เรื่องค่าเงินบาทอีกครั้ง/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

เรื่องค่าเงินบาทอีกครั้ง/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ตั้งแต่ต้นปีนี้เงินบาทแข็งค่าไปแล้ว 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์และ 25% เมื่อเทียบกับเงินเยน ทำให้ผู้ส่งออกแสดงความไม่พอใจมากขึ้นและแม้จะมีผลดีต่อการลดเงินเฟ้อและต่อผู้บริโภคของไทยโดยเฉพาะที่มีศักยภาพที่จะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ผมเห็นว่าอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมได้ เพราะการส่งออกนั้นคิดเป็นสัดส่วนสูงเกือบ 70% ของจีดีพี กล่าวคือผมเห็นว่าการบริหารจัดการนโยบายการเงินของไทย (ซึ่งน่ามุ่งหวังที่จะจัดการกับการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็ว) นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายเศรษฐกิจไทยและต้องรีบบริหารจัดการมากกว่าความเป็นห่วงว่าอีก 7-8 ปีข้างหน้ารัฐบาลอาจจะกู้เงิน 2 ล้านล้านบาททำให้หนี้สาธารณะเพิ่ม เพราะกระบวนการทำโครงการขนาดใหญ่ของไทยนั้นมักจะมีปัญหาความล่าช้าและมีกระบวนการมากมาย ความเสี่ยงจึงน่าจะเกิดจากการทำโครงการได้ล่าช้ากว่าแผนการที่วางเอาไว้มากกว่า

ผู้ที่มีอำนาจบริหารจัดการนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนตามกฎหมายคือคณะกรรมการนโยบายการเงิน 7 คนซึ่งมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธานและมีรองผู้ว่าการ ธปท. 1 คนเป็นรองประธาน รองผู้ว่าการ ธปท. 1 คนเป็นกรรมการ บวกกับผู้ทรงคุณวุฒิ (ซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง) อีก 4 คน กล่าวคือมีกรรมการที่เป็นเจ้าหน้าที่ ธปท. 3 คน และ “คนนอก” 4 คน แต่ในทางปฏิบัตินั้น ธปท. เป็นเลขานุการของคณะกรรมการและเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลทั้งหมดกับกรรมการ ดังนั้น ธปท. จึงน่าจะเป็นผู้กำหนดทิศทางและนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศไทย ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ของ ธปท. ก็แจ้งไว้อย่างชัดเจนว่า ธปท. ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวโดยมีการบริหารจัดการ (managed-float exchange rate regime) ตั้งแต่ปี 2000 ซึ่ง ธปท.ขยายความว่าเป็นการปล่อยให้ค่าเงินบาทปรับตัวไปตามกลไกตลาด ซึ่งสะท้อนอุปสงค์และอุปทานของเงินบาทในตลาดค้าเงินระหว่างประเทศ 

ทั้งนี้ ธปท. จะไม่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเป้าหมายและพร้อมจะเข้าแทรกแซงค่าเงินในกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนเกินกว่าปกติ (excess volatility) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความผันผวนดังกล่าวเกิดจากการเก็งกำไรและเกินกว่าที่เศรษฐกิจจะรับได้ โดยจะรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศซึ่งวัดจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งสำคัญ (โดยกำหนดน้ำหนักอัตราแลกเปลี่ยนตามความสำคัญทางการค้า) ซึ่งศัพท์ในเชิงวิชาการเรียกว่า Nominal Effective Exchange Rate (NEER) โดย NEER นี้จะวัดความสามารถในการแข่งขันได้ดีกว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลลาร์เพราะประเทศไทยส่งออกไปสหรัฐเพียง 10% ของการส่งออกทั้งหมด เป็นต้น แต่ในอดีตนั้นจะเห็นได้ว่า NEER กับอัตราแลกเปลี่ยนบาท-ดอลลาร์นั้นปรับตัวใกล้เคียงกันมาก จึงพอจะพูดได้ว่าบาท-ดอลลาร์สะท้อนความสามารถในการแข่งขันของไทยได้พอใช้ แต่ในระยะหลังนี้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมากและรวดเร็ว ทำให้ไทยอาจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันมากกว่าการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์ (ประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกของไทยที่สำคัญใกล้เคียงกับตลาดสหรัฐ)

สรุปได้ว่านโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทยคือ

1. ปล่อยให้ค่าเงินปรับตัวตามกลไกตลาด (อุปสงค์-อุปทาน) 

2. บางครั้งอัตราแลกเปลี่ยนอาจผันผวนมากและค่าเงินอาจไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพราะอาจมีการเก็งกำไรในบางโอกาส

3. ในกรณีดังกล่าว ธปท. พร้อมจะเข้าไปแทรกแซงเพื่อลดความผันผวนของค่าเงินบาท ทั้งนี้ โดยจะรักษาความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยวัดโดย NEER

4. ในระยะหลังนี้ ธปท. ประกาศให้ทราบว่าทางการไทยพร้อมจะมีมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน (capital control) หากเห็นว่ามีความจำเป็น

สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือสภาวะแวดล้อมทางการเงินของโลกได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ โดยปกติธนาคารกลางของประเทศที่พัฒนาแล้วมีหมวก 2 ใบ คือใบแรกเป็นธนาคารกลางที่ดูแลผลประโยชน์ของประเทศตัวเอง กับหมวกใบที่สองคือการควบคุมปริมาณเงินของตนเองซึ่งเป็นเงินสกุลหลักของโลกให้มีเพียงพอไม่มากไปและไม่น้อยไปเพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกอย่างมีเสถียรภาพ พูดง่ายๆ คือธนาคารกลางสหรัฐ ยุโรป อังกฤษและญี่ปุ่นจะต้องดูแลเสถียรภาพทางการเงินของโลกพร้อมกันไปด้วย แต่ในความเป็นจริงในวันที่ธนาคารกลางของประเทศดังกล่าวมุ่งเน้นแต่จะช่วยให้เศรษฐกิจของตัวเองรอดพ้นจากความตกต่ำ ก็ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของเศรษฐกิจโลกโดยรวมแต่อย่างใด (เว้นแต่จะบอกว่าหากประเทศเขาไม่รอด เศรษฐกิจโลกก็จะไม่รอดไปด้วย)

