ม้าลายในดงสิงห์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

ม้าลายในดงสิงห์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

หนึ่งในนักลงทุนที่ “ยิ่งใหญ่” ของโลกแต่เดี๋ยวนี้คนรุ่นหลังก็อาจจะไม่ค่อยรู้จักก็คือ Ralph Wanger อดีตผู้จัดการกองทุนตระกูล “Acorn” ที่โด่งดังในช่วงกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 1970-2003 เขาดังเพราะว่าผลงานในช่วง 33 ปี ของเขานั้นให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยถึงปีละ 16.3% ในขณะที่ดัชนี S&P หรือดัชนีตลาดนั้นให้ผลตอบแทนเพียง 12.1% ความแตกต่างถึงปีละกว่า 4% ต่อปีเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปีนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากสำหรับการลงทุนที่มีพอร์ตขนาดใหญ่เป็นแสนล้านบาท นอกจากเรื่องของผลงานแล้ว สิ่งที่ทำให้แวงเกอร์ดังเป็นพิเศษก็คือ เขาเป็นผู้จัดการกองทุนที่เป็นผู้นำในการลงทุนในหุ้น “ขนาดเล็ก” ที่โตเร็วทั้งในตลาดหุ้นสหรัฐและต่างประเทศเป็นคนแรก ๆ อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้คนกล่าวขวัญถึงก็คือ “รายงานถึงผู้ถือหน่วยลงทุน” ที่เขาส่งให้ลูกค้าของเขาเป็นประจำทุกไตรมาศนั้น ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยสาระความรู้และน่าอ่าน ซึ่งผมเองก็ไม่ได้ศึกษาแต่มันคงจะคล้าย ๆ กับรายงานประจำปีของเบิร์กไชร์ และหลังจาก “ประสบความสำเร็จสูง” ก็เป็น “ธรรมเนียม” ที่จะต้องมี “หนังสือ” ของตนเอง ซึ่งผมได้อ่านมานานแล้วตั้งแต่ผมเริ่มชีวิตการลงทุนใหม่ ๆ หลังปีวิกฤติตลาดหุ้นไทยในปี 2540 หนังสือที่เขาเขียนชื่อ “A Zebra In Lion Country” แปลเป็นไทยก็คือ “ม้าลายในดงสิงห์”

ความหมายของ “ม้าลายในดงสิงห์” ของแวงเกอร์ก็คือ เขาเปรียบนักลงทุนรายย่อยเป็น “ม้าลาย” ที่หากินกันเป็นฝูงในทุ่งหญ้า ม้าลายที่อยู่ตรงกลางของฝูงนั้น ปกติก็มักจะ “ปลอดภัย” จากการกลายเป็นอาหารของสิงโตที่มักจะล่าเหยื่อที่เป็นม้าลาย อย่างไรก็ตาม ม้าลายที่หากินอยู่กลางฝูงนั้นก็มักจะได้กินแต่หญ้าจำนวนน้อยและคุณภาพต่ำที่ถูกเหยียบย่ำโดยฝูงม้าลาย ความหมายก็คือ ถ้าเราเป็นนักลงทุนรายย่อยที่ “กลัวความเสี่ยง” เราก็จะลงทุนแบบอนุรักษ์นิยมเช่น ลงทุนในหุ้นตัวใหญ่ที่เป็น “หุ้นมาตรฐาน” ของตลาดหรือลงทุนในกองทุนรวม แต่วิธีนี้เราก็ต้องยอมรับว่าจะได้ผลตอบแทนที่ “ต่ำ” ในทางตรงกันข้าม ม้าลายที่หากินอยู่ที่ขอบรอบนอกของฝูงนั้น ก็มักจะได้กินหญ้าจำนวนมากที่เขียวขจีแต่พวกมันก็จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ฝูงสิงโตจะเข้าโจมตีและจับมันเป็นอาหาร ความหมายก็คือ ถ้านักลงทุนรายย่อยอยากที่จะรวยหรือทำเงินจากการลงทุนสูง เขาจะต้องกล้าลงทุนใน “หุ้นขนาดเล็ก” ซึ่งจะต้อง “เสี่ยง” และจะต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถอยู่รอดได้อย่างปลอดภัย

