ผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินและกำไรที่ยังไม่เกิดจริงจากเงินล


โพสต์ โพสต์
doraho
Verified User
โพสต์: 2
ผู้ติดตาม: 0

ผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินและกำไรที่ยังไม่เกิดจริงจากเงินล

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผลต่างจากการแปลงค่างบการเงิน (Translation Differences)

ผลต่างจากการแปลงค่างบการเงิน ถือเป็นรายการหนึ่งในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นที่พบในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ผลต่างนี้เกิดขึ้นเมื่อบริษัทใหญ่มีบริษัทย่อยในต่างประเทศที่ออกงบการเงินโดยใช้เงินสกุลอื่น เมื่อบริษัทใหญ่จัดทำงบการเงินรวม บริษัทใหญ่จำเป็นต้องแปลงค่างบการเงินของบริษัทย่อยให้มาใช้เงินสกุลเดียวกับงบการเงินของบริษัทใหญ่ ในกระบวนการแปลงค่านั้น ผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินจะเกิดขึ้น

โดยปกติแล้ว งบการเงินของบริษัทย่อยจะแสดงสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนทุนในสกุลเงินท้องถิ่น เมื่อบริษัทใหญ่แปลงค่างบการเงินของบริษัทย่อย บริษัทใหญ่จะทำการแปลงค่าโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างไปจากอัตราที่ใช้ ณ วันที่บันทึกบัญชีจริง เช่น ในการบันทึกบัญชีจริง บริษัทย่อยบันทึกรายได้และค่าใช้จ่ายในวันที่รายได้และค่าใช้จ่ายนั้นเกิดขึ้น ซึ่งหากเทียบเป็นอัตราแลกเปลี่ยนแล้วจะเท่ากับว่าบริษัทย่อยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่เกิดรายการ แต่ในการแปลงค่างบการเงินของบริษัทย่อยเพื่อนำมาทำงบการเงินรวมนั้น บริษัทใหญ่จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยมาทำการแปลงค่ารายได้และค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน การใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันนี้ทำให้ผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินเกิดขึ้น บริษัทต้องบันทึกผลต่างดังกล่าว (เพื่อทำให้สมการบัญชีดุลกัน) เป็นรายการหนึ่งในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น ซึ่งแสดงในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ

กำไรที่ยังไม่เกิดจริงจากการปรับมูลค่าเงินลงทุน (Unrealized Gain from Investment)

รายการอีกรายการหนึ่งที่แสดงเป็นกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นคือ "กำไรที่ยังไม่เกิดจริงจากการปรับมูลค่าเงินลงทุน" รายการนี้เกิดขึ้นเมื่อบริษัทลงทุนซื้อหลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาดหรือหุ้นกู้ในอีกบริษัทหนึ่งโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเก็บหุ้นนั้นไว้เผื่อขายในอนาคต (เรียก เงินลงทุนเผื่อขาย Available-for-sale Securities) เมื่อถึงวันสิ้นงวด บริษัทต้องตีราคาเงินลงทุนในหุ้นใหม่ ผลต่างที่เกิดขึ้นระหว่างราคาตามบัญชีกับราคาตลาดของหุ้นจะบันทึกเป็น "กำไรที่ยังไม่เกิดจริงจากการปรับมูลค่าเงินลงทุน" เหตุผลที่เรียกรายการนี้ว่า "กำไรที่ยังไม่เกิดจริง" ก็เนื่องจากว่าบริษัทยังไม่ได้ขายหุ้นจำนวนนั้นออกไป

แม้เราจะพบ "กำไรที่ยังไม่เกิดจริงจากการปรับมูลค่าเงินลงทุน" แสดงเป็นกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น แต่เราก็อาจพบรายการที่มีชื่อเรียกเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันในงบกำไรขาดทุน เหตุผลเนื่องจากบริษัทบางแห่ง โดยเฉพาะบริษัทค้าหลักทรัพย์หรือสถาบันการเงินอาจลงทุนซื้อหลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาดหรือหุ้นกู้โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะค้าหุ้นนั้น บริษัทจะรับรู้หุ้นดังกล่าวเป็น "เงินลงทุนเพื่อค้า Trading Securities" เมื่อถึงวันสิ้นงวด บริษัทต้องวัดมูลค่าเงินลงทุนเพื่อค้าเช่นเดียวกับเงินลงทุนเผื่อขาย หากแต่ "กำไรที่ยังไม่เกิดจริง" ที่เกิดจากเงินลงทุนเพื่อค้าต้องรับรู้เป็นรายได้เพื่อนำไปคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิสำหรับงวด แทนที่จะแสดงเป็นกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น

