ว่าด้วยเรื่องผู้มีความมั่งคั่งสูง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

ว่าด้วยเรื่องผู้มีความมั่งคั่งสูง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    เดือนมิถุนายนของทุกๆปี Capgemini จะนำเสนอรายงานชื่อ World Wealth Report ปีนี้ก็เช่นกันค่ะ 

    จากการสำรวจพบว่า ณ สิ้นปี 2013 ผู้มีความมั่งคั่งสูงในโลก คือมีสินทรัพย์สุทธิ 1 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 13.73 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 14.7% และความมั่งคั่งรวมของคนเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 52.62 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 13.8% จากปีก่อนหน้า

    เรียกได้ว่า ความรวยห้ามไม่อยู่ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแฟซิฟิกที่จำนวนผู้มีความมั่งคั่งสูงเพิ่มขึ้นในอัตรา 17.3% และความมั่งคั่งสุทธิเพิ่มขึ้น 18.2%ภายใน 1 ปี สูงกว่าภูมิภาคใดในโลก

    ในจำนวนผู้มีความมั่งคั่งสูง 13.73 ล้านคนนี้ 12.37 ล้านคนเป็นผู้มีความมั่งคั่งอยู่ในระดับ 1 ถึง 5 ล้านเหรียญสหรัฐ 1.23 ล้านคน มีความมั่งคั่งในระดับ 5 ถึง 30 ล้านเหรียญสหรัฐ และผู้มีความมั่งคั่งในระดับอภิมหาเศรษฐี คือมีความมั่งคั่งเกิน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดง่ายๆคือเกือบ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวน 128,300 คนโดยประมาณ

    60% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงเหล่านี้อยู่ในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี และจีนค่ะ คาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า มูลค่าความมั่งคั่งรวมของมหาเศรษฐีในเอเชียจะสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆในโลก

    เอาละค่ะ เกริ่นมาพอหอมปากหอมคอ พอให้ตื่นเต้น เรามาดูกันดีกว่าว่า มหาเศรษฐีเหล่านี้เขาจัดพอร์ตการลงทุนอย่างไร

    จากข้อมูลของ Capgemini โดยเฉลี่ยแล้วในปี 2013 ผู้มีความมั่งคั่งสูงในโลกมีสัดส่วนการถือครองเงินสดและการลงทุนที่ เทียบเท่าเงินสดในสัดส่วน 26.6% ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับปี 2008 เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่นำโดยการล้มละลายของเลห์แมนบราเดอร์ส์ซึ่งอยู่ในระดับ 21% 

    ทั้งนี้ดิฉันวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่การถือครองเงินสดและตราสารเทียบเท่าเงินสดสูง เกิดจากที่อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ระยะยาวต่ำมาก และผู้ลงทุนกลัวการขาดทุนจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จึงลดการถือตราสารหนี้(ระยะปานกลางและระยะยาว)เหลือเพียง 16.4% แล้วหันมาถือเงินสดเงินฝากและกองทุนรวมตลาดเงินแทน โดยเมื่อรวมสัดส่วนของเงินสดและตราสารหนี้แล้วจะพบว่าเท่ากับ 41.2% ซึ่งยังต่ำกว่า สัดส่วน 50% ในปี 2008 

    การปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนในลักษณะนี้ เป็นการปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยในกรณีนี้ เพื่อลดความเสี่ยงลง เพราะถือว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยจากการถือตราสารที่ยาวขึ้นนั้นไม่คุ้มกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นค่ะ แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยยังไม่ปรับเพิ่มขึ้น ก็ถือว่าเพียงแค่เสียโอกาสรับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยประมาณ 1-2% แต่สบายใจกว่า

    ส่วนการลงทุนในหุ้นทุนนั้นลดลงจากปี 2013 เล็กน้อย โดยลงทุนในสัดส่วน 24.8% จากเดิม 26.1% ทั้งนี้น่าจะเกิดจากการที่ผู้มีความมั่งคั่งสูงในละตินอเมริกาลดสัดส่วนของการลงทุนในหุ้นลงไปเหลือเพียง 11.7% (เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจเริ่มมีปัญหาในบางประเทศ)

    สัดส่วนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้ปรับลดลงเล็กน้อย จาก 20%ในปี 2013 เป็น 18.7%ในปี 2014 โดยผู้มีความมั่งคั่งสูงในอเมริกาเหนือ คือกลุ่มที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนต่ำคือ 14.1% ส่วนในญี่ปุ่นลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่ำเป็นปกติอยู่แล้วคือ 11.4%                            

    ที่น่าสังเกตคือ การลงทุนทางเลือกกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหนึ่ง โดยในปี 2014 มีสัดส่วน 13.5% ขณะที่ปี 2008 มีสัดส่วนเพียง 8% และเพิ่มเป็น 10.1% ในปี 2013

    การลงทุนทางเลือกที่ผู้ลงทุนกลับมาให้ความสนใจมากขึ้นคือการลงทุนในเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Funds) โดยลงทุนเป็นสัดส่วน 13.4% ของการลงทุนทางเลือก หรือคิดเป็น 1.81% ของการลงทุนทั้งพอร์ต

