การฟื้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

การฟื้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

เรากำลังคาดหวังกันว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว แต่ก็ถูกเตือนว่าการฟื้นตัวนั้นน่าจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วงเพราะว่าเศรษฐกิจโลกเองก็พยายามฟื้นตัวมา 6 ปีแล้ว ก็ยังขยายตัวอย่างกระท่อนกระแท่น โดยสหรัฐต้องใช้มาตรการคิวอีคือ การพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมหาศาล 3 ระลอกเพื่อซื้อพันธบัตร (กดดอกเบี้ยระยะยาว) ตามด้วยคิวอีของญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งประสบผลสำเร็จในการทำให้ค่าเงินของตนอ่อนลง 30%

นอกจากนั้น ยังมีธนาคารกลางอีกหลายประเทศทยอยลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยให้เงินสกุลของตนอ่อนค่าลง จนมีการกล่าวถึงสงครามค่าเงิน (currency war) แต่ผมคิดว่าการลดค่าเงินนั้น น่าจะมองว่าเป็นการแก่งแย่งอุปสงค์ที่มีจำกัดในขณะนี้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การส่งออกภาวะเงินฝืดไปสู่ประเทศอื่นๆ ที่มิได้ดำเนินมาตรการเพื่อให้ค่าเงินของตนอ่อนลงนั่นเอง

ดังนั้น จึงน่าจะเป็นห่วงว่าประเทศต่างๆ กำลังหาทางออกแบบง่ายๆ และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน กล่าวคือ แทนที่จะช่วยกันกระตุ้นอุปสงค์โดยรวมจากการลงทุนเพิ่มขึ้น และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแรงและมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ก็หันมาแย่งกันขอส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะหลายสาเหตุ เช่น

1.ประเทศพัฒนาแล้วยังมีหนี้สินคงค้างสูงมาก ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างเชื่องช้า

2.วามขัดแย้งรุนแรง ระหว่างพรรครีพับลิกันและเดโมแครต ทำให้สหรัฐไม่สามารถคลอดมาตรการทางการคลังได้ ในส่วนของยุโรปก็ยังอยู่ในช่วงรัดเข็มขัดทางการคลัง และพยายามแก้ปัญหากรีซ ส่วนหนี้สาธารณะญี่ปุ่นก็สูงถึง 240% ของจีดีพีแล้ว

3.การแก่ตัวของประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้อุปสงค์ลดลง

4.พัฒนาการทางเทคโนโลยี ในยุคหลังนี้มีผลต่อผลิตภาพไม่สูงเหมือนแต่ก่อน และการลงทุนก็ใช้ทรัพยากรน้อย ดังที่ผมเคยเปรียบเทียบบริษัทรถยนต์จีเอ็มกับเฟซบุ๊ค

สำหรับประเทศไทยนั้น จึงมีประเด็นว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เพราะสิ่งที่ท้าทายเราอยู่ในขณะนี้คือ

1.ภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดคือการส่งออกสินค้า (60% ของจีดีพี) นั้นไม่ขยายตัวมา 3 ปีแล้ว มีที่ฟื้นตัวคือการส่งออกบริการ (การท่องเที่ยว) แต่ก็คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของจีดีพี

2.อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการบริโภค ซึ่งมีสัดส่วน 55% ของจีดีพี แต่ ครัวเรือนไทยมีหนี้สินมากและเริ่มเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ธนาคารจึงระมัดระวังการปล่อยกู้เพิ่ม ในขณะที่รายได้ก็เพิ่มขึ้นไม่มาก ทำให้การบริโภคไม่สามารถขยายตัวและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

3.การลงทุนเอกชนคิดเป็นสัดส่วน 20% ของจีดีพี และภาครัฐคาดหวังว่าจะขยายตัวเพื่อร่วมลงทุนกับภาครัฐ โดยเฉพาะในด้านโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่โดยรวมแล้วการใช้กำลังการผลิตของไทยยังต่ำประมาณ 60% ดังนั้น จึงยังไม่ได้มีความจำเป็นที่จะเร่งรัดการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต นอกจากนั้น ความไม่แน่นอนทางการเมือง ก็อาจเป็นเหตุให้นักลงทุนรอจนกว่าสถานการณ์จะมีความชัดเจนมากกว่านี้

