เศรษฐกิจไทยในมุมมองของไอเอ็มเอฟ/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

เศรษฐกิจไทยในมุมมองของไอเอ็มเอฟ/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมาไอเอ็มเอฟออกแถลงข่าวสรุปผลการประเมินเศรษฐกิจไทยร่วมกับทางการของไทยโดยเป็นการประชุมปรึกษาหารือตามปกติทุกปี (Article IV consultations) ซึ่งมีข้อมูลและการประเมินเศรษฐกิจไทยที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์จึงขอนำมาสรุปและวิจารณ์ในครั้งนี้ครับ

1. ปัจจัยพื้นฐานดี มีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ ไอเอ็มเอฟมองว่าเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง (impressive resilience) 4 ด้านคือ ก) การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ข) ภาครัฐมีวินัยทางการคลังและหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ค) ระบบธนาคารและธุรกิจมีความมั่นคงทางการเงิน และ ง) มีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ 4.75% ในปี 2013 และ 5.25% ในปี 2014 โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากสภาวะทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ดังนั้น ความเสี่ยงจึงจะมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ในส่วนนี้บางคนอาจไม่เห็นด้วยมากนัก เพราะตัวเลขเศรษฐกิจภายในกำลังชะลอตัวลงและประเด็นถกเถียงทางการเมืองน่าจะมีเพิ่มขึ้นใน 3-4 เดือนข้างหน้า ดังนั้น เศรษฐกิจภายในจึงอาจไม่แข็งแกร่งดังที่ไอเอ็มเอฟคิด

2. ควรหาลู่ทางรัดเข็มขัดทางการคลัง ไอเอ็มเอฟมองว่าการฟื้นตัวที่เข้าที่แล้วของเศรษฐกิจไทยเปิดโอกาสให้รัฐบาลปรับลดการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการคลัง (opportunity to gradually withdraw fiscal stimulus) ทั้งนี้ เพื่อให้มีงบประมาณเหลือสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเพื่อ “เก็บกระสุน” เอาไว้ใช้หากเกิดภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจในอนาคต

3. ในส่วนของนโยบายการเงินนั้นไอเอ็มเอฟชมเชยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่านโยบายตั้งเป้าเงินเฟ้อและความน่าเชื่อถือของธปท.เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง (served Thailand well) ในสภาวะที่เกิดความผันผวนของการไหลเวียนของเงินทุนและนโยบายของธปท. คือการปล่อยให้ค่าเงินปรับตัวและเตรียมการควบคุมเงินทุนไหลเข้า ก็เป็นการบริหารจัดการที่เหมาะสม (ตรงนี้ตีความว่าต้องยอมให้อัตราแลกเปลี่ยนแกว่งตัวขึ้นและลงได้มาก แต่หากมากเกินไปก็อาจแทรกแซงได้ ปัญหาคือไม่มีใครทราบว่าจะต้อง “แกว่ง” มากน้อยเพียงใด จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ส่งออกและผู้นำเข้าจะประเมิน) แต่ส่วนที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุดคือการที่ไอเอ็มเอฟแนะนำให้ธปท. ติดตามสภาวะแรงกดดันจากอุปสงค์และปรับขึ้นของเงินเดือน (be vigilant to demand and wage pressures) และพร้อมจะปรับดอกเบี้ยขึ้นหากเห็นสภาวะร้อนแรงทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น (stand ready to normalize interest rates if overheating pressures emerge or inflation picks up) ตรงนี้เป็นไปตามตำราของนโยบายตั้งเป้าเงินเฟ้อ แต่ผมไม่เห็นด้วยมากนักเพราะผมเชื่อว่าหากเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้วต่ำ เงินเฟ้อไทยก็ต่ำไปด้วยและหากเงินเฟ้อประเทศพัฒนาแล้วสูง เงินเฟ้อของไทยก็จะสูงไปด้วยเพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดยากที่ไทยจะกำหนดอัตราเงินเฟ้อของตัวเองเป็นอิสระจากเงินเฟ้อของประเทศขนาดใหญ่ได้ แต่ประเด็นคือ ไอเอ็มเอฟกำลังแนะนำให้มองดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นมากกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไอเอ็มเอฟเห็นว่าเศรษฐกิจภายในมีความแข็งแกร่งอย่างมาก

4. ภาคการเงินการธนาคารแข็งแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยง ไอเอ็มเอฟมองว่าภาคการธนาคารได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ความเสี่ยงก็กำลังเพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 2 ปัจจัยคือ การขยายตัวของธนาคารที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ (State-owmed Financial Institution หรือ SFI) และหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในส่วนของ SFI (ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเอสเอ็มอี ธนาคารอิสลาม ธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า) นั้นไอเอ็มเอฟแนะนำให้ปรับมาตรฐานการกำกับดูแล (รวมทั้งการตั้งสำรองหนี้เสีย ฯลฯ) ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสอย่างค่อยเป็นค่อยไปให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ โดยมิได้แนะนำว่าจะต้องปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ทางสังคมของ SFI ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันแต่อย่างใด อีกปัจจัยความเสี่ยงที่ไอเอ็มเอฟกล่าวถึงคือการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือน ซึ่งทางการไทยกำลังติดตามดูแลอยู่แล้วในขณะนี้

5. สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไอเอ็มเอฟสนับสนุนความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงขึ้นและกระจายผลพวงของการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง (make growth more inclusive) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบขนส่งน่าจะทำให้ผลิตภาพของเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวสูงขึ้น (raise economy-wide productivity) ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟเสนอแนะอีกด้วยว่า ในระยะกลาง (3-5 ปี) ควรจัดทำกรอบทางการคลังที่มิได้ดูแต่งบประมาณรายปีตามปกติเพียงอย่างเดียว แต่ควรเพิ่มความโปร่งใสโดยรวมรายจ่ายนอกงบประมาณ การดำเนินการและสภาวะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจและธนาคารของรัฐด้วย ซึ่งจะส่งเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเศรษฐกิจไทย ในส่วนของการดำเนินนโยบายประชานิยมนั้นไอเอ็มเอฟแนะนำให้จ่ายเงินโดยตรงอย่างมีเงื่อนไขให้ประชาชนสามารถเข้าสู่การศึกษาและการรักษาพยาบาล (ซึ่งผมตีความว่ามาตรการประชานิยมอื่นๆ เช่นการลดภาษีน้ำมันดีเซลและการให้ใช้น้ำ ไฟ รถไฟและรถโดยสารฟรีนั้น ควรยกเลิกไปในที่สุด) ไอเอ็มเอฟมิได้กล่าวถึงโครงการจำนำข้าวในเอกสารสรุป แต่เท่าที่ผมทราบไอเอ็มเอฟได้ติดตามและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนและการขาดทุนของโครงการข้าวอย่างละเอียดครับ
ที่มา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 24/6/56
[/size]
naijan
Verified User
โพสต์: 5011
ผู้ติดตาม: 1

Re: เศรษฐกิจไทยในมุมมองของไอเอ็มเอฟ/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากๆครับ
--------------------------------------
บุญอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว ขอเชิญบริจาคคลิก ไลค์ และ แชร์ เพื่อทุนการศึกษาได้ที่นี่..
http://thorfun.com/#chanchai/story/51ba ... 050c004b8c
โพสต์โพสต์