ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Value Investor จำนวนมากนั้นถูกสอนให้คิดแบบ “Bottom Up” หรือวิเคราะห์จากตัวบริษัทหรือหุ้นที่จะลงทุนมากกว่าที่จะคิดถึง “ภาพใหญ่” ของอุตสาหกรรม ภาวะเศรษฐกิจสังคมหรือประเทศชาติเมื่อคิดจะลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง แต่ความเป็นจริงก็คือ มันเป็นเรื่องที่ง่ายกว่ามากที่เราจะหาหุ้นที่ดีจากภาวะหรือภาพใหญ่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและการเติบโตของบริษัท จริงอยู่ ในประเทศหรือในสังคมที่มีระดับการพัฒนาต่ำและ/หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจช้า เราก็อาจจะยังพบบริษัทที่ดีได้ แต่เทียบกันแล้วมันก็คงจะหาได้ยากและ/หรือดีไม่เท่ากับบริษัทที่อยู่ในสังคมที่ก้าวหน้าและมีการเติบโตสูง และนี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจว่าประเทศไหนจะดีหรือเติบโตได้มากน้อยแค่ไหนถ้าเราต้องการที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ

วิธีที่จะดูว่าประเทศไหนจะ “รุ่ง” หรือจะ “ร่วง” ในระยะยาวนั้น ผมคิดว่าเราต้องดูถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างที่มีการจัดอันดับกันมาตลอด เพราะนี่จะเป็นการบอกว่าประเทศไหนจะ “ชนะ” หรือ “แพ้” ในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของโลก อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับที่มีอยู่นั้นผมคิดว่ายังเป็นการมองแบบระยะสั้นหรือกลางมากกว่าระยะยาวเห็นได้จากข้อมูลหรือตัวเลขที่ใช้นั้นมักจะอิงจากข้อมูลมหภาคที่วัดกันเป็นปี ๆ มากกว่าข้อมูลเชิง “โครงสร้าง” ที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ดังนั้น ในฐานะของ VI ผมจึงอยากที่จะเสนอแนวทางการวัดความสามารถการแข่งขันของประเทศอีกแนวหนึ่งที่เน้นการมองระยะยาวและอิงอยู่กับเรื่องของ “วิวัฒนาการ” ของมนุษย์ที่มีการศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ และมีตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์พอสมควรดังต่อไปนี้

ประเด็นแรกก่อนที่จะพูดว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความสามารถในการแข่งขันของรัฐหรือประเทศ ผมคิดว่าเราควรจะทำความเข้าใจก่อนว่าไม่มีปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่กำหนดความสามารถได้หมด ความสามารถของการแข่งขันนั้นถูกกำหนดโดยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง และที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัจจัยที่ “บวก” อย่างหนึ่งนั้นบางทีมันไม่สามารถทำงานได้ถ้าปัจจัยอีกอย่างหนึ่งมันเป็น “ลบ”ที่รุนแรง นอกจากนั้น ปัจจัยต่าง ๆ จะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อมันมีการเอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดความสัมพันธ์ต่าง ๆ เหล่านี้อย่างแม่นยำ ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องของศิลปะในการมองว่าความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไรโดยดูจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ประเทศนั้นมีอยู่

