บทเรียนหุ้นขาลง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

บทเรียนหุ้นขาลง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ถ้าดูโดยภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วเราก็จะพบว่าดัชนีหรือราคาตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีมาถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2558 นั้น ไม่ได้มีการปรับตัวลงมามากนัก ดัชนีตลาดลดลงมาเพียง 94 จุดหรือเป็นการปรับลงมาประมาณ 6.3% และถ้าคิดรวมปันผลที่ได้ประมาณ 3% นักลงทุนระยะยาวโดยเฉลี่ยก็น่าจะขาดทุนประมาณ 3.3% ถือว่าน้อยมาก แต่ถ้าคุยกับนักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมากก็จะพบว่าตลาดปรับตัว “รอบนี้” ค่อนข้าง “หนัก” หลายคน “ร้องไห้หนักมาก” เพราะเพิ่งเข้ามาเล่นหุ้นในตลาด ไม่เคยได้กำไรแต่ขาดทุนหนักมากเนื่องจากหุ้นที่เข้าไปเล่นนั้นเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีความผันผวนสูง จำนวนมากจดทะเบียนในตลาดหุ้น MAI อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านักลงทุนส่วนบุคคลส่วนใหญ่ก็ยังไม่ถอนใจออกจากตลาด ความหวังที่จะ “เอาคืน” หรือทำกำไรจากตลาดหุ้นยังมีอยู่ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ พวกเขาอาจจะคิดว่าหุ้นก็ลงมามากแล้ว คงไม่ลงไปอีกมากนักแต่น่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ เขาอาจจะเชื่อว่าการเล่นหุ้นนั้น “ต้องกล้าในยามที่คนอื่นกลัว”

ลองวิเคราะห์ดูข้อมูลตั้งแต่สิ้นปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันก็พบว่า ตลาดของหุ้นขนาดใหญ่หรือ SET นั้น ราคาหุ้นตกลงมาไม่มากนักเพียงแค่ 6.3% วัดจากดัชนี ส่วนค่าความถูกความแพงวัดจากค่า PE ก็ปรากฏว่าเมื่อสิ้นปีที่แล้วค่า PE ของ SET เองอยู่ที่ 17.81 เท่าเทียบกับ 18.49 เท่าในปัจจุบัน ซึ่งเท่ากับว่าหุ้นขนาดใหญ่นั้น คนยังคงให้ “คุณค่า” เท่าเดิม นั่นก็คือ ถ้าคุณลงทุนในตลาดหุ้นวันนี้ แต่ละปีก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ 5-6% (หาได้จากการกลับเศษเป็นส่วนของค่า PE คือค่า EP ที่เท่ากับ 1 หารด้วย 18 โดยประมาณ) ซึ่งก็เป็นอัตราที่ดีพอใช้เมื่อเทียบกับการฝากเงินหรือซื้อพันธบัตร การที่ราคาหุ้นตกลงมานั้น เกิดจากผลประกอบการหรือกำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลงเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา นี่ก็เป็นเรื่องตรงไปตรงมาในแง่ที่ว่าราคาหุ้นนั้น “ขึ้นอยู่กับพื้นฐานหรือผลประกอบการ” ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนับจากต้นปี

ในส่วนของตลาดหุ้นขนาดเล็กที่วัดจากดัชนีหุ้น MAI นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดัชนี MAI ปรับตัวลดลงจากประมาณ 700 จุดเหลือเพียง 585 จุดในช่วงเวลาเดียวกันหรือลดลงประมาณ 16.4% และถ้าคิดรวมปันผลที่ประมาณ 0.9% ก็จะทำให้โดยเฉลี่ยแล้วหุ้นให้ผลตอบแทนติดลบเฉลี่ยประมาณ 15.5% หรือนักเล่นหุ้นขาดทุนเป็นประมาณ 4.7 เท่าเมื่อเทียบกับตลาด SET และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมนักลงทุนบุคคลรายย่อยจึงเสียหายค่อนข้างหนักทั้ง ๆ ที่ตลาดโดยรวมไม่ได้เลวร้ายมากนัก

