เศรษฐกิจฟองสบู่/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

เศรษฐกิจฟองสบู่/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 29 พ.ค. 2013 ได้ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดเพราะการจะปรับลดหรือไม่ปรับลดดอกเบี้ยได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สะท้อนความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือในฝ่ายรัฐบาลก็เน้นย้ำให้ลดดอกเบี้ย 1% (จาก 2.75% ให้เหลือ 1.75%) เพื่อลดแรงจูงใจให้เงินไหลเข้า ทำให้เงินบาทแข็งค่าและกระทบต่อผู้ส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ฝ่ายธปท.ก็โต้ว่าลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยลดการไหลเข้าของเงินทุน (ให้ไปคุมการไหลเข้าโดยตรงดีกว่า) แต่จะทำให้คนไทยกู้เงินเกินตัวและเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจ

ผมมีความเห็นว่าข้อถกเถียงดังกล่าวข้างต้นเป็นการถกเถียงกันผิดประเด็น โดยจะขอนำเอาตารางที่ลงในบทความตอนที่แล้วมาลงทุน ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เห็นว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมานั้นมิได้มีผลในการลดความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ (โดยเฉพาะการเก็งกำไรที่ดินและราคาคอนโด) แต่อย่างใด หากธปท.จะเพิ่มดอกเบี้ยอีก 1% ก็จะไม่สามารถลดความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ แต่ที่สำคัญคือการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายโดยคำนึงถึงเงินเฟ้อโดยรวม (ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อทั่วไปหรือเงินเฟ้อพื้นฐาน) ก็จะไม่สามารถดูแลมิให้เกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคอื่นๆ ที่ไม่ต้องแข่งขันกับต่างชาติได้ (เช่นผู้รับเหมาภาคโทรคมนาคมและการบริการของสถาบันการเงิน) 

จากข้อมูลในตารางจะเห็นได้ว่า ธปท.สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้ตรงตามเป้าหมายคือราคาสินค้าโดยรวมปรับขึ้นปีละประมาณ 2% และราคาสินค้าพื้นฐานปรับตัวขึ้นปีละประมาณ 1.4% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในกรอบของเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดเอาไว้คือ 0.5- 3.0% แต่อัตราเงินเฟ้อโดยรวมดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งเพราะเงินเฟ้อของโลกต่ำมาก ทำไมจึงมั่นใจว่าเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะว่าในช่วงเดียวกันนั้นราคาสินค้าส่งออกของไทยและราคาสินค้าที่ไทยนำเข้ามาใช้นั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย กล่าวคือในช่วง 4 ปีดังกล่าวราคาสินค้านำเข้าลดลง 1.2% และราคาสินค้าส่งออกลดลง 1.1% ทั้งนี้การส่งออกบวกกับการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนกว่า 130% ของจีดีพีในช่วงดังกล่าว

แรงกดดันจากราคาสินค้าส่งออกและนำเข้าทำให้ราคาสินค้าทั่วไปเพิ่มไม่มากและที่สำคัญสามารถ ปล่อยให้ราคาที่ดิน คอนโดและอสังหาริมทรัพย์โดยรวมปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาสินค้าประเภทอื่นๆ มาก ประเด็นหลักเป็นเพราะภาคธุรกิจดังกล่าวไม่ต้องแข่งขันกับต่างชาติ กล่าวคือราคาไม่ได้ถูกกำหนดจากตลาดโลกเช่นเดียวกับสินค้าส่งออกและสินค้าที่แข่งขันกับสินค้านำเข้า สำหรับผู้ประกอบการนั้นสรุปได้ว่าหากผลิตสินค้าเพื่อส่งออกหรือแข่งกับสินค้านำเข้าก็จะมีแต่ถูกกดราคา แต่หากสร้างคอนโดมาขายหรือเก็งกำไรที่ดิน ราคาจะปรับขึ้นได้เรื่อยๆ กล่าวคือผู้ผลิตมี pricing power หรือสามารถปรับราคาขึ้นให้เป็นภาระของผู้ซื้อได้โดยง่าย ดังนั้น จึงไม่น่าจะแปลกใจว่าทำไมภาคอสังหาริมทรัพย์จึงขยายตัวอย่างร้อนแรง เพราะราคาที่ปรับสูงขึ้นเป็นการส่งสัญญาณให้ทรัพยากรไหลเข้าไปยังภาคธุรกิจนี้อย่างไม่หยุดยั้ง เนื่องจากเงื่อนไขที่ทำให้ดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่ำติดดินนั้นยังคงจะอยู่กับเราต่อไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี

พูดตรงๆ คือหากธปท.ต้องการคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ให้เกิดปัญหาฟองสบู่ก็คงจะต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นสูงกว่าปัจจุบันอย่างมาก แต่ก็ทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะปัจจุบันก็ต้องทนกับแรงกดดันให้ลดดอกเบี้ยลงอยู่แล้ว แต่ประเด็นที่สำคัญคือการจะปรับดอกเบี้ยขึ้นก็จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการไหลเข้าของเงินทุนและจะส่งผลกระทบในเชิงลบกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันก็เผชิญกับความท้าทายในหลายด้านอยู่แล้ว ข้อสรุปคือการกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นนั้นเป็นเครื่องมือที่ไม่สามารถรับมือกับสภาวการณ์ที่แตกต่างกันอย่างมากของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ได้ กล่าวคือการกำหนดดอกเบี้ยให้เงินเฟ้อโดยรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 2% เป็นตัวเลขลวงตาเพราะบางภาคเศรษฐกิจ เช่นผู้ส่งออกกำลังได้รับความยากลำบาก แต่บางภาคเศรษฐกิจเช่นภาคอสังหาริมทรัพย์กำลังเฟื่องฟูอย่างมาก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ดอกเบี้ยปัจจุบันสูงไปสำหรับภาคส่งออกแต่ต่ำไปสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์

อีกประเด็นหนึ่งคือการขยายตัวอย่างมากของสินเชื่อบุคคลและรายย่อย ซึ่งการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นดังกล่าวอาจอธิบายได้ด้วยเหตุผลคือ

1. ผู้กู้มีงานทำรายได้ดี เพราะปัจจุบันอัตราการว่างงานต่ำเพียง 0.7% แต่หากภาคส่งออกทรุดและราคาพืชผลไม่เพิ่มขึ้นก็ยากที่รายได้ของคนทั่วไปจะขยายตัวได้มากนัก

2. ราคาสินทรัพย์ที่เขามีอยู่เช่นหุ้น ที่ดิน หรือคอนโดปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้รู้สึกว่าร่ำรวยขึ้น (wealth effect) ซึ่งตรงนี้มีความเป็นไปได้สูง ดังนั้นการกู้หนี้ยืมสินจึงไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าขาดความมั่นคงทางการเงินแต่อย่างใด (แต่ราคาสินทรัพย์ต้องไม่ลดลง)

นโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้วนำโดยสหรัฐ ตั้งใจพิมพ์เงินออกมาเพื่อปั่นให้ราคาหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภท รวมทั้งราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของตนฟื้นตัวขึ้น ในเมื่อเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดราคาหุ้นของไทยก็ปรับเพิ่มขึ้นตามและเมื่อนักลงทุนในตลาดหุ้นร่ำรวยขึ้นก็นำกำไรออกมาลงทุน (หรือเก็งกำไร) ในภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อไป ทั้งหมดนี้นโยบายดอกเบี้ยจะไม่สามารถหยุดยั้งความร้อนแรงของธุรกรรมดังกล่าวได้เลย ดังนั้นความพยายามที่จะ “ปกป้อง” ไม่ให้ลดดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินจึงเป็นการตอบโจทย์เพียงครึ่งเดียว เพราะแม้จะไม่ลดดอกเบี้ยเลยก็ยังมีความเสี่ยงสูงที่ปัญหาฟองสบู่จะต้องเกิดขึ้น

การจะป้องกันปัญหาดังกล่าวข้างต้นจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อในภาคเศรษฐกิจที่เสี่ยงต่อการเกิดฟองสบู่ กล่าวคือภาคเศรษฐกิจที่ไม่ต้องแข่งขันกับต่างประเทศ มิฉะนั้นแล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะมีการผลิตจนเกิดความต้องการที่แท้จริงขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งเรื่องนี้ผมจะขอเขียนถึงในครั้งหน้าครับ
ที่มา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 3/6/56
[/size]
รูปภาพ
naijan
Verified User
โพสต์: 5011
ผู้ติดตาม: 1

Re: เศรษฐกิจฟองสบู่/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากๆครับสำหรับบทความดีๆ

------------------------------------------
บุญอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว ขอเชิญบริจาคคลิก ไลค์ และ แชร์ ได้ที่นี่..
http://thorfun.com/#chanchai/story/51ba ... 050c004b8c
โพสต์โพสต์