การขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

การขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงตัวแปรที่ผมมองว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนโดยเน้นว่าปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญคือการอาศัยกลไกตลาดเสรีให้ผลตอบแทนกับผู้ที่กล้าเสี่ยงเพราะเมื่อเขาล้มเหลวเขาต้องรับผิดชอบตัวเอง แต่เมื่อเขาประสบความสำเร็จเขาก็จะร่ำรวยแต่ก็จะสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวมอย่างมากด้วย ดังนั้น ผมจึงให้ความสำคัญกับความกล้าเสี่ยงและการคุ้มครองผลตอบแทนจากความเสี่ยง เช่น การให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทรัพย์สินและกำไร (อย่าไปยึดทรัพย์เขาหรือเก็บภาษีสูงเกินไป) ทั้งนี้ ระบบทุนนิยมนั้นได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าระบบอื่นๆ ในการสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งพื้นฐานของการสร้างความมั่งคั่งคือการลงทุนเพื่อเพิ่มเครื่องจักรที่มีความทันสมัยยิ่งขึ้นและการลงทุนเพื่อการศึกษาและพัฒนาแรงงานนั่นเอง

ประเด็นข้างต้นแตกต่างจากความเข้าใจส่วนใหญ่ที่มองว่ารัฐบาลต้องมีบทบาทหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งผมมองว่ารัฐบาลมีบทบาทในบางส่วนเท่านั้นโดยจะเป็นเรื่องหลักที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้

1. สิ่งที่รัฐบาลควรต้องทำ ในหลักการนั้นภาระหลักของรัฐคือการคุ้มครองทรัพย์สินดังที่กล่าวมาแล้วรวมทั้งการรักษาความปลอดภัยและเสถียรภาพ ตลอดจนระบบศาลที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ในส่วนอื่นๆ นั้นสามารถให้เอกชนเข้ามามีบทบาทได้อย่างมีนัยสำคัญโดยรัฐบาลไม่ต้องทำเอง การสร้างสาธารณูปโภค (ถนน รถไฟ ฯลฯ) นั้น อันที่จริงแล้วรัฐบาลสามารถส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนได้ เช่น เอกชนสามารถได้รับสัมปทานสร้างทางด่วนและเก็บเงินจากผู้ใช้ถนนได้ ในกรณีของรถไฟก็สามารถให้เอกชนใช้พื้นที่บริเวณสถานีเพื่อทำการค้าให้มีผลกำไรมาจุนเจือต้นทุนในการสร้างและอุดหนุนการเดินรถไฟได้ แต่รัฐบาลต้องตั้งเงื่อนไขที่เอกชนได้ผลกำไรและไม่ “เบี้ยว” เงื่อนไขในภายหลัง เช่น เมื่อสร้างทางด่วนเสร็จแล้วและมีเงื่อนไขให้ขึ้นค่าทางด่วนได้ก็ไม่ควรตีความใหม่ทำให้ปรับขึ้นไม่ได้ เพราะหากทำเช่นนั้นต่อไปก็จะไม่มีเอกชนจะกล้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาลอีก

2. สิ่งที่รัฐบาลลดการแทรกแซงลงได้ ในหลายเรื่องรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงแม้ว่าจะได้ผลเสียมากกว่าผลดี ส่วนใหญ่จะเป็นการที่รัฐบาลมักจะคิดว่าราคาที่กำหนดโดยกลไกตลาดนั้นไม่ถูกต้อง เช่น สินค้าเกษตรก็เข้าไปแทรกแซงและกำหนดราคาให้สูงกว่าราคาตามกลไกตลาด แต่สำหรับราคาสินค้าผู้บริโภคนั้นมักจะมองว่ากลไกตลาดตั้งราคาเอาไว้สูงเกินไป แต่เมื่อบิดเบือนราคาไปแล้วก็จะมีผลกระทบตามาคือสินค้าที่ตั้งราคาสูงกว่ากลไกตลาดก็ทำให้ผลผลิตมีมากเกินไปดังที่เห็นในกรณีของข้าว แต่ในส่วนของการกดราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลก เช่น LPG ก็ทำให้เกิดปัญหาการใช้โดยไม่ประหยัด ทำให้ต้องนำเข้าและขาดทุน นอกจากนั้น สำหรับการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงโดยการตรึงราคาสินค้า (ไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้น) ก็น่าจะทำให้เกิดความขาดแคลน เพราะผู้ผลิตย่อมไม่มีแรงจูงใจที่จะผลิตสินค้าที่ราคาถูกควบคุม ทั้งนี้ หากปัญหาคือราคาสินค้าที่ประเภทปรับสูงขึ้นหรือปัญหาคือเงินเฟ้อสูงก็ควรจะต้องไปคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์) เพราะกระทรวงพาณิชย์เป็นเพียงผู้รายงานเงินเฟ้อ แต่หน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการควบคุมเงินเฟ้อ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย

3. สวัสดิการและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ปัญหาของการสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจนั้น หากแก้โดยเก็บภาษีคนรวยจนทำให้รายได้เท่ากันก็จะทำให้ทุกคนจนเท่ากันหมด เพราะจะไม่มีใครขวนขวายที่จะสร้างความมั่งคั่ง เพราะผลตอบแทนถูกรัฐเก็บภาษี (ยึด) เอาไปหมด แต่ควรเสนอให้สวัสดิการพื้นฐานเพื่อให้คนทุกคนในสังคมมีระดับความเป็นอยู่ขั้นต่ำที่เหมาะสม (minimum living standard) และมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา การสาธารณสุขและโอกาสทางเศรษฐกิจให้สามารถสร้างฐานะและความมั่งคั่งของตัวเองได้ ซึ่งสมควรมีระบบเก็บภาษีที่โปร่งใสและส่งเสริมให้กระจายความมั่งคั่ง ซึ่งในกรณีหลังนี้ควรเก็บภาษีมรดกที่ยกเว้นเฉพาะกรณีที่มรดกดังกล่าวถูกแจกจ่ายออกเป็นทรัพย์สินขนาดย่อยเพื่อมิให้ทรัพย์สินกระจุกตัวอยู่เพียง 30-40 ครอบครัว เช่น หากมีมรดก 500 ล้านบาทก็จะถูกเก็บภาษีในอัตราสูง แต่หากแตกออกมาเป็นก้อนละ 1 ล้านบาทกระจายให้กับลูกหลาน 500 คนก็จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำหรือไม่เก็บ เป็นต้น การเก็บภาษีมรดกคนรวยนั้นคงจะถูกต่อต้านอย่างมากเพราะคนรวยมักจะมีอำนาจหรืออิงอำนาจการเมืองด้วย แต่ในหลักการนั้นอาจมองได้ว่าการลดทอนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการสร้างสันติสุขและเสถียรภาพในสังคม แต่เป็นสินค้าที่กีดกันการบริโภคไม่ได้ ดังนั้น จึงมีปัญหาคนที่ได้ประโยชน์แต่ไม่ยอม “จ่าย” จึงเป็นเหตุผลให้รัฐต้องมีมาตรการ “ผลิต” สินค้าดังกล่าว โดยการเก็บภาษีคนรวย

อย่างไรก็ดี ความ “เป็นธรรม” ทางสังคม หมายความว่าความเหลื่อมล้ำที่พอเหมาะพอดีนั้นจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการนำเสนอทฤษฎีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดย Prof John Rawls แห่งมหาวิทยาลัย Harvard เมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้ว (A Theory of Justice 1971) โดยเสนอว่ามนุษย์จะสามารถสรรหาหลักการพื้นฐานในการนิยามความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจได้ ซึ่ง Rawles นำเสนอว่าหากเรียกประชุมคนมาแสวงหาหลักการเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยกำหนดจุดริเริ่ม (original position) ซึ่งทุกคนที่ร่วมประชุมเพื่อสร้างโครงสร้างของสังคมจะไม่รู้ว่าตนเอง จะไปเกิดในสังคมเป็นคนรวยหรือคนจน (veil of ignorance) ทุกคนก็จะต้องตกลงเห็นชอบร่วมกันได้ว่าความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจคือความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ (เพราะทุกคนกลัวว่าตัวเอง จะไปเกิดเป็นคนจนและต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนเองและหากจะยอมให้มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คนที่รวยกว่าคนอื่นๆ ก็จะต้องสร้างประโยชน์ให้คนที่ยากจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือหลักการประโยชน์สูงสุดให้กับคนส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจที่เสียเปรียบนั่นเอง)

การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ผมมีความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยใน 60 ปีที่ผ่านมานั้นขับเคลื่อนโดยการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกโดยอาศัยบริษัทข้ามชาติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่น) คือ หารายได้ (จีดีพี) โดยให้บริษัทต่างชาติมาตั้งฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก เพราะการส่งออกนั้นการแข่งขันรุนแรงแต่ตลาดใหญ่มีรายได้ดี ในส่วนของคนไทยนั้นหารายได้จากการผลิตสินค้าเกษตร (เพราะที่ดินอุดมสมบูรณ์ มีน้ำมาก) เพื่อเลี้ยงตัวเองและเพื่อส่งออก (ประมาณ 20% ของการส่งออก) แต่ธุรกิจภายในประเทศ เช่น การบริการด้านการค้าขายและการธนาคารนั้นจะมีต่างชาติมาแข่งขันน้อย รวมทั้งด้านพลังงานและสาธารณูปโภค ซึ่งมีลักษณะผูกขาด (เรื่องนี้จะต้องขยายความในโอกาสหน้า)

หากจะถามว่าคนไทยมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลในด้านใด ก็ต้องตอบว่าเราส่งออกข้าวมาอย่างต่อเนื่องเป็นร้อยปีแล้ว ซึ่งสะท้อนความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนั้น ธุรกิจท่องเที่ยวและการรักษาพยาบาลกึ่งท่องเที่ยว (Medical Tourism) การทำโฆษณาเรื่องของการเขียนการ์ตูน (Animation) เราก็เป็นที่ยอมรับจากต่างชาติ แต่อุตสาหกรรมดังกล่าวนี้รัฐบาลมิได้ส่งเสริมแต่อย่างใด ยกเว้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยนั้นมีศักยภาพด้านการบริการ และ hi-touch มากกว่า hi-tech ดังนั้น จึงควรตั้งคำถามกันเองว่าคนไทยอยากปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากโครงสร้างปัจจุบันที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหรือไม่ และหากจะเปลี่ยนก็จะต้องถามว่าเราจะ “หากิน” ด้านไหนกับอุตสาหกรรมใดครับ
ที่มา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 14/10/56
[/size]
yoko
Verified User
โพสต์: 4395
ผู้ติดตาม: 8

Re: การขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

คนไทยนั้นมีศักยภาพด้านการบริการ และ hi-touch มากกว่า hi-tech
hi-touchคืออะไรครับ
investment biker
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1284
ผู้ติดตาม: 135

Re: การขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

hi touch น่าจะหมายถึงการบริการที่ต้องใช้คนบริการโดยตรง สัมผัสได้ เช่น พนักงานโรงแรม ร้านอาหาร คนขับ taxi นวด สปา พยาบาล แพทย์ เป็นต้น ซึ่งจากที่ผมเดินทางมาหลายประเทศ ค่อนข้างเห็นด้วยว่าคนไทย friendly กว่าคนชาติอื่นมากครับ
โพสต์โพสต์