เงินหยวนผงาด/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

เงินหยวนผงาด/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟ ได้ประกาศเพิ่มเงินหยวนของจีนเข้าไปในตะกร้าเงินสำรอง โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2016 เป็นต้นไป

    คณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ มีการทบทวนตะกร้าเงินทุนสำรอง ซึ่งเรียกว่า Special Drawing Rights หรือ SDR ทุกๆ 5 ปี เพื่อให้สะท้อนถึง ความสำคัญของสกุลเงินต่างๆต่อระบบการค้าและระบบการเงินของโลก

    ตะกร้าเงินทุนสำรองนี้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1969 โดยใช้เสริมเป็นสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศ เมื่อโลกมีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา เบร็ตตัน วู้ดส์ (Bretton Woods) โดยรัฐบาลหรือธนาคารกลางของประเทศที่สมัครใจเข้าร่วมในระบบนี้จะมีสินทรัพย์ที่เป็นเงินกองทุนสำรองในรูปของทองคำและเงินสกุลต่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เงินทุนสำรองเหล่านี้ สามารถใช้แลกเปลี่ยนสกุลเงินของตัวเองที่อยู่ในตลาดแลกเปลี่ยนนอกประเทศ

    อย่างไรก็ดี ในภายหลังพบว่าทองคำและเงินดอลลาร์มีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการค้าของโลกซึ่งขยายตัวอย่างมากและกระแสการไหลของเงินที่เกิดขึ้นในโลกนี้  และในปี 1973 ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ และการอิงค่าเงินกับทองคำ ก็ล่มสลายลง ทำให้สกุลเงินหลักๆของโลกปรับไปเป็นอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด และการเติบโตของตลาดทุนของโลก ทำให้เกิดการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศมากมาย หลายประเทศมีเงินทุนสำรองจำนวนมาก  SDR จึงเปลี่ยนไปอิงตะกร้าเงิน

    SDR ไม่ได้เป็นสกุลเงิน หรือสิทธิเรียกร้องจาก ไอเอ็มเอฟ แต่เป็นสิทธิเรียกร้องที่อาจเกิดขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกไอเอ็มเอฟที่ใช้สกุลเงินต่างกัน ผู้ถือ SDR สามารถเรียกร้องเอาเงินสกุลในตะกร้าจากกันและกันได้ หรือ ไอเอ็มเอฟ อาจเรียกร้องให้สมาชิกที่มีฐานะการเงินแข็งแรงซื้อ SDR จากประเทศสมาชิกที่ฐานะการเงินอ่อนแอกว่าได้ นอกจากนี้ SDR ยังใช้เป็นหน่วยหน่วยทางบัญชีของไอเอ็มเอฟ และหน่วยงานระหว่างประเทศบางหน่วยงานอีกด้วย

    การทบทวน SDR จะทำกันทุก 5 ปี  โดย SDR ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ใช้มาตั้งแต่ปี 2010 และจะใช้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2016 ประกอบด้วย เงินดอลล่าร์สหรัฐ 41.9% เงินยูโร 37.4% เงินเยน 9.4% และเงินปอนด์ 11.3% ทั้งนี้เพื่อให้สามารถอ้างอิงได้ง่ายๆ จึงมีการคำนวณค่า SDR เป็นสกุลดอลล่าร์สหรัฐ เป็นรายวัน และประกาศในเว็ปไซต์ของไอเอ็มเอฟ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ ตอนเที่ยง ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในลอนดอน

    SDR ใหม่ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2016 เป็นต้นไป เงินหยวนจะดึงส่วนแบ่งมาจากเงินยูโร เงินปอนด์ และเงินเยน โดยตะกร้าใหม่จะประกอบด้วย เงินดอลล่าร์สหรัฐ 41.73% เงินยูโร 30.93% เงินหยวน 10.92% เงินเยน 8.33% และเงินปอนด์ 8.09%

    ชาติสมาชิก สามารถซื้อ SDR กับไอเอ็มเอฟ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ได้ หรือสามารถขาย SDR ให้ ไอเอ็มเอฟ เพื่อปรับสัดส่วนของเงินสำรองได้