ในตลาดหุ้นไทยนั้น นักลงทุนรายย่อยบ้านเราที่มักจะเข้ามา “เล่นหุ้น” โดยไม่มีความรู้ในการลงทุนจริง ๆ นั้น มักจะถูกเปรียบเทียบให้เป็น “แมงเม่า” นั่นก็คือ เข้ามาซื้อขายหุ้น “ตามแห่” คือถ้าหุ้นตัวไหนราคาปรับตัวขึ้นแรงและเร็วพวกเขาก็จะแห่เข้าไปซื้อตาม ในทางตรงกันข้าม ถ้าหุ้นตัวนั้นเริ่มปรับตัวลง พวกเขาก็จะรีบชิงขายโดยไม่ได้พิจารณาถึงพื้นฐานของกิจการไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง ผลก็คือพวกเขาก็มักจะขาดทุน นี่เปรียบเสมือนกับแมงเม่าที่มักจะบินเข้าไป “เล่นกับไฟ” ที่มีคนจุดขึ้น ซึ่งก็มักจะถูก “เผา”สถานเดียว พูดง่าย ๆ กลยุทธ์แบบนี้มีแต่ขาดทุน โอกาสกำไรไม่มี

ในระยะหลังที่การลงทุนแบบ “VI” เกิดขึ้นในประเทศไทย นักลงทุนรายย่อยที่เป็น VI นั่นคือคนที่ศึกษาหลักการลงทุนที่เน้นลงทุนในกิจการที่ดีมีราคาถูกนั้น พวกเขาพบว่าหุ้น “ขนาดเล็กที่โตเร็ว” นั้น เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมกว่าการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ทำให้พวกเขาจำนวนมากประสบความสำเร็จสูงมากโดยที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา พวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงจากการขาดทุนที่มักเกิดขึ้นกับนักลงทุนรายย่อยตลอดมา พวกเขาได้กำหนด “มาตรฐานใหม่” ขึ้นมาว่า นักลงทุนรายย่อยที่รู้จริงและใช้หลักการแบบ VI นั้น ไม่ใช่แมงเม่าที่จะถูกหลอกล่อให้บินเข้ากองไฟ ตรงกันข้าม พวกเขานั้นคือ “ม้าลาย” ที่หากินอยู่ที่ขอบนอกของฝูงที่ได้กิน “หญ้าที่เขียวขจี” และสามารถเอาตัวรอดจาก “สิงห์” ที่คอยจับม้าลายที่ไม่รู้จักวิธีหลบหลีก “กรงเล็บ” ของมัน

แน่นอนว่าไม่ใช่ “หุ้นตัวเล็ก” ทุกตัวเป็นหุ้นที่ดีน่าลงทุน และก็ไม่ใช่ “หุ้นตัวเล็กที่โตเร็ว” ทุกตัวเป็นหุ้นที่น่าลงทุน ตรงกันข้าม หุ้นตัวเล็กไม่ว่าจะโตเร็วหรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ใช่หุ้นที่น่าลงทุน จริงอยู่ หุ้นเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยมีราคาปรับตัวขึ้นไปเร็ว บ่อยครั้งก็ทำกำไรให้กับนักลงทุนบางคนมหาศาล แต่กลับทำให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากขาดทุนอย่างหนัก ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็คือ นักลงทุนรายย่อยเหล่านี้ก็คือ “ม้าลาย” ที่ออกมาหากินหญ้าที่ขอบนอกของฝูงโดยที่ไม่ตระหนักว่ามันมีอันตรายจาก “สิงโต” ที่คอยจับ “เหยื่อ” ที่ไม่รู้และมองหาแต่หญ้าที่ “เขียวขจี” อยู่ที่ขอบนอกของฝูงโดยที่ไม่รู้วิธีป้องกันหรือเอาตัวรอดเมื่อสิงโตมา และนี่ก็คือนักลงทุนที่ “พยายามเป็น VI” โดยที่ไม่ได้ศึกษาจริง ๆ พวกเขาเข้ามาเล่น “หุ้นตัวเล็กที่โตเร็ว” ที่มีราคาปรับตัวขึ้นมากและเร็วเพราะหวังผลตอบแทนที่สูงลิ่วแต่กลับขาดทุนอย่างหนักเมื่อหุ้นปรับตัวลง พวกเขา “ร้องไห้หนักมาก” อย่างที่วัยรุ่นชอบพูดกันในช่วงเร็ว ๆ นี้

วิธีที่จะเป็น “ม้าลายที่หากินหญ้าที่เขียวขจีที่อยู่ขอบนอกของฝูงและเอาตัวรอดได้” ของแวงเกอร์นั้น พอสรุปได้คร่าว ๆ ดังต่อไปนี้

