Energy Godfather

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
ภาพประจำตัวสมาชิก
ม้าเฉียว
Verified User
โพสต์: 350
ผู้ติดตาม: 0

Energy Godfather

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ประวัติและพัฒนาการมาเฟียพลังงาน


ประวัติและพัฒนาการของการไฟฟ้า
ขอเริ่มต้นโดยดูจากพัฒนาการของภาครัฐในการจัดการเรื่องไฟฟ้า คือถ้าเรานึกถึงเมื่อเกือบ 200 ปีที่ผ่านมา ประมาณปี ค.ศ.1882 เราเคยได้ยินเรื่องของโธมัส เอดิสัน ได้คิดค้นเรื่องของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและหลอดไฟขึ้นมา แล้วมีการตั้งโรงผลิตไฟฟ้าของเขาขึ้นมาที่นิวยอร์ค

ในช่วงนั้นจริงๆถ้าเราถามว่า เอดิสัน เขามีจินตนาการหรือมีวิสัยทัศน์ในเรื่องไฟฟ้าอย่างไร จินตนาการของเอดิสันก็คือว่า จะมีระบบไฟฟ้าเล็กๆ มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และมีผู้ใช้ไฟเป็นกลุ่มๆกระจายกันออกไป มันสะท้อนให้เห็นถึงว่า จริงๆแล้วจินตนาการของผู้คิดค้นในช่วงนั้น เขาก็มองเรื่องไฟฟ้าในลักษณะกระจาย เป็นความหลากหลาย แบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆที่ทำ ปรากฎว่าจินตนาการของเอดิสัน ได้ถูกบิดเบี้ยวและพัฒนาการมาถึงปัจจุบันที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า ทำไมมันถึงบิดเบี้ยว และตรงนี้ที่นำมาสู่ปัจจุบัน มีเหตุผลอะไรบ้าง อย่างไร ?

ประเทศไทยมีการนำเอาไฟฟ้าที่เอดิสันคิดขึ้นมา มาใช้หลังจากคิดขึ้น 2 ปีโดยทางฝ่ายทหารเป็นผู้นำเข้ามาใช้ก่อน แล้วหลังจากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เอามาใช้กับพระบรมมหาราชวัง เพราะฉะนั้น เรื่องของไฟฟ้าก็เป็นเรื่องของสัญลักษณ์ความทันสมัย และเป็นสัญลักษณ์ของอภิสิทธิ์ด้วยในฐานะผู้ปกครองในสมัยนั้น ต่อมาได้มีการตั้งโรงไฟฟ้าย่อยที่วัดเลียบ ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นที่ทำการของการไฟฟ้านครหลวงอยู่ ภาพที่ให้นี้ก็คือภาพของช่วงต้นของการไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

เราจะเห็นว่าก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไฟฟ้าทั่วโลกก็จะมีลักษณะแบบนี้ ก็คือเป็นไปในลักษณะกระจายไม่ได้รวมศูนย์ มีการใช้เป็นจุดย่อยๆ มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มีการปั่นไฟ และมีผู้ใช้เป็นกลุ่มๆ มีทั้งเอกชน มีทั้งรัฐ ส่วนที่เป็นของสหกรณ์ก็มี ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและเป็นผู้ใช้เอง ก็เกิดรูปแบบที่หลากหลายอย่างนี้ขึ้นในช่วงนั้น

การไฟฟ้าหลังสงครามโลกครั้งที่สองในฐานะยุทธศาสตร์ของการพัฒนาและต่อต้านคอมมิวนิสต์
ปรากฏว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เรื่องของไฟฟ้าก็เริ่มถูกมองเข้ามาเป็นส่วนของยุทธศาสตร์ของการพัฒนา เริ่มมองเข้ามาในเรื่องของความมั่นคง และเริ่มที่จะถูกรัฐมองในฐานะที่เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ซึ่งตัวเองจะต้องพัฒนาเรื่องนี้ควบคู่ไปกับบทบาทของตัวเองในฐานะรัฐ

