ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ค้นฟ้าคว้าดาว

กระบวนการที่ยากและสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการลงทุนแบบ VI ก็คือ การค้นหาหุ้นที่จะลงทุน เหตุผลก็คือ มีหุ้นที่เป็นบริษัทจดทะเบียนกว่า 500 บริษัท ที่ทำธุรกิจหลากหลายมากมาย บริษัทเหล่านี้อยู่ใน “ช่วงชีวิต” ต่าง ๆ เช่น กำลังเริ่มต้น เติบโต เติบโตเร็ว อิ่มตัว ตกต่ำ ซึ่งเราไม่รู้ นอกจากนั้น ราคาหุ้นของแต่ละบริษัทก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาซึ่งทำให้ความน่าสนใจของหุ้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเช่นกัน ดังนั้น การมองหาหุ้นที่จะเข้าไปศึกษาและลงทุนจึงเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลา ต่อไปนี้คือวิธีการหาหุ้นที่ VI รวมถึงผมมักจะใช้

วิธีแรกที่น่าจะง่ายที่สุดก็คือ การติดตามบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ โดยเฉพาะโบรกเกอร์หลาย ๆ แห่งที่จะมีการนำเสนอหุ้นที่ “น่าสนใจ” เป็นหุ้นที่เขาแนะนำให้ซื้อหรือบางครั้งแนะนำให้ซื้อ “อย่างแรง” วิธีนี้มีข้อดีก็คือ เราไม่ต้องไปหาให้เสียเวลา หุ้นถูกเสิร์ฟให้เราถึงที่ แต่ข้อเสียก็คือ เขามักจะวิเคราะห์และแนะนำเฉพาะหุ้นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาและมีสภาพคล่องในการซื้อขายมากพอ ซึ่งอาจจะมีหุ้นเพียง 200-300 ตัวเท่านั้นที่โบรกเกอร์ครอบคลุม ประเด็นก็คือ หุ้นที่เขาแนะนำให้ซื้อนั้น บ่อยครั้งมีราคาและปริมาณการซื้อขายปรับตัวขึ้นมาแล้ว ดังนั้น ความน่าสนใจก็จะลดลงเพราะราคาหุ้นแพงขึ้น ในบางกรณี โดยเฉพาะหุ้นที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อยและสภาพคล่องมีไม่มากนั้น ราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาสูงลิ่วแล้วก่อนที่เขาจะแนะนำ ดังนั้น การหาหุ้นจากวิธีการนี้ เราจะต้องระวังว่ามันอาจจะไม่ถูกในแง่ของ VI การเข้าไปซื้ออาจจะเป็นการ “เก็งกำไร” ก็ได้

วิธีที่สอง สำหรับคนที่ขยันและมีเวลา เช่น คนที่ “ลงทุนเป็นอาชีพ” อาจจะติดตามเข้าร่วมฟังรายการ “บริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน” หรือที่เรียกว่า “Opportunity Day” ที่มีการจัดที่ตลาดหลักทรัพย์เป็นประจำเกือบทั้งปี นี่คือรายการที่ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนจำนวนมาก มาบรรยายและให้ข้อมูลรวมทั้งตอบคำถามเกี่ยวกับบริษัทแก่นักลงทุน รายการนี้จึงเป็นช่องทางในการที่เราจะได้ข้อมูลค่อนข้างลึกเกี่ยวกับบริษัทรวมถึงในหลาย ๆ กรณี ได้พบกับผู้บริหารสูงสุดของบริษัทจดทะเบียนซึ่งบางคนบอกว่าจะได้ดู “โหงวเฮ้ง” ว่าน่าจะเป็นคนมีความสามารถและไว้ใจได้แค่ไหน และนั่นก็คือข้อดีของการไปหา ศึกษา และวิเคราะห์หุ้นจากงาน “อ็อปเดย์” อย่างไรก็ตาม ข้อเสียก็อาจจะมีเหมือนกัน นั่นคือ การไปฟังบริษัทมาก ๆ นั้น บางทีก็ทำให้เรา “เคลิ้ม” ได้เหมือนกัน กล่าวคือ บริษัทอาจจะให้แต่ภาพที่ดี ๆ และพยามพูดให้เราเชื่อว่าเขาดีกว่าปกติ เรา ที่มีความรู้น้อยกว่าก็จะคล้อยตามโดยที่ไม่ได้ไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่นเพิ่มและทำให้เราวิเคราะห์ผิดพลาดไปได้