"กำไรที่ยังไม่เกิดจริงจากการปรับมูลค่าเงินลงทุน" อาจเกิดขึ้นในอีกลักษณะหนึ่งคือ จากการควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition) กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อบริษัทใหญ่ได้ทยอยซื้อหุ้นจากบริษัทย่อยเป็นระยะๆ จนสามารถเข้าควบคุมบริษัทย่อยได้ในที่สุด ณ วันที่การรวมกิจการเกิดขึ้น บริษัทใหญ่ต้องนำหุ้นทุนของบริษัทย่อยที่เคยทยอยซื้อมาในอดีต มาตีมูลค่าใหม่ให้เป็นราคาตลาด "กำไรที่ยังไม่เกิดจริง" จากการตีราคาใหม่นี้จะบันทึกเป็นรายได้เพื่อนำไปคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิในงวดที่การรวมกิจการเกิดขึ้น (วิธีการปฏิบัตินี้เหมือนกับวิธีที่ใช้กับเงินลงทุนเพื่อค้า)
nearly
Verified User
โพสต์: 63
ผู้ติดตาม: 0

Re: ผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินและกำไรที่ยังไม่เกิดจริงจากเ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

"บริษัทใหญ่จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยมาทำการแปลงค่ารายได้และค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน"

อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ใช้มีกำหนดวิธีคิดไว้หรือเปล่าครับ หรือว่าแล้วแต่บริษัทจะคิดออกมาเอง
doraho
Verified User
โพสต์: 2
ผู้ติดตาม: 0

Re: ผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินและกำไรที่ยังไม่เกิดจริงจากเ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

nearly เขียน:"บริษัทใหญ่จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยมาทำการแปลงค่ารายได้และค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน"

อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ใช้มีกำหนดวิธีคิดไว้หรือเปล่าครับ หรือว่าแล้วแต่บริษัทจะคิดออกมาเอง
ทางบริษัทจะกำหนดอัตราถัวเฉลี่ยที่ใช้ค่ะ โดยทางบริษัทสามารถที่จะเลือกได้ว่าอยากจะใช้อัตราที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นคนคิด หรือว่าอัตราที่ทางบริษัทคิดเอง แต่ท้ายที่สุดแล้วบริษัทตรวจสอบบัญชีจะเป็นผู้ดูความเหมาะสมของอัตรา

และในการคำนวนของอัตราถัวเฉลี่ย ทางบริษัทสมควรที่จะให้น้ำหนักกับอัตราแลกเปลี่ยนในเดือนที่มีธุรกรรมเยอะมากกว่าในเดือนที่มีธุรกรรมน้อยค่ะ
nearly
Verified User
โพสต์: 63
ผู้ติดตาม: 0

Re: ผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินและกำไรที่ยังไม่เกิดจริงจากเ

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณสำหรับคำตอบครับ :D

แล้วจะมีระบุไว้ในหมายเหตุประกอบงบหรือเปล่าครับว่าบริษัทเลือกใช้อัตราของ ธ.แห่งประเทศไทยหรือของบริษัทเอง
winnermax
Verified User
โพสต์: 38
ผู้ติดตาม: 0

Re: ผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินและกำไรที่ยังไม่เกิดจริงจากเ

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขอบคุณสำหรับคำตอบครับ

แล้วจะมีระบุไว้ในหมายเหตุประกอบงบหรือเปล่าครับว่าบริษัทเลือกใช้อัตราของ ธ.แห่งประเทศไทยหรือของบริษัทเอง
บริษัทจะเปิดเผย ว่าใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยสำหรับงบกระแสเงินสดกับงบกำไรขาดทุน และใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่รายงานในการแปลงค่างบแสดงฐานะการเงินสำหรับ กิจการในต่างประเทศ เท่านั้นครับ จะไม่ระบุที่มาว่ามาจาก ธปท หรือ บริษัทคิดเอง เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ควรมีความแตกต่างที่มีสาระสำคัญ และผู้สอบบัญชีมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและความเหมาะสมของอัตราแลกเปลี่ยนที่นำมาใช้อยู่แล้วครับ
nearly
Verified User
โพสต์: 63
ผู้ติดตาม: 0

Re: ผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินและกำไรที่ยังไม่เกิดจริงจากเ

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ขอบคุณสำหรับคำตอบครับ
โพสต์โพสต์