ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง-เศรษฐกิจพม่าหลังเลือกตั้ง (1)

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง-เศรษฐกิจพม่าหลังเลือกตั้ง (1)

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โค้ด: เลือกทั้งหมด

การเลือกตั้งของพม่าที่ผ่านมา แม้จะยังมิได้ประกาศผลอย่างเป็นทางการ อีกหลายสัปดาห์หลังการเลือกตั้งก็ถูกมองในแง่บวกว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งรัฐบาล โดยประชาชนก็แสดงความกระตือรือร้นออกมาลงคะแนนเสียงถึง 80% ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ซึ่งคงจะเข้าใจได้ เพราะประชาชนพม่าถูกลิดรอนอำนาจทางการเมืองมานานกว่า 50 ปี และ การเลือกตั้งเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา ก็ถูกทหาร “เบี้ยว” ผลการเลือกตั้ง โดยจับนางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีไปกักตัวเอาไว้นานถึง 20 ปี กว่าจะปล่อยออกมา และริเริ่มการเปิดเสรีและปฏิรูปการเมืองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในปี 2011

นางออง ซาน ซูจี ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างล้มหลามจาก ประชาชนพม่า และแม้ว่าจะถูกรัฐธรรมนูญตัดสิทธิไม่ให้สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี (เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ห้ามบุคคลที่มีคู่สมรส หรือบุตรเป็นพลเมืองต่างชาติจากการเป็นผู้นำประเทศ) แต่ก็กล่าวกับประชาชนว่าตนจะ “อยู่เหนือประธานาธิบดี” ซึ่ง หากเป็นประเทศอื่นก็คงจะถูกตำหนิอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงนั้นก็ต้องยอมรับว่า ผู้นำในพรรคเอ็นแอลดี ไม่มีใครเลยที่จะเทียบบารมีกับนางออง ซาน ซูจี ได้ (เวลาอ่านข่าวจะไม่สามารถนึกออกได้เลยว่า พรรคเอ็นแอลดีนั้นมีใครอื่นนอกจากนางออง ซาน ซูจี)

ภาพพจน์ของนางออง ซาน ซูจี นั้น ก็เป็นภาพพจน์ของ “คนดี” ที่ต่อสู้กับทหารเผด็จการโดยสันติวิธี ได้รับการยกย่องไปทั่วโลก จนได้รับรางวัลโนเบลมีการสร้างหนังฮอลลีวูด เพื่อตอกย้ำความเป็นวีรสตรีของเธอ ดังนั้น จึงมีแต่เสียงปรบมือชื่นชมเธอมาอย่างต่อเนื่อง และดูเสมือนว่าจะไม่มีข้อตำหนิใดเลย แต่หากอ่านบทความของ Bloomberg เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2558บทความชื่อ “If Suukyi Wins Myanmar Election: Can she lead?” ก็จะเห็นอีกด้านหนึ่งของซูจี (ท่อนแรกของชื่อหรืออองซานคือชื่อบิดาของเธอ) ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า เธอจะเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ที่จะเป็นผู้นำพม่าหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ผมเห็นว่าบทความนี้มีความน่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์ เพราะประเทศพม่าย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทยในหลายมิติ จึงขอนำเอาบทความดังกล่าวมาแปลสรุป รวมทั้งนำเอาข้อมูลสภาวะทางเศรษฐกิจของพม่า ซึ่งประเมินโดยไอเอ็มเอฟมาเล่าให้ฟัง เพื่อให้เห็นว่าเศรษฐกิจพม่านั้น แม้จะมีอนาคตที่สดใส แต่ก็มีปัจจัยที่ท้าทายอยู่มาก ซึ่งหากบริหารจัดการผิดพลาดแล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทั้งทางเศรษฐกิจ และทางการเมืองของพม่าได้อย่างมีนัยสำคัญใน 1-3 ปีข้างหน้า

บทความบลูมเบิร์กเปิดประเด็นว่า“There is growing concern abroad and in some quarters at home whether she is the best person to lead Myanmar as it takes steps towards democracy and tries to rebuild its economy by opening up to foreign businesses” ซึ่งผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ที่เห็นแต่ภาพพจน์ในเชิงบวกของนางซูจี และคะแนนเสียงที่ได้รับอย่างท่วมท้นจากประชาชนพม่า จะไม่นึกว่า จะมีใคร (กล้า) มาแสดง “ความเป็นห่วง” ว่านางซูจีอาจไม่ใช่ “คนที่ดีที่สุด” ที่จะมาเป็นผู้นำพม่าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการเปิดประเทศให้กับธุรกิจต่างชาติ (ก็ต่างชาติออกจะชื่นชมเธอ และเธอยังได้รับรางวัลโนเบลอีกด้วย)

ก่อนไปถึงจุดนั้น ผมขอกล่าวถึงภูมิหลังของการเปลี่ยนท่าทีของทหารพม่าอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ในปี 2010 มาเปิดประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างผิดคาดว่า ทำไมจึงเกิดขึ้นได้ ตรงนี้เป็นความเห็นของผมเอง จากการพยายามติดตามเหตุการณ์ และหาข้อมูลเท่าที่จะทำได้ โดยต้องยอมรับว่าผมไม่ได้มีความรู้ความชำนาญ และไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าแต่อย่างใด ดังนั้น ท่านผู้อ่านจะค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วนหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ครับ