ช่องทางที่สามในการหาหุ้นก็คือ การใช้ “ตะแกรงร่อนหุ้น” นี่คือการใช้ข้อมูลเชิงปริมาณในการคัดเลือกหุ้นที่มีผลประกอบการและงบการเงิน อัตราส่วนทางการเงิน อัตราส่วนที่แสดงความถูกความแพงของหุ้น มาเป็นตัวคัดกรองเพื่อที่จะศึกษาตัวหุ้นที่มีคุณสมบัติที่เราต้องการ ตัวอย่างเช่น บางคนจัดเรียงหุ้นที่มีค่า PE ต่ำที่สุดจนถึงหุ้นที่มีค่า PE สูงที่สุด จากนั้นจึงคัดเลือกเฉพาะหุ้นที่มีค่า PE ต่ำที่สุดไม่เกิน 20 ตัวเพื่อนำมาศึกษาต่อเป็นต้น หรือบางคนอาจจะมองบริษัทที่มีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูงที่สุดเป็นตะแกรงที่จะคัดกรองหุ้น เป็นต้น ข้อดีของแนวทางนี้ก็คือ มันทำได้อย่างรวดเร็วและค่อนข้างจะทั่วถึงคือเราจะไม่พลาดหุ้นที่มีคุณสมบัติที่น่าสนใจเลยเพราะมันทำโดยคอมพิวเตอร์ และหลังจากนั้นเราค่อยมาดูข้อมูลเป็นรายตัวว่าเราสนใจตัวไหนเป็นพิเศษ ส่วนข้อเสียก็คือ ข้อมูลที่เป็นเชิงปริมาณนั้น มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและมันไม่ได้บอกว่าอนาคตจะเป็นแบบนั้นต่อไปหรือไม่ และบางทีมัน “หลอก” ให้เราเข้าใจผิดในคุณสมบัติเชิงคุณภาพได้ ความยุ่งยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลาย ๆ คนรวมถึงผมด้วยนั้น ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะเขียนหรือรันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบนี้ได้

ช่องทางที่สี่ในการหาหุ้นลงทุนก็คือ การติดตามอ่านข่าวสารในหน้าข่าวธุรกิจและข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนและอาจจะมีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนอย่างมีนัยสำคัญ ว่าที่จริงผมหมายรวมถึงการดูและฟังจากสื่อทุกชนิด เพียงแต่การอ่านนั้นมักจะให้ข้อมูลที่มากและเร็วกว่าช่องทางอื่น นี่คือการ “อ่านเพื่อหาหุ้น” ไม่ใช่การอ่านผ่าน ๆ ความแตกต่างก็คือ เมื่อเราอ่านแล้วเราจะต้องคิดต่อว่าหุ้นกลุ่มไหนหรือตัวไหนจะได้ประโยชน์และตัวไหนจะเสียประโยชน์ บริษัทไหนจะชนะและบริษัทไหนจะแพ้ในระยะยาว เทรนด์ของธุรกิจไหนจะมาและอุตสาหกรรมไหนจะตกต่ำลง การหาหุ้นจากช่องทางนี้ เป็นการหาหุ้นที่ใช้เวลามากแต่ก็จำเป็น เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องของการหาหุ้นลงทุนใหม่ ๆ แล้ว มันยังเป็นเรื่องของการติดตามข้อมูลของหุ้นตัวเดิมที่ยังอยู่ในพอร์ตด้วยว่าเราควรถือต่อหรือขายทิ้ง

