ญี่ปุ่นลดดอกเบี้ย/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

ญี่ปุ่นลดดอกเบี้ย/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ตลาดหุ้นทั่วโลกในเดือนมกราคม คงจะเลวร้ายกว่านี้ ถ้าไม่มีสองธนาคารกลางออกมาดำเนินนโยบายผ่อนคลายในช่วงปลายเดือน

    นำโดย ธนาคารกลางยุโรปออกมาประกาศเมื่อ 20 มกราคม 2559 ว่าจะมีการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และธนาคารกลางญี่ปุ่นออกมาลดอัตราดอกเบี้ยเงินสำรองที่ธนาคารฝากกับธนาคารกลางลงเป็นอัตราติดลบ 0.1% ในวันที่ 29 มกราคม ซึ่งเป็นวันทำการสุดท้ายของเดือน ทั้งๆที่เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ เพิ่งออกมาปฏิเสธข่าวเรื่องอัตราดอกเบี้ยติดลบ

    “เรื่องไม่คาดหมายสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา” เป็นสัจธรรมของตลาดทุน

    วิเคราะห์กันว่า สาเหตุที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่นต้องออกมาประกาศอัตราดอกเบี้ยติดลบ เพราะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม อ่อนแอแบบคาดไม่ถึง เนื่องจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลงไปมากกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับการส่งออกก็หดตัว เนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว

    การลดอัตราดอกเบี้ยนี้ เป็นการลดเฉพาะเงินใหม่ที่สถาบันการเงินจะฝากกับธนาคารกลาง ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป โดยเงินสำรองพื้นฐานนั้น ธนาคารกลางของญี่ปุ่น ให้ดอกเบี้ยในอัตรา 0.1% ส่วนเพิ่มให้ในอัตรา 0% และเงินสำรองใหม่จะให้ในอัตรา -0.1% หมายถึงนอกจากจะไม่ให้ดอกเบี้ยแล้ว ยังคิดค่าฝากอีกด้วย

    และยังได้ประกาศว่า พร้อมจะปรับลดลงไปอีก หากพิจารณาเห็นสมควร

    ผลที่ธนาคารกลางต้องการจะเห็นคือ ต้องการให้เงินเยนอ่อนค่าลง และทำให้ราคาสินค้านำเข้ามีราคาเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดเงินเฟ้อ

    อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในตอนนี้อยู่ใกล้เคียงกับ 0%ค่ะ โดยรัฐบาลและธนาคารกลาง คาดหวังให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มเป็น 2% ภายในเดือนตุลาคม 2017

    การลดอัตราดอกเบี้ยนี้ เท่ากับเป็นการกดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นให้ต่ำลงไปอีก

    การประกาศนี้เกิดในช่วงเที่ยงของวันที่ 29 มกราคม ในญี่ปุ่น ซึ่งทำให้หุ้นในตลาดหุ้นของญี่ปุ่นมีราคาปรับตัวสูงขึ้นทันทีในการเปิดรอบบ่าย และถูกแรงขาย จนดัชนีที่ขึ้นมาปรับลดลงไป แต่ท้ายสุดก็กลับมาบวก 2.9% ในขณะที่ค่าเงินเยนในวันทำการสุดท้ายของเดือนมกราคม ปิดอ่อนลงมาที่ 120.94 เยนต่อหนึ่งดอลล่าร์สหรัฐ หรืออ่อนลง 1.7%เมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์

    จริงๆแล้วการลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าศูนย์ในปัจจุบันก็มีให้เห็นในหลายๆประเทศ เช่น สวิสเซอร์แลนด์ ใช้อัตราดอกเบี้ย -0.75%  สวีเดน -1.1% เดนมาร์ก -0.65% และทุกครั้งที่ประกาศโดยตลาดไม่คาดหมาย ค่าเงินก็จะอ่อนลงโดยเฉียบพลัน แต่จะค่อยๆปรับไปสู่ภาวะปกติในไม่ช้า

    ดิฉันเห็นว่า ในที่สุด ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจต้องทบทวนเป้าหมายที่จะผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้ไปที่ 2% ในภาวะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลาย รวมถึงน้ำมัน อยู่ในระดับต่ำอย่างนี้  นอกจากนั้น โครงสร้างประชากรที่สูงวัย ก็ทำให้การบริโภคที่เพิ่มขึ้นมากๆ เกิดขึ้นยาก

