ไม้ขีดไฟหนึ่งก้าน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

ไม้ขีดไฟหนึ่งก้าน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    เมื่อตอนเด็กๆ ดิฉันเคยอ่านนิทานเรื่องหนึ่ง ชื่อ “เด็กขายไม้ขีดไฟ” (The Little Match Girl) ของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน เกี่ยวกับ เด็กหญิงคนหนึ่งที่ถูกพ่อเลี้ยงบังคับให้เดินขายไม้ขีดไฟ ท่ามกลางความหนาวเย็นในคืนวันส่งท้ายปีเก่า อากาศหนาวมาก มีหิมะตก และเธอก็หิวมาก จนคิดว่าคงทนไม่ไหว จึงจุดไม้ขีดไฟที่เธอขายหนึ่งก้าน โดยหวังว่าอาจจะได้รับความอบอุ่นจากเปลวไฟของก้านไม้ขีดนั้นบ้าง เมื่อเธอจุดไม้ขีดไฟแต่ละก้าน เธอก็ได้ระลึกถึงความสุขที่เคยมี ความรักที่เคยได้รับจากคุณยายที่เสียชีวิตไปแล้ว เธอจุดก้านต่อๆไป และมีความสุขกับสิ่งที่เธอเห็นในจินตนาการมาก จนไม้ขีดไฟหมดกล่อง

    ในเช้าวันปีใหม่ ชาวเมืองที่เดินผ่านมาได้พบกับร่างไร้ชีวิตของเด็กหญิงนอนยิ้มอยู่ ท่ามกลางก้านไม้ขีดไฟที่จุดแล้วทิ้งอยู่รอบตัว 

    ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ดิฉันเขียนถึงการปฏิรูปการศึกษามีท่านผู้อ่านจำนวนมากที่รู้สึกหมดหวังในระบบการศึกษาไทยเหมือนๆกัน และประกาศตัวสนใจเป็นแนวร่วมในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา โดยมีข้อเสนอแนะดีๆหลายอย่าง เพราะเห็นเช่นเดียวกันว่าอนาคตของชาติจะเป็นปัญหาหากเยาวชนรุ่นใหม่เราถูกสอนแบบเดิมๆเช่นเดียวกับที่ผ่านมา20-30ปี

    กลางสัปดาห์ ดิฉันได้มีโอกาสไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นและไปรับทราบโครงการหนึ่งซึ่งทำให้พอจะมีความหวังว่าการศึกษาของไทยน่าจะถูกพัฒนาปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้นจึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันอ่านในสัปดาห์นี้ค่ะ

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา และคณบดีคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าให้ฟังว่า ทางศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำแนวทางการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชั้นเรียนของประเทศญี่ปุ่น มาปรับใช้ในหลักสูตรการเรียนรู้ตั้งแต่ปี 2545 โดยใช้นวัตกรรมกับการฝึกสอนของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของคณะศึกษาศาสตร์

    การศึกษาแบบนี้เป็นการสอนที่เน้นให้นักเรียนมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาอย่างหลากหลายกับปัญหาปลายเปิด ซึ่งจะมีคำตอบหลากหลาย มีกระบวนการแก้ปัญหาหลากหลาย และสามารถพัฒนาไปเป็นโจทย์อื่นได้

    ศูนย์วิจัยฯได้ทดลองนำร่องใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิดในโรงเรียนชุมชนบ้านชนบท อำเภอชนบท และ โรงเรียนคูคำพิยาสรรพ์ อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา นำนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนไปทดลองใช้ในประเทศกลุ่มสมาชิกเอเปคเป็นเวลา 8 ปี กลายเป็น Best Practice ในการนำนวัตกรรมจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นมาใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มเอเปค

    ทางศูนย์ได้ขยายผลไปทดลองใช้ในโรงเรียนต่างๆเพิ่มขึ้น ทั้งในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่านักเรียนในโครงการสามารถคิดแก้ปัญหาได้อย่างหลากหลาย ดิฉันได้เห็นตัวอย่างของนักเรียนชั้น ป.1 คิดตอบโจทย์การบวกเลข แตกวิธีคิดออกมาได้ 3 วิธี น่าทึ่งมากเลย นึกในใจว่า “ต้องอย่างนี้สิ! เด็กสมัยนี้ต้องเก่งกว่าสมัยเรา เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไร ช่วยมากมาย หากเก่งเท่าๆกับสมัยเรา ก็ต้องถือว่าอนาคตลำบากแล้ว”

    นอกจากนี้ เมื่อวัดจากการสอบ นักเรียนในโครงการยังสอบได้คะแนนทั้ง NT และ O-Net สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน และไม่ได้สูงขึ้นเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์เท่านั้น วิชาวิทยาศาสตร์และภาษาไทยก็สูงขึ้นด้วย เช่น นักเรียนชั้น ป.3 ที่เรียนโรงเรียนนี้มาตั้งแต่ ป. 1 ทำคะแนนคณิตศาสตร์ ได้เฉลี่ย 87.38 ในขณะที่รุ่นพี่ที่ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบเดิม ทำคะแนนเอาไว้เพียง 52.5 วิทยาศาสตร์ จาก 41.86 เพิ่มเป็น 80.95

