ALIBABA (จบ)/วีระพงษ์ ธัม

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

ALIBABA (จบ)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ก่อนที่เราจะพูดถึงมหาสงคราม e-commerce ในประเทศจีน สิ่งที่ต้องเข้าใจก่อนคือสภาพแวดล้อมในธุรกิจค้าปลีกของจีนนั้นมีพัฒนาการแตกต่างจากหลาย ๆ ประเทศ วิวัฒนาการปกติของธุรกิจค้าปลีกมักจะเริ่มต้นขึ้นมาจากร้านโชว์ห่วย พัฒนามาเป็นห้างสรรพสินค้า เป็นดิสเค้าท์สโตร์ เป็นร้านค้าเฉพาะทาง หรือ Category Killer และจบลงด้วยธุรกิจในรูปแบบใหม่คือ e-commerce แต่สำหรับประเทศจีนซึ่งมีอายุของเศรษฐกิจแบบเปิดเพียงแค่ไม่กี่สิบปี และมีการเติบโตของชนชั้นกลางที่รวดเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ย่อมทำให้เกิดการ “กระโดด”  ของพัฒนาการในธุรกิจค้าปลีกเหล่านี้ และนี่คือหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่กระโดดจากโชว์ห่วยข้ามมาเป็น e-commerce ได้เร็วและแรงที่สุด ปี 2013 e-commerce ในจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าสหรัฐอเมริกา และยังคงเติบโตหลายสิบเปอร์เซ็นต์ต่อปี หม่าอวิ๋น (Jack Ma) พูดว่าในประเทศอื่น e-commerce เป็นช่องทางการซื้อของช่องทางหนึ่ง แต่สำหรับประเทศจีน นี่คือวิถีชีวิตของเราไปแล้ว

    ย้อนกลับไปในปี 2000 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีนเพียงแค่ 2.1 ล้านคน แต่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศจีนในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตกระโดดขึ้นมาเป็น 600 กว่าล้านคน และในช่วงเวลานี้เอง คือจุดเริ่มต้นของการสู้รบระหว่าง ธุรกิจ C2C ของ Alibaba คือ Taobao.com และผู้นำ e-commerce ในสหรัฐอเมริกาคือ eBay.com ซึ่ง eBay มีความมั่นใจสูงเพราะชัยชนะในตลาดเยอรมัน (ตลาดเยอรมันใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก UK ในยุโรป) และกำลังรุกเข้าทุกตลาดหลักของโลก แม้ว่าหม่าอวิ๋นจะคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าการรุกคืบของ eBay ในจีน จะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วและได้เตรียมรับมือไว้ แต่ Taobao ก็ยังเล็กเกินกว่าที่จะต่อสู้กับ eBay ที่ทุ่มเงิน หลายร้อยล้านเหรียญลงในบริษัท Eachnet และด้วยทรัพยากรจากบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา eBay ก็ใช้เวลาไม่นานในการยึดครองผู้ใช้กว่า 10 ล้านคน ซึ่งนั่นคือเกือบทั้งหมดของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีน ณ เวลานั้น และก้าวมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 95%

    สงครามกับบริษัทอย่าง eBay ที่ใหญ่กว่าเป็นร้อย ๆ เท่า และมีทรัพยากรทางธุรกิจสมบูรณ์แบบนั้นไม่ง่าย หม่าอวิ๋นจึงเลือกใช้กลยุทธ์สงครามแบบกองโจร แบบเดียวกับที่ทหารเวียดกงสามารถชนะกองทัพสหรัฐได้ ตำราพิชัยสงครามนั้นเริ่มจาก “ยุทธศาสตร์” หรือ “ความเข้าใจในพื้นที่” ที่สูงกว่ามาก Taobao ได้นำเสนอเวปที่มีหน้าตา “จีนแท้ ๆ” คือการมีตัวหนังสือเต็มหน้าจอ เรียกได้ว่าแทบไม่มีพื้นที่ว่าง ๆ บนหน้าจอเลยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว ในสายตาคนดีไซน์เนอร์ฝรั่งนี่คือความยุ่งเหยิง แต่ถ้าถามคนจีนที่อยู่ในประเทศจีน นี่คือ “ความเคยชิน” ที่เขา “คุ้นเคย” ในชีวิตประจำวัน Taobao เรียงหมวดหมู่ตาม “วิถีร้านค้าในจีน” จึงมีหน้าตาถูกใจผู้ใจมากกว่า eBay มาก ในขณะที่ eBay ไม่พยายาม Localization เพราะคิดว่า e-commerce คือเทรนด์ที่พวกเขาจะสร้าง “วัฒนธรรม” ขึ้นมาใหม่ ซึ่งนำมาซึ่งความผิดพลาดในการเข้าถึงลูกค้า