สำหรับประเทศไทย ถ้าเรามองดูถึงช่วงของการเริ่มต้น ดูที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ เราก็คงได้ยินเรื่องที่ว่าในขณะนั้น ประเด็นหลักที่ทางภาครัฐโดยเฉพาะภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ก็คือ กลัวเรื่องการขยายตัวของพวกคอมมิวนิสต์

ในช่วงนั้นเอง การแยกตัวของประเทศอาณานิคมเกิดขึ้นทั่วไป โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ก็มี อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศในอินโดจีน มีการแยกตัวออกจากประเทศเจ้าอาณานิคม เพราะฉะนั้น สหรัฐฯเองก็พยายามที่จะให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างประเทศไทยในเรื่องของความช่วยเหลือทางด้านการพัฒนา ซึ่งไม่ได้ช่วยเหลือแต่เพียงเรื่องของเงินเท่านั้น มีการส่งออกความคิด การจัดตั้งของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอะไรต่างๆก็เกิดขึ้น และที่มากับการพัฒนาที่เชื่อว่าจะต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ได้ก็คือ เรื่องของ"ไฟฟ้า"ด้วย

เราคงเคยได้ยินสโลแกนว่า "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี" ที่ถูกนำมาใช้ในขณะนั้น เขื่อนภูมิพลก็ถูกสร้างขึ้นในช่วงนั้นเช่นกันภายใต้การช่วยเหลือของสหรัฐฯ แล้วเกิดการไฟฟ้ายันฮี ในเวลาช่วงนั้นเอง ระบบก็ยังไม่ถึงกับรวมศูนย์ทีเดียว ยังมีการสร้างโรงไฟฟ้าในลักษณะที่กระจายไปตามจังหวัดต่างๆ มีการไฟฟ้าย่อยๆที่ทำโดยรัฐ และยังให้เอกชนทำในส่วนของตัวเองอยู่ ไม่ได้มีการรวมศูนย์

จนถึงปี 2512 จึงได้ตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตขึ้นมา แล้วหลังจากนั้นจึงมีการรวมทั้งหมดเข้ามาอยู่ภายใต้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แล้วสถาปนาสิ่งที่เรียกว่า ระบบวงจรของไฟฟ้าที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งเรียกว่า Grid ก็คือมีการออกกฎหมาย พรบ.การไฟฟ้า ซึ่งจุดที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ให้อำนาจผูกขาดการผลิตไฟฟ้าให้อยู่กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแต่เพียงผู้เดียว และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็จะเป็นผู้ผลิตและกุมสายส่ง

โครงสร้าง 3 ส่วนของระบบไฟฟ้าในประเทศไทย
ตรงนี้ผมอยากจะขอแทรกว่า ถ้าเราดูระบบไฟฟ้าทั้งระบบ มันจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก.

ส่วนแรก ก็คือส่วนของ"เครื่องกำเนิดไฟฟ้า"ที่เรียกว่า Generator ซึ่งมีหลายแบบ มีทั้งเขื่อนพลังน้ำ มีทั้งส่วนที่ใช้พลังความร้อนจากถ่านหิน จากแก๊ส จากน้ำมัน มีแก๊สเธอร์ไบน์ อันนี้รวมเรียกว่า"ส่วนผลิต".
ส่วนที่สอง เมื่อผลิตแล้ว เขาก็จะส่งเข้าไปในสายส่งที่เรียกว่า transmission line แต่เดิม transmission line มันไม่มี, มันจะเป็น"กำเนิด"แล้วไปถึง"ผู้ใช้"เลย ไม่โยงกัน แต่การเกิดขึ้นของการไฟฟ้าและระบบผูกขาด มันทำให้ต้องเข้ามาคุมระบบ transmission line หรือระบบสายส่งให้รวมศูนย์ ภายใต้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต
ส่วนที่สาม ตั้งการไฟฟ้าภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง เป็นผัที่จะจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคซึ่งเรียกส่วนนี้ว่า Distribution อีกต่อหนึ่ง ก็คือรับไฟจากสายส่งของการไฟฟ้า แล้วก็ไปแปลงให้เข้ากับเครื่องไฟฟ้า แล้วก็ต่อสายไปตามบ้านต่างๆ สำหรับส่วนที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกับนครหลวงแบ่งกันทำ

