สรุปความรู้จากงานวิถีแห่ง VI : Thai Vi 20 Years Anniversary (20 Aug 23)

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
earthcu
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 362
ผู้ติดตาม: 99

สรุปความรู้จากงานวิถีแห่ง VI : Thai Vi 20 Years Anniversary (20 Aug 23)

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เนื่องด้วยมีโอกาสร่วมงาน วิถีแห่ง VI : Thai Vi 20 Years Anniversary ที่ผ่านมา
จึงอยากจะสรุปความรู้ที่ได้จากงานครั้งนี้เก็บตกบางส่วนเผื่อเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนนักลงทุนท่านอื่นๆที่ไม่ได้มาร่วมงานนี้ครับ


P’เชาว์
1.การลงทุนไม่มีใครที่รู้อนาคตแน่นอน


Session 1 (P’ทิวา : มี่เดี่ยวไมโครโฟน)

2.ไม่สำคัญที่จุดเริ่มต้น สำคัญว่าจะไปไหน (ในความเข้าใจ คือ ก่อนหน้านั้น คุณจะมีจุดเริ่มต้นอย่างไรไม่สำคัญ แต่สำคัญคือเรามีเป้าหมายที่จะไปที่ไหน และมีวิธีการและความพยายามอย่างไรในการไปให้ถึงเป้าหมายนั้น)

3.Attitude (ทัศนคติ) --> Behavior (พฤติกรรม) --> Action (การลงมือทำ) --> Success (ความสำเร็จ)
ทัศนคติที่ดีและถูกต้องจะสามารถนำให้คุณไปสู่ความสำเร็จได้

4.ความคาดหวัง 3 เรื่องสำหรับอาม่าของพี่มี่
4.1 ความมั่งคั่งของครอบครัว (ประหยัด, ขยัน)
4.2 การที่ลูกหลานสามารถขยายวงศ์ตระกูลได้
4.3 คาดหวังให้ประเทศจีนที่เป็นบ้านเกิด จะสามารถเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ในวันหนึ่ง

5. Law of Success by Napolean Hills (หนังสื่อที่พี่มี่กล่าวถึง)
1) มีความมุ่งหมายที่ชัดเจน (Definiteness of Purpose)
2) มีเพื่อนร่วมงานที่เข้ากันได้ (Mastermind Alliance)
3) ศรัทธาในงานที่ทำ (Applied Faith)
4) พยายามมากขึ้นอีกนิด (Going the Extra Mile)
5) มีบุคลิกที่น่าทำงานด้วย (Pleasing Personality)
6) ไม่ท้อถอย (Personal Initiative)
7) คิดบวก (Positive Mental Attitude)
8) กระตือรือร้นที่จะทำให้สำเร็จ (Enthusiasm)
9) ควบคุมความคิดตนเอง (Self-Discipline)
10) แน่วแน่ที่จะทำให้สำเร็จ (Accurate Thinking)
11) จัดลำดับความสำคัญของการกระทำ (Controlled Attention)
12) ทำด้วยจิตวิญญาณของทีม (Teamwork)
13) ใช้ความผิดพลาดและล้มเหลวให้เป็นประโยชน์ (Adversity and Defeat)
14) มีวิสัยทัศน์สร้างสรรค์ (Creative Vision)
15) มีสุขภาพที่ดี (Health)
16) วางแผนการใช้เงินและเวลา (Budgeting Time and Money)
17) มีนิสัยทำสิ่งที่ถูกต้อง (Habits)
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
https://drpiyanan.com/2019/04/12/17-pri ... leon-hill/

6.การลงทุนต้องมีวิวัฒนาการ ช่วงที่ลงทุนแรกๆอาจจะเน้นที่ตัวเลข เช่น P/Eต่ำ, ROE สูง แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะรู้ว่าหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญสูงมากคือผู้บริหาร (ความสามารถ, จริยธรรม)

7.แม้จะเป็นนักลงทุนที่มีชื่อเสียง แต่เวลาเลือกซื้อรถก็อาจจะใช้รถทั่วๆไปที่เน้นในเรื่อง Function การใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องใช้รถที่ราคาแพงมาก

8.หนึ่งในการวิธีการลงทุนของ Buffett คือ เลือกซื้อบริษัทที่มี Brand และสามารถปรับราคาขึ้นได้เรื่อยๆทุกปี

9.อิสรภาพทางการเงิน ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกอย่างของชีวิต จงหมั่นขัดเกลาให้เราเป็นคนที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

Session 2 คุยกับ 5 นายกสมาคม (P’ธันวา, P’โจ,P’ชาย, P’หลิน, P’เชาว์)


P’หลิน
10.งานหลักของนักลงทุน : อ่าน, ฟัง, คิด, เขียนสรุป
เวลาที่ความเห็นในการลงทุนไม่เหมือนกัน ให้ถกกันและวิเคราะห์ร่วมกันเพื่อให้เกิด Wisdom (ภูมิปัญญา)

P’เชาว์
11. 1 ในกระทู้แนะนำ คือ “ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ” ซึ่งถ้ากลับไปอ่านจะทำให้ได้แง่มุมในการลงทุนและ viewpoint ในการวิเคราะห์หุ้นได้เป็นอย่างดี

P’ธันวา
12.ย้อนเวลากลับไปได้ จะไม่ทำอะไร ขออนุญาติใช้บทความจาก Facebook ของพี่ธันวา นะครับ