หุ้น MAI ที่ตกลงมานั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลง แต่ราคาหุ้นที่ลดลงนั้นน่าจะเกิดจากการที่การ “เก็งกำไร” ในหุ้นตัวเล็กนั้นลดลง ความหมายของผมก็คือ ราคาของหุ้นนั้น โดยปกติจะมาจากสองส่วนนั่นคือ ราคาที่เกิดจากพื้นฐานกับราคาที่เกิดจากการเก็งกำไร ราคาที่เกิดจากพื้นฐานนั้น คือราคาที่เกิดจากความสามารถในการทำกำไรปกติของบริษัทที่เกิดขึ้นและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ตัวเลขกำไรตัวนี้ถ้าคูณ 18 เท่าก็จะเป็นค่าของราคาหุ้นตามพื้นฐาน ส่วนราคาที่มาจากการเก็งกำไรนั้น จะเป็นราคาที่นักลงทุนให้กับหุ้นโดยดูจากการคาดการณ์กำไรในอนาคต หุ้นตัวไหนหรือกลุ่มไหนที่คนคาดหวังสูงมากว่าจะทำกำไรได้ดีมากในอนาคตก็จะได้ราคาสูงมาก เช่น ถ้านักลงทุนคาดว่าในอนาคตกำไรจะเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อหุ้น เขาอาจจะให้ราคาบริษัทเพิ่มขึ้น 50 เท่า เป็นต้น แต่ถ้าหุ้นตัวไหนไม่มีการ “เก็งกำไร” ราคาหุ้นก็จะมาจาก “พื้นฐาน” เพียงอย่างเดียว

ดูจากค่า PE ของตลาดหุ้น MAI นั้น เมื่อปลายปีที่แล้วค่า PE เท่ากับ 69.6 เท่า ก็น่าจะชัดเจนว่าไม่ใช่ราคาที่เกิดจากพื้นฐานเพียงอย่างเดียวแน่นอน เพราะถ้าคิดเป็นค่า EP ก็จะให้ผลตอบแทนคนลงทุนเพียงปีละไม่ถึง 1% ดังนั้น หุ้นตลาด MAI จึงมีมูลค่าที่เกิดจากราคาเก็งกำไรอยู่มาก ถ้าเราสมมุติว่าหุ้นในตลาด MAI มี “คุณค่า” เท่ากับหุ้นในตลาด SET คือควรมีค่า PE ประมาณ 18-19 เท่า เราก็จะคำนวณได้ว่าราคาหรือมูลค่าหุ้นที่เกิดจาก “การเก็งกำไร” นั้นเท่ากับการมีค่า PE เพิ่มขึ้นอีก 50 เท่า (69.6-19) เมื่อสิ้นปีที่แล้ว พูดง่าย ๆ หุ้นในตลาด MAI เมื่อสิ้นปีที่แล้วนั้น มีราคาตามพื้นฐานเพียง 18-19 เท่าของกำไรแต่มีราคาตามการเก็งกำไรถึง 50 เท่าของกำไรที่ “คาด” ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