กฎหมายที่เอื้อต่อการผูกขาดการไฟฟ้า
นับแต่นั้นมา ระบบการไฟฟ้าของเราก็เป็นระบบที่รวมศูนย์โดยกฎหมาย คนอื่นจะผลิตและขายไม่ได้แล้ว ถือว่าผิดกฎหมาย แต่จริงๆเขาบังคับไม่ได้ ทำให้ยังมีการกระจายย่อยๆอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในขณะนั้น เปอร์เซนต์ของการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยยังไม่สูงนัก ช่วงประมาณต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชนบทไทยใช้ไฟฟ้าเพียงแค่ 2 เปอร์เซนต์ ในขณะที่ปัจจุบันนี้ใช้เกือบจะ 100 เปอร์เซนต์ หมายความว่าการไฟฟ้าได้ต่อไฟเข้าไปในชนบทของไทยเกือบทุกบ้านทั่วประเทศ เขาใช้ตัวเลขว่า มากกว่า 98 % ของหมู่บ้านในประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้ที่ต่อโยงกับระบบ Grid แล้วในปัจจุบัน

เมื่อมีการออกกฎหมายอย่างนี้และมีระบบผูกขาดแบบนี้ ก็ทำให้ระบบซึ่งเคยเป็นเอกเทศค่อยๆหายไป มีตัวอย่างหลายตัวอย่างที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อน อย่างเช่นมีเขื่อนพลังน้ำเล็กๆ ซึ่งเรียกว่า Micro Hydro ขนาดเล็กกว่า 1 เมกกาวัตต์ ซึ่งเคยเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคนั้น แล้วก็ใช้ได้ผลดีอย่างเช่นที่แม่ออน จ. เชียงใหม่ มีเขื่อนไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีสหกรณ์ของเขารองรับ แล้วก็ใช้กันมาเป็น 10 ปี ได้ผลดี แต่ตอนนี้ทางการไฟฟ้าภูมิภาคต่อสายของตนเข้าไปถึง เลยต้องเลิกอันนั้นไป ตัวอย่างแบบนี้เกิดขึ้นเต็มไปหมดในประเทศไทย อันนี้คือภาพรวมๆที่เราเห็น

แต่ในขณะเดียวกัน ในช่วงนั้น การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นผู้เดียวในการที่จะลงทุนในการผลิตไฟฟ้า เขาก็จะกู้เงินจากธนาคารโลกเป็นหลัก ช่วงนั้นก็นำเอาเงินมาสร้างเขื่อน ผมต้องขอแทรกเรื่องบางอย่างตรงนี้ เพื่อให้พวกเราเห็นอะไรชัดขึ้นคือ มันมีแผนหลังจากการปฏิวัติในประเทศจีนในปี 1949 ซึ่งได้มีการย้ายองค์การสหประชาชาติมาที่ประเทศไทย ปัจจุบันคือเอสแคป.

นโยบายการพัฒนาของสหประชาชาติในภูมิภาคเอเชีย
สหประชาชาติที่ย้ายมานี้มีโครงการใหญ่อยู่ 2 โครงการ, โครงการหนึ่งก็คือ "โครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง" อีกโครงการหนึ่งก็คือ "ถนนสายเอเชียที่จะเชื่อมกับยุโรป" อันนี้เป็นความฝันของเขา

ส่วนของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ก็มีการจัดส่งคณะวิศวกรของทหารสหรัฐฯที่เรียกว่า US Engineering Corps มาสำรวจลุ่มน้ำโขงเพื่อจะสร้างเขื่อน ในขณะนั้นมีการวางแผนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนตัวแม่น้ำโขงเอง 7 เขื่อนใหญ่ เราคงได้ยินเรื่องเขื่อนผามองเป็นตัวอย่าง แล้วก็เขื่อนย่อยๆที่อยู่ตามลำน้ำสาขา อย่างเช่น สิรินธร... ปากมูลก็เป็นส่วนพวกนี้เช่นกัน