    เงินหยวนของจีน มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Renminbi (เหรินหมินบี้) หรือ RMB ซึ่งแปลว่า “เงินของประชาชน”  แต่คนทั่วไปยังนิยมเรียกว่าเงินหยวน โดยสัญลักษณ์ของเงินหยวนที่ส่งมอบในประเทศจีน ใช้ตัวย่อว่า CNY และเงินหยวนที่ส่งมอบในฮ่องกง ใช้ตัวย่อ CNH ซึ่งมีมูลค่าต่างกันเล็กน้อย แต่ต่อจากนี้ไปส่วนต่างของเงินหยวนที่ส่งมอบในและนอกประเทศคงจะลดลง หรือแทบจะไม่มีเลย เพราะการได้รับเลือกเป็นสกุลเงินในตะกร้าของ SDR เท่ากับเป็นการยอมรับว่าสกุลเงินหยวน สามารถซื้อขายได้อย่างเสรี

    ในฐานะผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก เงินหยวนของจีนควรจะเข้าข่ายอยู่ในตะกร้าเงินของไอเอ็มเอฟมาตั้งแต่การทบทวนคราวที่แล้วเมื่อ 5 ปีก่อน  แต่ความที่จีนมีการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินหยวนมานาน เงินหยวนจึงไม่ถูกใช้เป็นสกุลเงินเพื่อการค้าและการชำระเงินระหว่างประเทศ

    ข้อมูลจาก SWIFT แสดงให้เห็นว่า เมื่อไม่นานมานี้ เงินหยวนยังมีบทบาทน้อยมากในการใช้เป็นสกุลเงินสำหรับการค้า เช่น ในปี 2010 การค้าของจีนมีส่วนแบ่ง 11.4% ของการค้าโลก ในขณะที่ ยอดชำระเงินเป็นเงินหยวน มีส่วนแบ่งเพียง 0.24% ของยอดชำระเงินของโลกในเดือนมิถุนายน 2011 ในขณะที่สหรัฐอเมริกา มีส่วนแบ่งการค้าเพียง ประมาณ 12.5% แต่เงินดอลล่าร์สหรัฐมีส่วนแบ่งยอดชำระเงินถึง 35.5% และ ประเทศในกลุ่มยูโร มีส่วนแบ่งการค้า 27% แต่เงินสกุลยูโรมีส่วนแบ่งในการเป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการถึง 38%

    ตัวเลขส่วนแบ่งการชำระเงินดีขึ้น หลังจากที่จีนตั้งธนาคารตัวแทนในการชำระเงินค่าสินค้า ในฮ่องกง มาเก๊า และประเทศอาเซียนในปี 2009 และในปี 2010 สามารถทำการค้าระหว่างประเทศโดยชำระค่าสินค้าเป็นเงินหยวนได้ และได้ขยายไปในทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้  คือเริ่มใช้เงินหยวนในตลาดที่จีนมีการซื้อสินค้ามากหรือมีการลงทุนสูง

    ว่ากันว่า การที่เงินหยวนได้เข้าอยู่ในตะกร้า SDR นี้เป็นความพยายามของจีนมาเกือบ 10 ปี นอกจากจะพยายามสร้างเครือข่ายเพื่อให้สามารถส่งมอบและรับชำระเงินได้แล้ว ยังต้องแสดงแสนยานุภาพด้วยการตั้งกลุ่ม เพื่อให้ไอเอ็มเอฟ และ เอดีบี เห็นว่า เมื่อไม่เห็นความสำคัญของจีน  จีนก็สามารถไปหาเพื่อนมาตั้งกลุ่มใหม่ ชื่อ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB)เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยการให้กู้แก่กันและกันในกลุ่มประเทศสมาชิกได้  โดยไม่ต้องพึ่งพาไอเอ็มเอฟ ซึ่งมีสหรัฐเป็นพี่ใหญ่ และเอดีบี ซึ่งมีญี่ปุ่นเป็นแกนนำ

    ผลจากการที่เงินหยวนกลายเป็นสกุลเงินสากลจะเป็นอย่างไร คงยังตอบได้ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนคือ ค่าเงินหยวนจะผูกติดกับดอลล่าร์น้อยลง  จีนเลิกนโยบายผูกติดค่าเงินกับดอลล่าร์สหรัฐมาหลายปีแล้ว แต่ในความเป็นจริงก็ยังผูกติดกันอยู่เพียงแต่ขยายขอบเขต หรือขยายแบนด์ให้เคลื่อนไหวออกห่างจากดอลล่าร์ได้มากขึ้น

