ข้อผิดพลาดระหว่างลงทุนในหุ้น (2)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

ข้อผิดพลาดระหว่างลงทุนในหุ้น (2)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

   สัปดาห์ที่แล้วเขียนถึงข้อผิดพลาดระหว่างการถือหุ้นลงทุนไปสามข้อ คือ มีจำนวนหุ้นในพอร์ตมากเกินไป ดูแลไม่ทั่วถึง ไม่แยกแยะระหว่าง “ราคา” กับ “มูลค่า” และ ถือหุ้นไว้นานเกินไป สัปดาห์นี้ขอเขียนต่ออีก 3 ข้อค่ะ
   ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการถือหุ้นลงทุนข้อที่สี่คือ ถือเป็นระยะเวลาสั้นเกินไป อันนี้ตรงกันข้ามกับข้อที่สามที่ถือยาวจนเลยวัฏจักร แต่เป็นการถือสั้นจนไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ที่ควรจะได้  แต่หากท่านเป็นผู้ลงทุนที่ซื้อขายเป็นประจำและหาส่วนต่างจากการซื้อขาย หรือที่เรียกว่า Day Trader ข้อนี้อาจจะไม่ใช่ข้อผิดพลาด แต่เป็นสไตล์ปกติที่ใช้ในการลงทุน
การถือหุ้นลงทุนที่จัดว่าสั้นเกินไป สำหรับหุ้นที่ตั้งใจลงทุนเป็นพอร์ตหลักนั้น อาจจะขีดเส้นไว้ที่ ต่ำกว่า 3 เดือน ถ้าไปสนทนากับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า เขาจะถือกันเป็นปีๆค่ะ  ในที่นี้ดิฉันขอประยุกต์ให้เข้ากับบริบทการลงทุนในตลาดไทย
   เนื่องจากตลาดไทยเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีความผันผวนสูงกว่าตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้ว วงจรการซื้อขาย หรือรอบของการลงทุนจึงอาจจะไม่ยาวมากเท่ากับตลาดพัฒนาแล้วหลายตลาด และโลกในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมเร็วขึ้นกว่าโลกในยุคสามสิบปีที่แล้วอย่างชัดเจน 
   ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้คือพัฒนาการของการสื่อสารและการเผยแพร่ข้อมูล ปัจจุบันไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก หากสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ ผู้ลงทุนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั่วทุกมุมโลก ในเวลาเดียวกันกับผู้ลงทุนรายอื่นๆ ข้อได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างรายใหญ่กับรายเล็กได้ลดลงไปมาก
   การถือหุ้นที่จะได้รับผลจากการวิเคราะห์ของเราว่า หากแนวโน้มเศรษฐกิจเป็นไปในทำนองนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ควรจะได้รับประโยชน์ควรจะเป็นกลุ่มนี้ และบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์ซึ่งเราวิเคราะห์แล้วราคาตลาดยังขึ้นไปไม่ถึงมูลค่าที่คำนวณเอาไว้นั้น ในแต่ละรอบการขายสินค้าและบริการใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน หมายถึงตัวเลขกำไรที่เพิ่มขึ้น โดยธุรกิจบริการและการขายจะเห็นผลกระทบทั้งด้านบวกและลบเร็วกว่าอุตสาหกรรมค่ะ
   แต่ตลาดหุ้นจะมองล่วงหน้า เพราะผู้ลงทุนซื้อขายหุ้นกันบนความคาดหวังเกี่ยวกับผลกำไร มูลค่าของหุ้นตามทฤษฎี คือมูลค่าปัจจุบันของความคาดหวังกำไรของบริษัทนั้นๆในอนาคต ตลาดหุ้นจึงเป็นตลาดแห่งการมองล่วงหน้า และตลาดจะมองล่วงหน้าประมาณ 3-6 เดือน ก็คือมองแนวโน้มกำไรในรอบการขายสินค้าและบริการนี้เองค่ะ
   เพราะฉะนั้น การคาดการณ์กำไร ซึ่งนำไปสู่การคาดการณ์ราคาหุ้น จึงต้องทำกัน 6-9 เดือนล่วงหน้า เช่นในกลางปีนี้ ก็จะประมาณการณ์กำไรของปีนี้ทั้งปี และเผื่อประมาณการไปถึงปีหน้าด้วย การลงทุนที่มีพื้นฐานจากการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ จึงควรลงทุนอย่างน้อย 3-6 เดือน
   หุ้นในพอร์ตควรจะมีสองส่วนค่ะ หุ้นส่วนหลักจะเป็นหุ้นที่ลงทุนซ้อและถือไว้ตามปัจจัยพื้นฐาน และมีอีกส่วนหนึ่ง ประมาณ 20-30%ของพอร์ตการลงทุน เป็นส่วนที่ถือไว้เพื่อการซื้อขาย (Trading) โดยส่วนนี้อาจจะถือสั้นกว่าส่วนลงทุนหลัก คืออาจถือประมาณ 1-3 เดือน บางครั้งจะมีการกะเก็งตัวเลขผลการดำเนินงานประจำไตรมาสว่าจะออกมาดีหรือไม่ดี ซึ่งเมื่อผลการดำเนินงานถูกประกาศออกมาทุกไตรมาส ราคาจึงมักจะมีความเคลื่อนไหวอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง ตามช่วงการประกาศผลการดำเนินงานค่ะ