อันนั้นเป็นแผนใหญ่ของเขาในขณะนั้น ตั้งแต่ช่วงประมาณเริ่มต้นของสมัยรัฐบาลสฤษดิ์ มีการคิดว่าไฟฟ้าซึ่งจะผลิตได้จากเขื่อนในลุ่มน้ำโขง จะช่วยสร้างความไพบูลย์ให้กับภูมิภาคสุวรรณภูมิทั้งหมด ทั้งไฟฟ้า ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร นั่นก็เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ที่จะเอาชนะคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น

แต่ปรากฎว่าในความเป็นจริง สงครามซึ่งเกิดขึ้นในภูมิภาคก็ได้เปลี่ยนแม่น้ำโขง จากการเป็นวัตถุดิบในการพัฒนามาเป็นกำแพงกั้นระหว่าง 2 อุดมการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นโครงการต่างๆซึ่งมีการวาดฝันเอาไว้ ก็เงียบหายไป แต่ก็มีการสร้างเขื่อนย่อยๆบ้างในฝั่งไทย ตรงนั้นก็ทำให้ไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือไฟฟ้าในช่วงนั้น ถูกลดบทบาทสำคัญที่คิดว่าจะสร้างเขื่อน หันกลับเข้ามาสร้างในประเทศ เช่น มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนสริกิตตามมา แล้วมีการวางแผนหลายอัน

คือในช่วงนั้นเราคงเคยได้ยิน หลัง 14 ตุลา 16 ประเด็นเรื่องเขื่อนผามองคงเคยได้ยินกันบ้าง, อาจจะก่อน 14 ตุลา ด้วยซ้ำไปที่มีการพยายามผลักดัน แล้วก็เงียบไป แต่สมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ หลัง 6 ตุลา ได้เกิดวิกฤตน้ำมันขึ้นมา แล้วก็มองเรื่องน้ำมันว่าเป็นความมั่นคง ทางรัฐบาลจากเดิมที่เคยมี"การไฟฟ้าฝ่ายผลิต" แล้วก็มี"กรมพลังงานแห่งชาติ"ในขณะนั้น กรมพลังงานแห่งชาติตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะไปทำงานร่วมกับคณะกรรมการแม่น้ำโขง มี ดร.บุญรอด บิณฑะสันต์, ดร.ประเทศ สูตะบุตร อะไรพวกนี้เป็นยุคบุกเบิก ที่จะไปร่วมกับทางฝั่งแม่น้ำโขงในการสร้างเขื่อน แต่ปรากฏว่าอันนั้นดูเหมือนว่าจะล้มเหลว แล้วเห็นว่าการสร้างเขื่อนต้องกลับมาอยู่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แล้วก็เกิดวิกฤตน้ำมันขึ้น

ทางรัฐบาลได้ตั้ง"สำนักงานพลังงานแห่งชาติ"ขึ้นมาในช่วงต้นๆของรัฐบาลพลเอกเปรม ที่ปัจจุบันเรียกว่า สพช. แยกตัวออกมาจาก"กรมพลังงานแห่งชาติ" แล้วให้กรมพลังงานแห่งชาติไปเป็น"กรมส่งเสริมพลังงาน" ตรงนี้ก็เลยเริ่มมีตัวละครเพิ่มขึ้น คือมี"การไฟฟ้าฝ่ายผลิต"ในฐานะของรัฐวิสาหกิจ มี"กรมส่งเสริมพลังงาน"ซึ่งไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไหร่ เพราะว่าตัวเองไปเริ่มต้นกับเรื่องของแม่น้ำโขง แล้วก็มี"สำนักงานพลังงานแห่งชาติ" มาทำหน้าที่ที่เป็นผู้กำกับการไฟฟ้าอีกทีหนึ่ง