    นักวิเคราะห์มองว่า คราวนี้เห็นทีเงินหยวนจะเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระจากดอลล่าร์แล้ว โดยคาดว่าจะอ่อนค่าลงก่อนเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์ที่กำลังอยู่ในขาขึ้น แต่ในระยะยาว เมื่อตลาดมีความต้องการเงินหยวนมากขึ้น ค่าเงินหยวนก็น่าจะแข็งขึ้นได้เมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์

    อย่างไรก็ดี ความพยายามของจีนที่จะมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก ได้ส่งผลชัดเจนแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็คงต้องติดตามดูฉากต่อๆไปค่ะ

    หมายเหตุ : ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก ไอเอ็มเอฟ,  SWIFT และ Week in China
[/size]
CARPENTER
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 433
ผู้ติดตาม: 3

Re: เงินหยวนผงาด/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

เอเอฟพี – ชาวกรุงโตเกียวนำเงินสดที่มีผู้ทำสูญหายส่งตำรวจเป็นมูลค่ารวมถึง 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 900 ล้านบาทในปีที่แล้ว และ 3 ใน 4 ของเงินเหล่านั้นก็ได้กลับไปสู่เจ้าของที่แท้จริง อันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความสัตย์ซื่อที่เป็นคุณสมบัติอันโดดเด่นน่าทึ่งของชาวแดนอาทิตย์อุทัย

โฆษกตำรวจนครบาลกรุงโตเกียว เปิดเผยว่า พลเมืองดีหลายต่อหลายคนได้นำกระเป๋าบรรจุเงินสดที่พวกเขาพบเจอเข้าโดยบังเอิญมาส่งให้ตำรวจช่วยตามหาเจ้าของ รวมเป็นวงเงินราว 3,340 ล้านเยน (ราว 918 ล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา

หนังสือพิมพ์ สปอร์ต นิปปอน ได้เปิดเผยเรื่องราวของชาวญี่ปุ่นผู้ซื่อตรงที่อุตส่าห์นำกระเป๋าอุปกรณ์กีฬาซึ่งภายในมีเงินสดถึง 155,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งตำรวจ ทั้งที่เงินจำนวนนี้มากพอที่เขาจะนำไปซื้อรถสปอร์ตหรู มาเซราติ แกรนตูริสโม เอ็มซี หรือไม่ก็อพาร์ตเมนต์เล็กๆ ใจกลางกรุงโตเกียว

โฆษกตำรวจหญิง ระบุว่า เกือบร้อยละ 74 ของเงินหายที่มีผู้นำส่งตำรวจในปี 2014 ถูกคืนให้เจ้าของเดิม รวมไปถึงกระเป๋ากีฬาใบดังกล่าวด้วย

กฎหมายญี่ปุ่นอนุญาตให้ผู้ที่พบทรัพย์สินและนำส่งตำรวจมีสิทธิ์ครอบครองทรัพย์นั้นได้ หากเจ้าของที่แท้จริงไม่มาอ้างกรรมสิทธิ์และขอรับทรัพย์สินของตนคืนภายใน 3 เดือน แต่ก็เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เพราะชาวญี่ปุ่นบางคนที่พบเงินหายกลับสละสิทธิ์ที่จะครอบครองของที่ไม่ใช่ของตน ทำให้ปีที่แล้วมีเงินหายถูกส่งเข้าคลังกรุงโตเกียวถึง 390 ล้านเยน

สื่อเมืองปลาดิบพร้อมใจกันตีแผ่ข้อมูลนี้ เพื่อยืนยันว่าญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ปลอดภัยมากเพียงใด โดยเฉพาะกรุงโตเกียวซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2020

ความปลอดภัยของสังคมญี่ปุ่นซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวเมืองปลาดิบเองก็ภาคภูมิใจมักถูกเล่าขานผ่านประสบการณ์ของชาวต่างชาติที่เคยทำกระเป๋าสตางค์หรือไม่ก็พาสปอร์ตหล่นหายในบาร์หรือแท็กซี่ญี่ปุ่น และสุดท้ายก็มีพลเมืองดีนำส่งคืนให้
ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: เงินหยวนผงาด/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
โพสต์โพสต์