ปัจจัยแรกที่น่าจะสำคัญมากที่จะกำหนดว่าประเทศไหนจะรุ่งหรือร่วงในระยะยาวก็คือ ระดับ IQ ของคนในชาติ เพราะระดับ IQ นั้น ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีผลต่อ “ผลสำฤทธิ์ทางการศึกษา” และอื่น ๆ อีกหลายเรื่องซึ่งน่าจะรวมถึงระดับของเงินเดือนและความก้าวหน้าอื่น ๆ ดังนั้น ประเทศที่คนมีระดับ IQ เฉลี่ยสูงก็น่าจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ ถ้ามองแบบนี้ ประเทศในแบบเอเซียตะวันออกซึ่งรวมถึง ญี่ปุ่น เกาหลี และจีนก็น่าจะได้เปรียบเพราะคนมี IQ เฉลี่ยค่อนข้างสูงประมาณ 105 ขึ้นไป ในขณะที่คนในประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้วมี IQ เฉลี่ยเท่ากับ 100 โดยนิยามก็อยู่ในระดับกลาง ๆ และคนในอาฟริการวมถึงคนไทยและรอบบ้านเราที่อาจจะเสียเปรียบเนื่องจากระดับ IQ เฉลี่ยดูเหมือนว่าจะต่ำกว่า อาจจะอยู่ที่ประมาณ 95 อย่างไรก็ตาม IQ ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่กำหนดความสามารถในการแข่งขัน มิฉะนั้น ประเทศในยุโรปก็คงไม่ได้มีการพัฒนาที่เหนือกว่าประเทศในเอเซียตะวันออกอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ปัจจัยสำคัญเรื่องที่สองนั้นอาจจะเป็นเรื่องของระบอบการปกครองและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดว่าระบบเศรษฐกิจแบบ “เปิด” หรือเศรษฐกิจที่อิงกับตลาดเสรีและเปิดทำมาค้าขายอย่างเสรีกับประเทศอื่น ๆ นั้น เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ประเทศที่ “ปิด” ไม่ค้าขายกับต่างประเทศเท่าไรนักและระบบการค้าขายไม่เสรีแต่มักอยู่ใน “กำกับ” ของรัฐ จะเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำซึ่งทำให้ประเทศมีพัฒนาการที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่น เกาหลีเหนือที่คนมี IQ สูงแต่เนื่องจากระบอบการปกครองที่เป็นเผด็จการและระบบเศรษฐกิจปิด ทำให้กลายเป็นประเทศที่ล้าหลังมากทางเศรษฐกิจเทียบกับเกาหลีใต้ที่กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เช่นเดียวกัน ประเทศพม่าและเวียตนามที่เคยมีระดับการพัฒนาสูงเท่า ๆ กับไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนก็ด้อยกว่ามากในปัจจุบันเนื่องจากประเทศถูกปิดกลายเป็นสังคมนิยมที่ไม่เอื้อต่อความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทั้งสองก็เริ่ม “เปิดประเทศ” ซึ่งทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจเร็วขึ้นมากเทียบกับไทย และถ้ายังอยู่ในระดับนี้ต่อไป ก็อาจจะตามทันประเทศไทยในที่สุด

ความมั่นคงและสงบสุขของประเทศหรือการเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองที่มีกฎเกณฑ์ราบรื่น เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประเทศที่มีสงครามสู้รบกัน ไม่ว่าจะระหว่างประเทศหรือการสู้รบของคนในชาติเดียวกันก็เป็นปัจจัยที่ทำลายความสามารถในการแข่งขันที่ร้ายแรง สงครามในจีนตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองและสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับเจียงไคเช็ค สงครามเกาหลี สงครามเวียตนาม และอื่น ๆ ทำให้ประเทศเหล่านั้นถดถอยไปมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามสงบ ความสามารถในการแข่งขันก็กลับมา ในบางประเทศอย่างในตะวันออกกลางหรือในอาฟริกานั้น สงครามระหว่าง “ชนเผ่า” ยังมีอยู่ตลอดเวลาและเรื้อรังมากทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงมากจนทำให้ประเทศแทบไม่มีอนาคต