   ข้อผิดพลาดประการที่ห้าคือ ไม่ติดตามการลงทุน แม้เงินลงทุนที่เราจัดสรรมาลงทุนในหุ้นจะเป็นเงินระยะยาว แต่หากเราไม่ติดตามเพื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เราก็อาจจะเสียโอกาสที่จะย้ายไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ดีที่สุดในช่วงนั้นๆไป
   นอกจากนี้ เมื่อบริษัทมีการเปลี่ยนแปลง เช่น การเพิ่มทุน การจ่ายเงินปันผล ก็ควรจะมีการบันทึกเอาไว้ด้วย ดิฉันพบว่า ผู้ลงทุนมักจะลืมนำเงินปันผลมาคำนวณด้วย เวลาคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุน ส่วนใหญ่ได้รับแล้วก็ลืมไปแล้ว และมักจะฝังใจติดอยู่กับต้นทุนเดิม
   เมื่อเราได้เงินปันผล หรือได้หุ้นปันผล หรือได้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนมา เราต้องปรับเปลี่ยนต้นทุนและเป้าหมายราคาของหุ้นนั้นๆไปตามต้นทุนที่เปลี่ยนไปด้วยค่ะ มิฉะนั้น เราจะติดอยู่กับต้นทุนเดิม เป้าหมายราคาเดิม และอาจจะไม่ยอมขายหุ้นนั้นออกไป เมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสม เพราะเข้าใจ(ผิด)ว่ายังขาดทุนอยู่
   แนะนำว่าต้องอ่านรายงานประจำปีด้วยเพื่อดูทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ลงทุน และควรทบทวนเป็นระยะๆว่ามูลค่าหุ้นที่เราตั้งเป้าหมายไว้เมื่อตอนลงทุน ยังสมเหตุสมผลอยู่หรือไม่ หากไม่สมเหตุสมผล ไม่ว่าจะเพราะเหตุที่ปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยนไปหรือเหตุอื่นใด ก็ควรจะตัดใจขายออกไปค่ะ
   การติดตามการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนทั่วไป ไม่ได้หมายความว่าจะต้องวิเคราะห์ราคาหรือมูลค่าด้วยตัวเอง  ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญได้ทำหน้าที่ของเขาค่ะ ขอบทวิเคราะห์หุ้นจากโบรกเกอร์ที่เราใช้บริการอยู่มาอ่าน อย่าลืมดูราคาเป้าหมายที่โบรกเกอร์ให้ไว้ด้วยนะคะ
   ข้อผิดพลาดข้อสุดท้ายคือ มั่นใจในตัวเองสูงเกินไป ในการลงทุน มีสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในโลกปัจจุบัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งในโลก อาจส่งผลกระทบถึงประเทศอื่นๆได้อีกจำนวนมาก เช่น การดำเนินนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ และทำให้ค่าเงินเยนอ่อนของญี่ปุ่น ทำให้เงินลงทุนไหลออกมาสู่ประเทศต่างๆในภูมิภาคกันอย่างมาก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย
   ลำพังผู้ลงทุนหนึ่งคน ไม่สามารถติดตามเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในโลก และวิเคราะห์ผลกระทบได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง นอกจากนั้น ผู้ลงทุนแต่ละคนก็มีสถานะไม่เหมือนกัน บางคนต้องทำงานประกอบอาชีพ ดังนั้นจะไม่มีเวลาติดตามสถานการณ์ หรือถ้าหากใช้เวลาในการติดตามสถานการณ์ลงทุน ก็อาจจะทำให้เสียงาน หรือไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
   ดิฉันอยากแนะนำให้ผู้ลงทุนใช้บริการของผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ ไม่ว่าจะผ่านการลงทุนในกองทุนรวม หรือกองทุนส่วนบุคคล นอกจากจะมีความสะดวกสบายแล้ว ยังช่วยผ่อนคลายความกังวลใจหรือความวิตกที่จะเกิดขึ้นจากการติดตามการลงทุนด้วยตัวเองด้วยค่ะ  ดิฉันเองก็ใช้บริการของกองทุนรวมเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ 20 ปีก่อน มาจนถึงในปัจจุบันนี้
   ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนสมความตั้งใจค่ะ
[/size]
naijan
Verified User
โพสต์: 5011
ผู้ติดตาม: 1

