รู้เขา-รู้เรา เล่นหุ้นร้อยครั้งชนะเจ็ดสิบครั้ง/ดร. นิเวศน์

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

รู้เขา-รู้เรา เล่นหุ้นร้อยครั้งชนะเจ็ดสิบครั้ง/ดร. นิเวศน์

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โลกในมุมมองของ Value Investor 9 มิถุนายน 56
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

รู้เขา-รู้เรา เล่นหุ้นร้อยครั้งชนะเจ็ดสิบครั้ง

เรื่องของการลงทุนนั้นหลายคนจะพูดว่ามันเหมือนกับการรบ ดังนั้น กลยุทธ์และปรัชญาของสงครามสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนหรือการเล่นหุ้นได้ และถ้าพูดถึงเรื่องนี้แล้วดูเหมือนว่ากฎแห่งการยุทธ์ที่โด่งดังที่ทุกคนคุ้นเคยที่สุดก็คือ “รู้เขา-รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ของซุนหวู่ ปราชญ์แห่งสงครามชาวจีน ในฐานะที่ศึกษาเรื่องของประวัติศาสตร์และกลยุทธ์ของสงครามมาบ้างบวกกับการที่อยู่ในตลาดหุ้นและการลงทุนมานาน ผมเองคิดว่ากฎแห่งสงครามข้อนี้ใช้ได้ แต่ถ้าจะพูดให้ตรงความเป็นจริงไม่พูดโอเวอร์เพื่อเน้นหลักการผมอยากจะปรับคำเป็นว่า “รู้เขา-รู้เรา เล่นหุ้นร้อยครั้ง ชนะเจ็ดสิบครั้ง” ในกรณีของการลงทุนหรือการเล่นหุ้นซึ่งไม่มีทางที่เราจะเล่นร้อยชนะร้อย ว่าที่จริงผมคิดว่าซุนหวู่เองก็ไม่ได้คิดว่ารบร้อยครั้งต้องชนะร้อยครั้ง โลกนี้มีเรื่องที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเสมอไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงครามหรือหุ้น

คำว่า “รู้เขา” นั้น ในเรื่องของหุ้นผมคิดว่ามีอยู่สองเรื่องนั่นก็คือ เขาคนแรกก็คือ Mr. Market หรือ “นายตลาด” ตามคำพูดของ เบน เกรแฮม ซึ่งก็คือนักลงทุนโดยรวมในตลาดหุ้นหรือพูดง่าย ๆ ก็คือตลาดหุ้นนั่นเอง เราจะต้องรู้ว่าตลาดหุ้นนั้นมี “พฤติกรรม” หรือ “กลยุทธ์ในการเล่นหุ้น” อย่างไร ถ้าเราเชื่อ เบน เกรแฮม ตลาดหุ้นนั้นมักจะ “คุ้มดี คุ้มร้าย” อยู่เรื่อย ๆ เอาแน่อะไรไม่ได้ บางทีในช่วงที่ “อารมณ์ดี” เป็นพิเศษ พวกเขาก็แห่กันเข้ามาซื้อหุ้นให้ราคาหุ้นสูงลิ่วเกินกว่าพื้นฐานไปมาก แต่ในบางช่วงที่เกิดอาการ “หดหู่” อย่างหนัก พวกเขาก็เทขายหุ้นจนราคาต่ำกว่าพื้นฐานไปมาก หน้าที่ของเราก็คือ เราต้องรู้และฉกฉวยประโยชน์จากพฤติกรรมของพวกเขาแทนที่จะดีใจหรือตกใจและทำตาม

แต่ถ้าเราเชื่อนักวิชาการตลาดหุ้น พวกเขาก็จะบอกว่านักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นในตลาดนั้นต่างก็มีเหตุผล นั่นก็คือ เขาจะซื้อหุ้นในราคาที่เหมาะกับพื้นฐานของมันเสมอเช่นเดียวกับคนที่ขายหุ้น แน่นอน ความเห็นหรือการวิเคราะห์ว่ามูลค่าพื้นฐานคือเท่าไรนั้นคนสองคนอาจจะมองไม่เหมือนกันและนั่นคือเหตุผลว่าทำไมจึงมีการซื้อและขายหุ้นเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ยแล้วความคิดของนักลงทุนเกี่ยวกับมูลค่าของหุ้นแต่ละตัวก็มักจะถูกต้องเช่นเดียวกับดัชนีตลาดหุ้นที่เป็นตัวแทนของหุ้นทั้งหมดที่จะสะท้อนพื้นฐานของตลาด ส่วนการที่บางครั้งราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากหรือตกต่ำลงมากนั้นเป็นเพราะว่าพื้นฐานของกิจการหรือภาวะทางการเงินเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรงทำให้นักลงทุนซื้อหรือขายหุ้นมาก ไม่ใช่เรื่องที่นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นอารมณ์ดีหรืออารมณ์หดหู่แต่อย่างใด

