การเงิน 6 มิติ /เทพ รุ่งธนาภิรมย์/Settrade Blog

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
ily
Verified User
โพสต์: 266
ผู้ติดตาม: 0

การเงิน 6 มิติ /เทพ รุ่งธนาภิรมย์/Settrade Blog

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Wednesday, 4 February 2009
009 : การเงิน 6 มิติ
« 008 : ความเสี่ยงของหุ้น | Main
ในบทความเรื่องการสร้างความมั่งคั่ง ผมได้พูดถึง  เรื่องของเงินอยู่ 4 ข้อ คือ
หาเงิน
ใช้เงิน
เก็บเงิน
ทำเงิน
       โดยผมได้เขียนไว้ว่า  หากมีการจัดการที่ดีใน 4 ข้อดังกล่าวคนธรรมดาที่มีความตั้งใจย่อมสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองได้ เพราะเมื่อขยันหาเงินก็ทำให้มีรายได้ไม่ว่าจะมาจากรายได้ประจำ หรือรายได้พิเศษ ก็ถือว่าประสบกับความสำเร็จของชีวิตเบื้องต้นแล้ว
       คนที่หาเงินด้วยตัวเองไม่ได้ เป็นคนน่าสงสาร  ชีวิตจะมีแต่ความลำบากแม้ในตอนแรก อาจอยู่ได้เพราะมีพ่อแม่คอยเลี้ยง หรือมีมรดกไว้จับจ่ายใช้สอย แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ประกันว่าจะอยู่ได้ตลอดไม่ช้าก็มีวันหมด
       ดังนั้น คนจึงต้องพึ่งตนเอง ต้องหัดหารายได้ด้วยแรงกายแรงใจของตน อย่ามัวคิดพึ่งแต่คนอื่น
ทีนี้พอมีรายได้เข้ามาแล้ว ต้องเรียนรู้เทคนิคการใช้เงิน ซึ่งผมเคยบอกสูตรลับไปแล้วว่าต้องใช้เงินไม่เกิน 9 ส่วนของเงินที่หาได้ เหลือไว้ 1 ส่วนเพื่อเก็บออมไว้
        บางคนสงสัยว่าทำไมต้องเก็บไว้ 10% ขอเรียนว่าผมปฏิบัติตามที่อ่านจากหนังสือชื่อ The Richest Man in Babylon มีผู้แปลเป็นไทยว่าเศรษฐีชี้ทางรวย ซึ่งถือเป็นคำแนะนำที่มีค่าอย่างยิ่งยวดต่อผม
        เนื่องจากว่าก่อนหน้าจะพบกับหนังสือเล่มนี้ ผมไม่เคยมีเงินถึงล้านบาทเลย จึงเรียกตัวเองเป็น Millionaire ไม่ได้
พอได้อ่านหนังสือเล่มจิ๋วนี้แล้ว ผมจึงถึงบางอ้อว่าทำไมจึงไม่มีเงินเป็นกอบเป็นกำ สาเหตุมาจากผมรู้เรื่องการเงินเพียง 2 ข้อ คือ หาเงิน แล้วก็ใช้เงิน
        ผมโชคดีในเรื่องหาเงิน ได้ทำงานกับสถาบันการเงินที่มีความมั่นคงและชื่อเสียงดีมาก เงินเดือนก็เริ่มต้นจากหลักพันจนกลายเป็นหลักแสน ทำให้ผมคิดไปว่าชีวิตมีแต่ความมั่นคงและปลอดภัย ได้เงินมาเท่าไรก็ใช้หมด (เพราะประมาทเกินไป)