    จริงๆแล้วธนาคารกลางญี่ปุ่นน่าจะเข้าใจประชากรของประเทศตัวเองดีว่า ผู้สูงวัยจะดำเนินชีวิตแบบอนุรักษนิยม ต่อให้มั่นใจในอนาคตมากเพียงใด ก็จะไม่ออกมาบริโภคในวันนี้มากๆ เหมือนประชากรในวัย 25-45 ปี เพราะลึกๆ ก็ยังห่วงอนาคตที่ไม่แน่นอน และนับวัน โลกก็ยิ่งมีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น

    การปรับเป้าหมายเงินเฟ้อจาก 2% ลงไปที่ 1% จึงอาจสะท้อนความเป็นจริงได้ดีกว่า

    อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายคน รวมถึงดิฉัน มองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นในปี 2559 นี้น่าสนใจ และดิฉันเห็นว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นน่าจะเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นอื่นๆอีกปีหนึ่ง หลังจากที่ให้ผลตอบแทน  56.72% ในปี 2556 ตามมาด้วย 7.12% ในปี 2557 และ 9.07% ในปี 2558  เนื่องจากราคาหุ้นโดยรวมยังไม่สูง (ค่าพีอีของตลาดหุ้นโตเกียวเฉลี่ยประมาณ 15.25 ส่วนค่าพีอีของหุ้นที่ประกอบเป็นดัชนีนิเคอิ 225 เฉลี่ยประมาณ 18.65) บริษัทส่วนใหญ่มีศักยภาพในการทำรายได้ และยังมีอัตรากำไรที่ดีใช้ได้

    ประกอบกับได้อานิสงส์จากค่าของเงินเยนที่อ่อน ซึ่งส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว และแม้คนญี่ปุ่นจะยังไม่บริโภคเพิ่ม แต่นักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลไปเที่ยว นำโดยนักท่องเที่ยวจีน และตามมาด้วยนักท่องเที่ยวไทย ก็ได้ไปบริโภคสินค้าและบริการเพิ่ม

    อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนพึงทราบไว้ด้วยว่า ในช่วง 10 ปีย้อนหลัง คือ ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2558 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนเพียง 18.14% หรือเฉลี่ยเพียง 1.81% ต่อปีเท่านั้น หมายความว่าในช่วง 7 ปีแรกคือ ปี 2549 ถึง 2555 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบค่ะ

    ค่าความผันผวนของตลาดหุ้นญี่ปุ่น เฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เท่ากับ 21% ต่อปี ในขณะที่ ค่าความผันผวนของตลาดหุ้นไทยในช่วงเดียวกัน เฉลี่ย 17.56% ต่อปี และตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทน 80.46% หรือเฉลี่ย 8.05%ต่อปีค่ะ

    สำหรับในระยะสั้นๆนี้ การที่เงินเยนอ่อนค่า ถือเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น หรือลงทุนซื้อเงินเยนเป็นสินทรัพย์ลงทุน เพราะเมื่อใดที่ผู้ลงทุนไม่มั่นใจ เกิดกลัวความเสี่ยง (ซึ่งเกิดขึ้นแน่ในปีนี้) ผู้ลงทุนก็จะหันไปหาสินทรัพย์ปลอดภัย

    เงินเยน จะเป็นตัวเลือกแรกๆในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และค่าเงินเยนก็จะแข็งขึ้น

    การแข็งค่าขึ้นอีก 3-4% จากจุดนี้ เป็นเรื่องไม่ยากค่ะ

    ปีนี้ตลาดทุน ตลาดเงิน ผันผวน ต้องติดตามข้อมูลให้มากขึ้น และปรับเปลี่ยนการลงทุนไปตามสถานการณ์

    กัมบัตเตะ! (สู้สู้ค่ะ)

    หมายเหตุ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
[/size]
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

Re: ญี่ปุ่นลดดอกเบี้ย/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ยังไงก็อย่าลืมของดีใกล้ๆตัว ตลาดหุ้นไทยปีนี้ผมก็มองว่าน่าสนใจนะครับ
โพสต์โพสต์