รู้งี้ : ชายวัยใกล้แซยิด / วิถีแห่ง VI หน้า 270
“แซยิด” ใช้เรียกวันอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งในอดีตคนจีนใช้ปฏิทินโบราณที่เรียกชื่อปีแตกต่างกันแต่ละปี เมื่อครบรอบ 60 ปีก็เวียนขึ้นต้นใหม่ ชาวจีนจึงถือว่า 60 ปีเป็น 1 รอบ ผู้ที่มีอายุยืนยาวถึง 60 ปี นับว่าเป็นผู้มีบุญ น่ายินดี ควรแก่การเฉลิมฉลองและทำบุญเพื่อให้ตนเองและลูกหลานมีความสุขมากยิ่งขึ้น สำหรับประเทศไทย หลังจาก “แซยิด” เรียกว่า “ผู้สูงวัย” แบ่งเป็น ผู้สูงอายุวัยต้น วัยกลางและวัยปลาย โดยมีช่วงอายุ 60-69 ปี, 70-79 ปี และ 80 ปีขึ้นไป ตามลำดับ จากบริการสถิติข้อมูล กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ณ สิ้นปี 2565 ประเทศไทยมีจำนวนประชากร 66,090,475 ล้านคน มีจำนวนผู้สูงวัย 12,519,926 คน หรือ 18.94% สูงเป็นอันดับที่ 36 ของโลกโดยประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนผู้สูงวัยสูงสุดถึง33.4% ของประชากรทั้งหมด
ในฐานะที่อายุเข้าใกล้ “แซยิด” หรือใกล้เข้าสู่กลุ่ม “ผู้สูงอายุวัยต้น” จึงได้ทบทวนเหตุการณ์เรื่องราวและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบันว่า สิ่งที่มีคุณค่าสำหรับตัวเองทั้งด้านการลงทุนและการใช้ชีวิต หากสามารถย้อนเวลากลับได้ มีเหตุการณ์อะไรบ้างที่ “รู้งี้” จะไม่ทำเช่นนั้น หรือเลือกทำโดยใช้แนวทางอื่นแทน
รู้งี้ต้องตั้งใจเรียนทุกวิชา: สมัยเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ. 3) เรียนหนังสือที่ต่างจังหวัด เป็นคนที่ตั้งใจเรียนมาก มีวินัยและความรับผิดชอบสูง มีผลการเรียนที่ดีมากต่อเนื่อง เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนชายล้วนแล้วได้มาเรียนสหศึกษาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษานั้นเป็นช่วงเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เริ่มสนุกกับการมีเพื่อนใหม่ สนุกกับการทำกิจกรรมและเล่นกีฬาหลังเลิกเรียน ระดับความใส่ใจในการเรียนลดลง เริ่มไม่ตั้งใจเรียนวิชาที่ต้องท่องจำเยอะ ไม่สนใจเรียนวิชาที่เรียนแล้วไม่สนุกหรือวิชาที่คิดว่าคงไม่ได้นำไปใช้ในอนาคต ปัจจุบันพบว่า วิชาเหล่านั้นล้วนมีประโยชน์และได้ใช้งานจริง หากตั้งใจเรียนทั้งวิชาชีววิทยา เคมีวิทยา ภาษาอังกฤษ Reading และวิชากฎหมายหรือวิชาเลือกอื่นในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย คงได้นำความรู้พื้นฐานเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ดีกว่านี้
รู้งี้ต้องแบ่งเวลาทำงานหาประสบการณ์ควบคู่กับการเรียนให้เหมาะสม: ตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปีแรก รู้สึกสนุกกับกิจกรรมรับน้อง ทำกิจกรรมชมรมและเล่นกีฬาของคณะ เมื่อขึ้นชั้นปีที่สองได้เลือกเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และ ได้ทำงานเป็น Part-time Programmer ที่มีเงินเดือนประจำ รู้สึกภูมิใจเพราะไม่ต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนจากทางบ้าน เมื่อสนุกกับงานจึงทุ่มเททำงานเกือบเต็มเวลาโดยไม่ได้แบ่งเวลาเข้าห้องเรียนและทำกิจกรรมอื่นเท่าที่ควร แม้ผลการเรียนอยู่ในระดับที่น่าพอใจแต่การท่องจำเพื่อเข้าห้องสอบนั้นทำให้ขาดความเข้าใจเนื้อหาวิชาอย่างถ่องแท้ เมื่อมองย้อนกลับไปเงินเดือนที่ได้รับนั้นเป็นจำนวนไม่มาก หากจัดสรรเวลาให้เหมาะสมก็คงได้ทั้งการทำงาน การเรียนและประสบการณ์อื่นๆ ในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยด้วย อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้วิธีการทำงานหลายอย่างให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ข้อจำกัด
รู้งี้ให้ความสำคัญกับการอุปสมบท: การบวชเหมือนเป็นธรรมเนียมปฎิบัติของชายไทย เมื่อถึงวัยอันควรจึงตัดสินใจบวชเป็นเวลา 15 วันตามภารกิจ เลือกวัดที่สะดวกสำหรับพิธีอุปสมบท เนื่องจากวัดอยู่ในเขตชุมชนจึงต้องปฏิบัติกิจนิมนต์เกือบทุกวันนอกเหนือจากการบิณฑบาตเช้าและท่องบทสวดมนต์ ความกังวลกับงานประจำยังทำให้ขาดสมาธิในบางช่วง เวลาศึกษาธรรมะและทำความเข้าใจแก่นพุทธศาสนาอย่างจริงจังจึงค่อนข้างจำกัด หากมีโอกาสอีกครั้งในชีวิตจะต้องพิจารณาให้มีความพร้อมในทุกด้านอย่างแน่นอน
รู้งี้ไม่เกษียณจากงานประจำก่อนเวลา: ความต้องการมีอิสระด้านเวลามากขึ้นนำมาสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิต นั่นคือการเกษียณจากงานประจำด้วยวัยเพียง 45 ปี เพราะคิดว่าตนเองมีความพร้อมในทุกมิติ แต่หลังเกษียณกลับพบว่า ตนเองใช้เวลาไม่มีประสิทธิภาพ ยังต้องการให้ตนเองมีประโยชน์ มีคุณค่า และไม่ต้องการทุ่มเทเวลาไปกับการลงทุนมากเกินไปแม้อาจทำให้มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น นับว่าโชคดีที่ค้นพบ 2nd Career ที่เหมาะกับตนที่ยังได้ใช้ศักยภาพ ความรู้และประสบการณ์ และมีเวลาสำหรับกิจกรรมอื่นที่ต้องการ นับเป็นความลงตัวที่ไม่ได้วางแผนไว้