กล่าวคือประเทศสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรปและอังกฤษกำลังตั้งหน้าตั้งตาพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ เช่น สหรัฐพิมพ์เงินใหม่เดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์หรือปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ที่มีอยู่ในระบบทั้งหมดเพียง 800,000 ล้านดอลลาร์ กลางปี 2008 นอกจากนั้นเงินที่พิมพ์ออกมายังนำไปซื้อพันธบัตรทั้งระยะสั้นและระยะยาว กล่าวคือธนาคารกลางหลักของโลกได้กดดอกเบี้ยระยะสั้นลงเหลือใกล้ศูนย์และกำลังกดดอกเบี้ยทั้งสั้นและยาวลงไปต่ำผิดปกติคือบิดเบือนโครงสร้างดอกเบี้ยทั้งหมดและยืนยันว่าความบิดเบือนเช่นนี้จะดำเนินต่อไปอีก 1-2 ปีหรือนานจนกว่าเศรษฐกิจของเขาจะฟื้นตัว ข้อสรุปคือดอกเบี้ยของโลกทั้งระยะสั้นและระยะยาวมิได้ถูกกำหนดโดยกลไกตลาดแล้ว และจะส่งสัญญาณที่คลาดเคลื่อนจากปัจจัยพื้นฐานไปอีกนาน

แต่ในสภาวการณ์ดังกล่าว ธปท. กำลังดำเนินนโยบายการเงินแบบปกติและปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวไปตามกลไกตลาดหรือกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งกลไกตลาดปกตินั้นมีปัจจัยสำคัญคือ อุปทาน (supply) ต้องมีต้นทุนการผลิต เช่น หากผลิตนาฬิกาจำนวนมากขึ้นต้นทุนของการผลิตต่อหน่วยจะต้องเพิ่มขึ้น แต่การผลิต (พิมพ์) เงินดอลลาร์ เยน ยูโรและปอนด์นั้น เกือบจะไม่มีต้นทุนการผลิต ดังนั้น เมื่อธนาคารกลางตั้งใจจะพิมพ์เงินอย่างไม่มีข้อจำกัด ก็แปลว่าค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักดังกล่าวจะคำนวณจากปัจจัยพื้นฐานได้ยาก เพราะเป็นเรื่องของการเร่งพิมพ์เงินออกมา มิได้ผูกโยงกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกมากนัก แปลว่ามีความเสี่ยงว่าจะมีสภาพคล่องในโลกสูงมากที่จะผลักดันเงินบาทให้แข็งค่าได้อย่างต่อเนื่อง
หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal รายงานเมื่อ 22 เมษายนว่าบริษัทประกันยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นกำลังเดือดร้อนที่ค่าเงินเยนตกต่ำลง ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาล 10 ปีให้ดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.6% ต่อปี ทำให้อาจเพิ่มการซื้อพันธบัตรต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้บริษัทประกันเหล่านี้มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ (332 ล้านล้านเยน) หากมีการโยกเงินดังกล่าวไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพียง 3-4% ก็จะเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนได้โดยง่าย

ประเด็นสุดท้ายที่ยังมีการถกเถียงกันคือดอกเบี้ยมีความสำคัญต่อการไหลเข้าของเงินทุนมากหรือน้อย ธปท. มองว่าส่วนต่างดอกเบี้ยไม่มีผลมากนัก ปัจจัยพื้นฐานที่ดีของไทยมีผลมากกว่า (ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย) แต่ผมขอมองต่างมุมโดยมีข้อสังเกต 2 ข้อคือ

1. หากเรายอมรับว่าระดับดอกเบี้ยมีความสำคัญในการชี้นำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (ธปท. จึงใช้เป็นเครื่องมือหลักในการควบคุมเสถียรภาพของเศรษฐกิจ) ส่วนต่างของดอกเบี้ยก็น่าจะมีความสำคัญเช่นกัน

2. ตัวเลขล่าสุดต่างชาติซื้อหุ้นสุทธิประมาณ 20,000 ล้านบาทจากต้นปี (โดยรวมการออกหุ้นใหม่ด้วย) แต่ต่างชาติถือพันธบัตรไทยเพิ่มขึ้น 150,000 ล้านบาท (จาก 700,000 ล้านตอนต้นปีมาเป็น 850,000 ล้านบาทตอนกลางเดือนเมษายน) การลงทุนในตลาดหุ้นนั้นจะเน้นปัจจัยพื้นฐานของประเทศเป็นหลัก (เพราะจะส่งผลให้กำไรบริษัทมากขึ้น) แต่การลงทุนในพันธบัตรนั้นจะเน้นผลตอบแทนจากดอกเบี้ย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าต่างชาติเลือกเพิ่มการลงทุนในพันธบัตรมากกว่าหุ้น 8 เท่าครับ
ที่มา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 29/4/56
[/size]
naijan
Verified User
โพสต์: 5011
ผู้ติดตาม: 1

Re: เรื่องค่าเงินบาทอีกครั้ง/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากๆครับ

------------------------
ปฏิบัติการปลดหนี้ สู่วิถีพอเพียง

http://thorfun.com/#chanchai/story/5159 ... bd24001056
โพสต์โพสต์