ถึงวันนี้ ค่า PE ของตลาด MAI ลดลงมาเหลือ 59.8 หรือลดลงมาประมาณ 10 เท่าของกำไรและนี่ทำให้ดัชนีหุ้น MAI ลดลงมาประมาณ 16.4% การลดลงมานี้ผมคิดว่าไม่ได้เกี่ยวกับพื้นฐานอะไรนักเพราะกำไรของหุ้น MAI ก็ไม่ได้ลดลง ราคาหุ้นที่ลดลงนั้น ผมคิดว่าเกิดจากการเก็งกำไรที่ลดลง และการเก็งกำไรที่ลดลงนั้น ผมคิดว่าเกิดจากการที่ความคาดหวังที่บริษัทจะโตขึ้นลดลง และความคาดหวังที่ลดลงนั้นผมคิดว่าน่าจะเกิดจากสองประเด็นใหญ่ก็คือ หนึ่ง Story ของบริษัทหรือเรื่องราวที่สร้างความคาดหวังให้กับนักลงทุนนั้นเริ่ม “สั่นคลอน” เช่น ที่คาดว่าจะทำธุรกิจใหม่มีกำไรมหาศาล เมื่อเวลาผ่านไปก็ดูเหมือนว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นลดลง คาดว่าจะได้สัญญาขายไฟฟ้าทางเลือกก็ยังไม่ได้ อะไรทำนองนี้ เป็นต้น ข้อสอง กำไรที่เคยคาดการณ์หรือหวังว่าจะทำได้จากยอดขายสินค้าเดิมที่จะ “เพิ่มขึ้นมาก” นั้น อาจจะยังไม่มาหรือยอดขายอาจจะเพิ่มขึ้นแต่มาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายต่ำกว่าเดิมมาก เช่น เคยขาย 100 กำไร 20 ซึ่งเป็นกำไรที่ “มโหฬาร” นั้น เมื่อเวลาผ่านไปพบว่ากำไรแบบนั้นไม่สามารถทำต่อเนื่องได้ ในกรณีทั้งสองแบบนี้อาจจะเริ่มทำให้คนที่ซื้อหุ้นไว้เริ่มกลัวและขายหุ้นทิ้งก่อนที่ “ความจริงจะปรากฏ” มากขึ้นเรื่อย ๆ ราคาหุ้นตลาด MAI และหุ้นตัวเล็กหลาย ๆ ตัว จึงปรับตัวลงมาอย่างมีนัยสำคัญ

คำถามสำคัญก็คือ การปรับตัวลงของหุ้น MAI นั้น ลดลงมาพอหรือยัง? คำตอบก็คือ ไม่มีใครรู้! แต่ถ้าดูจากค่า PE ที่ประมาณ 60 เท่าในวันนี้และสมมุติว่าค่า PE ที่เหมาะสมตาม พื้นฐานควรจะประมาณไม่เกิน 20 เท่า ราคาที่เกิดจากการเก็งกำไรก็ยังสูงถึง 40 เท่าของกำไร หรือพูดง่าย ๆ ถ้ากำไรของบริษัทจดทะเบียนเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้น ราคาปัจจุบันก็จะเท่ากับ 60 บาทต่อหุ้น โดยเป็นราคาพื้นฐานแค่ 20 บาทและราคา “เก็งกำไร” อีก 40 บาท ก็หมายความว่าหุ้นตัวนี้หรือหุ้นกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะตกลงมา 40 บาทเหลือเพียง 20 บาทต่อหุ้นหรือเป็นการลดลงประมาณ 66% ถ้า “การเก็งกำไรหมดไป”

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วการเก็งกำไรจะหมดไปได้อย่างไร? คำตอบของผมก็คือ ไม่รู้! แต่ปัจจัยสำคัญของการเก็งกำไรก็คือ ภาวะตลาดหุ้นที่ร้อนแรงนั้นส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรสูง แต่บางทีตลาดหุ้นที่ “ไม่เลวร้าย” ก็ไม่ทำลายการเก็งกำไรเท่าไรนัก บางทีถ้าหุ้นตัวใหญ่ไม่ดี คนก็ยังอาจจะหันมาเล่นเก็งกำไรในหุ้นตัวเล็กได้ แต่ในกรณีที่ตลาดหุ้นเกิด “แพนิก” หุ้นตกลงมาแรงและกลายเป็นตลาดหมี แบบนี้ก็อาจจะทำให้การเก็งกำไรหายไปได้

บ่อยครั้ง การเก็งกำไรในหุ้นรายตัวก็อาจจะหายไปได้เมื่อเวลาผ่านไปและ Story ไม่เป็นไปตามที่คาด หุ้นตัวนั้นอาจจะมีค่า PE 100 เท่าแต่เป็นราคาพื้นฐานเพียง 20% อีก 80% เป็นการเก็งกำไร ดังนั้น เมื่อ “ฝันสลาย” ราคาหุ้นก็อาจจะตกลงมา 80% ได้