การรู้จัก “นายตลาด” หรือ “รู้เขา” นั้น จะช่วยให้เราตัดสินใจลงทุนหรือเล่นหุ้นได้ดีขึ้นแน่นอน ประเด็นก็คือ ถ้าเราสรุปว่าภาวะตลาดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ อาจจะเนื่องจากเพราะคนในตลาดหุ้นเป็นคนที่มีอารมณ์ “แปรปรวน” ทำให้คาดเดายาก หรือคนในตลาดอาจจะมีเหตุผลเป็นนักลงทุนที่มีข้อมูลและความสามารถวิเคราะห์สูงแต่เนื่องจากภาวการณ์แวดล้อมเช่นเรื่องของเศรษฐกิจ การเงิน และตลาดการเงินระหว่างประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วตลอดเวลา ดังนั้น การที่เราจะพยายามไปฉกฉวยประโยชน์จากภาวะตลาดจึงอาจจะไม่มีประโยชน์อะไร

“เขา” อีกคนหนึ่งที่เราจะต้องรู้ก็คือ บริษัทจดทะเบียนหรือหุ้น นี่คือเขาที่เราจะต้องรู้ก่อนที่จะเข้าไปลงทุน สิ่งที่จะต้องรู้ก็คือ เขาหรือบริษัทเป็นอย่างไร? ทางหนึ่งที่จะใช้ในการเรียนรู้เขาก็คือ การกำหนดหรือบอกให้ได้ว่าบริษัทอยู่ในหุ้นกลุ่มไหนใน 6 กลุ่ม ตามแนวทางของ ปีเตอร์ ลินช์ นั่นคือ บริษัทเป็นกิจการที่โตช้า โตเร็ว วัฏจักร แข็งแกร่ง ฟื้นตัว หรือมีทรัพย์สินมาก ถ้าเรารู้ การลงทุนซื้อและขายหุ้นตัวนั้นก็ทำได้ง่าย เพราะพวกเขาก็จะมีพฤติกรรมของราคาหรือการให้ผลตอบแทนที่พอจะคาดการณ์ได้ แต่การวิเคราะห์ว่าหุ้นแต่ละตัวควรจะเป็นกิจการประเภทไหนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย บ่อยครั้งเราก็เข้าใจผิดเนื่องจากเรายังศึกษาไม่ลึกพอ เช่น เราดูแต่ข้อมูลที่เป็นตัวเลขในระยะเวลาสั้นอาจจะเพียง 2-3 ปี แล้วก็สรุปโดยไม่ได้ดูปัจจัยทางคุณภาพซึ่งต้องใช้เหตุผลทางธุรกิจซึ่งประกอบไปด้วยการตลาด การผลิต การเงิน การแข่งขัน และอื่น ๆ อีกมาก หนทางที่จะเข้าใจหรือ “รู้เขา” ในแง่ของตัวบริษัทนั้น วิธีที่ดีก็คือ หลังจากศึกษาข้อมูลด้านคุณภาพอย่างดีแล้ว เราจะต้องศึกษาข้อมูลที่เป็นตัวเลขย้อนหลังให้ยาวที่สุดเพื่อที่จะยืนยันหรือพิสูจน์ว่าความคิดหรือการวิเคราะห์ทางด้านคุณภาพของเราถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นกิจการโตเร็ว ข้อมูลยอดขายและกำไรควรที่จะมีแนวโน้มโตขึ้นทุกปีอย่างมั่นคงไม่มีปีไหนถดถอยเป็นต้น

การ “รู้เรา” นั้น หมายความว่าต้องรู้ว่าเราเป็นคนที่มีแนวทางการลงทุนหรือเล่นหุ้นอย่างไร วิธีการนั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้องในแง่ของทฤษฎีและประวัติศาสตร์หรือไม่? นอกจากนั้น ในทุกครั้งที่ตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น เรารู้หรือไม่ว่าเรากำลังทำอะไรหรือทำอย่างไรอยู่? บางคนอาจจะคิดว่าการ “รู้เรา” นั้นไม่เห็นจะยาก เราก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าเราคิดหรือทำอะไรไม่ใช่หรือ? ผมเองคิดว่าไม่ใช่!