รู้งี้ไม่คิดว่าอาชีพนักลงทุนเท่านั้นทำให้มีอิสรภาพทางการเงินได้: ปัจจุบันพบว่า มีผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จจำนวนไม่น้อยที่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้จากเงินเดือนและโบนัส ได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติมอื่น (Perks) นับว่าเป็นการสร้างความมั่งคั่งที่มั่นคงและมีความเสี่ยงต่ำ มีเกียรติยศชื่อเสียง สถานะทางสังคมเป็นที่ยอมรับ มีเครือข่ายต่อยอดในกิจกรรมด้านอื่นๆ และที่สำคัญคือ ได้ใช้ศักยภาพในการช่วยพัฒนาและเพิ่ม Productivity ใน Real Sector ในยามที่ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วย เมื่อมีความมั่งคั่งมากพอก็มีอิสรภาพทางการเงินได้แม้ยังเลือกที่จะทำงานต่อไป นี่คือประเด็นสำคัญหนึ่งที่นักลงทุนเน้นคุณค่าที่มุ่งเน้นเพียงความมั่งคั่งและอิสรภาพทางการเงินมองข้ามไป
รู้งี้ต้องสนใจศึกษาและติดตามการลงทุนอย่างต่อเนื่อง: เมื่ออายุและมีเวลามากขึ้น ความสนใจลงทุนกลับมาถึงจุดอิ่มตัว Passion และความมุ่งมั่นในการศึกษาข้อมูลการลงทุนเชิงลึกลดน้อยลง ไม่เข้าร่วมสัมมนาการลงทุน ไม่ติดตามฟัง Opportunity Day ของบริษัทจดทะเบียน หรือไม่ค่อยพบปะสังสรรค์กับเพื่อนนักลงทุนเช่นในอดีต ทำให้การพัฒนาตนเองถดถอยลงทั้งในด้านความคิด มุมมอง และการวิเคราะห์ นักลงทุนเน้นคุณค่าทุกคนต้องไม่ดีใจหรือยึดติดเพียงแค่ความสำเร็จในอดีต การหยุดพัฒนาตนเองไม่ว่าจะในเรื่องใดๆ นับว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดี และต้องไม่ให้เกิดขึ้นในแต่ละช่วงของชีวิต
รู้งี้ไม่ลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องต่ำและทรัพย์สินที่ประเมินมูลค่ายาก: จากประสบการณ์พบว่า การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ บ้าน ที่ดิน คอนโด และหุ้นนอกตลาด ล้วนไม่เหมาะกับตนเอง ได้ผลตอบแทนต่ำและไม่คุ้มค่า สำหรับของสะสม เช่นนาฬิกา ธนบัตร เหรียญ แสตมป์ นั้นพบว่าเหมาะเพียงเพื่อเป็นงานอดิเรกเท่านั้น นักลงทุนเน้นคุณค่าต้องเลือกลงทุนเฉพาะสินทรัพย์ที่เข้าใจ มีความเชี่ยวชาญและตรงจริต สามารถประเมินมูลค่าได้ไม่ยาก และต้องมีสภาพคล่องเพียงพอที่พร้อมปรับเปลี่ยนเมื่อมีโอกาสอื่นที่ดีกว่าเข้ามา
รู้งี้ไม่ให้เพื่อนยืมเงิน ไม่ร่วมลงทุนกับเพื่อน: นี่คือความเสียหายที่หนักที่สุด ความไว้วางใจ ความปรารถนาดีที่มีให้เพื่อน ทำให้มองข้ามเกณฑ์พิจารณาต่างๆ นำมาสู่สถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เกิดความเสียหายทั้งในรูปของตัวเงิน และการเสียเพื่อนที่เคยคบหากันมาอย่างยาวนาน เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของชีวิตที่ต้องไม่เกิดขึ้นอีก นักลงทุนเน้นคุณค่า ต้องแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างการลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนและความปรารถนาดีที่ต่อเพื่อน เมื่อแยกพิจารณาตามบริบทที่ต่างกันก็นำไปสู่ความเหมาะสมทั้งปริมาณการลงทุน ความเสี่ยงและความคาดหวังที่ต่างกัน เมื่อผลไม่เป็นดังคาด ความเสียหายน่าจะอยู่ในวงจำกัดและยอมรับได้
“รู้งี้” ที่กล่าวข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างสถานการณ์ที่ประสบด้วยตนเอง ซึ่งแตกต่างกันไปตามสถานภาพ ปัจจัยแวดล้อม และบริบทของแต่และคน มีข้อมูลที่น่าสนใจจากหนังสือ 30 Lessons for Living เขียนโดย Karl Pillemer แนะนำโดยคุณอิก บรรพต ธนาเพิ่มสุข ส่วนหนึ่งของหนังสือผู้เขียนได้สัมภาษณ์ชาวอเมริกันช่วงอายุ 70-90 ปีกับสิ่งที่เสียใจและเสียดายมากที่สุดในชีวิต 8 เรื่องได้แก่ ข้อหนึ่ง ไม่ระมัดระวังในการเลือกคู่ชีวิต เลือกผิดชีวิตเปลี่ยน การอยู่เป็นโสดคนเดียวอาจดีกว่าหากต้องใช้ชีวิตอยู่กับคนที่ไม่ใช่ ข้อสอง ไม่ยอมคืนดีกับคนในครอบครัว ไม่ยอมให้อภัยแก่กันและกัน อยากย้อนเวลากลับไปเพื่อหาทางคืนดีและขอโทษ ข้อสาม ไม่ยอมบอกความรู้สึกที่แท้จริง จงบอกความรู้สึกแก่คนที่คุณรักในวันที่พวกเขามีชีวิตอยู่ เพื่อจะไม่ต้องเป็นฝ่ายที่เสียใจภายหลัง ข้อสี่ ไม่ได้ท่องเที่ยวมากเพียงพอ ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องหรูหรา เป็นสถานที่ที่สามารถจ่ายได้
ข้อห้า มีความกังวลมากเกินไป ชีวิตเราสั้นเกินกว่ามานั่งกังวลในเรื่องต่างๆ มากเกินไป รวมถึงเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น อยากได้เวลานั้นกลับคืนมาทำเรื่องอื่น ข้อหก ไม่มีความซื่อสัตย์ การโกหกหรือโกงคนอื่น เราเองเป็นคนที่รู้ความจริงและมักจะตามมาหลอกหลอน ข้อเจ็ดไม่ยอมคว้า หรือเปิดโอกาสในหน้าที่การงานให้มากเพียงพอ คุ้นเคยกับสิ่งที่เคยทำ ไม่กล้าทำสิ่งใหม่ หรือไม่ตอบรับโอกาสที่เข้ามา ยกเว้นมีเหตุผลที่ดีมากพอในการที่ต้องปฏิเสธ และข้อสุดท้าย ข้อแปด ไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ ให้ดีมากเพียงพอ หากสุขภาพไม่ดี อาจต้องทนทุกข์กับอาการของโรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะหากเป็นโรคเรื้อรังเป็นเวลานาน จากข้อมูลข้างต้น นับว่าผมเป็นคนที่โชคดีที่ทั้งประสบความสำเร็จทั้งด้านการงาน การเงิน และด้านครอบครัวระดับหนึ่ง สามารถจัดสรรเวลาเพื่อท่องเที่ยว ดูแลสุขภาพ ดูแลบุพการี และไม่กังวลหรือเครียดมากเกินไปยามตลาดหุ้นตกต่ำ
“ชายวัยใกล้แซยิด” ในฐานะที่เป็นนักลงทุนเน้นคุณค่ารุ่นบุกเบิกคนหนึ่ง จึงอยากชวนเพื่อนนักลงทุนคิดถึงสิ่งที่สำคัญของชีวิต เพื่อกำหนดเป้าหมายและวางแผนในการดำเนินชีวิตให้มีความหมาย มีความสุขอย่างรู้คุณค่า และความไม่ประมาท รู้จักปล่อยวางหรือยอมรับได้กับสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ ใช้วิจารณญาณในการคิด ไตร่ตรอง ใช้สติเพื่อตัดสินใจก่อนลงมือกระทำการใดๆ โดยมีเป้าหมายคือ การลดคำว่า “รู้งี้” ให้เกิดน้อยที่สุด