ตามความเข้าใจของผมนั้น รัฐบาลทหารพม่าทำการปฏิวัติเมื่อปี 1962 ก็เพราะต้องการรักษาความเป็นประเทศพม่า ในตอนนั้นมีชาวอินเดียเข้ามาครอบงำธุรกิจ และเศรษฐกิจในพม่า ตลอดจนปัญหาชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่เสี่ยงกับการทำให้ประเทศพม่าแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ได้ นอกจากนั้น ก็ยังเชื่อในการดำรงชีวิตประชาชนและประเทศ ไปในทางยึดถือศาสนาพุทธ และความเป็นสังคมนิยมมากกว่าระบบเศรษฐกิจนายทุน และกลไกตลาดเสรี ซึ่งก็อยู่กันแบบนั้นมานานหลายสิบปี จนในที่สุดหลังจากปิดประเทศจนรู้ตัวว่าล้าหลัง ก็ยอมให้มีการเลือกตั้งในปี 1990 แต่เมื่อทหารแพ้การเลือกตั้งอย่างราบคาบก็ตัดสินใจ “เบี้ยว” ประชาชน ประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และควบคุมตัวนางซูจี ซึ่งยิ่งทำให้ประเทศพม่าถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นไปอีก

แต่ในตอนนั้นเข้าใจว่า ทหารพม่านึกว่าจะสามารถพึ่งพาอาเซียนและอินเดียได้ แต่ทั้งสองประเทศก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอ และเมื่อประเทศพัฒนาแล้วกดดันหนักหน่วงยิ่งขึ้น จึงต้องหันมาพึ่งพาจีน โดยจะพบว่าจีนได้ประโยชน์จากสัมปทาน และการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของพม่าในหลายๆ ด้าน ทหารไทยเองก็สามารถสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมกับพม่า ทำให้ไทยก็ได้ประโยชน์จากพม่าอย่างมากเช่นกัน

ผมเข้าใจว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ทหารพม่าต้องหันมาทบทวนนโยบายของตน คือ ความกังวลว่าจะไม่สามารถทัดทานอำนาจของจีนได้ เว้น แต่การเปิดความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกและญี่ปุ่น จึงจะสามารถปรับดุลอำนาจไม่ให้ถูกครอบงำโดยจีน แต่ประเทศตะวันตกเรียกร้องประชาธิปไตย ทำให้รัฐบาลทหารต้องจำยอมเจรจากับนางซูจีที่จะเปิดประเทศไปสู่ความเป็น ประชาธิปไตย ซึ่งนางซูจีก็ยอมรับเงื่อนไขของทหารพม่า และยอมประกาศร่วมมือกับรัฐบาลทหาร และเรียกร้องให้ประเทศตะวันตกผ่อนคลายการคว่ำบาตรพม่า เป็นการแลกเปลี่ยน รัฐบาลทหารพม่า (ที่เป็นกลุ่มใหม่หลังจากที่ได้ยึดอำนาจอย่างเงียบๆ จากนายพลเนวินและพวก) จึงได้เริ่มดำเนินการเปิดประเทศ ทั้งในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2011 มาจนกระทั่งมีการเปิดการเลือกตั้งซ่อมในปี 2012 และการเลือกตั้งทั่วไปในต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา

เมื่อมีข้อมูลภูมิหลังดังกล่าวข้างต้น (ซึ่งคงจะมีข้อบกพร่องอยู่มาก ผมขออภัย ณ ที่นี้ด้วย) และก็จะสามารถเข้าใจบทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผมขอนำเสนอในตอนต่อไป

แต่ก่อนจบบทความนี้ ผมคิดว่าผู้อ่านบางคนอาจสงสัยว่า พม่า “กลัว” จีนจริงหรือ ซึ่ง ผมขอให้ไปอ่านบทความของ AFP ในต้นเดือนพ.ย.เรื่อง “China Paper warns Myanmar away from Stronger US ties) ซึ่งรายงานบทวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์จีน ที่ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กล่าวเตือนพม่าหลังวันเลือกตั้ง 2 วัน (10 พ.ย.) ว่า อย่าห่างเหินจากจีนและไปฝักใฝ่สหรัฐ โดยเอเอฟพีกล่าวถึงอดีตที่รัฐบาลจีน ได้สนับสนุนค้ำชูรัฐบาลทหารพม่า ในช่วงที่พม่าถูกตะวันตกคว่ำบาตร แต่การที่จีนเข้ามาเอาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของพม่า ก็ได้ทำให้ชาวพม่าไม่พอใจอย่างมาก

โดยพรรคเอ็นแอลดีได้ประกาศว่า จะปกป้องผลประโยชน์ของพม่า และประธานาธิบดีเต็งเส็งของพม่าเอง ก็ได้ใช้อำนาจยับยั้งโครงการก่อสร้างเขื่อน Myitsone ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจอย่างมาก ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์จีนกล่าวว่า การเดินไปสู่ประชาธิปไตยและพัฒนาความสัมพันธ์กับตะวันตก ทำให้พม่าลดระดับความสัมพันธ์กับจีนลงจากสัมพันธ์พิเศษ (special) เป็นความสัมพันธ์ปกติ (normal) และกล่าวตักเตือนว่า การที่พม่าคิดจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นกับสหรัฐนั้น เป็นการเดินนโยบายที่ไร้ความคิด “Witless move” ซึ่งจะทำลาย (ruin) ประโยชนที่พม่าจะได้จากจีน และจีนนั้นเป็นเพื่อนที่ใจกว้างและโอบอ้อมอารีเสมอมา “magnanimous and kind”
[/size]
โพสต์โพสต์