ช่องทางที่ห้าก็คือ การหาหุ้นโดยการถามหรือติดตามความเคลื่อนไหวของ “เซียนหุ้น” หรือบางทีเรียกว่า “CI” หรือ “เล่นหุ้นตามเซียน” นี่คือวิธีการหาหุ้นที่ง่ายและอาจจะให้ผลดี เพราะอย่างน้อยเขาก็คิดว่า ถ้า “เซียน” ซื้อหรือถือหุ้นไว้ หุ้นก็น่าจะดี เพราะเซียนนั้นก็คงต้องวิเคราะห์กันมาเป็นอย่างดีแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด เขาคิดว่าคงจะมีคนอื่นที่ซื้อหุ้นตามเซียนเหมือนกัน เพราะฉะนั้น หุ้นก็จะมีแรงซื้อมากและอาจจะทำให้หุ้นวิ่งขึ้นได้เร็วและแรงกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการหาหุ้นแบบนี้ก็คือ บ่อยครั้งเราไม่รู้ว่าเซียนนั้นซื้อหุ้นไว้ตั้งแต่เมื่อไร ต้นทุนของหุ้นที่ซื้อเป็นเท่าไร และเขาจะขายเมื่อไร ดังนั้น ในบางครั้ง เราอาจจะซื้อในราคาที่เกินกว่าพื้นฐานและเซียนที่ซื้อหรือถือไว้กำลังขาย ผลก็คือ เราอาจจะขาดทุนได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ บ่อยครั้ง เซียนก็อาจจะผิดได้ หรือบางทีเซียนที่เรากำลังตามอยู่นั้น อาจจะกำลัง “โฆษณา” หุ้นของตนเพื่อให้หุ้นเป็นที่น่าสนใจและมีราคาดีขึ้นก็ได้

ช่องทางที่หกของการหาหุ้นก็คือ การ “เดินตามห้าง” นี่ก็คือการสังเกตและ “สัมผัส” ความเป็นไปของธุรกิจจริง ๆ ใน “สนาม” ไม่ใช่ดูจากรายงานในหน้ากระดาษหรือบนจอคอมพิวเตอร์ คำว่าเดินตามห้างนั้น รวมไปถึงสถานที่ทุกแห่งที่เราเข้าหรือผ่านไปเพื่อทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ไปซื้อหรือใช้บริการต่าง ๆ ข้อดีของการหาหุ้นแบบนี้ก็คือ เราจะได้ข้อมูลที่หาไม่ได้จากงบการเงินนั่นก็คือ ความแข็งแกร่ง ความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และ แนวโน้มของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของการเติบโตของกิจการและตัวหุ้น ข้อควรระวังสำหรับการหาหุ้นแนวทางนี้ก็คือ อย่าใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นเครื่องตัดสินสินค้าหรือตัวบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไม่ใช่ลูกค้าเป้าหมายของเขา

สุดท้ายก็คือ การดูข้อมูลจากกิจกรรมการซื้อขายของตัวหุ้นเอง เช่น การซื้อหรือขายของผู้บริหารบริษัท หรือปริมาณการซื้อขายของหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของตัวหุ้น นี่อาจจะเป็นสิ่งที่บอกว่า คนที่ “รู้เรื่องดี” กำลังทำอะไรอยู่ ข้อมูลชิ้นนี้อาจจะกระตุ้นให้เราไปศึกษาตัวหุ้นเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตาม ก็เช่นเดียวกับข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้บริหารหรือเซียนหุ้นรายใหญ่ เราจะต้องระวังว่ามันอาจจะเป็นข้อมูลที่ถูกปล่อยออกมาเพื่อที่จะ “ลวง” ให้นักลงทุนหลงก็ได้
ภาพประจำตัวสมาชิก
MINI_BKK
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 149
ผู้ติดตาม: 0

