Money Market Fund (MMF)

การลงทุนอื่นๆนอกจากหุ้น วีไอ กองทุนรวมชนิดต่างๆ RMF LTFตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ อนุพันธ์ และเกษตรล่วงหน้า

โพสต์ โพสต์
ซากคน
Verified User
โพสต์: 1400
ผู้ติดตาม: 0

Money Market Fund (MMF)

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Money Market Fund (MMF)  :D  มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0 : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์  กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ถ้าพูดถึงทางเลือกแทนการฝากเงินที่ดีที่สุด ผมจะนึกถึงกองทุนรวมชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า กองทุนรวมตลาดเงิน หรือที่นิยมเรียกทับศัพท์ว่า Money Market Fund (MMF) ครับ

MMF เป็นกองทุนรวมแบบตราสารหนี้ ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นๆ อาทิเช่น ครบกำหนดไม่เกิน 1 ปี เท่านั้น เป็นต้น ข้อดีของการลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้ระยะสั้นเท่านั้น ก็คือ ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ มูลค่าของหน่วยลงทุนจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดน้อยมาก MMF จึงเป็นกองทุนที่ให้ความปลอดภัยของเงินต้นสูง มูลค่าหน่วยลงทุนมักไม่ลดลงแต่เพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ ทุกๆ วัน มันจึงเป็นทางเลือกแทนการฝากเงินได้ ไม่เหมือนกับกองทุนรวมอย่างอื่นที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวหรือลงทุนในหุ้น กองทุนรวมเหล่านั้นจะมีโอกาสสูญเสียเงินต้นได้ง่าย

ข้อดีอย่างหนึ่งที่ MMF เหนือกว่าเงินฝาก ก็คือ MMF มักมีการแบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ เพื่อลงทุนในตราสารหลายๆ ตัว มันจึงมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่าเงินฝาก ดังนั้น เมื่อถึงวันที่สถาบันประกันเงินฝากเลิกค้ำประกันบัญชีเงินฝาก ที่มียอดฝากเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป กองทุน MMF จะกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก สำหรับคนที่มีเงินออมมากๆ เพราะ MMF มีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่าเงินฝาก นอกจากนี้ การแบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ ของ MMF มักจะแบ่งลงทุนในตราสาร ที่มีวันครบอายุไม่เท่ากันอีกด้วย ทำให้กองทุนมีสภาพคล่องส่วนหนึ่งไว้อยู่เสมอ จากตราสารตัวล่าสุดที่เพิ่งจะครบกำหนด MMF จึงไม่พลาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการที่ดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้นแบบกะทันหัน เพราะ MMF จะมีเงินก้อนใหม่สำหรับซื้อตราสารใหม่ ที่ให้ดอกเบี้ยในอัตราใหม่อยู่เสมอ ยิ่งไปกว่านั้น การมีสภาพคล่องเหลืออยู่ส่วนหนึ่งตลอดเวลา ยังช่วยทำให้ผู้ถือหน่วยสามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้ทุกวัน ราวกับว่าผู้ถือหน่วยออมเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ (อาจจะยังแพ้บัญชีออมทรัพย์อยู่นิดหน่อย ตรงที่ต้องส่งคำสั่งถอนเงินล่วงหน้า 1 วันก่อนรับเงิน) แต่ได้รับผลตอบแทนในระดับเดียวกับผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้น เท่ากับว่าผู้ถือหน่วยลงทุนยังมีความคล่องตัวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับการฝากบัญชีออมทรัพย์ แต่สามารถคาดหวังผลตอบแทนในระดับเดียวกับเงินฝากประจำ นี่นับเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญมากของการใช้นวัตกรรมทางการเงินอย่าง MMF

ข้อดีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ MMF คือ ผลตอบแทนจะได้รับการยกเว้นภาษีด้วย เนื่องจากเป็นกองทุนรวม ผู้ถือหน่วยจึงได้รับผลตอบแทนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่เหมือนกับการฝากเงินที่ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15% ด้วย อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนบางส่วนของ MMF จะหายไปในรูปของค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการกองทุน แต่ก็ยังนับว่าต่ำกว่า อัตราภาษีค่อนข้างมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในอัตราไม่เกิน 2% ต่อปี ในการเปรียบเทียบความน่าสนใจ ของ MMF ของบริษัทจัดการกองทุนแต่ละแห่ง ควรเปรียบเทียบอัตราค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการด้วย ซึ่งโดยมากแล้ว MMF ที่มีขนาดกองทุนใหญ่มักคิดค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการกองทุนต่ำกว่า MMF ที่มีขนาดกองทุนเล็ก เพราะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนต่อหน่วยต่ำกว่า แต่ในบางกรณีกองทุนขนาดเล็กบางแห่ง ก็อาจจงใจคิดค่าธรรมเนียมให้ต่ำเป็นพิเศษ เพื่อดึงดูดลูกค้าก็ได้