บ่อยครั้งการเก็งกำไรนั้นมาจากการที่มี “จ้าวมือ” ซึ่งเป็นรายใหญ่ซื้อและถือหุ้นจำนวนมากในบริษัททำให้ราคาหุ้นขึ้นไปมากและหุ้น Free Float หรือหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดมีน้อย ลักษณะนี้ราคาหุ้นก็อาจจะไม่ลงมาง่าย ๆ แม้ว่า Story หรือกำไรที่คาดหวังยังไม่เกิด “ภาพ” ที่ถูกส่งออกมาก็คือให้นักเก็งกำไร “รอต่อไป เดี๋ยวก็มา” ราคาหุ้นก็อาจจะไม่ลงมากนัก

หุ้นตัวเล็กที่ “ล่มสลาย” จริง ๆ นั้น มักจะเกิดจาก “ความเชื่อมั่นหมดไป” ด้วยเหตุอะไรก็ตามและมักรวมถึงการที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เป็น “จ้าวมือ” ทิ้งหุ้นหมดสิ้น ในวันนั้นก็จะกลายเป็น “หายนะ” ของหุ้นที่ราคาหรือมูลค่าลดลงมา บางที 90% หรือมากกว่านั้น ประวัติศาสตร์สอนเราว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเป็นธรรมดาโลกและก็อย่าได้คิดว่ามันจะไม่เกิดกับเราถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันเป็นนิจสิน
ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: บทเรียนหุ้นขาลง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
mrdew
Verified User
โพสต์: 258
ผู้ติดตาม: 0

Re: บทเรียนหุ้นขาลง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

กองทุนดัชนี SET50 ชื่อ กองทุนทหารไทย SET50

30 ธ.ค. 2557 NAV คือ 84.1103 บาท

14 ส.ค. 2558 NAV คือ 79.5549 บาท

ลดลง 5.41 %
whiteknight_p
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 315
ผู้ติดตาม: 1

Re: บทเรียนหุ้นขาลง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณครับ
-----------------------------------------
เกิดเหตุอะไร อย่าตื่นใจ ไปตามเขา
ปัญญาเรา มีหน้าที่ พิพากษา
ต้องดูน้ำ ดูลม ระดมมา
พิจารณา เชิงชั้น หมั่นตริตรอง
-----------------------------------------
ท่านพุทธทาสภิกขุ
rattypor
Verified User
โพสต์: 82
ผู้ติดตาม: 1

Re: บทเรียนหุ้นขาลง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ผมสรุปเอาเองจากบทความว่า

Fair Value ของตลาด MAI PE ไม่ควรเกิน 20

SET ยังปรับตัวลงน้อยกว่าที่คนส่วนมากคิดเมื่อเปรียบเทียบกับค่า PE ในอดีต คือ ยังไม่มีความน่าสนใจในการซื้อเท่าที่ควร

ให้โฟกัสในรายตัวที่ปรับตัวลงมากกว่าตลาดและมีการเติบโตทั้งในทางคุณภาพและปริมาณ

และวันนี้ตลาดจะเกิด Panic จากข่าวการก่อการร้ายที่แยกราชประสงค์หรือไม่ต้องติดตามครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
Ii'8N
Verified User
โพสต์: 3682
ผู้ติดตาม: 7

Re: บทเรียนหุ้นขาลง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

rattypor เขียน:ผมสรุปเอาเองจากบทความว่า

Fair Value ของตลาด MAI PE ไม่ควรเกิน 20

SET ยังปรับตัวลงน้อยกว่าที่คนส่วนมากคิดเมื่อเปรียบเทียบกับค่า PE ในอดีต คือ ยังไม่มีความน่าสนใจในการซื้อเท่าที่ควร
เรื่อง ยังไม่มีความน่าสนใจในการซื้อ ผมเห็นด้วย ว่าบทความสื่อแบบนี้ รวมถึงพุ่งเป้าไปที่ MAI
แต่ตัวเลข PE MAI ผมว่าไม่ใช่ข้อสรุปที่อาจารย์ต้องการสื่อนะครับ ไม่ได้วัดค่าอะไรออกมา ไม่ได้อ้างอิงสถิติไหน ถึงจะมองว่า ใช้ "ประสบการณ์" ที่พวกเราใครๆ ก็รู้ ว่าของปัจจุบันเป็น 60 นี่ มันคือคืนทุน 60 ปี เป็นตัวเลขสูงมากก็ตาม แต่ตัวเลขด้านต่ำที่ 20 เท่าก็ไม่ใช่การ "ฟันธง" ได้นะครับ