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณครับ :P
ภาพประจำตัวสมาชิก
Financeseed
Verified User
โพสต์: 1304
ผู้ติดตาม: 1

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณครับ
sipoonya
Verified User
โพสต์: 469
ผู้ติดตาม: 0

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณครับ
iruma
Verified User
โพสต์: 60
ผู้ติดตาม: 0

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

กระบวนการค้นหาหุ้น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

วิธีหาหุ้นที่จะเล่นหรือลงทุนของนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นนั้นผมเชื่อว่าหาจากกระดานหุ้น นั่นก็คือดูว่าถ้าหุ้นตัวไหนกำลังมีราคาปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วหรือกำลัง “วิ่ง” และมีคนสนใจซื้อขายหรือ “เล่น” กันมาก เขาก็จะเข้าไปร่วมซื้อขายด้วย บางคนเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า “แมงเม่า” คือพอ “ไฟติด” ก็จะแห่กันเข้ามาเล่นโดยไม่ต้องรู้ว่าบริษัทนั้นทำอะไร มียอดขายหรือกำไรเท่าไร ว่าที่จริง รู้ไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเขาซื้อเพื่อที่จะขายในอีกไม่กี่นาที หรือไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า หรือไม่ก็พรุ่งนี้หรือไม่เกิน 3-4 วัน

คนอีกจำนวนไม่น้อย เมื่อเห็นกิจกรรมข้างต้นเขายังไม่ผลีผลามเข้าไปร่วมวงเพราะกลัว “ติดกับ” ของ “ขาใหญ่” หรือ “นักปั่น” ดังนั้นเขาศึกษาหาความรู้ เฉพาะอย่างยิ่ง จากหนังสือพิมพ์ธุรกิจและหนังสือวารสารเกี่ยวกับหุ้น อ่านข่าวต่าง ๆ คอมเม้นต์ทั้งหลายเกี่ยวกับหุ้นตัวนั้น รวมถึงการศึกษาจากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ ถ้าพบว่าข้อมูลส่วนใหญ่สนับสนุนว่าเป็นหุ้นที่น่าลงทุนเขาถึงจะเข้าไปเล่น แต่ถ้าหากว่าภาพออกมาเป็นหุ้นปั่นหรือหุ้นเก็งกำไร เขาก็จะถอยหรือไม่ก็รอดูจังหวะที่จะเข้าเมื่อเวลาเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการที่หุ้นร้อนเหล่านั้นตกลงมา “ต่ำสุด ๆ” ด้วยเหตุผลบางอย่างซึ่งเขาอาจเข้าไปช้อนเพื่อขายทำกำไรระยะสั้น ๆ

คนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งน่าจะรวมถึงนักลงทุนสถาบันทั้งหลาย นอกจากจะศึกษาติดตามข้อมูลตามวรรค 2 แล้วก็ยังเจาะลึกเข้าไปถึงผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน ผลิตภัณฑ์ และผู้บริหารของบริษัท เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าหุ้นเป้าหมายที่จะลงทุนนั้นมีคุณสมบัติที่เหมาะสมและราคาไม่แพงเกินไป การลงทุนซื้อขายหุ้นของคนกลุ่มนี้ต้องการจะอิงพื้นฐานของกิจการ และไม่ใช่การเก็งกำไร แต่ต้องการถือหุ้นที่เป็นการลงทุนระยะปานกลางถึงยาว ความหมายของเขาก็คือเป็นเดือน ๆ แต่ก็พร้อมจะขายทำกำไรทุกเมื่อถ้าได้กำไรในระดับ 10-20% และก็พร้อมจะขายตัดขาดทุนเหมือนกันถ้าหุ้นตกเพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