ในการเลือก MMF เพื่อใช้เป็นทางเลือกแทนการฝากเงินนั้น ควรเลือก MMF ที่มีความปลอดภัยของเงินต้น ในระดับเดียวกันกับเงินฝาก ซึ่งได้แก่ MMF ที่มีนโยบายลงทุนเฉพาะในตราสารที่ออกโดยรัฐบาลเท่านั้น อาทิเช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น MMF ที่ลงทุนในตราสารที่ออกโดยภาคเอกชนบางส่วน อาจให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าก็จริง แต่ผู้ถือหน่วยก็ต้องแบกรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงกว่าเงินฝากด้วย นอกจากนี้ ควรพิจารณาด้วยว่าเป็นกองทุนแบบไถ่ถอนครั้งเดียวเมื่อครบอายุกองทุน หรือเป็นกองทุนแบบไถ่ถอนได้ทุกวัน กองทุนแบบไถ่ถอนได้ทุกวัน จะมีข้อดีเรื่องสภาพคล่องมากกว่าเหมือนอย่างที่กล่าวไปแล้ว ในขณะที่กองทุนแบบไถ่ถอนครั้งเดียวเมื่อครบอายุกองทุนจะได้ผลตอบแทนสูงกว่านิดหน่อย

ในสหรัฐอเมริกานั้น มี MMF มานานมากแล้ว ในช่วงแรกๆ พวกมันไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนัก ในฐานะของทางเลือก แทนการฝากเงิน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคย ทำให้ยังกลัวอยู่ MMF ต้องใช้เวลาถึง 20 ปี ในการพิสูจน์ตัวเองกว่าที่พวกมันจะกลายเป็นทางเลือกแทนการฝากเงินที่ได้รับความนิยมในหมู่คนอเมริกันทั่วไป เดี๋ยวนี้ธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งในสหรัฐ จะมี MMF ไว้เป็นทางเลือกหนึ่งให้กับลูกค้า ราวกับเป็นบัญชีเงินฝากชนิดหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งคนอเมริกันทั่วไปในปัจจุบันก็นิยมฝากเงินไว้กับธนาคาร ในรูปของบัญชีเงินฝากแบบ MMF กันมาก จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

เชื่อว่าอีกไม่นาน MMF ในบ้านเราก็คงจะได้รับความนิยมในหมู่คนทั่วไปแบบเดียวกับในสหรัฐ โดยส่วนตัว ทุกวันนี้ ผมเลิกฝากประจำไปแล้ว เพราะผมเก็บเงินสดส่วนใหญ่ของผมไว้ใน MMF แบบไถ่ถอนได้ทุกวัน โดยเชื่อมโยงกองทุนเข้ากับบัญชีออมทรัพย์ของผมด้วย เมื่อใดก็ตาม ที่ผมมีเงินสดส่วนเกินในบัญชีออมทรัพย์ ผมก็จะย้ายเงินสดส่วนนั้นเข้าไปพักไว้ในกองทุน MMF เพราะได้ผลตอบแทนมากกว่า ต่อเมื่อต้องการใช้เงินก้อนนั้นจึงค่อยสั่งขาย เงินก็จะถูกโอนย้ายกลับเข้าไปในบัญชีออมทรัพย์ของผมได้ภายในเวลาแค่หนึ่งวันทำการ
เราต่างตื่นขึ้นมาทุกวัน เพื่อสร้างผลงานให้ได้ เราควรรู้ว่า ในทุกวันมีอะไรที่ต้องทำเพื่อให้เกิดผลงาน หากการตื่นขึ้นมา ไม่ได้เป็นไปเพื่อผลงาน เราก็ไม่สมควรที่จะตื่นขึ้นมาให้รกหูรกตาคนรอบข้าง
โพสต์โพสต์