    คะแนน O-Net ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งแต่เดิมก็ได้พอๆหรืออาจจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของ O-Net กลายเป็นได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างชัดเจน คือ ได้ 78 คะแนนทั้งในปี 2554 และ 2555 ในขณะที่ค่าเฉลี่ย เท่ากับ 24.87 ในปี 2554 และ 35.72 ในปี 2555

    โครงการนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าเราสามารถทำให้คุณภาพของชั้นเรียนในมิติด้านแนวคิดและกระบวนการคิดของนักเรียน รวมถึงทักษะการคิด การสื่อสาร และทักษะอื่นๆที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 เกิดขึ้นได้ในชั้นเรียน คุณภาพด้านผลสัมฤทธิ์ทางเนื้อหา(คะแนนสอบ)ก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ใช้เวลายาวนานอย่างน้อยสี่ห้าปี

    จากเดิมที่เราเชื่อว่า หากทำให้นักเรียนรู้เนื้อหาวิชา (มีคะแนนสอบดี) ทักษะการคิดและอื่นๆจะดีตามไปด้วย เราจึงไปเน้นที่การทดสอบการรู้เนื้อหาวิชา

    ดิฉันมีเพื่อนทำโรงเรียนประเภทเน้นพัฒนาแนวคิดและกระบวนการคิดมาปรารภว่ารู้สึกท้อถอย เพราะผู้ปกครองของเด็กไม่เข้าใจ และรู้สึกว่าเรียนอะไรพัฒนากระบวนการคิดอะไรกัน ไม่เห็นลูกจะสอบได้คะแนนดีเลย อยากให้เรียนแบบที่สอบได้คะแนนสูงๆ ไม่อย่างนั้นจะพาลูกไปเข้าโรงเรียนอื่น

    นี่แหละค่ะ พิสูจน์ให้เห็นแบบที่ ผศ.ดร.ไมตรีสรุปไว้เลย คือ สิ่งนี้เป็นความยากของสังคมไทยที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างต้องใช้เวลาจึงจะเห็นผล ยิ่งเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดแล้วด้วย ยิ่งต้องใช้เวลาค่ะ

    ดิฉันจะเศร้าใจมากๆเลย หากผู้ปกครองของเด็กเหล่านั้น ไม่มีความอดทนเพียงพอ และให้ลูกออกจากโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนแบบนี้ แล้วพาลูกไปเข้าโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนเพื่อให้ทำข้อสอบได้คะแนนสูงๆ โดยไม่ได้คำนึงว่า ความรู้ที่นำไปทำข้อสอบนั้นมาจากการท่องจำหรือมาจากการวิเคราะห์ เพราะหากมาจากการท่องจำ พอมีโจทย์ที่พลิกแพลง เด็กก็จะทำไม่ได้

    โรงเรียนเก่าของดิฉันมีปรัชญาว่า “การศึกษาคือการพัฒนาอุปนิสัย” ให้รักการค้นคว้า ให้ช่างสงสัย ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ให้ทำกิจกรรมอื่นที่หลากหลาย ไม่เน้นเรียนอย่างเดียว  เชื่อไหมคะ ทักษะที่พัฒนามาจากการทำกิจกรรมต่างๆ สามารถฝึกให้สามารถทำงานกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข และช่วยให้เรามีทักษะในการแก้ปัญหาในการทำงานได้เป็นอย่างดี

    ฤาโครงการนี้จะเป็นเสมือน “ไม้ขีดไฟหนึ่งก้าน” ของเด็กหญิง ในยามที่พวกเราเริ่มจะหมดหวังกับอนาคตการศึกษาของเด็กไทย เพียงแต่หวังว่าเราจะไม่ต้องจุดจนไม้ขีดหมดกล่องและจากไปอย่างเศร้าสร้อยเหมือนเรื่องราวของเด็กขายไม้ขีดไฟ  เพราะจะมีเทียนหลายเล่มมารองรับต่อ เพื่อให้เปลวไฟโชติช่วงสว่างไสวอยู่ต่อไป
[/size]
ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: ไม้ขีดไฟหนึ่งก้าน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
PJ-George
Verified User
โพสต์: 5
ผู้ติดตาม: 0

Re: ไม้ขีดไฟหนึ่งก้าน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

เห็นด้วยอย่างกับการพัฒนาระบบบการศึกษาในประเทศไทย รวมถึงการให้เสรีภาพในการเช้าศึกษากับทุกสาขาโดยไม่มีการจำกัดอายุ และสามารถเปลี่ยนสายอาชีพได้โดยไม่มีการจำกัดอายุเช่นกัน เหมือนอย่างในบางประเทศ :D
syj
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 4256
ผู้ติดตาม: 6

Re: ไม้ขีดไฟหนึ่งก้าน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณครับ
// Stay Hungry, Stay Foolish.
// Stay Calm, Stay Invest.
// Price is what you pay, Value is what you get.
โพสต์โพสต์