4.หลังจากที่รัฐบาลใช้งบลงทุนไปเพียง 30% ในครึ่งแรกของปีงบประมาณ (1 ต.ค.2014 ถึง 31 ม.ค.2015) รัฐบาลให้ความมั่นใจว่า ในครึ่งหลังของปีงบประมาณจะมีการใช้เงินลงทุนอีก 50% ของงบลงทุน คือประมาณ 230,000 ล้านบาท บวกกับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกในจำนวนเท่าๆ กันโดยประมาณ แต่ตัวเลขดังกล่าวรวมกันแล้วก็ยังคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของจีดีพี จึงจะยังมีผลจำกัดในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากปัจจัยอื่นๆ ไม่เอื้ออำนวย เช่น ปัญหาภัยแล้ง การตกต่ำของราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น

ดังนั้น ความหวังทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของเศรษฐกิจไทย จึงน่าจะเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพสูงขึ้น และผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ยาก เพราะอันที่จริงแล้ว สิ่งที่คนไทยจะต้องถามและหาคำตอบคือ ประเทศไทยและคนไทยจะ “หากิน” อะไรบนโลกใบนี้ ซึ่งจุดเริ่มต้นอาจต้องถามก่อนว่าปัจจุบันนี้เรา “หากิน” อย่างไร ซึ่งคำตอบอย่างไม่อ้อมค้อมคือ

1.เราเป็นฐานการผลิตให้บริษัทข้ามชาติผลิตและส่งออกรถยนต์ อิเลคทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ supply chain ของบริษัทข้ามชาติที่ลงทุนในประเทศอื่นๆ ในอาเซียนพร้อมกันไปด้วย

2.ไทยส่งออกสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมาก แต่ก็เผชิญกับภาวะราคาตกต่ำและผลิตภาพโดยรวมก็ค่อนข้างต่ำ

3.อุตสาหกรรมเบาที่ใช้แรงงานของคนไทย เช่น สิ่งทอ รองเท้า ฯลฯ นั้น นับวันก็จะหดตัวลง เพราะค่าแรงที่สูงขึ้น จึงเกิดการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง

ในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมานั้น สามารถสรุปได้ว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนหลัก กล่าวคือ ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว (จริง) ประมาณ 7% ต่อปี ในขณะที่ภาคการเกษตรขยายตัว 2-3% ต่อปี พร้อมกันนี้ ภาคการส่งออกขยายตัวประมาณ 10% ต่อปีหรือ 2 เท่าของการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม แต่มาในระยะหลังนี้การส่งออกเกือบจะไม่ขยายตัวเลย จึงต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่าการ “ทำมาหากิน” ของไทยที่เคยใช้มาด้วยดีตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีนั้น จะต้องทบทวนและปรับปรุงมากน้อยเพียงใดหรือจะต้องทำการปรับใหญ่ ซึ่งจะขอเขียนถึงในตอนต่อไปครับ
[/size]
opengn
Verified User
โพสต์: 140
ผู้ติดตาม: 0

Re: การฟื้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณครับ
ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: การฟื้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณมากครับ เหนือสิ่งอื่นใด ก่อนที่เราจะแข่งขันกับใคร เราคงต้องกลับมาดูว่าเรามีทุนเก่าอะไรบ้าง สิ่งที่เรามีและได้เปรียบ คือ แหล่งท่องเที่ยวที่ธรรมชาติให้มา แผ่นดินและนํ้า ผู้คนเป็นมิตร และมีจิตบริการสูงกว่าประเทศอื่นๆ ถ้าทุกคนมุ่งเน้นแต่รับจ้างผลิตให้ได้มากๆโดยมิได้สนใจสิ่งที่มี ละเลยการพัฒนาในสิ่งที่มีอยู่ ยังคงนำเข้า ผลิตและส่งออก เราก็คงเติบโตแบบชั่วคราว พอหมดข้อได้เปรียบ เช่นค่าแรง การอำนวยความสะดวกให้ต่างชาติ เค้าก็ย้ายไปประเทศอื่น กลับกับเราควรพัฒนาผลไม้ ยา แหล่งท่องเที่ยว ที่พักอาศัยระยะยาวเป็นหลัก เพราะสิ่งเหล่านี้ ย้ายไปไม่ได้ เป็นทุนเดิมของประเทศ อย่างมากก็ได้แค่เปรียบเทียบกับประเทศอื่น แต่จะให้ผลออกมาเหมือนกันหมดคงเป็นไปไม่ได้ครับ อีกเรื่องที่อยากฝากผู้ที่มีหน้าทืี่รับผิดชอบ เอาง่ายๆเรื่องผลไม้ไทยนี่มีมากชนิดสุดในโลกก็ว่าได้นะครับ เวลานักท่องเที่ยวเขามากเยืือนประเทศเรา ทั้งเข้าทั้งออก เอาผลไม้ไปให้กินฟรีตามประตูก่อนขึ้นเครื่อง ซึ่งเป็นผลไม้ตามฤดูกาล พร้อมป้ายชื่อ คุณประโยชน์และสรรพคุณทางยาต่างๆทุกภาษา และระบุแหล่งผลิต เพื่อติดต่อนำไปจำหน่าย (สงสารชาวไร่ชาวนาครับ เวลาเห็นป้าย 5 โล 100 แล้วทนไม่ค่อยได้ครับ ชอบคิดไปว่าทำไมของดีเอามาขายทิ้งขว้างกันแบบนี้ บางครั้งก็ไปเททิ้งหน้าทำเนียบ ที่ผมเสนอให้ทานฟรีไม่อั้นที่่ประตูก่อนขึ้นเครื่องมี 2 เหตุผลครับ 1.นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะแยกกับทัวร์และอาหารที่ทานครั้งสุดท้ายมานานพอควร ทำให้หิวและเวลาได้ทานอะไรตอนนั้นจะรู้สิ่งอยู่ในความทรงจำได้นานกว่าครับ 2.คือคนนึงทานได้ถึง 2 โลหรือไม่ ถ้าไม่ก็คือจ่ายให้เค้าไม่เกิน 40 บาท/คน ค่าภาษีสนามบิน 800 ตรงนี้เป็นค่าใช้จ่ายน้อยมากครับ อีกอย่างนักท่องเที่ยวเค้าคงกลับไปบอกต่อว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่่ให้เค้าอิ่มอร่อยก่อนขึ้นเครื่องครับ :mrgreen: )
sipoonya
Verified User
โพสต์: 469
ผู้ติดตาม: 0

