การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในปี 2016/ดร.ศุภวุฒิ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในปี 2016/ดร.ศุภวุฒิ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในรอบ 9 ปี เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ซึ่งวันนั้นหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้น แต่ในวันต่อมาคือพฤหัสบดีและศุกร์ก็ปรับตัวลงถึง 3.5% ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจอีกต่อไปว่า จะมีการปรับขึ้นของหุ้นตอนปลายปีเช่นปีก่อนๆ (Christmas rally) แม้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปมาหลายเดือน แล้ว และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียงเล็กน้อยจาก 0.0-0.25% มาเป็น 0.25-0.50% คำถามต่อไปคือ สำหรับปี 2016 และปีต่อๆ ไป เฟดจะปรับดอกเบี้ยขึ้นมากน้อยเพียงใด ซึ่งปัจจุบันตลาดล่วงหน้าทำนายว่า เฟดจะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพียง 2 ครั้งในปี 2016 ขณะที่แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ พันธมิตรของภัทร มองว่าตลาดอาจมองโลกในแง่ดีเกินไป โดยแบงก์ ออฟ อเมริกาคาดว่าเฟดน่าจะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 3-4 ครั้งในปี 2016 โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ครั้งเว้นครั้งของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐทั้ง 8 ครั้งในปี 2016 นี้

ปัจจุบันมีหลายฝ่ายมองว่า ธนาคารกลางจะปรับดอกเบี้ยขึ้นน้อยครั้งด้วยเหตุผลหลักๆ 3 ประการคือ

1. อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำกว่าเป้าหมายของเฟด (2%) มาก กล่าว คือเงินเฟ้อทั่วไปเกือบจะไม่มีเลย และมีแนวโน้มว่าจะไม่เพิ่มขึ้น เพราะราคาน้ำมันก็ปรับตัวลดลงอย่างผิดคาดในครึ่งหลังของปี 2015 และดูเสมือนว่าจะยังอยู่ที่ระดับต่ำต่อไปได้อีกนาน เพราะขณะนี้ก็ยังมีการผลิตเกินความต้องการ (ทำให้สต็อกน้ำมันยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง) และยังมีแนวโน้มว่าจะมีน้ำมันเข้าสู่ตลาดเพิ่มจากการยกเลิกการคว่ำบาตร อิหร่าน การยกเลิกกฎหมายห้ามสหรัฐส่งออกน้ำมันดิบและการที่ผู้ผลิต shale gas/shale oil ของสหรัฐมีศักยภาพในการรักษาระดับการผลิตเกินกว่าที่ได้คาดการณ์เอาไว้

2.ภาคเศรษฐกิจบางส่วน เช่น การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความอ่อนแออยู่มาก และแม้การว่างงานจะปรับลดลงไปที่ 5% แต่ก็ยังมีการทำงานไม่เต็มเวลาอยู่มาก นอกจากนั้น การปรับขึ้นของเงินเดือนก็ยังมีไม่มากนักคือ 2.5% ต่อปี

3.หากธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ยขึ้นเกินกว่า 2 ครั้ง ก็มีความเสี่ยงที่เงินดอลลาร์จะแข็งค่าเพิ่มขึ้นไปอีก  ซึ่งจะยิ่งกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐที่ต่ำอยู่แล้วให้ต่ำลงไปอีก นอกจากนั้นก็ยังจะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกด้วย

แต่แบงก์ ออฟ อเมริกา มองต่างมุมว่า เฟดอาจมีเหตุผลเพียงพอที่จะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปีละ 1.0% ไปอีก 3 ปีก็ได้ เพราะในหลักทฤษฎีและเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตแล้ว ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐน่าจะอยู่ที่ 3.5% ในภาวะปกติที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3% โดยเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 2.0% กล่าวคือแบงก์ ออฟ อเมริกาประเมินว่า ดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นดอกเบี้ยจริง (หลังจากหักเงินเฟ้อ) นั้นในระยะยาวโดยเฉลี่ยควรจะอยู่ที่ 1.5% กล่าวคือคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐคงจะเห็นพ้องต้องกันว่าหากเศรษฐกิจ กลับเข้าสู่สภาวะปกติจริง เฟดก็ควรที่จะค่อยๆ ปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นไปจนถึง 3.5% ในที่สุด