P’โจ

13.ตลาดทุนของประเทศไทย เดินทางมาไกลมาก ความรู้ของนักลงทุนในบ้านเราเก่งๆเยอะมาก ซึ่งก็มองว่าโอกาสการลงทุนยังมี แต่ก็ควรจะลองมองหาโอกาสในการลงทุนต่างประเทศด้วย
และอีกวิธีการหนึ่งคือลองมองหา Model บริษัทที่ Success ในประเทศไทยและมีโอกาส Copy ความสำเร็จไปในต่างประเทศ เพราะมีโอกาสขยายตลาดจาก 66 ล้านคน ในประเทศไทย ไปสู่หลายพันล้านคน

การที่เราลงทุนในหลายๆตลาด มีข้อดีอย่างหนึ่งคือทำให้เรามีความยืดหยุ่นในการปรับ Port สูงขึ้น เช่นกรณีตลาดหุ้นของประเทศ A ตกลงอย่างหนักและเรามองว่าเป็นโอกาส ก็ทำการเข้าซื้อ เมื่อราคาหุ้นของประเทศ A สูงขึ้น เราสามารถขายบางส่วนเพื่อ switch เงินลงทุนไปลงทุนในประเทศ B ที่ตลาดหุ้นกำลังลงหนักแทนได้

P’ชาย

14.สิ่งสำคัญ คือคุณมองเห็นโอกาสในการลงทุนหรือเปล่า สำหรับประเทศไทยนั้นก็ยังมองว่ามีโอกาสจากเหตุผล 6 ข้อ
1.)Thai Stable Baht จากการที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง และทองคำเยอะ และการที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก
2.)EV จะได้รับความนิยมในประเทศไทย ซึ่งมองว่ามีโอกาสที่จะลดการนำเข้าน้ำมันในอนาคต
3.)Tourism ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี นักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีประชากรเยอะอย่าง จีน, India, Indonesia สามารถบินมาบ้านเราโดยใช้เวลาไม่นาน เช่น 3-4 ชั่วโมง
4.)เรี่มมี Competitive Advantage จากการส่งออก เนื่องจากประเทศอื่นๆอย่างประเทศจีน ค่าแรงสูงขึ้นจนแซงค่าแรงไทย
5.)อสังหาริมทรัพย์นั้น Livable & Reasonable Price
6.)เริ่มมีความปรองดองมากขึ้นเรื่อยๆ


P’หลิน

15.ช่วง 10 ปีแรกของการลงทุน หุ้นที่เปลี่ยนชีวิต จะเป็นหุ้นในกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลง Business model ใหม่ๆของบ้านเราในช่วงนั้น
10 ปีต่อมา เริ่มมองหาหุ้นกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตในต่างประเทศได้ เช่นมีลูกค้าในต่างประเทศ หรือคนต่างประเทศมาซื้อสินค้า,บริการในประเทศไทย มองหาบริษัทที่มีโอกาสขยาย TAM (Total Addressable Market. ลูกค้าทั้งหมดของสินค้า/บริการของเรา) ในอนาคตได้

16.เราอาจจะลองใช้วิธีสังเกตดูว่าในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆของบ้านเรา มีบริษัทจากต่างประเทศอะไรบ้างที่จดทะเบียนในตลาดโลก โดยใช้ Mindset ของนักลงทุน VI เพื่อมองหาโอกาสในการลงทุนบริษัทในต่างประเทศ

17.การลงทุนที่ถูกต้องแค่ 15 ครั้ง ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตให้กลายเป็นนักลงทุนระดับโลกอย่าง Warren Buffett ได้