    สิ่งที่สอง คือ Taobao นั้นอนุญาตให้ผู้ซื้อและผู้ขาย คุยกันอย่างอิสระผ่านโปรแกรม Chat ซึ่งเป็นกลไกในการสร้างความเชื่อใจและเป็นวิถีทำธุรกิจในสังคมจีน สำหรับ eBay นั้นการพูดคุยในลักษณะทำได้ไม่สะดวกนัก และไม่สามารถ Chat แบบ Real time ได้ เนื่องจาก eBay กลัวผู้ซื้อและผู้ขายจะไปคุยกันเองโดยไม่ผ่าน eBay การที่ Taobao อนุญาตให้พูดคุยได้ ยิ่งทำให้สังคม Taobao เติบโตเร็วมาก ๆ จนมีคำพูดที่พูดว่า “ไปหาแฟนบน Taobao” ซึ่งมันไม่เกิดขึ้นในสังคม eBay

    สาเหตุที่ Taobao อนุญาตให้มีการพูดคุยกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอย่างอิสระนั้น เนื่องจาก Taobao งนำเสนอสิ่งที่ eBay คาดไม่ถึงด้วยคือ ผู้ขายสามารถใช้ Taobao ได้ “ฟรี 3 ปี” โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น หม่าอวิ๋นเคยประเมินไว้ก่อนแล้วว่า eBay ไม่สามารถโต้ตอบกลยุทธ์นี้ได้ด้วยการทำวิธีเดียวกัน เหตุผลที่เขาวิเคราะห์คือ eBay เพิ่งลงทุนหลายร้อยล้านเหรียญในประเทศจีน นักลงทุน Wall Street ย่อมไม่พอใจอย่างมากถ้ารู้ว่าการลงทุนนี้จะทำรายได้ไม่ได้เลยเป็นระยะเวลาหลายปี และ Taobao มีต้นทุนการลงทุนและดำเนินธุรกิจที่ต่ำกว่ามากดังนั้นจึงสามารถสู้ศึกในลักษณะนี้ได้ยาวนานกว่า นอกจากนั้น eBay ยังมีธุรกิจอีกหลายประเทศ ถ้าเปิดในประเทศหนึ่งสามารถทำได้ อาจจะกระเทือนไปยังผู้ใช้ในประเทศอื่นได้ หม่าอวิ๋นบอกว่าผู้ใช้ 10 ล้านคนของ eBay นั้นเล็กมาก เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดของจีน นี่คือสิ่งใหม่ของจีน ดังนั้นเราควรจะให้ลูกค้าทดลองใช้ให้เป็นก่อน สามารถทำเงินได้จาก Taobao ก่อนที่จะเก็บเงินพวกเขา

    แม้ว่าจะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดทุกปี eBay ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้จนกระทั่งปี 2007 ซึ่งเป็นปีที่ eBay ถอนการลงทุนทั้งหมดออกจากจีน นี่คือชัยชนะของบริษัทเล็ก ๆ เหนือ eBay ที่มีขนาดใหญ่กว่าเป็นร้อยเท่า อันที่จริงเนื้อหา เกร็ดการต่อสู้มีรายละเอียดอีกจำนวนมาก แต่สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอ คือจิตวิญญาณของบริษัท Alibaba ที่ช่วยให้บริษัทสามารถไปได้ไกลเหมือนที่หม่าอวิ๋นเคยพูดว่า ถ้าเรา “เชื่อในความฝันอย่างสุดหัวใจ” ว่าเราทำได้ Alibaba ก็จะสามารถกลายเป็นบริษัท e-commerce ระดับโลกได้ และวันนี้เขาก็พิสูจน์แล้วว่า ความเชื่อของเขาและพนักงานบริษัท 40,000 คน แข็งแรงเพียงใด นี่คือ “จิตวิญญาณ” ของบริษัทที่นักลงทุนจะต้องให้ความสำคัญ
[/size]
ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: ALIBABA (จบ)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
jupiterwin
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 182
ผู้ติดตาม: 8

Re: ALIBABA (จบ)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณครับ
CARPENTER
Verified User
โพสต์: 431
ผู้ติดตาม: 1

Re: ALIBABA (จบ)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 4

โพสต์

เรียนถาม ท่านผู้รู้ ระหว่างหุ้น taubau กับ alibabaตัวไหนดีกว่ากันครับ
หรือว่า taubau ไม่ได้อยู่ในตลาด
ผมสนใจหุ้นทั้งสองตัวนี้ ราคาเท่าไหร่ครับ อยากทราบ pe
และ market cap อยากทราบข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจในการ
ซื้อหุ้นสองตัวนี้ ขอบคุณล่วงหน้าครับ
โพสต์โพสต์