        เมื่อได้ความรู้จากหนังสือแล้ว ผมก็เริ่มนำมาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง ด้วยการเก็บเงินไว้อย่างน้อย 10%ของเงินเดือน ทำๆไปปรากฏว่าผม เก็บเงิน ได้มากขึ้นเรื่อยๆ
        จึงเริ่มคิดลงทุนในตลาดหุ้น เพราะคิดว่าการลงทุนจะทำให้เงินที่เก็บไว้ เพิ่มขึ้นได้รวดเร็วขึ้น
        นี่คือสาเหตุที่ผมผิดพลาดไป (ประมาทซ้ำสอง) เพราะในช่วงนั้น  ผมลงทุนซื้อหุ้นตามคำเชียร์
พอใครบอกหุ้นตัวไหนจะขึ้น ก็ซื้อเลย หากหุ้นขึ้นจริง ก็ดีใจ  เก็บไว้ดูตัวเลขกำไรอย่างมีความสุข แต่พอหุ้นลง  กำไรในกระดาษก็หายวับ มีแต่ผลขาดทุน ทำให้เกิดความทุกข์ จนเกิดความกลัวต่อตลาดหุ้น
        ครั้นมาเจอหนังสือ  Rich Dad เข้า ก็ได้ความคิดว่า การลงทุนในตลาดหุ้น มีโอกาสทำให้มีเงินเพิ่มได้ แต่ต้องศึกษาข้อมูล และต้องมีความรู้ทางการเงิน ผมจึงเริ่มค้นหาหุ้นที่ให้เงินปันผล เพราะต้องการให้เงินที่ออมไว้ ไปลงทุนในหุ้นที่จะให้รายได้ดอกผล ดังนั้นหุ้นปันผลจึงเป็นคำตอบที่ผมต้องการ
เป็นการใช้เงินไปทำเงิน
       ไม่น่าเชื่อว่า การเงินทั้ง 4 ข้อ คือ หาเงิน ใช้เงิน เก็บเงิน และทำเงิน จะสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะมันเป็นเรื่องพื้นๆที่ง่ายแสนง่าย แต่เพียงเพราะในตอนแรกผมไม่เข้าใจถึงพลังอำนาจของการเก็บเงิน จึงทำให้ผมไม่มีโอกาสแตะเงินล้านได้เลย
        ในทางตรงข้าม ผมมีเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง เธอแปลกใจมากที่ทราบว่า  แต่ก่อนผมเก็บเงินไม่เป็นเพราะเธอเองนั้นถูกสอนจากผู้ใหญ่ว่า เวลาได้รับเงินมาต้องเก็บส่วนหนึ่งไว้เสมอ เธอจึงมีเงินออมอยู่ในเกณท์สูง แม้ว่ารายได้เธอจะน้อยกว่าผมอีก แต่เพราะเธอตั้งใจเก็บเงินไว้ให้มากที่สุด และที่เธอทำได้เพราะเธอควบคุมการใช้เงินของเธออย่างเข้มงวด
ตรงนี้สำคัญมาก เพราะไม่ว่าคนเราจะมีรายได้มากหรือน้อยเพียงใด ถ้ามีความตั้งใจเก็บเงินไว้  ด้วยการใช้เงินอย่างยั้งคิด จะมีเหลือนำไปลงทุนทำเงินได้เสมอ แต่ถ้าใช้จ่ายอย่างไม่บันยะบันยัง ดีไม่ดี ใช้จ่ายเกินตัว ทำให้ต้องมีเรื่อง เงินเข้ามาเกี่ยวข้องอีก 2 มิติคือ กู้เงิน    และ   คืนเงิน
        การกู้เงินมีทั้งประโยชน์และโทษ ผมเองก็เคยกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน และเคยเก่งขนาดกู้เงินมาลงทุนในตลาดหุ้น ประโยชน์ของเงินกู้มีมาก ถ้าเลือกกู้เพื่อซื้อในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ที่สำคัญคืออย่ากู้มากจนเกินกำลังที่จะผ่อนใช้คืน