P’เชาว์
18.ปัจจัยหนี่งที่บริษัทจะออกไปต่างประเทศแล้วเกิดได้ง่ายขึ้น คือการที่ใช้ KOL
ย่อมาจาก Key Opinion Leader แปลตรงตัวคือ ผู้นำทางความคิด ดังนั้น คำว่า KOL คือ บุคคลที่ได้รับความเคารพและความเชื่อถือ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง จึงทำให้เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลในด้านความคิดของผู้ติดตาม ส่วนใหญ่ KOL จะเป็นกลุ่มคนในอุตสาหกรรมที่ต้องการความรู้และค่อนข้างซับซ้อน เช่น ด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ การเงิน สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี แต่ในปัจจุบันนี้จะนับรวมถึงกลุ่มไลฟ์สไตล์ที่มีความเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือด้วย เช่น กลุ่มของความงาม ฟิตเนส อาหาร ความเป็นอยู่ ฯลฯ เข้าไปด้วย
สำหรับผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็น KOL จะเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลและมีความรู้เฉพาะทางในหัวข้อที่เฉพาะเจาะจง โดยทุกคำพูดที่มาจาก KOL มักจะเป็นสิ่งที่ผู้พบเห็นมักเชื่อถือว่า เป็นแหล่งข้อมูลที่มีคุณภาพ การทำ KOL Marketing จึงช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ได้อีกทางหนึ่ง

Counter Positioning : การวางตำแหน่งที่ค้นหาส่วนที่โมเดลธุรกิจของคู่แข่งไม่สามารถทำได้ และพลิกรูปแบบไป (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ 7 Powers by Hamilton Helmer)


19.เวลาลงทุนให้ใช้วิธี Scuttlebutt จนทำให้เราสามารถรู้ข้อมูลได้ลึกเหมือนเจ้าของได้

Scuttlebutt หรือ คำซุบซิบนินทา เป็นวิธีการหาข้อมูลวงในจากการตามแกะรอยกิจการ
โดยแกะรอยในที่นี้ ก็คือการที่เราเข้าไปหามุมมองต่อสินค้าหรือบริการทั้งจากบริษัทที่เราสนใจ
หรือแม้แต่ไปตามหาเอาจากบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ซึ่งเราก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบการดูงบการเงิน เสพข่าว หรือการฟังการรายงานจากผู้บริหาร เพื่อนำไปตรวจสอบว่าข้อมูลเหล่านี้ เป็นจริงมากน้อยเพียงใด
คำถามที่ตามมาก็คือ
แล้วเราจะไปฟังคำซุบซิบนินทา
หรือไปสืบข้อมูลเหล่านี้ จากใครได้บ้าง ?
วิธีที่ 1 สืบเสาะผ่านการซุบซิบกับพนักงานบริษัท
นั่นก็เพราะว่า พนักงาน คือผู้ที่อยู่หน้างาน
ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเห็นพฤติกรรมของลูกค้าโดยตรงเสมอ
และพอคาดการณ์ได้ว่ายอดขายของสินค้าหรือบริการกำลังไปทิศทางใด
นอกจากนี้ เรายังสามารถล้วงไปจนถึงกระบวนการทำงานภายในขององค์กรอีกด้วย
และแน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่เราไม่มีวันหาอ่านได้จากงบการเงิน
ในขณะที่ข้อมูลจากอดีตพนักงานที่เคยทำงานในบริษัทที่เราสนใจก็ถือว่าเป็นประโยชน์ เช่นกัน
ดังนั้น เราจึงควรหาคนรู้จักที่เป็นพนักงาน หรือไม่ก็สร้างความสัมพันธ์กับเหล่าพนักงาน
เพราะพวกเขาเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลชั้นยอด
ที่มีโอกาสสร้างความได้เปรียบให้กับการลงทุนของเรา
วิธีที่ 2 สืบเสาะผ่านคู่ค้า
แหล่งข้อมูลชั้นดีอีกหนึ่งแห่ง คือ คู่ค้าของกิจการ
เพราะผลประกอบการของบริษัทเอง มักจะสะท้อนไปยังคู่ค้าเช่นกัน
เช่น บริษัทผลิตอาหารและเครื่องดื่ม สามารถรู้แนวโน้มผลประกอบการได้
จากพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง หรือก็คือร้านค้าปลีกและค้าส่ง
เซเว่น อีเลฟเว่นในบ้านเรา เป็นตัวอย่างหนึ่ง
ที่เราสามารถเช็กว่าสินค้าใดบ้างที่ขายดี
โดยการดู “ป้ายสินค้าตรงมุมขวาล่าง”
ซึ่งมีสัญลักษณ์ตั้งแต่ T1, T2, T3 หรือ T4
โดยสินค้าที่ขายดีมากมีสัญลักษณ์คือตัว T1
และไล่ลงมาจนขายไม่ดี คือไม่มีตัวอักษรเลย
จุดนี้ ก็สามารถช่วยให้เรานำไปประกอบการวิเคราะห์และนำไปคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทได้
ยกตัวอย่าง เช่น เครื่องดื่มของบริษัทไหนถ้ามีสัญลักษณ์ T1 เราก็อาจจะคาดเดาได้ว่าเครื่องดื่มของบริษัทนั้นขายดี
หรือแม้แต่เหล่าร้านจัดจำหน่ายสมาร์ตโฟน ที่นอกจากเราจะดูได้จากปริมาณลูกค้าในร้านแล้ว
เราก็ยังสามารถสอบถามพนักงานได้ว่าสินค้าไหนที่ขายดี
และแตกต่างจากแบรนด์อื่นอย่างไร
จากข้อมูลดังกล่าว ก็จะยิ่งทำให้เราตัดสินใจได้ว่าผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายไหน เช่น Apple, Xiaomi หรือ Samsung มาแรงกว่ากัน
วิธีที่ 3 สืบเสาะผ่านคู่แข่งในอุตสาหกรรม
เป็นธรรมดาที่การทำธุรกิจ เราต้องทำการวิเคราะห์คู่แข่ง
ซึ่งนอกจากเราจะดูภาพในเชิงตัวเลขอย่างส่วนแบ่งการตลาด
หรือแนวโน้มการเติบโตของแต่ละแบรนด์ในอุตสาหกรรมเดียวกันที่ผ่านมาแล้ว
เราก็สามารถใช้ข้อมูลของผู้เล่นรายอื่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน
มาประกอบการตัดสินใจในธุรกิจที่เรากำลังสนใจได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทไหนมีปัญหาในการขนส่งล่าช้า เราก็อาจไปสอบถามจากพนักงานของแต่ละร้านว่าสินค้าตัวเดียวกันของบริษัทอื่นมีของในสต็อกพร้อมไหม
ซึ่งเราก็สามารถนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ความพร้อมของแต่ละบริษัท หรือการบริหารคลังสินค้าเบื้องต้นได้ เช่นกัน
หรือแม้แต่ในการรายงานผลประกอบการของผู้บริหารในประเทศไทย
หรือที่รู้จักกันในชื่อ Oppday ที่มีช่วงที่ให้ผู้เข้าฟังสอบถามผู้บริหาร
ที่เป็นคู่แข่งกับบริษัทที่เราสนใจ เราก็สามารถยิงคำถาม
เกี่ยวกับจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละบริษัท เมื่อเทียบกับคู่แข่งได้
ข้อดีของวิธีการนี้ คือส่วนใหญ่บริษัทคู่แข่งจะระบุข้อเสียของบริษัทอื่นได้ดีกว่าที่บริษัทบอกเอง
หรือหากคู่แข่งยอมรับในจุดแข็งของบริษัทอื่นที่เราสนใจ จุดแข็งนั้นจะถือว่ามีความน่าเชื่อถือ
วิธีที่ 4 สืบเสาะผ่านกลุ่มลูกค้า
หากเป็นสมัยก่อน
การหารีวิวจากกลุ่มลูกค้าอาจจะค่อนข้างทำได้ยาก
หรือไม่ก็สอบถามได้จากเพียงแค่คนรู้จักหรือคนกลุ่มน้อยเท่านั้น
แต่ปัจจุบันเราสามารถค้นหาความคิดเห็นของลูกค้านับหมื่นคน ได้จากเว็บไซต์ต่าง ๆ
เช่น รีวิวสินค้าตามแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่าง Amazon, Lazada หรือ Shopee