การไฟฟ้าก็เลยเริ่มบทบาทของตัวเองในการสร้างเขื่อนขึ้นมาในประเทศไทย เขื่อนที่มีการสร้างในช่วงนั้นก็คือ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนเขาแหลม แล้วปรากฎว่าต่อมาเมื่อมีแผนสร้างเขื่อนน้ำโจน ก็ได้เกิดกระบวนการต่อต้านขึ้นมาซึ่งผมจะลงรายละเอียดภายหลัง แต่ว่าอยากจะชี้ตรงนี้ก็คือว่า ในช่วงรัฐบาลเปรม มีวิกฤตเรื่องไฟฟ้า ทำให้มีการปิดไฟ ปิดโทรทัศน์ เป็นที่มาของเพลงฉันทนา ปิดไฟใส่กลอนในช่วงนั้น ทุกคนคงจำได้. ผลตรงนั้นทำให้เกิดการวางแผนขยายการผลิตไฟฟ้าอย่างรุนแรง โครงการเขื่อนต่างๆ โครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ จนได้เกิดการต่อต้านเขื่อนน้ำโจน แล้วพยายามที่จะผลักดันเรื่องแก่งกรุง เป็นต้น

การไฟฟ้าเริ่มเห็นว่าตัวเองคงจะสร้างโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะเขื่อนในประเทศไม่ง่ายแล้ว พอดีกับเป็นยุคที่สงครามเย็นเริ่มสงบลง แผนเดิมของภูมิภาคแม่น้ำโขงก็เริ่มปัดฝุ่นเข้ามาใหม่ ก็เป็นจังหวะที่พอดีการไฟฟ้าเห็นว่า ถ้าพูดถึงการสร้างเขื่อนในประเทศไทยที่ยากขึ้น คงจะต้องมองไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้เกิดโครงการความร่วมมือแม่น้ำโขงฟื้นขึ้นมาอีกทีหนึ่ง ถึงขนาดมีการฟื้นที่จะสร้างผามอง ทางสำนักงานแม่น้ำโขง เคยมีเลขาฯคนหนึ่ง ชื่อนายแรงคาสเตอร์ เคยผลักดันที่จะสร้างเขื่อนผามองขึ้นมาใหม่ เมื่อช่วงต้นปี 1990 แต่ว่าสุดท้ายก็ไม่สำเร็จ

นโยบายธนาคารโลกช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น การเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนเรื่องการไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน ธนาคารโลกในช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น ก็เริ่มมาส่งเสริมทางด้านภาคเอกชนเพิ่มขึ้น โดยให้เหตุผลว่า หนี้สินที่รัฐมี โดยเฉพาะเรื่องของการไฟฟ้าเยอะเกินไป ทำให้เกิดผลต่อภาระหนี้สินของประเทศ ธนาคารโลกก็ผลักดันประเทศไทยมาว่าจะต้องกำหนดเพดานเงินกู้ต่างๆประเทศ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดของประเทศที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน

การไฟฟ้ามีหนี้สินต่างประเทศสูงประมาณ 1.5 แสนล้าน ธนาคารโลกก็เริ่มต้นบอกว่า ถ้าคุณจะลงทุนต่อไป จะต้องเอาเงินรายได้ของตัวเอง 25% เป็นตัวตั้งในการลงทุน ในขณะเดียวกัน ธนาคารโลกก็เริ่มต้นที่จะบอกว่า คุณจะต้องเปิดให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงผลักดันนโยบาย 3 ส่วนเข้ามาคือ นโยบายการกำหนดเพดานเงินกู้รัฐวิสาหกิจ(1), นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ(2), และนโยบายเรื่องของการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนซึ่งจะนำไปสู่ตลาดเสรี(3).