        ผมมีตัวอย่างครับ คือตัวผมได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อซื้อบ้านเมื่อ 30 ปีก่อนในราคา 450,000 บาท
ตอนนี้ประเมินใหม่มีมูลค่าหลายล้าน ที่ต้องกู้เงินซื้อ เพราะไม่มีปัญญาซื้อบ้านด้วยเงินสด จึงต้องกู้เงินมาจ่ายค่าบ้าน แต่ผมก็สามารถใช้คืนเงินกู้ได้หมด แม้จะนานเป็น 10 ปีก็ตาม
        ที่ผมสามารถจ่ายคืนเงินกู้ได้ เพราะทุกๆเดือน  ผมจะกันเงินไว้ 20%ของเงินเดือนเพื่อผ่อนชำระคืน ทำให้ผมเหลือเงินใช้จ่ายเพียง 80% ซึ่งก็เป็นการดี  ทำให้ผมถูกฝึกให้มีนิสัยอดออม และพออ่านเรื่องเศรษฐีชี้ทางรวยผมก็ตั้งใจออมไว้อีก 10% กลายเป็นใช้จ่ายเพียง 70% ซึ่งก็น่าแปลกที่ผมและครอบครัวอยู่รอดมาได้
        การกู้เงินมีประโยชน์ทำให้ผมมีบ้านของตนเอง ถ้ามัวแต่รีรอ ไม่กู้เงินซื้อตอนนั้น ป่านนี้ก็ยิ่งไม่มีโอกาส เพราะราคาบ้านขึ้นไปหลายเท่าตัว
        แต่เรื่องที่ผมกู้มาซื้อหุ้นนั้น พูดแล้วยังหวาดเสียวไม่หาย คือผมกู้ธนาคารในรูป O/D หรือเงินเบิกเกินบัญชี แล้วก็ใช้เงิน O/D ไปซื้อหุ้นตัวที่คิดว่าเจ๋ง ใหม่ๆก็ดูดีเพราะหุ้นขึ้น   ขายได้กำไรก็โปะเข้าบัญชี O/D เพื่อลดยอด
        โชคชะตาไม่เข้าข้างผมตลอด เพราะต่อมาหุ้นลง ผมก็ขาดทุน ยอดบัญชีก็ค้างเติ่ง ทุกๆเดือนเห็นยอดดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายแล้วจะเป็นลมตาย สุดท้าย ตัดสินขายหุ้นทั้งหมดทิ้ง เอาเงินไปลดหนี้ได้บางส่วน ที่เหลือใช้วิธีลดค่าใช้จ่ายรายเดือนลง กัดฟันเอาเงินลดหนี้ O/D ใช้เวลาหลายปีกว่ายอดจะเป็นศูนย์ เป็นประสบการณ์ที่น่ากลัวมาก
        จึงขอสรุปว่า  เรื่องการเงินส่วนบุคคล เป็นของไม่ยาก มีแค่ 6 มิติเท่านั้นคือ
            หาเงิน
               ใช้เงิน
               เก็บเงิน
               ทำเงิน
               กู้เงิน
               คืนเงิน
         ถามว่าข้อไหนสำคัญที่สุด? ผมคิดว่าสำคัญทุกข้อ แต่ถ้าอยากมีชีวิตที่สบาย ต้องพยายามให้กระแสเงินจากการทำเงินมียอดสูงกว่าการใช้เงิน และถ้าเป็นได้อย่าพยายามกู้เงินเยอะเกินไป ถ้าไม่แน่ใจว่าจะสามารถใช้คืนได้ ทำได้อย่างนี้ การเงินก็จะเป็นผู้รับใช้เราครับ