    ส่วนการลงทุนทางเลือกที่มีสัดส่วนเฉลี่ยเรียงจากมากมาหาน้อยมีดังนี้คือ ตราสารจัดโครงสร้าง หรือ Structured Products 19.3% การลงทุนในไพรเวทอิควิตี้ (หุ้นนอกตลาดและการลงทุนในดีลใหญ่ๆ) 18.6% การลงทุนในสกุลเงินต่างประเทศ 18.4% การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) 16.2% และการลงทุนทางเลือกอื่นๆ (เช่น ทีมกีฬา นาฬิกา เพชร งานศิลปะ ไวน์ ฯลฯ) อีก 14.1% 

    เมื่อศึกษาดูถึงภูมิภาคที่ผู้มีความมั่งคั่งสูงเหล่านี้ไปลงทุน พบว่าสัดส่วนการลงทุนนอกประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 25% ในปี 2013 เป็น 36.6% ในปี 2014 โดยเฉลี่ยผู้มีความมั่งคั่งสูงจะลงทุนในภูมิภาคของตัวเองประมาณ 2 ใน 3 ของการลงทุน

    พบว่า ผู้ลงทุนในอเมริกาเหนือที่เดิมเคยลงทุนในภูมิภาคของตัวเองถึง 80.3% พอมาในปี 2014 ลดสัดส่วนลงเป็น 68.1%  และผู้ลงทุนในยุโรปที่เดิมเคยลงทุนในภูมิภาคของตัวเองถึง 74.2% พอมาในปี 2014 ลดสัดส่วนลงเป็น 60.7% และหันไปลงทุนในภูมิภาคอื่นๆ เพิ่มขึ้น

    ผู้ลงทุนในเอเชียแปซิฟิก เดิมเคยลงทุนในภูมิภาคของตัวเอง 79.2% มาในปี 2014 ลดสัดส่วนการลงทุนในภูมิภาค ตัวเองลงเหลือ 67.5% 

    ส่วนผู้มีความมั่งคั่งสูงในตะวันออกกลางและอัฟริกา ได้ลดสัดส่วนการลงทุนในภูมิภาคตัวเอง จาก 65.2%ในปี 2013 เหลือ 54% ในปี 2014

    เห็นคนรวยรวยขึ้นแล้วก็พลอยทำให้กังวลว่า ช่องว่างทางสังคมคงจะต้องเพิ่มขึ้นอีกแน่ๆ รายงานฉบับนี้ได้มีการสอบถามถึงผลกระทบทางสังคมและสอบถามทัศนคติของผู้มีความมั่งคั่งสูงเหล่านี้ด้วยค่ะ

    ผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชีย คือกลุ่มที่มีความเป็นห่วงในเรื่องของสังคมมากที่สุด นำโดย อินเดีย จีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง และมาเลเซีย (ผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ ไม่ได้มาวิจัยผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยค่ะ แต่ดิฉันคิดว่าคงไม่แตกต่างกันนัก ผู้มีความมั่งคั่งสูงในไทยก็ตระหนักถึงช่องว่างนี้เช่นกัน)

    ประเด็นทางสังคมที่ผู้มีความมั่งคั่งสูงได้ลงทุน ลงแรง หรือให้เวลา หรือใช้ความสามารถของตนเองในการเข้าไปช่วยเหลือดูแล เรียงจากที่สำคัญมากที่สุดคือ สุขภาพและการดูแลเพื่อลดการแพร่เชื้อ การศึกษา สวัสดิการของเด็ก สวัสดิการของคนชรา สวัสดิภาพของสัตว์ สัตว์ป่าและระบบนิเวศ ความมั่นคงทางอาหาร การช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉินและการบรรเทาทุกข์ สิทธิมนุษยชน สภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การลดความยากจนและการพัฒนาในระดับสากล ศิลปะ วัฒนธรรม และมรดกทางศิลปวัฒนธรรม การไร้ที่อยู่อาศัย การให้ที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา ความมั่นคงทางพลังงาน ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน สังคมและการจ้างงาน การสร้างขีดความสามารถในแต่ละกลุ่มสังคม ความไม่เท่าเทียมทางเพศ และปัญหาเรื่องการกีดกันทางเชื้อชาติ

    อ่านแล้วก็รู้สึกดีค่ะ ว่าอย่างน้อยมหาเศรษฐีเหล่านี้ก็ยังมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และรู้ว่าไม่สามารถอยู่ในโลกของตัวเองอย่างสุขสบาย หากคนอื่นรอบข้างยังเดือดร้อนลำบาก
[/size]
แนบไฟล์
Wealth Ports.png

ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: ว่าด้วยเรื่องผู้มีความมั่งคั่งสูง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
Radio
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1339
ผู้ติดตาม: 5

Re: ว่าด้วยเรื่องผู้มีความมั่งคั่งสูง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ผมว่าตัวเลข 14 ล้านคนที่มีทรัพย์มากกว่า 1 ล้านดอลล่าห์
เป็นตัวเลขที่น้อยเกินไปนะ
โพสต์โพสต์