงทำให้เหลือแต่นโยบายการเงินที่แหวกแนว (คิวอี) เท่านั้นที่อาจจะยังมี “กระสุน” เหลืออยู่

แต่การที่ยุโรปและญี่ปุ่นได้ทำคิวอีไปมากแล้ว จึงทำให้ต้องอาศัยนโยบายอื่น ได้แก่การปรับดอกเบี้ยจนติดลบ (ให้ธนาคารพาณิชย์ที่ฝากเงินเอาไว้กับธนาคารกลางต้องจ่ายดอกเบี้ย) ทำให้บางคนในตลาดสรุปว่าการทำคิวอีเพิ่มไปมากกว่านี้จะเป็นเรื่องยาก เช่น ธนาคารกลางญี่ปุ่นทำคิวอีมากจนกระทั่งสินทรัพย์ของธนาคารกลาง (ซึ่งสะท้อนการพิมพ์เงินใหม่เข้าไปในระบบนั้นมีปริมาณสูงกว่า 40% ของจีดีพี)

ที่สำคัญคือนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายโดยเฉพาะการทำคิวอีของญี่ปุ่นและ ยุโรปนั้น ก็เพราะต้องการให้เงินของตนอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น นโยบายคิวอีของธนาคารกลางญี่ปุ่นตั้งแต่มีการแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารคนใหม่ ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงจาก 80 เยนต่อ 1 ดอลลาร์มาเป็น 120 เยน แต่ต่อมาเมื่อดูเหมือนกับว่าคิวอีคลายความขลังไป เงินเยนก็แข็งค่าขึ้นมาที่ 113 เยน ทำให้เกิดการเก็งกันว่าจะต้องทำคิวอีเพิ่ม ในทำนองเดียวกันเงินยูโรก็อ่อนตัวลงจาก 1.4 เหรียญต่อ 1 ยูโรมาเป็น 1.08 เหรียญ แต่ต่อมาก็แข็งค่าขึ้นไปเป็น 1.14 เหรียญ

ทำให้เก็งกันว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรหรืออีซีบีจะต้องเพิ่มคิวอีในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 10 มีนาคมนี้ โดยแบงก์ ออฟ อเมริกา ประเมินว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปนั้นจำต้องให้เงินยูโรอ่อนค่าลงไปที่ 1 ดอลลาร์ต่อ 1 ยูโร

ในขณะเดียวกันประธานธนาคารกลางสหรัฐนางเจเน็ต เยลเลน ก็แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับแนวโน้มของจีนและการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐ ว่าจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญได้ กล่าวคือสำหรับประเทศหลักได้แก่สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นและจีนนั้นไม่มีประเทศใดยอมให้เงินของตนแข็งค่าขึ้น แต่ต้องการให้เงินของตนอ่อนค่า (โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรปกับญี่ปุ่น)

แต่ในโลกของความเป็นจริงนั้น หากจะให้เงินของประเทศหนึ่งอ่อนค่า อีกประเทศหนึ่งก็ต้องยอมให้เงินของตนแข็งค่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการพูดถึงการประสานนโยบายการเงินจนเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายนั้น อาจพูดได้แต่ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงครับ
[/size]
โพสต์โพสต์