เทพ รุ่งธนาภิรมย์
ภาพประจำตัวสมาชิก
ball048
Verified User
โพสต์: 107
ผู้ติดตาม: 0

การเงิน 6 มิติ /เทพ รุ่งธนาภิรมย์/Settrade Blog

โพสต์ที่ 2

โพสต์

:D  :D  :D
กำลังฝึกให้ปอดแข็งแรงอยู่ครับ
ily
Verified User
โพสต์: 266
ผู้ติดตาม: 0

การเงิน 6 มิติ /เทพ รุ่งธนาภิรมย์/Settrade Blog

โพสต์ที่ 3

โพสต์

การเงิน - การลงทุน : การเงินส่วนบุคคล
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2552 00:00ทั่วเอเชียฮือออมเงิน-รัดเข็มขัดโดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


วิกฤติเศรษฐกิจที่แผ่ความน่ากลัวปกคลุมไปทั่วโลก จนปลุกให้กระแสความตื่นตัวในการออมเงิน และรัดเข็มขัดกำจัดค่าใช้จ่ายขึ้นทันตา

ไม่ว่าจะเป็นผลสำรวจจากค่ายหรือสำนักไหนก็ตาม จะพบว่าคนทั่วโลก กำลังเกาะกระแสความตื่นตัวในการประหยัด และออมเงินกันอย่างจริงจังมากขึ้น

โดยเฉพาะผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก รัดเข็มขัด ตั้งเป้าเก็บเงินออมเฉลี่ย 11-20% ของรายได้ในปีหน้า ถ้าติดตามข่าวสารข้อมูลก็จะพบว่า กระแสรับมือวิกฤติเศรษฐกิจแรงจริงๆ

O"คนโสด-ผู้ชาย" มุ่งมั่นออม
ผลการสำรวจของมาสเตอร์การ์ดล่าสุด พบว่า กระแสการตื่นตัวมีมากจริงๆ ซึ่งการสำรวจผู้บริโภคจาก 14 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และไทย พบว่าผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกถึง 87% ที่เห็นว่า การเก็บออมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และเตรียมวางแผนเก็บเงินออมมากขึ้น

สำหรับคนไทย ผลสำรวจระบุว่า 89.5% ของคนไทยเห็นว่าการออมสำคัญมากสำหรับพวกเขา ซึ่งจะเห็นว่า สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก มีเพียงประมาณ 1.75%เท่านั้น ที่คิดว่าสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องออมเลย  ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 8.75% รู้สึกเฉยๆ

และหากมองแยกลงไปถึงเพศ จากเดิมที่เราเข้าใจกันว่า หญิงไทยออมเงินเก่งกว่าชายไทย แต่จากผลสำรวจล่าสุดพบว่า  ฝ่ายชายไทยตื่นตัวในการออมเงินมากกว่าฝ่ายหญิง ซึ่งสวนทางกับเกณฑ์เฉลี่ยในเอเชียแปซิฟิก ที่ผู้หญิงยังคงให้ความสำคัญกับการออมมากกว่า  และคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปี ให้ความสำคัญในการออมเงินมากกว่าคนที่อายุมากกว่า 30 ปี

ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ คนโสดให้ความสำคัญในการออมเงินมากกว่าคนที่มีครอบครัว  สวนทางกับเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศในเอเชียแปซิฟิก ที่คนมีครอบครัวจะให้ความสำคัญในการออมมากกว่าคนโสด

แต่ถ้าแยกแยะตามระดับรายได้ของคนไทย จะพบว่ากลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์ หรือราว 350,000 บาทต่อปี สนใจการเก็บออมมากกว่า กลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 ดอลลาร์ หรือราว 1,050,000 บาทต่อปี

Oคนไทยออมเผื่อฉุกเฉินมากกว่าภูมิภาค
ผลจากการสำรวจพบว่าการเก็บออมเงินเผื่อฉุกเฉิน เป็นแรงจูงใจหลักสำหรับผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกประมาณ 66%  น้อยกว่าคนไทยที่มีการเก็บออมเผื่อฉุกเฉินเกือบ 81% ด้านคนเวียดนามมีการเก็บออมเพื่อรับมือกับเรื่องฉุกเฉินน้อยที่สุด  หรือประมาณ 48% เท่านั้น