ช่วงนี้เป็นช่วงประมาณปี 2535 เริ่มมีการปรับ พรบ.การไฟฟ้า โดยให้มีภาคเอกชน อันนี้เป็นยุคที่ผมข้ามไปถึงพัฒนาการของภาคเอกชน. ภาคเอกชนเริ่มเข้ามา โดยช่วงต้นมีการตั้งบริษัทลูกของการไฟฟ้าเข้ามาก่อน เรียกว่า ECGO โดยการไฟฟ้าถือหุ้น 100% แล้ว ECGO ก็ไปซื้อโรงไฟฟ้าที่ระยองและขนอมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกมา โดยที่ ECGO เองเป็นรูปของบริษัท เดิมการไฟฟ้าถือหุ้น 100% และหลังจากนั้นก็เอาเข้าตลาดหุ้น แล้วก็มีการขายให้เอกชนจนปัจจุบัน การไฟฟ้าเหลือหุ้นใน ECGO ประมาณ 25%

ECGO ก็คือตัวอย่างแรกที่พูดง่ายๆก็คือ เป็นปฏิกริยาต่อต้านผลของการประนีประนอมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ถูกผลักดันให้มีการแปรรูปออกมาเป็นของเอกชน แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไม่ยอม ก็เลยออกมาในรูปว่าทำให้เป็นไปในรูปของบริษัท แล้วส่งผู้บริหารของตัวเองเข้าไปคุม ปัจจุบันผู้บริหารของ ECGO ก็เป็นรองผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตด้วย 2 ตำแหน่ง อันนี้เป็นตัวอย่างอันที่หนึ่ง

อันที่สอง เปิดให้มีการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟรายย่อยที่เรียกว่า STP ก็คือว่า จริงๆแล้วในอุตสาหกรรม มันมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ในกระบวนการผลิต มันมีความร้อนเหลือที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ แต่ว่าเนื่องจากเดิมนั้น กฎหมายผูกขาดไม่ให้ผลิตไฟฟ้า จึงทำให้ไม่มีการนำเอาความร้อนเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ พอมีการแก้กฎหมายจึงทำให้มีผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยเกิดขึ้น เขาใช้เกณฑ์ว่าไม่เกิน 90 เมกกาวัตต์ เรียกว่า STP

ในช่วงปี 2533-2537 เริ่มเปิดให้มีการซื้อไฟฟ้าจาก STP เข้ามา คือ STP ผลิตไฟฟ้าขึ้นมาได้แต่เอาไปขายกับลูกค้าโดยตรงไม่ได้ จะต้องขายเข้า Grid ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตอย่างเดียว ต่อจากนั้นก็ได้มีการขยายต่อไปเป็น ITP ก็คือผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ซึ่งจะมีขนาดตั้งแต่ 350 - 1400 เมกกาวัตต์ มีการเปิดประมูลซึ่งเป็นกรณีของโรงไฟฟ้าหินกรูดและบ่อนอกที่เรารู้กัน 7 รายเข้ามา ประมาณ 5900 กว่าเมกกาวัตต์

นอกจากนั้นก็มีการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกรณีของประเทศลาว หลังจากหมดยุคสงครามเย็น ลาวก็มีการสร้างเขื่อนเพิ่ม จากเดิมซึ่งเคยมีเขื่อนน้ำงึม มีการสร้างเขื่อนโดยเฉพาะที่ชื่อเขื่อนเทินหินบูรณ์ กับเขื่อนห้วยห่อ ซึ่งให้เอกชนต่างชาติ ที่มีของไทยเข้าไปร่วมด้วยในฐานะผู้ลงทุน และก็ขายไฟฟ้าให้กับไทย เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นผู้ผูกขาดทั้งระบบ ก็ได้มีการเปิดให้มีสัดส่วนของบริษัทลูกตัวเอง สัดส่วนของ STP, ITP แล้วก็การซื้อจากต่างประเทศเข้ามา แต่ก็ยังคงผูกขาดระบบสายส่งอยู่.