ประเด็นที่อาจจะยังมีการถกเถียงกันก็คือ ระหว่างประเทศที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” แบบที่มีคนบางคนหรือบางกลุ่มมีอำนาจเหนือกว่าคนอื่น และสามารถ “สั่งซ้ายหันขวาหันได้” อย่างจีนหรือเกาหลีใต้ในช่วงหนึ่ง กับประเทศ “ประชาธิปไตยแบบตะวันตก” ที่ทุกคนเท่าเทียมกันไม่มีใครสั่งใครได้และทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย แบบไหนจะเอื้ออำนวยกับความสามารถในการแข่งขันมากกว่ากัน? ผมเองก็ไม่มีคำตอบ ผมเพียงแต่คิดว่าแบบแรกนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าแบบหลัง เหตุผลก็คือ ถ้าคนที่มีอำนาจเหนือกว่าคนอื่นนั้นทำสิ่งที่ไม่ดีแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะทำได้ยากมาก และถ้าเป็นแบบนั้น ประเทศอาจจะ “ลงสู่เหว” ตัวอย่างน่าจะเป็นแบบฟิลิปปินส์ในสมัยมาร์กอสที่ทำให้ฟิลิปปินส์ซึ่งครั้งหนึ่งรุ่งเรืองมากและเด็กไทยจำนวนหนึ่งต้องไปเรียนหนังสือแต่ปัจจุบันห่างชั้นกับไทยมาก และในประเทศอีกมากมายในละตินอเมริกา เป็นต้น

สุดท้ายก็คือเรื่องของ Culture หรือขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของคน นี่เป็นเรื่องที่ยากที่จะรู้จริงพอสมควร วัฒนธรรมของ “ฝรั่ง” นั้น อาจจะแตกต่างกับคนเอเชีย พวกเขามีความเป็นปัจเจกชนสูงกว่า มีความคิดที่เป็นอิสระกว่า ดังนั้น พวกเขาจึงอาจจะมีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าเห็นได้จากนักคิดและนักประดิษฐ์ของโลกจำนวนมากมักมาจากคนตะวันตก ในขณะที่คนเอเชียนั้น มักจะมี “วัฒนธรรมพึ่งพิงกัน” เราเคารพผู้มีอาวุโสและผู้มี “ศักดิ์” ที่สูงกว่า เราไม่อยากทำตัว “แปลกแยก” จากสังคม ดังนั้นเราจึงไม่อยากคิดหรือทำอะไรใหม่ ๆ ที่ “เสี่ยง” ต่อสถานะของตน ดังนั้น ความคิดสร้างสรรค์ของเราจึงน้อยกว่าและนี่อาจจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเราด้อยลง

และทั้งหมดนั้นก็คือปัจจัยที่สำคัญบางส่วนที่กำหนดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หลาย ๆ ประเทศสามารถเพิ่มความสามารถนี้และกลายเป็นประเทศที่เติบโตเร็วหรือกลายเป็นประเทศพัฒนาไปแล้ว หลาย ๆ ประเทศที่เคยมีความสามารถสูงแต่ด้วยนโยบายที่ผิดพลาดหรือโชคไม่ดีก็ตกต่ำลง สำหรับนักลงทุนแล้ว สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดก็คือประเทศที่กำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมากและราคาหุ้นยังไม่ตอบสนอง และนี่ก็คือประเทศที่เราควรเข้าไปก่อนคนอื่น
ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
vim
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2770
ผู้ติดตาม: 25

Re: ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณครับ
Vi IMrovised
ภาพประจำตัวสมาชิก
JUMP
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 188
ผู้ติดตาม: 0

Re: ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณอาจารย์มากครับ
สติ รู้ตัว, ปัญญา รู้คิด.
ภาพประจำตัวสมาชิก
นพพร
Verified User
โพสต์: 1039
ผู้ติดตาม: 0

Re: ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

พักหลังๆอาจารย์เขียนเกี่ยวกับต่างประเทศบ่อย สงสัยเตรียมตัวเคลื่อนพอร์์ตเพื่อลองลงทุนในต่างประเทศดูกระมัง
ก้าวแรกที่เล็กๆ แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต
Jeng
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 14784
ผู้ติดตาม: 29

Re: ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ขอบคุณครับ
โพสต์โพสต์