แน่นอนว่าสำหรับคนไทย  ฝ่ายหญิงจะให้น้ำหนักกับการเก็บออมเผื่อฉุกเฉินมากกว่าฝ่ายชาย ขณะที่คนโสดก็คำนึงถึงเรื่องนี้มากกว่าคนมีครอบครัว ส่วนคนที่อายุต่ำกว่า 30 ก็ให้ความสำคัญกับการออมเผื่อฉุกเฉินกันมาก

"ดร. ยุวะ เฮ็ดริก หว่อง" ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ กล่าวว่า การที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการเก็บออมเงินมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจของผู้บริโภคที่มีต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจ และสิ่งนี้เองจะเป็นตัววัดว่าผู้บริโภคจะใช้จ่ายมากขึ้นหรือน้อยลงในปีหน้า

"การเก็บออมยังส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยที่การใช้จ่ายด้านการรับประทานอาหาร กิจกรรมบันเทิง และการเดินทางแบบส่วนตัว ยังคงเป็นสิ่งที่คาดว่าผู้บริโภคจะใช้จ่ายมากที่สุดแล้ว ขณะที่คาดว่าการใช้จ่ายด้านรถยนต์ และด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่จะน้อยที่สุดหรือแทบไม่มีเลย

Oคนไทยเก็บเงินเพื่อลงทุนเป็นหลัก
นอกจากการเก็บออมเผื่อฉุกเฉินจะเป็นเหตุผลหลักในการเก็บออมแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ รองลงมา ได้แก่ การเก็บออมเผื่อเกษียณ การเก็บออมเพื่อการลงทุน  และการเก็บออมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์

ผลสำรวจชี้ชัดว่า คนไทยเก็บเงินไว้เพื่อลงทุนเป็นหลัก หรือประมาณ 44% มากกว่าเก็บออมเพื่อเกษียณอายุที่ 38% และออมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ 20%  โดยเป็นผลสำรวจที่ไม่สอดรับกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเท่าไหร่  ที่เน้นออมเพื่อเกษียณอายุมากกว่า ออมเพื่อการลงทุนและเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์

สำหรับคนไทยนั้น  ความน่าสนใจอยู่ที่  ถ้าคนอายุน้อยกว่า 30 มักจะเน้นออมเงินเพื่อการลงทุนมากกว่าอย่างอื่น ถัดมาเป็นการออมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่มากกว่าออมเงินเพื่อเกษียณอายุ  สะท้อนให้เห็นว่าคนวัยนี้ ให้ความสำคัญกับการออมเงินเพื่ออนาคตน้อยกว่าปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นคนที่อายุมากกว่า 30 จะเน้นให้ความสำคัญกับการออมเงินเพื่อเกษียณมากถึง 45%

ขณะที่คนไทยที่ครองโสด ก็เน้นออมเงินเพื่อการลงทุนมากกว่า ที่จะออมเพื่อการเกษียณ  แต่กลุ่มที่แต่งงานแล้วจะจะออมเพื่อเกษียณและออมเพื่อลงทุนในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน

Oส่วนใหญ่ออมไม่เกิน 10%
ผลการสำรวจความสามารถของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด ก็จะพบว่า สัดส่วนที่คาดว่าจะมีการออมในระยะ 12 เดือนข้างหน้านั้น  มีประมาณ 29% ที่คิดว่าออมได้ไม่เกิน 10%ของรายได้   ถัดมา 24% คือส่วนที่คิดว่าจะออมประมาณ 11-20% ของรายได้ มีเพียง 8% เท่านั้นที่คิดว่าจะไม่มีการเก็บออม

"นิวซีแลนด์   ออสเตรเลีย เกาหลี  และฟิลิปปินส์  เป็นกลุ่มประเทศที่ผู้บริโภคคาดว่าจะเก็บออมได้น้อยที่สุด และอาจไม่เก็บออมเลยในปีนี้  และผู้บริโภคในเวียดนาม    ไต้หวัน  สิงคโปร์  ฮ่องกง และจีน คาดว่าจะเก็บออมกว่า 30% ของรายได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า  โดยมีผู้บริโภคในภูมิภาคเพียง 13% ที่คิดว่าการเก็บออมไม่สำคัญ เหตุผลที่ตอบ เพราะเหตุผลแรก คือ ไม่ได้มีรายเพียงพอที่จะเก็บออม สอง คือ เชื่อว่าควรจะใช้ชีวิตตอนนี้ให้มีความสุขมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสุดท้ายคือ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องรายได้ จึงไม่จำเป็นต้องเก็บออม"