ที่นี้ก็มาถึงคำถามที่ว่า ส่วนใหญ่ของผู้ผลิตเอกชนเป็นใคร เราไปดูแล้วก็พบว่า ผู้ผลิตของเอกชนในแง่ของทุนและเทคโนโลยี ส่วนใหญ่แล้วก็พึ่งพิงกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่เป็นบริษัทพลังงานใหญ่ๆ จากสหรัฐฯ อย่างเช่นบริษัทที่ชื่อเอดิสัน ซึ่งเป็นผู้ลงทุนของบริษัท Gulf ที่บ่อนอก เป็นต้น. หรือจากญี่ปุ่น อย่างเช่นโตเมน ที่ลงทุนในหินกรูด หรือจากยุโรป เช่น บริษัทใหญ่ชื่อ เอดีบี, โฟตุม ของฟินแลนด์ ก็จะเป็นอย่างนี้, หรือซีเมนส์ของเยอรมัน พวกนี้ก็จะเป็นพวกที่อยู่เบื้องหลังในเชิงของเทคโนโลยี แล้วก็มีเงิน คือหาเงินกู้หรือเงินลงทุนมาได้

แล้วก็ยังมีกลุ่มบริษัทไทยที่ทำตัวเป็นนายหน้าเข้าไปขอสัมปทาน แล้วก็มาจัดการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กลุ่มเหล่านี้ถ้าเรามดูก็จะพบว่า กลุ่มบุคคลซึ่งเข้ามามีบทบาท ก็คืออดีตผู้บริหารระดับสูงของการไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่น บริษัทล็อกเล่ย์ ก็เป็นบริษัทของครอบครัวของคุณเกษม จาติกวณิช ซึ่งเป็นเจ้าพ่อใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นต้น หรือบางส่วนมาจากบริษัทที่ปรึกษาที่ทำการศึกษาเรื่องของความเป็นไปได้ของโครงการขนาดใหญ่ที่เคยทำงานกับการไฟฟ้ามาก่อน ในการสร้างเขื่อน ในการสร้างโรงไฟฟ้า เช่น กรณีของบริษัทซึ่งในปัจจุบันใช้ชื่อว่า เอ็มดีเอ็กซ์ ซึ่งเป็นของคุณสุบิน ปิ่นขยัน ที่เคยทำงานกับแม่น้ำโขงมาก่อน แล้วก็ตั้งบริษัทที่ปรึกษาชื่อฟรีเท็กซ์ คือพูดง่ายๆได้คอนแทร็กท์ศึกษาเรื่องไฟฟ้ามาโดยตลอด

ส่วนอีกพวกหนึ่งก็จะเป็นพวกบริษัทก่อสร้าง เช่น ยิปซั่มไทย, ช.การช่าง, อะไรพวกนี้ ที่เข้าไปร่วมเพราะตัวเองจะได้สัดส่วนของโครงการก่อสร้างเข้ามา. อีกพวกก็จะเป็นพวกบริษัทเงินทุน ภัทรธนกิจบ้าง อะไรอย่างนี้... เพราะฉะนั้น รูปแบบของ ITP ก็จะออกมาในรูปที่เรียกว่า Joint adventure ก็จะมีบริษัทต่างชาติซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ และเป็นผู้กุมเรื่องเทคโนโลยี แล้วก็หาเงินทุน, บริษัทส่วนของไทยก็จะเป็นบริษัทส่วนที่เป็นที่ปรึกษา บริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไฟฟ้ามาก่อน และบริษัทก่อสร้าง บริษัทเงินทุนที่เข้ามา แล้วใช้ตัวบุคลากรซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารการไฟฟ้าเข้าไป

เพราะฉะนั้น เวลาที่เราดูถึงความสัมพันธ์ของการไฟฟ้าปัจจุบัน กับบริษัทเอกชนที่มาลงทุน ในแง่ของความสัมพันธ์บางทีเราแยกยาก ผู้บริหารการไฟฟ้าบางคนซึ่งแต่ก่อนนั้นเคยเป็นผู้เซ็นสัญญากับบริษัทนั้น ในขณะที่ตัวเองนั่งเป็นผู้บริหาร, อีก 2-3 ปีต่อมาเมื่อเกษียรอายุตัวเองได้ไปเป็นผู้บริหารของบริษัทดังกล่าว อันนี้จะเป็นปรากฎการณ์ทั่วไป แล้วตัวเองก็ยังมีลูกน้องที่อยู่ในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอยู่ต่อไป