ในส่วนของเงินเฟ้อที่ต่ำมากในปี 2015 นั้น ก็เชื่อว่าจะต้องปรับเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ เพราะราคาน้ำมันน่าจะปรับเพิ่มขึ้นในปี 2016 จากปัจจุบันที่ 35 เหรียญในขณะนี้มาอยู่ที่ 50 ดอลลาร์ในครึ่งหลังของปีหน้า นอกจากนั้นก็ยังเชื่อว่า อัตราการว่างงานที่ต่ำอยู่แล้วในปัจจุบัน (ที่ 5%) ก็จะต้องปรับลดลงไปที่ 4.5% ภายในปลายปีหน้า เพราะอัตราการจ้างงานใหม่นอกภาคการเกษตรนั้นอยู่ที่ระดับสูงมากซึ่งในที่สุดก็น่าจะเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานก็น่าจะเร่งตัวสูงมากขึ้นในปี 2016

นอกจากนั้นปี 2015 เป็นปีที่กฎหมายประกันสุขภาพของประธานาธิบดีมีผลบังคับใช้เป็นปีแรก ซึ่งส่งผลให้ค่าบริการด้านการสาธารณสุขปรับลงมากในปีที่ผ่านมา จึงมีส่วนทำให้เงินเฟ้อลดลง แต่ในปี 2016 นั้นค่าบริการด้านสาธารณสุขน่าจะปรับเพิ่มขึ้นตามปกติ คือประมาณ 2 เท่าของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทั่วไป จึงเชื่อได้ว่าเงินเฟ้อจะมิได้ต่ำมากในปี 2016

สำหรับการคาดการณ์ว่า เมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐแล้ว ก็จะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เฟดต้อง “คอย” และยอมปรับดอกเบี้ยขึ้นไม่เกิน 2 ครั้งในปี 2016 ประเด็นนี้มีความเป็นไปได้ แต่ไม่สูงมากนักในความเห็นของแบงก์ ออฟ อเมริกา ทั้งนี้จะต้องแบ่งแยกกันระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนของเงินดอลลาร์กับเงินสกุล หลัก ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนได้มาก (เพราะญี่ปุ่นและยุโรปทำคิวอีและมีแนวโน้มสูงที่จะเพิ่มคิวอีในปี 2016) กับอัตราแลกเปลี่ยนของเงินดอลลาร์เทียบกับเงินสกุลต่างๆ โดยรวม (dollar broad index) ซึ่งปกติแล้วเฟดจะดูอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์กับเงินสกุลอื่นๆ โดยรวมทั้งหมด และเฟดได้เคยประเมินว่าเงินดอลลาร์จะต้องแข็งค่าขึ้นมากถึง 10% จึงจะทำให้จีดีพีลดลง 0.5%

แต่แบงก์ ออฟ อเมริกา มองว่าเงินดอลลาร์นั้นน่าจะแข็งค่าขึ้นไม่เกิน 5% ในปี 2016 เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลต่างๆ โดยรวม ทั้งนี้เพราะเงินดอลลาร์ได้แข็งค่าขึ้นมากแล้วในครึ่งแรกของปี 2015 และจากนั้นเป็นต้นมาก็ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุล ต่างๆ โดยรวมมาจนทุกวันนี้ จึงไม่คิดว่าเงินเหรียญสหรัฐจะแข็งค่าขึ้นไปมากกว่านี้ได้เกิน 5% ซึ่งเป็นระดับที่จะไม่ทำให้เฟดยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ผมขอกล่าวย้ำอีกครั้งว่า ความต้องการที่ธนาคารกลางสหรัฐต้องการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่าง “ทันท่วงที” ไม่ให้ล่าช้าเกินไปนั้น ก็เพื่อป้องกันมิให้ตลาดรู้สึกได้ว่าธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยขึ้นช้าไป เพราะเงินเฟ้อได้ปรับขึ้นไปก่อนหน้าแล้ว เพราะ หากเป็นเช่นนั้นธนาคารกลางสหรัฐก็จะถูกกดดันให้เร่งปรับดอกเบี้ยขึ้นบ่อย ครั้งในระยะเวลาที่กระชั้นเพื่อ “ไล่ตาม” เงินเฟ้อให้ทัน สภาวะดังกล่าวจะสร้างความเสียหายได้อย่างมากต่อความน่าเชื่อถือของธนาคาร กลางและเสียหายต่อรัฐบาลและเอกชน เพราะดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะสร้างความเสียหายทางการเงินกับเฟดด้วย เพราะเฟดได้เข้าไปกว้านซื้อพันธบัตรระยะยาวทั้งของรัฐบาลและเอกชน เป็นจำนวนมหาศาลจากการทำคิวอีรอบ 2 และรอบ 3 คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์

ดังนั้น จึงควรจะสรุปว่า ยุคที่ดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับใกล้ศูนย์ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานั้นได้ปิดฉากลงไปแล้ว และในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ดอกเบี้ยน่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างช้าๆ แม้ ว่าเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะมิได้ฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากนัก เว้นแต่กรณีที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 10% ซึ่งจะเป็นเหตุให้ธนาคารกลางสหรัฐชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครับ
[/size]
โพสต์โพสต์