สำหรับคนไทยนั้น เกือบ 50% คิดว่าสามารถออมได้ไม่เกิน 10% ของรายได้  ออมประมาณ 11-20% มีประมาณ 22% และออม 21-30% มีประมาณของรายได้มีประมาณ 16.5%

และไม่ว่าจะเป็นเพศไหน กลุ่มอายุน้อยหรือมากกว่า 30 ปี สถานะโสดหรือแต่งงาน  มีรายได้มากหรือน้อยก็ตาม  ผลสำรวจชี้ชัดว่าคนไทยออมเงินโดยเฉลี่ยไม่เกิน 10% ของรายได้กันเป็นส่วนใหญ่

Oประหยัดค่าเดินทาง
จากค่าใช้จ่ายหลากหลายประเภทนั้น  ผลสำรวจได้รวบรวมลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่าย 3 ลำดับแรกมาแจกแจง ซึ่งพบว่า แม้โดยภาพรวมกระแสการประหยัดและรัดเข็มขัดกำจัดส่วนเกินจะเข้มข้นขึ้น  แต่คนไทยยังให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายประเภทการรับประทานอาหารและความบันเทิงเริงใจ แต่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการซ่อมแซมหรือตกแต่งบ้านจะให้ความสำคัญน้อยกว่า

โดยเฉพาะถ้าเป็นฝ่ายชาย จะยังให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารและบันเทิงมากกว่าฝ่ายหญิง

Oเชื่อว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น

สิ่งที่ผลสำรวจรายงานจากความเห็นเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ  พบว่า ทั้งผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกและคนไทย มองไปในทิศทางเดียวกันคือ ส่วนใหญ่คาดการณ์กันว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

คนไทยเกิน 50% เชื่อว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  อีก 24% คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเท่าเดิม ส่วนอีก 15% มองว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ตัวเลขในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรายงานว่า  46% คิดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  ประมาณ 23% คิดว่าจะเท่าเดิม และอีก 18% คิดว่าอนาคตอาจจะเพิ่มขึ้นมาก

Oคนไทยเกินครึ่งใช้นโยบายรัดเข็มขัด
ผลสำรวจของบริษัท นีลเส็น ก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า คนไทยเริ่มรัดเข็มขัดมากขึ้น โดย 58% ต้องการออมเงิน และลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นจำนวนมาก

นอกจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง ผลสำรวจยังรายงานว่า  โอกาสด้านการงานข้างหน้าจะไม่ค่อยดี และเชื่อว่า ภายใน 12 เดือนข้างหน้า เป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมที่จะซื้อสิ่งของที่พวกเขาต้องการ

แม้ว่า ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวไทย จะเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อ 6 เดือนที่แล้วจาก 87 เป็น 89  แต่ 8 ใน 10 คิดว่า เศรษฐกิจของประเทศขณะนี้อยู่ในภาวะถดถอย และ 4 ใน 10 ไม่เชื่อว่า ในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะหลุดพ้นจากสถานการณ์เช่นนี้

จากการสำรวจยังพบว่า ผู้บริโภคชาวไทย 72% เชื่อว่าโอกาสทางด้านการงานภายใน 12 เดือนข้างหน้าจะไม่ค่อยดีหรือแย่ และผู้บริโภคชาวไทย 68% เชื่อว่า ภายใน 12 เดือนข้างหน้าเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมที่จะซื้อสิ่งของที่ต้องการ โดยพบผู้บริโภคไทย 58% ต้องการจะเก็บออมเงินที่เหลือหลังจากใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต

สำหรับปัญหาที่กังวลมากที่สุดในอีก 6 เดือนข้างหน้า คนไทย 40% กังวลเรื่องเศรษฐกิจ รองลงมาคือความไม่มั่นคงทางการเมือง 27% ราคาน้ำมัน 20% ปัญหาหนี้สิน 18% และความมั่นคงในงาน 16%

เมื่อถามถึงจุดมุ่งหมายในการใช้จ่าย 58% ต้องการออมเงินหลังจากใช้จ่ายไปกับสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ยังสนใจที่จะลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Funds) เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคไทยไม่ได้ตั้งใจจะหยุดการใช้จ่ายทั้งหมด แต่ยินดีที่จะจับจ่ายใช้สอยหากมีข้อเสนอที่ดี ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะอยู่ในความรู้สึกที่ต้องระมัดระวังการใช้จ่ายก็ตาม

นอกจากนี้ ยังคงเห็นโอกาสที่ดีสำหรับบริษัทท่องเที่ยว กลุ่มผู้ค้าปลีก กลุ่มด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าเทคโนโลยี เนื่องจากผู้บริโภคไทยยังคงสนใจใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจ 51% การปรับปรุงและตกแต่งบ้าน 34% และสินค้าทางด้านเทคโนโลยี 32%

นีลเส็น ยังได้สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยพบว่า ผู้บริโภคไทยได้เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยตัดค่าใช้จ่ายในเรื่องต่อไปนี้ ได้แก่ ประหยัดไฟ 60% ลดการออกไปหาความบันเทิงนอกบ้าน 57% ซื้อเสื้อผ้าใหม่น้อยลง 56% ใช้รถยนต์น้อยลง 49% ลดค่าโทรศัพท์ 44%

ทั้งหมดนี้คือปฏิกิริยาตอบรับของผู้คนในปี "เผาจริง"


Tags : ดร. ยุวะ เฮ็ดริก หว่อง มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ ออมเงิน
ily
Verified User
โพสต์: 266
ผู้ติดตาม: 0

การเงิน 6 มิติ /เทพ รุ่งธนาภิรมย์/Settrade Blog

โพสต์ที่ 4

โพสต์

การเงิน - การลงทุน : การเงินส่วนบุคคล
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2552 05:00เมื่อผมตกงาน..โดย : โดย ..พจนี คงคาลัย

คงไม่มีใครอยากตกงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องของอนาคตเราก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

เพราะฉะนั้นทุกคนจึงไม่ควรประมาทเมื่อมีงานทำมีรายได้ก็ควรจะต้องรู้จักรักษางานหรืออาชีพที่มีอยู่นั้นให้ดีที่สุด รู้จักการเก็บออมสำหรับใช้จ่ายในอนาคต หรือในยามที่ไม่มีรายได้

เมื่อผมตกงาน ผมรู้ซึ้งถึงคุณค่าของเงินออมอย่างมาก  เป็นคำพูดของสามีแฟนคอลัมน์ท่านหนึ่ง ที่เธอเฝ้าพยายามแนะนำสามีของเธอให้แบ่งเงินเดือนบางส่วนมาออมบ้าง เธอพยายามพูดอยู่เกือบปี จึงสำเร็จ สามีของเธอทำงานกับบริษัทต่างชาติเงินเดือนประมาณ 70,000 บาท  อันดับแรกเธอแนะนำสามีของเธอให้เปิดบัญชีเงินฝากประจำที่ฝากเท่าๆ กันทุกเดือนเป็นระยะเวลา 2 ปี ไม่ต้องเสียภาษี