ประการแรกก็คือ ให้เน้นการมองหรือค้นหาแนวโน้มหรือเทรนด์ที่จะดำเนินต่อเนื่องไปอย่างน้อย 4- 5 ปีข้างหน้า เพราะเขาเห็นว่าชีวิตของเรานั้นจะถูกขับเคลื่อนโดยกระแสของเศรษฐกิจและสังคมเหล่านั้น ซึ่งก็จะไปขับเคลื่อนยอดขายและกำไรของบริษัทหรือกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น แวงเกอร์เองนั้นมองว่ามีเทรนด์ที่จะดำเนินต่อไปอีก 4-5 เรื่องคือ 1) การปฏิวัติของระบบข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะผลกระทบของมันต่อต้นทุนต่าง ๆ 2) คือการขยายตัวของระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต 3) ธุรกิจความบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจซึ่งจะถูกเร่งขึ้นโดยการเพิ่มขึ้นของคนรุ่นเบบี้บูมที่มีความมั่งคั่งสูง 4) คือระบบ Outsource หรือการจ้างบริษัทภายนอกทำงานแทนบริษัทของธุรกิจและบริษัทต่าง ๆ ที่จะเพิ่มมากขึ้น สุดท้ายคือ 5) การเจริญเติบโตของธุรกิจบริหารเงินซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในโลกที่คนมีความมั่งคั่งสูงและแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว

ประการที่สองที่เป็นหลักการและคำแนะนำของแวงเกอร์ก็คือ เขาบอกว่าบริษัทขนาดเล็กนั้น โดยเฉลี่ยแล้วจะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่าบริษัทขนาดใหญ่ แต่เราควรจะหลีกเลี่ยงบริษัทขนาด “จิ๋ว” เพราะมันจะมีความเสี่ยงสูงเกินไป (เช่น ขนาด Market Cap.ไม่ควรต่ำกว่า 2-3000 ล้านบาท เป็นต้น) บริษัทขนาดเล็กที่ดีที่สุดควรเป็นบริษัทที่โดดเด่นและยึดครองตลาดเฉพาะจุดหรือ Niche ของตนเอง ซึ่งคุณลักษณะของมันควรจะรวมถึงประเด็นดังต่อไปนี้คือ 1) บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดที่โตขึ้นในผลิตภัณฑ์ของตน 2) มีการออกแบบที่ดี 3) ถ้าเป็นการผลิตก็ต้องมีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำ 4) ผู้บริหารมีความเป็นผู้ประกอบการที่โดดเด่น 4) มีทักษะทางการตลาดสูง 5) ธุรกิจมีกำไรต่อยอดขายหรือ Profit Margin สูง นอกจากนั้น แวงเกอร์ชอบบริษัทที่ทำธุรกิจที่อยู่ปลายน้ำมากกว่าต้นน้ำ ตัวอย่างเช่นในกรณีที่ธุรกิจไมโครชิพและหุ้นอย่าง Intel เติบโตเร็ว แวงเกอร์จะชอบที่จะลงทุนในบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่ใช้ผลิตภัณฑ์ไมโครชิพมากกว่า

ประการต่อมาก็คือ แวงเกอร์เน้นลงทุนในบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมีหนี้น้อยและธุรกิจนั้นสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ดีเขาจะหลีกเลี่ยงพวกบริษัทฟื้นตัว บริษัทที่เพิ่งก่อตั้งไม่นานและหุ้น IPO ที่มักจะมีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอ และสุดท้าย เขาจะดูความถูกความแพงของหุ้นจากค่า PEG คล้าย ๆ กับปีเตอร์ ลินช์ หรือที่ดีไปกว่านั้นก็คือ เขาชอบที่จะคาดการณ์กำไรต่อหุ้นใน 2 ปีข้างหน้าแล้วคูณด้วยค่า PE ที่เหมาะสมเพื่อหามูลค่าที่เหมาะสม เมื่อซื้อหุ้นได้ถูกต้องแล้ว เขาบอกว่าเราควรสามารถที่จะถือมันไว้ได้อย่างน้อย 4-5 ปี และจะขายต่อเมื่อราคาขึ้นไปสูงเกินกว่าพื้นฐานหรือเมื่อค่า PE สูงเกินไปเพื่อลดความเสี่ยง ทั้งหมดนั้นคือหลักการ แต่ในชีวิตจริงเขาบอกว่าเขาจะประเมินและทบทวนสถานการณ์ตลอดเวลาเพื่อที่จะดูว่าจะทำอย่างไรกับหุ้นและพอร์ตของตนเอง
ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: ม้าลายในดงสิงห์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

เห็นภาพชัดเลยครับ ขอบคุณมากๆครับ
opengn
Verified User
โพสต์: 140
ผู้ติดตาม: 0

Re: ม้าลายในดงสิงห์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
shumbrotta
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 291
ผู้ติดตาม: 3

Re: ม้าลายในดงสิงห์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณครับอาจารย์
โพสต์โพสต์