ในขณะที่รีวิวโรงแรม เราก็สามารถดูได้จากรีวิวบน Agoda
หรือร้านอาหาร ก็ Wongnai และ Tripadvisor
ซึ่งรีวิวของคนกลุ่มนี้ก็ทำให้เห็นว่า สิ่งที่ผู้บริหารคิดกับเรื่องที่จะเกิดขึ้นจริง
มีโอกาสเป็นไปได้และเป็นความจริงมากน้อยขนาดไหน
หากเป็นสินค้าหรือบริการสำหรับธุรกิจ หรือที่เรียกว่า B2B
สามารถสอบถามผ่านพนักงานของบริษัทนั้น ๆ แทนก็ได้
เช่น อุปกรณ์การแพทย์ แน่นอนว่าเราไม่สามารถถามผู้บริหารของบริษัทที่ซื้อได้ก็จริง
แต่เราสามารถรู้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้านี้ได้จากพนักงาน หรือแพทย์และพยาบาล
เพราะเป็นผู้ที่ใช้งานโดยตรง และข้อมูลนี้อาจดีกว่ามาจากผู้บริหารเอง
สำหรับวิธีสุดท้ายก็คือ สืบจากการใช้งานจริงของ “ตัวเราเอง” หรือบุคคลใกล้ชิด
ปีเตอร์ ลินซ์ ผู้จัดการกองทุนระดับโลก
ใช้วิธีการนี้ในการหาธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนหลายเด้ง
โดยการสังเกตจากสินค้าและบริการที่ครอบครัวตนเองใช้

อย่างเช่น ภรรยาของเขาที่ชอบใช้ถุงน่องแบรนด์ L'eggs
ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทที่ชื่อว่า HanesBrands
เขาก็ได้ทดลองนำถุงน่องคู่แข่งอีกแบรนด์มาให้ภรรยาเปรียบเทียบกัน
และได้ข้อสรุปว่าถุงน่องของคู่แข่งไม่สามารถมาแทนได้
เพราะใส่ไม่สบายเท่าแบรนด์ L'eggs
ซึ่งหลังจากทดลองไปไม่นาน
ผลประกอบการต่อมาก็เป็นไปตามคาด
ยอดขายถุงน่องแบรนด์ L'eggs เติบโตพุ่งทะยาน
ส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นเป็นหลายเท่า
จากเรื่องนี้ทำให้เห็นว่า หุ้นที่ดีอาจใกล้ตัวเรากว่าที่คิด
และบางธุรกิจอาจจะอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากกว่าที่เราคิด
เพียงแต่เราไม่ได้นึกถึง

แต่การใช้วิธีนี้ ต้องระวังอคติ
ที่เกิดขึ้นจากสินค้าหรือบริการที่เราใช้เองด้วย
เพราะบางครั้งเราอาจมองโลกในแง่ดีหรือร้ายจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์คำซุบซิบนินทา หรือ Scuttlebutt
ก็เป็นหนึ่งในไอเดียการหาข้อมูลประกอบการวิเคราะห์หุ้นที่น่าสนใจ
เพราะหากเราทำอย่างสม่ำเสมอ มันก็ถือเป็นวินัยที่ดีของนักลงทุน
ที่จะทำให้เรารู้ลึก รู้จริง และรู้มากกว่าตัวเลขรายได้กำไรในอดีต
ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ที่ไม่ว่าใคร ก็รู้เหมือน ๆ กับเรา..