โดยแนะนำให้ฝากเดือนละ 20,000 บาท  แต่สามีเธอไม่สนใจเพราะเป็นคนไม่ค่อยมีวินัยในการออมเท่าไรไม่แน่ใจจะฝากได้ทุกเดือนหรือไม่  แต่สามีคิดว่าจะเก็บในบัญชีออมทรัพย์ที่เป็นบัญชีเงินเดือน ซึ่งแน่นอนไม่น่าจะเก็บได้ตามที่ตั้งใจเพราะบัญชีนั้นมีบัตร ATM ถอนได้ง่ายดายมากประกอบกับสามีของเธอเป็นคนใจโตเป็นทุนเดิมอยู่แล้วยิ่งไปกันใหญ่

เธอจึงปรึกษาว่าน่าจะใช้เครื่องมือใดในการออม  ได้แนะนำให้เปิดบัญชีกองทุนรวมที่สามารถซื้อ-ขายได้ทุกวัน ลงทุนในตราสารหนี้ ความเสี่ยงต่ำ ไม่เสียภาษี   สามีตกลงเปิดบัญชีกองทุนรวม จำนวนเงิน 50,000 บาทในครั้งแรก  โดยเธอเป็นผู้ดูแลบัญชีติดตามให้ฝากทุกเดือนพร้อมรายงานยอดเงินในบัญชี  เพื่อให้เกิดกำลังใจกับผู้ออม  โดยทุกเดือนสามีจะนำเงินมาให้เธอซื้อกองทุนให้ทุกเดือนประมาณ 20,000-50,000 บาท

จนในที่สุดสามีของเธอสามารถเก็บเงินได้ร่วมล้านบาทภายในระยะเวลาปีครึ่ง และรู้สึกสนุกกับการออมมากๆ ซึ่งระหว่างเส้นทางของการออมก็จะนำเงินบางส่วนไปซื้อกองทุนรวมที่ผลตอบแทนดีๆ บ้าง หรือ นำไปฝากประจำระยะสั้นๆ บ้าง    แหละแล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อสามีของเธอซึ่งมีผลงานดี  เป็นกำลังของบริษัทถูกเลิกจ้างอย่างไร้สาเหตุ  แต่เท่าที่ฟังดูน่าจะเกิดจากการขัดแย้งกับหัวหน้างานชาวต่างชาติมากกว่า   ถึงวันนี้เขาตกงานมาเป็นระยะเวลาร่วมปีแล้ว  การหางานใหม่ไม่ง่ายนักด้วยเงินเดือนที่สูงพอสมควรบวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนต่างๆ  ทำให้หลายๆ งานที่น่าจะได้กลับเงียบหายไป    

ตลอดระยะเวลาร่วมปีที่ตกงานเขาใช้เงินอย่างประหยัดและรู้ถึงคุณค่าของเงินออมก้อนนี้อย่างมากที่ช่วยให้เขามีกินมีใช้ ไม่รู้สึกเครียดจนเกินไปและไม่ต้องเป็นภาระของภรรยา  เขาบอกว่าไม่รู้จะขอบคุณภรรยาอย่างไรที่แนะนำเขาให้ออมในวันนั้น  วันนี้ถึงแม้ตกงานแต่ก็ยังสามารถเลี้ยงตัวเองอยู่ได้ หากรู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด

ผมอยากจะบอกผู้อ่านทุกท่านว่า  เพราะเงินออมก้อนนี้แท้ๆ ที่ช่วยชีวิตผมยามที่ผมตกงาน จนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังไม่มีงานทำ  แต่ผมไม่เคยท้อที่จะหางานต่อไป  ออมเถอะครับยามที่ทุกท่านยังมีรายได้  วันหนึ่งข้างหน้าเงินออมก้อนนี้จะมีประโยชน์กับทุกท่านมากๆ ในวันที่ท่านไม่มีรายได้ (ตกงาน เกษียณ ฯลฯ)  ในวันที่ท่านเดือดร้อนจำเป็นต้องใช้เงิน  เงินออมช่วยท่านได้ ช่วยกันเก็บเงินเถอะครับ มีแต่ได้กับได้


Tags : ตกงาน วางแผนการเงิน
โพสต์โพสต์