คนกลุ่มเล็ก ๆ อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งน่าจะเรียกว่า Value Investor ได้ ชอบที่จะหาหุ้นโดยมองจากผลประกอบการและฐานะการเงินของบริษัท เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ถ้าบริษัทมีกำไรโตพรวด มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และมีการจ่ายปันผลในอัตราที่ดีหรือดีมากเมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่ซื้อลงทุน ก็จะได้รับความสนใจอย่างสูง และถ้าหากราคาที่วัดโดยค่า PE ค่อนข้างต่ำด้วยละก็ ใช่เลย! เรื่องของราคาหุ้นหรือสภาพคล่องในการซื้อขายแทบจะไม่ใช่ประเด็นด้วยซ้ำสำหรับหลาย ๆ คนในกลุ่มนี้ เพราะเขาพร้อมที่จะถือยาวในระดับ 1-2 ปีขึ้นไปเพื่อรอกินปันผลโดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจ

ผมเองไม่สนับสนุนวิธีการมองหาหุ้นจากตัวเลข ไม่ว่าจะหาจากกระดานหุ้นหรือจากงบกำไรขาดทุนของบริษัท แม้ว่าตัวเลขอาจจะเป็นจุดที่ “สะกิดใจ” ให้เริ่มสนใจและหาข้อมูลต่อ แต่การใช้ตัวเลขเป็นเครื่องมือในการสรุปว่าจะซื้อหุ้นหรือไม่นั้นผมคิดว่าไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในการลงทุนระยะยาวผมคิดว่าปัจจัยทางด้านคุณภาพมีความสำคัญเท่า ๆ กับหรือมากกว่าปัจจัยเชิงปริมาณ ดังนั้น ผมคิดว่าวิธีในการมองหาหุ้นที่จะลงทุนน่าจะมาจากปัจจัยเชิงคุณภาพ ปัจจัยทางด้านของแนวความคิดเชิงพรรณนา ส่วนตัวเลขต่าง ๆ นั้น เป็นขั้นตอนต่อไปที่จะต้องดูเพื่อที่จะช่วยยืนยันว่าความคิดหรือปัจจัยทางด้านคุณภาพนั้นน่าจะถูกต้อง

ดังนั้นเวลาคิดจะหาหุ้นลงทุน ผมจึงมักจะเริ่มมองจากตัวอุตสาหกรรม ตัวสินค้า การแข่งขันของธุรกิจในอุตสาหกรรม วิธีทำเงินของธุรกิจนั้น เสร็จแล้วก็ดูว่าใครคือ “ผู้ชนะ” และชัยชนะนั้นค่อนข้างมั่นคงต่อเนื่องยาวนานหรือไม่ จากนั้นจึงมาดูตัวเลขการทำกำไรและฐานะการเงิน รวมถึงบรรษัทภิบาลของผู้บริหารบริษัท สุดท้ายก็คือเรื่องของราคาหุ้นว่าเหมาะสมไหม ซึ่งรวมถึงการดูค่า PE PB และ Market Cap หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัท และสุดท้ายจริง ๆ ถ้าจะดูก็คือ กิจกรรมของการซื้อขายหุ้นจริง ๆ บนกระดาน ซึ่งผมมักจะหวังที่จะได้เห็นหุ้นที่นิ่ง ๆ ไม่ค่อยมีคนสนใจ และโบรกเกอร์ไม่ค่อยได้ติดตาม เพราะผมอยากเป็นคนแรก ๆ ที่เห็นคุณค่าของมันก่อนที่ตัวเลขเชิงปริมาณของบริษัทจะออกมาและดึงดูดให้คนอื่น ๆ เข้ามาเล่น