ที่มา : by ลงทุนแมน https://www.longtunman.com/29732


20. หุ้น 10 เด้ง ความจริงที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ แต่จริงๆคุณรู้และเข้าใจบริษัทนั้นเป็นอย่างดี


ท่าไม้ตาย /Playbook

21. P’เชาว์ : Edge รู้อะไรบางอย่างที่คนอื่นไม่รู้ ต้องพยายามคิดว่าหุ้นตัวนี้คุณรู้ข้อมูลเป็น Percentile ที่เท่าไรเช่น 90 หรือ 98 ยิ่งคุณเข้าใจบริษัทนั้นลึกมากเท่าไร ก็มีโอกาสที่คุณจะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้สูงขึ้น

22.P’หลิน : 1.)คิดต่าง แตกต่างแต่ต้องคิดให้ถูก 2.)พยายามเลือกอาจารย์ให้ถูกคน 3.)เราอาจจะเป็นเหมือนค่าเฉลี่ยของ 5 คนที่สนิทที่สุด

23.P’ชาย : 1.)อึด ไม่เลิกไปซะก่อน เช่นตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง Port เหลือแค่ 10% แต่ก็ไม่ท้อ ไม่เลิกไปซะก่อน 2.)ผิดพลาด ต้องกลับมาศึกษา หมั่นเพิ่มพูนความรู้อยู่เสมอ เวลาผิดพลาดย้อนมาดูตัวเอง และเรียนรู้จากความผิดพลาดอยู่เสมอ 3.)พอ (Risk Mgt.) รู้ขีดจำกัดของตัวเอง ถ้ามีความรู้ใน Field ไหน ก็พยายามลงทุนอยู่ใน Field นั้นๆ จะทำให้สามารถที่จะกำไรอย่างยั่งยืนและยาวนาน

24.P’โจ : 1.)ความตั้งใจและมุ่งมั่น จริงๆแล้วหลายคนรู้ดีว่าจะต้องทำอะไรบ้างให้ประสบความสำเร็จ คำถามคือคุณได้ทำไหม ต้องเปลี่ยนความมุ่งมั่นให้กลายเป็นการกระทำ 2.)ฟังตัวเอง เงี่ยหูฟังตัวเอง (ความเชื่อมั่นในตัวเอง) ชีวิตเรา เราฟังคนอื่นมาเยอะแล้ว คุณเคยฟังตัวเองไหม พยายามทำให้เกิดความสำเร็จสักชิ้นหนึ่ง จะทำให้เริ่มเกิด Snowball ขึ้นเราจะเริ่มมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเปลี่ยนชีวิตให้มีความมั่นใจ
เพราะการเลือกหุ้นนั้น ต้องกล้าที่จะเลือกหุ้น ด้วยใจที่เด็ดเดี่ยว ยกตัวอย่างเวลาเลือกซื้อหุ้นกลุ่มวัฎจักร นั้นต้องใช้ใจซื้อ เพราะต้องซื้อตอนที่บริษัทมันแย่ๆ (ใจ, ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญ) ซึ่งต้องค่อยๆเรียนรู้และพัฒนา

25.P’ธันวา : ความสมดุลย์ (Well Balance) นั้นมีความสำคัญ โดยเราอาจจะลองคิดว่าอยากจะให้ตัวเองนั้น Achieve ในมิติอะไรบ้าง เช่น ครอบครัว, สุขภาพ, Investment (การเงินการลงทุน), Work, ธรรมะ และลองวัดตัวเองด้วย Radar Chart ดู เพื่อปรับความสมดุลย์



Session 3 จากจุดสูงสุดสู่จุดต่ำสุดของชีวิต P’เบส, P’ไม้ฟืน

P’เบส
26.การลงทุนเพื่อมองหาคุณค่าในตัวเอง

P’ไม้ฟืน
27.พรสวรรค์คือพรแสวง , ขยันแล้วต้องทำให้ถูกทาง

28.ทำเหตุปัจจัย ให้เหมาะสมกับสิ่งนั้น

29.ผิดแล้วเรียนรู้ เรียนจากความผิดพลาดของตัวเอง

30.ทำประโยชน์ให้สังคม (ซึ่งอาจจจะทำให้ชีวิตดีขึ้นและมีกำลังใจ)


31.เข้าใจ เข้าใจ เข้าใจ
1.)เข้าใจหุ้น กำไรคือเจ้ามือตัวจริง อ่านข้อมูลอะไรต่างๆที่ทำให้เกิดกำไร (Ex.1.รายได้ : Demand ผู้บริโภค, Trend, คู่แข่ง 2.ต้นทุน ต้นทุนหลัก เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร)
2.)เข้าใจผู้อื่น เช่น นักลงทุนท่านอื่นๆ, บทวิเคราะห์ คิดอย่างไร
3.)เข้าใจตัวเอง ลงทุนไปทำไม เป้าหมายคืออะไร ตอบโจทย์ชีวิตตัวเองได้ไหมว่าต้องได้ Return เท่าไร เช่น 15-20% หรือ ว่า 50%-100%
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก บทความ เป้าหมายที่เหนื่อยหนัก/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

กลับมาที่นักลงทุนธรรมดาในบ้านเรา ผมคิดว่าคนที่หวังรวยเร็วและอาจได้เห็นตัวอย่างของเพื่อนหรือ “เซียน” หุ้นที่มีชื่อเสียงที่สามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนได้มโหฬารอย่างไม่น่าเชื่อในเวลาอันสั้น จึงหาทางเพิ่มผลตอบแทนของตนโดยการซื้อขายหุ้นที่เป็นหุ้นเก็งกำไรที่มีความผันผวนของราคาสูง ในเวลาเดียวกันก็ใช้มาร์จินในการลงทุนเต็มที่ และในเวลาเดียวกันไม่มีการกระจายความเสี่ยงที่เพียงพอ ทุ่มเงินซื้อหุ้นเพียงตัวสองตัว การลงทุนแบบนี้ ในภาวะที่ตนเองคาดการณ์ถูกและสถานการณ์เอื้ออำนวย ผลตอบแทนก็จะสูงลิ่วและอาจจะทำให้ “รวยไปเลย” อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ตรงกันข้าม เขาก็อาจจะ “แย่ไปเลย” แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ความเหนื่อยและความเครียดน่าจะมีอยู่ตลอดเวลา จิตใจและอารมณ์อาจจะผูกพันอยู่กับการขึ้นลงของราคาหุ้น ผมเองไม่แน่ใจว่าความสุขที่ได้จากการขึ้นของราคาหุ้นจะสามารถชดเชยกับความกังวลและความเครียดที่หุ้นตกลงมาจะคุ้มไหมโดยเฉพาะถ้าผลตอบแทนก็ไม่ได้สูงกว่าปกติไปมากมายนัก