คำถามสำคัญก็คือ การปรับตัวลงของหุ้น MAI นั้น ลดลงมาพอหรือยัง? คำตอบก็คือ ไม่มีใครรู้! แต่ถ้าดูจากค่า PE ที่ประมาณ 60 เท่าในวันนี้และสมมุติว่าค่า PE ที่เหมาะสมตามพื้นฐานควรจะประมาณไม่เกิน 20 เท่า ราคาที่เกิดจากการเก็งกำไรก็ยังสูงถึง 40 เท่าของกำไร
้เป็นการสมมติตัวเลข "การปรับตัวลงของหุ้น MAI นั้น ลดลงมาพอหรือยัง? คำตอบก็คือ ไม่มีใครรู้!"
อาจจะสมมติตัวเลขเป็น 18, 22, 25, 30 ก็ได้ เพื่อให้มีจุดอ้างอิงก่อน เพื่อให้เห็นภาพชัด ในการนำมาเปรียบเทียบ อธิบายด้วยประโยคบอกเล่าว่า "ต่ำลงมา" ไม่ได้ ไม่ชัดเจนเท่าสมมติตัวเลข อ.ถึงออกตัวก่อน ว่า "ไม่มีใครรู้" ว่าต้องลงมาถึงขนาดไหน

สมมติตัวเลขกลมๆ ดูง่ายดี แต่จะใช้ตัวเลข 10 ก็ต่ำไป จะใช้ตัวเลข 30 ก็สูงไป จึงมาลงที่ตัวเลข 20 สมมติว่าตัวเลขนี้คำนวณมาตามพื้นฐานจริงแล้ว ....สมมุติว่าค่า PE ที่เหมาะสมตามตามพื้นฐาน....




ประเด็นของบทความคือ เตือนสติว่า ตัวเลขที่ผ่านมาเกิดจาก "เก็งกำไร" ไม่ใช่เพราะ "พื้นฐาน" ควรอย่าไปยึดกับตัวเลขเก่าเทียบกับตัวเลขใหม่ แล้วคิดว่าตลาดลดราคาลงมามากแล้ว ตัดสินใจซื้อ "ด้วยเหตุผลนี้" แต่ให้รู้สึกว่าลดลงมาขนาดนี้ ก็ยังถือว่าสูงอยู่มาก จะได้ระมัดระวัง ก่อนตัดสินใจทำอะไรลงไป
ภาพประจำตัวสมาชิก
Ii'8N
Verified User
โพสต์: 3682
ผู้ติดตาม: 7

Re: บทเรียนหุ้นขาลง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ตัวเลขที่มาจากสถิติ อยู่ตรงนี้
หุ้น MAI ที่ตกลงมานั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลง แต่ราคาหุ้นที่ลดลงนั้นน่าจะเกิดจากการที่การ “เก็งกำไร” ในหุ้นตัวเล็กนั้นลดลง ความหมายของผมก็คือ ราคาของหุ้นนั้น โดยปกติจะมาจากสองส่วนนั่นคือ ราคาที่เกิดจากพื้นฐานกับราคาที่เกิดจากการเก็งกำไร ราคาที่เกิดจากพื้นฐานนั้น คือราคาที่เกิดจากความสามารถในการทำกำไรปกติของบริษัทที่เกิดขึ้นและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ตัวเลขกำไรตัวนี้ถ้าคูณ 18 เท่าก็จะเป็นค่าของราคาหุ้นตามพื้นฐาน
rattypor
Verified User
โพสต์: 82
ผู้ติดตาม: 1

Re: บทเรียนหุ้นขาลง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 8

โพสต์

ขอบคุณพี่ Ii'8N ที่ช่วยขยายความครับ
โพสต์โพสต์