Re: ข้อผิดพลาดระหว่างลงทุนในหุ้น (2)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากๆครับสำหรับบทความดีๆ

----------------------------------------
บุญอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว ขอเชิญบริจาคคลิก ไลค์ และ แชร์ เพื่อทุนการศึกษาได้ที่นี่..
http://thorfun.com/#chanchai/story/51ba ... 050c004b8c
ภาพประจำตัวสมาชิก
Nevercry.boy
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 4641
ผู้ติดตาม: 23

Re: ข้อผิดพลาดระหว่างลงทุนในหุ้น (2)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ข้อผิดพลาดที่แท้จริงของนักลงทุน คือ

1. ผู้เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นไม่ทราบว่าตนเอง เป็น Trader หรือ Investor จุดนี้ผมขอแนะนำว่าเราควรทำความเข้าใจกับตัวเราเองให้ชัด ไม่ใช่เรื่องน่าอายใด ๆ ทั้งสิ้นในการเลือกว่าเราเป็นเทรดเดอร์หรือ อินเวสเตอร์ แต่เราควรชัดกับตัวเราเอง ในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่าใครได้กำไรมากกว่ากัน เทรดเดอร์บันลือโลกมีอยู่มากมายเช่นเดียวกับนักลงทุน

2. เมื่อเราไม่ชัดแล้วว่าเราเป็นเทรดเดอร์หรืออินเวสเตอร์ พฤติกรรมของเราจะสับสนปนเป เช่น เราอาจจะตัดสินใจขายหุ้นออกไปเพื่อล็อกกำไรไว้ก่อนและเมื่อหุ้นกลับมาเราจะซื้อคืน และผมพบว่าส่วนใหญ่เมื่อเราขายออกไปแล้วเรามักจะไม่มีวันซื้อคืน ตรงข้ามเราจะไปเลือกหุ้นตัวใหม่

3. หากเราตัดสินใจเป็นเทรดเดอร์ เราควรหาความรู้ใส่ใจเรื่องเทคนิค มีความรู้เรื่องพื้นฐาน ผลประกอบการ PE, PB, ROE รวมถึงจังหวะในการเข้าออก การทำกำไรตามวัฏจักรสินค้าขึ้นลงเล่นรอง ซื้อต่ำขายสูง ทำหลายรอบเก็บเงินสดไว้ และที่สำคัญมีการคัทลอสหากเราผิดตามสมมติฐานของเรา

4. หากเราตัดสินใจเป็นอินเวสเตอร์ เราควรศึกษามูลฐานของธุรกิจ มองภาพใหญ่แต่ไม่ละเลยงบการเงินรายไตรมาส ตรวจสอบค่า KPI ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจ เช่น ROIC, WACC, Turnover Rate ต่าง ๆ รวมถึง อ่านสัมภาษณ์ ดู Opp day ของ ผบห. พูดคุยกับ IR เพื่อสร้างสารสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและตัวเราว่าวิสัยทัศน์เราเข้ากันได้ เค้ากับเราควรไปด้วยกัน ดังนั้นเราจะมอบเงินของเราเป็น Source of fund เพื่อให้ ผบห. ไปใช้เป็น use of fund และก่อให้เกิดมูลค่า ที่สำคัญตลาดหุ้นไม่มีผลต่อการตัดสินใจของเรา (หรือมีน้อยมาก) เพราะหากมีใครมาให้ราคาบริษัทเราเท่าไร เท่าไร ทุก ๆ วัน ในขณะที่เรานั่งทำงานของเราอยู่ เราคงไม่ใส่ใจกับเค้ามาก ดังคำที่ว่า "ตลาดหุ้นไม่มีอยู่จริง"

*สุดท้ายที่ผมอยากฝากไว้ ไม่มีใครทำลายความมั่งคั่งของเราเอง ได้เท่ากับตัวเราเอง

ขอบคุณครับ
โพสต์โพสต์