Re: การฟื้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 4

โพสต์

จริงๆน่าสนใจ บทความต่อไป ว่าเรา(ประเทศไทย)จะ ทำมาหากินอะไร และอย่างไร
ถ้าเปรียบประเทศไทย(และประเทศอื่นๆ)เป็นคน เราเป็นคนแบบไหน เรามีคุณสมบัติอะไร
และเรามีทรัพย์สินและทรัพยากรอะไร แต่ผมไม่รู้ว่า คนระดับบริหาร/วางแผนกลยุทธ์ของประเทศ
เขาคิดอะไร การทำต่อๆกันมา เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง คือ เราอ่อนแอ กว่าศักยภาพที่เราสามารถเป็นได้

ในบอร์ดนี้หลายๆท่านเป็นวีไอ มีวิถีชีวิตแบบวีไอ แม้เราจะอยู่ในโลกทุนนิยม
ใช้ทุนนิยมเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ แต่เราก็ไม่เสียวิถีดั้งเดิมของเรา
(อันนี้ก็ไม่เคยทำวิจัยหรอก แต่ผมเชื่อตาม ปู่บัฟ กับ อ.นิเวศน์ ว่าวีไอที่ดีควรมีวิถีชีวิตแบบวีไอด้วย)
แต่พอลองมองกลับไปที่ประเทศว่าเป็นเหมือนคน เรานี่ไม่วีไอเท่าไหร่เลย
ก็เหมือนกับพอเพียงนั่นแหละ มันเป็นเรื่องจิตใจ ความต้องการและเหตุผล(ที่ไม่ไปด้วยกัน)
เรา(ประเทศไทย คนส่วนใหญ่)ก็เลยไม่ค่อยพอเพียงกันได้
(ข้อนี้เดาเอา เพราะถ้าเราพอเพียงกันได้มากจริง คงไม่ต้องมารณรงค์โฆษณา)

ส่วนตัวมองว่า ประเทศมีศักยภาพ เหมือนคนที่มีที่ดินทำมาหากิน พอเลี้ยงปากท้องได้สบายๆ
ถ้าเราขยัน เราก็ไม่น่าอด แต่ในโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่วิถีแบบทำเลี้ยงปากท้องแล้ว
มันเป็นการทำมาค้าขาย ที่ทำไปทำมาเราก็จะมีความต้องการมากขึ้น จนกลายเป้นไม่พอกินไม่พอใจไป
ผมมองว่าถ้าเริ่มจากพอมีพอกิน แล้วขยายไปจากภายในที่แข็งแรง
ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพจากภายในได้มากกว่าตัวเราเองจะคิดเป็นด้วยซ้ำ

ปล อย่าว่าผมนะ เพราะผมก็เบบี๋เหลือเกินในโลกของ/เศรษฐกิจ/เศรษฐศาสตร์ 55555
เพราะบางทีผมก็ไม่เข้าใจพวกมันเหมือนกันว่าคิดอะไรอยู่ฟระ อ่อ แล้วผมก็ไม่ได้ต้านทุนนิยมนะฮะ 555
Sixth Sense Investor
โพสต์โพสต์