ผลตอบแทนของผู้ลงทุน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

ผลตอบแทนของผู้ลงทุน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    สัปดาห์ที่ผ่านมาดิฉันมีโอกาสไปเข้าร่วมฟังสัมมนาด้านการลงทุนที่จัดโดยมอร์นิ่งสตาร์ที่ฮ่องกง ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มอร์นิ่งสตาร์จัดสัมมนาลักษณะนี้ในเอเชีย แต่จัดในสหรัฐอเมริกาและในออสเตรเลียอยู่บ่อยๆ

    เมื่อจัดเป็นครั้งแรก จึงมีทีมผู้บริหารจากชิคาโกมากันหลายท่าน รวมถึง คุณโจ มานซูโต้ (Joe Mansueto) ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Morningstar, Inc. ดิฉันจะขอนำข้อคิดของคุณโจมาเล่าผสมประสบการณ์ของดิฉัน ในบริบทไทยๆค่ะ

    คุณโจ มานซูโต้ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีและโท ทางบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยชิคาโก เข้าทำงานเป็นนักวิเคราะห์ที่แฮร์ริสแอสโซซิเอทส์ ซึ่งเป็นบริษัทจัดการลงทุนในชิคาโก ก่อนที่จะลาออกมาก่อตั้งบริษัทวิจัยการลงทุน ชื่อ “มอร์นิ่งสตาร์” ตั้งแต่ปี 1984 โดยมอร์นิ่งสตาร์ประกาศพันธกิจว่าจะ “นำเสนอสินค้าที่ช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายทางการเงิน” 

    สั้นๆ แต่ได้ใจความค่ะ โดยเริ่มจากการจัดอันดับกองทุนต่างๆที่ผู้ลงทุนลงทุน ศึกษาพฤติกรรมของผู้ลงทุนและตลาด และพยายามหาความสัมพันธ์ หรือข้อมูลต่างๆที่จะช่วยให้ผู้ให้นักวางแผนการเงิน หรือบริษัทจัดการลงทุน และผู้ลงทุนสามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนได้ดีขึ้น

    หนึ่งในการค้นพบจากการศึกษาผลตอบแทนของกองทุนรวมและผู้ลงทุนในกองทุนรวมในสหรัฐอเมริกา ของมอร์นิ่งสตาร์คือ กองทุนรวมที่ผู้จัดการกองทุนลงทุนร่วมอยู่ด้วย จะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่า กองที่ผู้จัดการกองทุนไม่ได้ลงทุน

    ข้อนี้ถูกใจดิฉันมาก เพราะได้พิสูจน์ความเชื่อที่ดิฉันพยายามป่าวประกาศมากว่า 20 ปี และได้ยึดปฏิบัติด้วย ทำให้ตัวเองถือกองทุนรวมอยู่มากมาย ในบางช่วงขึ้นไปถึงประมาณ 50-60 กองทุน เพราะออกเสนอขายกองทุนไหนก็เข้าไปลงทุนเองทุกกอง 

    ข้อที่สองที่ค้นพบคือ บริษัทจัดการลงทุนที่มีผู้จัดการกองทุนที่อยู่กับบริษัทเป็นระยะเวลานานมีผลต่อผลการดำเนินงานที่ดีของกองทุน

    และข้อที่สาม กองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำจะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่ากองที่มีค่าธรรมเนียมสูง

    เรื่องหนึ่งที่ทางมอร์นิ่งสตาร์ทำการศึกษาไว้และดิฉันคิดว่าน่าสนใจคือ การเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุน ที่มีการนำเสนอข้อมูลในเอกสารข้อมูลของกองทุน จะมีความแตกต่างจากผลการลงทุนของผู้ลงทุน โดยพบว่า ผลการลงทุนของผู้ลงทุนในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่จะน้อยกว่าผลการดำเนินงานของกองทุน โดยอาจจะแตกต่างกันประมาณ 1.0-2.3% 

    สาเหตุของการที่ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าผลการดำเนินงานของกองทุน เกิดจากจังหวะการเข้าซื้อและขายออกของผู้ลงทุน  ผู้ลงทุนมักจะเข้าซื้อในเวลาที่กองทุนมีผลการดำเนินงานดี เพราะความโลภ และขายออกในตอนที่ผลการดำเนินงานตก เพราะความกลัว  จึงกลายเป็นการซื้อแพง ขายถูก 

    นอกจากนี้ กองทุนต่างๆก็มักจะโฆษณาขายกองทุนในช่วงที่ผลการดำเนินงานของกองทุนนั้นๆร้อนแรง หรือ ฮอต ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นช่วงสูงสุดแล้ว หลังจากนั้นก็จะตกลงมา 