ข้อสรุปในการค้นหาหุ้นที่จะลงทุนระยะยาวของผมก็คือ การทำสวนทางกับคนส่วนใหญ่ นั่นคือผมให้ความสำคัญกับตัวสินค้าหรือบริการและฐานะทางการตลาดของบริษัทก่อนผลกำไรหรือฐานะทางการเงิน ในขณะที่คนจำนวนมากชอบมองตัวเลขและซื้อขายหุ้นโดยอิงตัวเลขเป็นหลัก ผมคิดว่าความแตกต่างในแนวความคิดคงจะมาจากระยะเวลาเป้าหมายของการลงทุน เพราะในขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า 1 ปีเป็นเวลาที่ยาวมาก ผมกลับคิดว่า 1 ปีคือระยะสั้น ขณะที่ระยะยาวแปลว่าต้องประมาณ 5 ปีขึ้นไป ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือคนจำนวนมากไม่สามารถทำความเข้าใจกับตัวผลิตภัณฑ์ได้ จึงมักมองที่ตัวเลข ผมเองก็ไม่ได้รู้จักกับผลิตภัณฑ์มากมายโดยเฉพาะที่เป็นวัตถุดิบหรือสินค้าอุตสาหกรรม ดังนั้นผมจึงมักเลือกลงทุนในสินค้าที่อยู่ใกล้ตัวที่ผมรู้จักดีโดยเฉพาะเป็นสินค้าที่ผมสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน


source : http://www.mfcwebactivity1.com/www/team ... text08.htm
ภาพประจำตัวสมาชิก
chukieat30
Verified User
โพสต์: 3531
ผู้ติดตาม: 4

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ช่องทางที่หกของการหาหุ้นก็คือ การ “เดินตามห้าง” นี่ก็คือการสังเกตและ “สัมผัส” ความเป็นไปของธุรกิจจริง ๆ ใน “สนาม” ไม่ใช่ดูจากรายงานในหน้ากระดาษหรือบนจอคอมพิวเตอร์ คำว่าเดินตามห้างนั้น รวมไปถึงสถานที่ทุกแห่งที่เราเข้าหรือผ่านไปเพื่อทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ไปซื้อหรือใช้บริการต่าง ๆ ข้อดีของการหาหุ้นแบบนี้ก็คือ เราจะได้ข้อมูลที่หาไม่ได้จากงบการเงินนั่นก็คือ ความแข็งแกร่ง ความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และ แนวโน้มของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของการเติบโตของกิจการและตัวหุ้น ข้อควรระวังสำหรับการหาหุ้นแนวทางนี้ก็คือ อย่าใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นเครื่องตัดสินสินค้าหรือตัวบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไม่ใช่ลูกค้าเป้าหมายของเขา

ขอบคุณครับ

ผมมองสไตล์ท่านอาจารย์ จะแบบที่6 และเลือกกิจการที่ เน้น ผู้ชนะ

ัและการลงทุนสไตล์ท่านอาจารย์ จะเน้น คุณภาพ

มากกว่าตัวเลขซึ่งบางทีตัวเลขในตะแกรงร่อน ก้อาจจะบอกไม่ได้

ดังนั้น

ปัจจัยด้านคุณภาพต้องมาพร้อมๆกับตัวเลขที่ดีในตะแกรงร่อน
ภาพประจำตัวสมาชิก
chukieat30
Verified User
โพสต์: 3531
ผู้ติดตาม: 4

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ช่องทางที่สี่ในการหาหุ้นลงทุนก็คือ การติดตามอ่านข่าวสารในหน้าข่าวธุรกิจและข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนและอาจจะมีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนอย่างมีนัยสำคัญ ว่าที่จริงผมหมายรวมถึงการดูและฟังจากสื่อทุกชนิด เพียงแต่การอ่านนั้นมักจะให้ข้อมูลที่มากและเร็วกว่าช่องทางอื่น นี่คือการ “อ่านเพื่อหาหุ้น” ไม่ใช่การอ่านผ่าน ๆ ความแตกต่างก็คือ เมื่อเราอ่านแล้วเราจะต้องคิดต่อว่าหุ้นกลุ่มไหนหรือตัวไหนจะได้ประโยชน์และตัวไหนจะเสียประโยชน์ บริษัทไหนจะชนะและบริษัทไหนจะแพ้ในระยะยาว เทรนด์ของธุรกิจไหนจะมาและอุตสาหกรรมไหนจะตกต่ำลง การหาหุ้นจากช่องทางนี้ เป็นการหาหุ้นที่ใช้เวลามากแต่ก็จำเป็น เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องของการหาหุ้นลงทุนใหม่ ๆ แล้ว มันยังเป็นเรื่องของการติดตามข้อมูลของหุ้นตัวเดิมที่ยังอยู่ในพอร์ตด้วยว่าเราควรถือต่อหรือขายทิ้ง