คนจำนวนมากรวมถึงคนที่เรียกตัวเองว่า VI คิดว่าเขาเป็น “นักลงทุน” ซึ่งเน้นลงทุนโดยอิงกับพื้นฐานหรือผลประกอบการระยะยาวของบริษัท แต่สิ่งที่เขาทำมาตลอดนั้นก็คือการซื้อและขายหุ้นเปลี่ยนตัวอย่างรวดเร็วเป็นนิจสิน ในกรณีแบบนี้ เราก็ควรจะต้องรู้ตัวหรือ “รู้เรา” ว่า เราเป็น “นักเก็งกำไร” เพียงแต่เราอาศัยผลประกอบการที่อาจจะกำลังดีขึ้นมาเก็งกำไร

การ “รู้เรา” อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ “อัตราความกล้าเสี่ยงของเรา” ว่าอยู่ในระดับไหน? นี่ก็เช่นเดียวกัน อย่าบอกหรือคิดว่าเราเป็นคน “อนุรักษ์นิยม” เป็นคนที่เน้นความปลอดภัยสูงไม่ชอบเสี่ยงถ้าพฤติกรรมตามปกติของเรานั้นมันขัดแย้งกัน ตัวอย่างเช่น เรามักจะลงทุนในหุ้นน้อยตัวมากหุ้นเพียง 2-3 ตัวมีสัดส่วนเป็น 70-80% ของพอร์ตขึ้นไปเกือบตลอดเวลา แถมใช้มาร์จินหรือกู้เงินมาซื้อหุ้นอีกหลายสิบเปอร์เซ็นต์ แบบนี้จะบอกว่าเราเน้นความปลอดภัยไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การที่จะสามารถวิเคราะห์ได้อย่างปราศจากความลำเอียงนั้นบางทีก็เป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกัน เหตุก็เพราะคนเรามักมีความเชื่อมั่นตนเองสูง ดังนั้น เรามักไม่ยอมรับว่าพอร์ตของเรามีความเสี่ยงสูง เรามักจะคิดว่า “เรารู้ดี” เรารู้ว่าที่เราทำอยู่นั้นสำหรับคนที่ไม่รู้จริงอาจจะเสี่ยง แต่สำหรับเราแล้วเรารู้ว่าหุ้นตัวนั้นดีมากมี Margin of Safety สูง และดังนั้นมันจึงไม่เสี่ยง

การ “รู้เรา” ประเด็นสุดท้ายก็คือ ในเรื่องสถานการณ์เฉพาะจุด นั่นก็คือ ในบางช่วงหรือบางสถานการณ์ที่ “ผิดปกติ” เราอาจจะทำอะไรบางอย่างที่ “ออกนอกกรอบ” พฤติกรรมหรือแนวความคิดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่สอดคล้องกับปรัชญาหรือแนวทางของตนเอง ตัวอย่างเช่น ในยามที่หุ้นตกหนักมากและเราดูว่าหุ้นถูกและมีความปลอดภัยสูง เราอาจจะใช้มาร์จินบางส่วนมาซื้อหุ้น หรือเราอาจจะมีหุ้นบางตัวมากเกินไปในพอร์ต กรณีแบบนี้เราต้องรู้ว่ามันอาจจะอันตราย และดังนั้นในไม่ช้าเมื่อมีโอกาสเราก็ควรจะต้องปรับพอร์ตให้กับมาสู่สถานะปกติ เป็นต้น