แต่บทบาทอีกส่วนที่สำคัญก็คือว่า "สำนักงานการพลังงานแห่งชาติ"ได้กลายมาเป็น เหมือนกับตัวแทนผลักดันกระแสความคิดของธนาคารโลกในการแปรรูปไฟฟ้าและการเปิดเสรีทางการไฟฟ้าโดยผ่านมาทางเนปโป หรือ สพช.เข้ามา เพราะฉะนั้น บางครั้งเราจะเห็นไม้เบื่อไม้เบากันระหว่างคุณปิยสวัสดิ์กับสหภาพการไฟฟ้า กรณีการแปรรูป โดยเฉพาะกรณีโรงไฟฟ้าราชบุรี

สำหรับโรงไฟฟ้าราชบุรีก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งคือการไฟฟ้าสร้างทั้งหมด แล้วหลังจากนั้นก็นำมาขาย เดิมเขาต้องการขายให้กับบริษัทต่างชาติที่เรียกว่า Strategic Parthner คือกลุ่มพลังงานที่ผมว่า แต่สุดท้ายมีการเคลื่อนไหวกัน ก็เลยขายเข้าตลาดหุ้น อันนี้คือความสัมพันธ์และความเกี่ยวพัน

การผูกขาดอำนาจการตัดสินใจโดยกลุ่มขุนนางพลังงาน
แต่ผมอยากจะเรียนว่า การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตผูกขาดอยู่นานและรวมศูนย์อยู่นาน มันได้สร้างชุดของวัฒนธรรมหรือโครงสร้างของการผูกขาด ทั้งในเรื่องของวิชาการและอำนาจการตัดสินใจในระบบตรงนั้น แล้วทำให้ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการเกิดความหลากหลายโดยสิ้นเชิง มีคนกลุ่มที่ อ.นิธิ เรียกว่า"ขุนนางพลังงาน" เป็นกลุ่มของคนซึ่งผูกขาดในเรื่องของการวางแผนไฟฟ้า

เขาได้สร้างกระบวนการทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง การทำงานก็จะเริ่มต้นจากการมีขุนนางพลังงานกลุ่มหนึ่งที่จะมาทำหน้าที่คำนวณหรือคาดการณ์ไฟฟ้าอนาคตว่า มันจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ โดยดูไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เขาก็จะวางแผนซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว 3 แผนล่วงหน้า 15 ปี. เขาจะขอตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์ฯคำนวณ แล้วก็เอาตัวเลขนั้นมาเป็นฐานในการวางแผนว่าอีก 15 ปี แต่ละแผนความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มเท่าไหร่ ก็เป็นคนกลุ่มนี้ที่มาทำหน้าที่คำนวณ

หลังจากคนกลุ่มนี้คำนวณแล้ว ก็จะส่งเรื่องนี้มาให้การไฟฟ้าเพื่อการวางแผน ที่เรียกว่า PDP แผนพัฒนาไฟฟ้า ว่าจะสร้างโรงไหนบ้าง จะใช้เชื้อเพลิงยังไง แล้วหลังจากนั้นก็จะมีกระบวนการก่อสร้าง และดำเนินการอย่างนี้มาโดยตลอด. กลุ่มนี้ไม่เคยถูกตั้งคำถาม จริงๆแล้วคนไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร? ไม่ว่าในเรื่องของผลประโยชน์ ความแม่นยำในด้านข้อมูลอะไรต่างๆ



ผู้นำเสวนาชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
วิทูร เพิ่มพงศาเจริญ : เลขาธิการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2545 : เวลา 14.30 น
ณ สวนอัญญา อ.เมือง จ. เชียงใหม่

อาจจะเก่า แต่เป็นมุมมองที่น่าสนใจ
ล็อคหัวข้อ