ขอยกข้อนี้ท่านอาจารย์มาครับ

เคสนี้ เคยมีคนถามผมว่า เป็นการหาหุ้นแนวVI ด้วยหรือ

ผมก้ถามกลับว่า KISS เป็นหลักการคิดของ VI ด้วยไหมหล่ะ

การมองหาคนที่จะได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ก้ต้องเข้าใจกิจการนั้นๆ

ว่าจะได้ ประโยชน์ จริงๆๆ หรือเสียประโยชน์จริงๆ

การมองแบบ Keep it simple and stupid ก้ถือว่า


เป็นการคัดหุ้นเพื่อลงทุนทางหนึ่งครับ

ขอบคุณบทความดีๆๆของท่านอาจารย์ครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
kongkiti
Verified User
โพสต์: 5830
ผู้ติดตาม: 19

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 8

โพสต์

ขอบคุณ mod และ ท่าน อ. ครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
theerasak24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 621
ผู้ติดตาม: 1

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 9

โพสต์

ขอบพระคุณครับสำหรับคำแนะนำที่ดีเสมอมา
ภาพประจำตัวสมาชิก
crazyrisk
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 4562
ผู้ติดตาม: 40

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 10

โพสต์

ผมว่า บทความช่วงหลังๆของ ดร.

น่าจะเอาไปทำ series

"เคล็ด(ไม่)ลับ เซียนหุ้นพันล้าน" ได้เลยนะครับ

เพราะ แต่ละแนว รวมเอา แนวทาง หรือวิธีการ ลงทุนในหุ้น
แบบตกผลึกแล้ว มาสรุปให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆ..

แนะนำว่า ใครเป็นมือใหม่ อ่านทวนบ่อยๆ จะ ขึ้นชั้นได้เร็วมากครับ
"Champions aren't made in gyms. Champions are made from something they have deep inside them: A desire, a dream, a vision.
kong_kang69
Verified User
โพสต์: 196
ผู้ติดตาม: 0

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 11

โพสต์

อ่านง่าย เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ครับ
อาจารย์ ยังคงเป็น อันดับ1 สำหรับผม ตลอดมาและตลอดไปครับ

ขอบคุณมากครับ
monsoon
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 597
ผู้ติดตาม: 36

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 12

โพสต์

เด็ดขาด ครบถ้วน ชัดเจน ครับอาจารย์^^
yoko
Verified User
โพสต์: 4395
ผู้ติดตาม: 8

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 13

โพสต์

ผมเป๊นพวกช่องทางที่สามครับ ผมดูตัวเลขน่าสนใจแล้วผมก็ไปอ่านในร้อยคนร้อยหุ้น


แล้วรอจังหวะเวลาซื้อครับ
SW27
Verified User
โพสต์: 150
ผู้ติดตาม: 0

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 14

โพสต์

ขอบคุณครับ : )
ภาพประจำตัวสมาชิก
Giroro
Verified User
โพสต์: 107
ผู้ติดตาม: 0

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 15

โพสต์

สุดยอดมากครับ. เป็นบทความที่ครบถ้วน ใช้งานได้จริง
Wizardnight
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 19
ผู้ติดตาม: 1

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 16

โพสต์

อยากตกผลึกด้านการลงทุนแบบอ.บ้างจัง
โพสต์โพสต์