    พูดถึงเรื่องการซื้อกองทุนที่ตัวเองหรือบริษัทของตัวเองบริหาร ข้อนี้ในเมืองไทยเคยมีการถกเถียงกันมากว่าควรส่งเสริมให้ทำ หรือไม่ควรส่งเสริม ดิฉันอยู่ในฝ่ายส่งเสริม แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดว่า ผู้จัดการกองทุนไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลภายในของกองทุน เพราะฉะนั้น เพื่อให้ง่ายต่อการพิสูจน์ความโปร่งใส ผู้จัดการกองทุนก็ไม่ควรจะซื้อๆขายๆกองทุนนั้น ควรจะ “ถือยาว” โดยปริยาย ซึ่งหลายๆคนก็ไม่ชอบ

    ในสหรัฐอเมริกา เกิดปรากฏการณ์ที่บริษัทออกกองทุนซึ่งแม้แต่ผู้จัดการกองทุนหรือพนักงานของบริษัทจัดการลงทุนก็ยังไม่อยากซื้อ หากเป็นอย่างนี้แล้ว ดิฉันเชื่อว่ากองทุนนั้นๆคงไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เปรียบเทียบเสมือนพ่อครัวทำอาหารที่ตัวเองยังไม่ยอมกิน แล้วจะให้คนเข้าใจและเชื่อว่าอาหารนั้นอร่อยได้อย่างไร

    คุณโจ ให้คำแนะนำว่า เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งของผู้ลงทุน และของอุตสาหกรรมจัดการลงทุน โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้

    สำหรับผู้ลงทุน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การส่งเสริมให้ออมเพิ่มขึ้น ซึ่งดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง และพยายามรณรงค์อยู่ตลอดเวลา เพราะอายุของเรายืนยาวขึ้น ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนน้อยลง และความผันผวนหรือเหตุไม่คาดฝันเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น

    ประการที่สองคือการตั้งความคาดหวังให้สมจริง  ช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อดิฉันไปบรรยาย ผู้ลงทุนมักจะถามว่า ลงทุนอะไรให้ผลตอบแทนสูงแต่ไม่เสี่ยง ดิฉันเฝ้าเรียนกลับว่า ผลตอบแทนสูงแต่ไม่เสี่ยงไม่มีในโลกค่ะ เพราะหากมี ก็จะมีคนแห่เข้าไปลงทุนจนราคาเพิ่มขึ้นและผลตอบแทนก็ลดลงมาเป็นธรรมดาๆ แต่ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าผู้ลงทุนไทยเข้าใจมากขึ้น คำถามประเภทนี้จึงน้อยลง แต่ก็ยังมีอยู่ค่ะ

    ประการที่สามคือ อย่าวิ่งตามกระแส มากนัก เห็นเพื่อนลงทุนในอะไรก็แห่ตามกันไปลงทุน ซึ่งพอถึงตอนที่เราลงทุนก็อาจจะสายไปแล้ว 

    และประการสุดท้ายคือ ให้มองระยะยาวค่ะ อย่าคิดแค่ปัจจุบัน มองยาวๆไปหลายๆปี ดิฉันแนะนำให้ผู้ลงทุนแบ่งเงินลงทุนเป็นอย่างน้อย 2-3 ส่วน ระยะสั้น (ระยะปานกลาง) และระยะยาว หากมีก้อนเล็กก็แบ่ง 2 ส่วน หากมีก้อนใหญ่ก็แบ่ง 3 ส่วน หรือจะแบ่ง 5 ส่วน 10 ส่วนก็ได้ไม่ว่ากัน และส่วนที่เป็นระยะยาวนี่แหละค่ะ ควรจะบริหารให้ได้ผลตอบแทนสูง และไม่ต้องกังวลหากมีการขาดทุนบ้างในช่วงสั้น เพราะเราหวังผลในระยะยาว

    ที่ขาดไม่ได้คือข้อแนะนำที่คุณโจฝากไว้สำหรับอุตสาหกรรมจัดการลงทุน 5 ข้อ คือ 1. ให้ความรู้และผูกพัน 2. คิดค่าธรรมเนียมให้ต่ำกว่าเดิม (สำหรับเมืองไทย ดิฉันคิดว่าต่ำอยู่แล้ว จะมีกองทุนที่ลงทุนในกองทุนต่างประเทศกองอื่นบางกองเท่านั้นที่ยังคิดค่าธรรมเนียมสูงอยู่ ควรจะคิดตามปริมาณงานที่ทำค่ะ หากผู้จัดการกองทุนไม่ได้ทำอะไรมาก เพียงแต่ไปซื้อกองทุนของต่างประเทศ และบริหารเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเท่านั้น ค่าธรรมเนียมไม่ควรจะสูง) 

    3. ผู้จัดการกองทุนควรจะรู้จุดแข็งของตัวเองและรู้วัฎจักร  ข้อ 4. กินอาหารที่ตัวเองทำ (ลงทุนในกองทุนที่ตัวเองบริหาร) และข้อที่ 5 คิดระยะยาว 

    คุณโจฝากไว้ในท้ายที่สุดว่า “เมื่อผู้ลงทุนชนะ ทุกคนก็ชนะด้วย”

    พบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ
[/size]
ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: ผลตอบแทนของผู้ลงทุน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
โพสต์โพสต์