การ “รู้เรา” นั้น บ่อยครั้งเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าการ “รู้เขา” เนื่องจากการมีความ “ลำเอียง” ในเรื่องของการวิเคราะห์ตนเอง แต่ถ้าเราจะประสบความสำเร็จในระยะยาวแล้วละก็ ผมคิดว่าเราจะต้องมีสติและรู้ตัวตลอดเวลา เท็คนิคที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ในการลงทุนนั้นเราจะต้อง “ถ่อมตัว” อย่างจริงใจ เตือนตัวเองว่า เราอาจจะแพ้ได้เสมอ อย่างที่จอร์จ โซรอส พูดว่า “I am not invincible”
imerlot
Verified User
โพสต์: 2697
ผู้ติดตาม: 13

Re: รู้เขา-รู้เรา เล่นหุ้นร้อยครั้งชนะเจ็ดสิบครั้ง/ดร. นิเวศ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ก่อนอื่น
ขอบคุณและคารวะ อจ.
สำหรับ บทความดีๆ ทุกอาทิตย์..

The Art of War
1. ไทยแปลจากจีน (เก่า-ครบถ้วน)
http://olddreamz.com/bookshelf/sunwu/su ... f-war.html

2. อังกฤษ - ง่าย (ไม่ครบ)
http://www.philosophyblog.com.au/quotes ... y-sun-tzu/

3. จีน-อังกฤษ (ครบ)
http://ctext.org/art-of-war/weak-points-and-strong

.....
ที่ชอบเป็นพิเศษ..
อยู่ในบทที่ 6
虛實 - Weak Points and Strong
แต่ไทยแปลว่า "ลึกตื้นหนาบาง"

คำว่า 虛實 ดู
http://glosbe.com/zh/en/%E8%99%9B%E5%AF%A6
มีความหมาย ที่ 2 คือ
to take advantage of weakness
...
"You can be sure of succeeding in your attacks if you only attack places which are undefended.
You can ensure the safety of your defense if you only hold positions that cannot be attacked."

คล้ายๆ
“Be Fearful When Others Are Greedy and Greedy When Others Are Fearful”

หรือ

"However, the risk of paying too high a price for good-quality stocks--while a real one--is not the chief hazard confronting the average buyer of securities. {weak point}

Observation over many years has taught us that the chief losses to investors come from the purchase of low-quality securities at times of favorable business conditions. {weak point}

The purchasers view the current good earnings as equivalent to 'earning power' {strong point}
and assume that prosperity is synonymous with safety. ... These securities do not offer an adequate margin of safety in any admissible sense of the term." Ben Graham (pg. 280 :http://www.physics.ohio-state.edu/~prew ... estor.html)


={storng point}
"เราดูแต่ข้อมูลที่ เป็นตัวเลขในระยะเวลาสั้นอาจจะเพียง 2-3 ปี แล้วก็สรุปโดยไม่ได้ดูปัจจัยทางคุณภาพซึ่งต้องใช้เหตุผลทางธุรกิจซึ่งประกอบ ไปด้วยการตลาด การผลิต การเงิน การแข่งขัน และอื่น ๆ อีกมาก หนทางที่จะเข้าใจหรือ “รู้เขา” ในแง่ของตัวบริษัทนั้น วิธีที่ดีก็คือ หลังจากศึกษาข้อมูลด้านคุณภาพอย่างดีแล้ว เราจะต้องศึกษาข้อมูลที่เป็นตัวเลขย้อนหลังให้ยาวที่สุดเพื่อที่จะยืนยัน หรือพิสูจน์ว่าความคิดหรือการวิเคราะห์ทางด้านคุณภาพของเราถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นกิจการโตเร็ว ข้อมูลยอดขายและกำไรควรที่จะมีแนวโน้มโตขึ้นทุกปีอย่างมั่นคงไม่มีปีไหนถด ถอยเป็นต้น"
naijan
Verified User
โพสต์: 5011
ผู้ติดตาม: 1

Re: รู้เขา-รู้เรา เล่นหุ้นร้อยครั้งชนะเจ็ดสิบครั้ง/ดร. นิเวศ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ได้ความรู้เพิ่มอีกแล้ว ขอบคุณมากๆครับ

---------------------------------------------
บุญอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว ขอเชิญบริจาคคลิก ไลค์ และ แชร์ ได้ที่นี่..
http://thorfun.com/#chanchai/story/51ba ... 050c004b8c
โพสต์โพสต์