คนที่ตั้งความหวังการลงทุนสูงกว่า 10-15% ต่อปีโดยเฉลี่ยแบบทบต้น เช่นหวังถึงปีละ 25-30 หรือแม้แต่ 40-50% ต่อปี คนที่หวังจะมีเงินที่ได้จากการลงทุนเป็น 10 100 หรือ 1000 ล้านบาท หรือตั้งเป้าจะมี “อิสรภาพทางการเงิน” ภายในเวลา 5-10 ปี หรือเมื่อตนเองอายุเพียง 30-40 ปี ทั้ง ๆ ที่เป้าหมายแบบนั้นโดยอัตราผลตอบแทนปกตินั้นเขาไม่สามารถจะบรรลุได้ อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่าด้วยผลตอบแทนที่เขาทำได้ในช่วงเวลานี้ที่เขาทำได้สูงมาก เขาคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยากที่เขาจะทำได้ต่อไป และถ้าเป็นอย่างนั้น ความฝันของเขาก็จะเป็นจริง แต่นี่ก็จะเป็น “เป้าหมายที่เหนื่อยหนัก” ที่เขาสร้างให้กับตัวเอง และเขาอาจจะรู้สึกเหนื่อยและเครียดเมื่อสถานการณ์การลงทุนเริ่มพลิกผัน กลยุทธ์ที่ทำกำไรได้อย่างรวดเร็วไม่เป็นไปตามที่เคย บางทีเขากลับขาดทุนอย่างหนัก โดยรวมแล้ว การตั้งเป้าและใช้วิธีหรือกลยุทธ์ในการลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้อาจจะยังอยู่ในระดับน่าพอใจแต่ก็ไม่เข้าใกล้เป้าหมายที่เคยฝัน แต่คำถามก็คือ “คุ้มไหม” กับการเหนื่อยหนักและความเครียดที่เกิดขึ้น

การลงทุนโดยคอยเปรียบเทียบผลงานกับเพื่อนฝูงหรือคนรู้จัก เป้าหมายก็คือ สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าหรือมีเงินมากกว่าหรือมีพอร์ตใหญ่กว่า มีคนยอมรับมากกว่า หวังมีชื่อเป็น “เซียน” คนหนึ่งในแวดวงการลงทุน เหล่านี้ทำให้กลยุทธ์หรือวิธีการลงทุนอาจจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด นี่เป็นความคิดที่ทำให้ “เหนื่อยหนักและเครียด” บางทีแม้ว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าประทับใจมาก แต่เมื่อไปเทียบกับอีกคนหนึ่งที่บางทีก็ไม่ “เก่งกว่า” แต่เรากลับ “แพ้เขา” ความทุกข์ก็เกิดขึ้น ธรรมชาติของคนก็มักชอบที่จะเปรียบเทียบกับคนที่อยู่เหนือกว่าแล้วก็ต้องการเอาชนะ ดังนั้น การเปรียบเทียบนั้น ส่วนใหญ่ก็มักจะนำความเหนื่อยและความเครียดมาให้เสมอ

ผมเองผ่านชีวิตการลงทุนมายาวพอสมควร ผ่านสถานการณ์ตลาดหุ้นมาทุกรูปแบบทั้งที่ดี ดีเยี่ยม เลว เลวร้ายจนเป็นวิกฤติ เป็นแบบนี้มาหลายครั้ง ผมพยายามทบทวนความรู้สึกย้อนหลังไปในสถานการณ์ต่าง ๆ ในอดีตแล้วก็พบว่า ความเหนื่อยและความเครียดนั้น บ่อยครั้งไม่ได้สัมพันธ์กับผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน ช่วงที่ลงทุนแล้วมีความสุขที่สุดดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงที่ “ลงทุนอยู่คนเดียว” ตลาดเหงาหงอย ไม่มีเวบไซ้ต์การลงทุน ข่าวเกี่ยวกับหุ้นแทบไม่มี ราคาหุ้นขึ้นลงน้อยมากในแต่ละวัน แต่ผลตอบแทนที่ได้ในรอบปีก็ “น่าประทับใจ” ที่ 20% ที่สำคัญ บริษัทที่เราลงทุนก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เอาชนะคู่แข่งได้และเติบอย่างมั่นคง อนาคตระยะยาวสดใส บางทีเราอาจจะส่งต่อให้ลูกหลานได้อย่างภาคภูมิใจ ราคาหุ้นก็ขึ้นมาบ้างตามฐานะของกิจการ ดัชนีหรือผลตอบแทนของตลาดเป็นเท่าไรหรือ? เออ นึกไม่ออก! ใครแคร์? เพื่อนคนนั้นทำได้กี่เปอร์เซ็นต์? ไม่รู้ ไม่ได้คุยกัน เรามีพอร์ตเท่าไรแล้ว? โอ้ว์ มากขึ้นทีเดียว ดีใจ! ถ้าเป็นแบบนี้อีกหน่อยก็สบาย ไม่ต้องทำงานก็ได้ แต่ตอนนี้ก็ทำไปก่อน ไม่ทำแล้วจะไปบอกญาติพี่น้องยังไง ทำงานยังไงก็ได้เงินเดือนใช้จ่าย ไม่ต้องไปกินพอร์ต พอร์ตจะได้โตไปเรื่อย ๆ ฯ ล ฯ บางทีผมคิดว่า การที่จะมีความสุขและไม่เหนื่อยจากการลงทุนก็เป็นศิลปะที่ต้องเรียนรู้ด้วยเหมือนกัน


การที่เราพยายามเข้าใจ 3 ปัจจัย นั้นเพื่อประเมินกลยุทธ์ในการลงทุนที่เหมาะกับตัวเรา



32.ลงทุนไปแล้วระหว่างทางชีวิตต้องมีความสุข เห็นประโยชน์กับสิ่งนี้ และสามารถเติบโตขึ้นในทุกๆวัน


P’เบส
33.พยายามสรุปว่าเวลาจะเลือกหุ้น 1 ตัวจ้องวิเคราะห์อะไรบ้าง จากนั่นทำเป็น Check list ของตัวเอง

34. หลักค้นหาหุ้นเติบโต อาศัยการ Adjust check list จาก Case Study ต่างๆ เพื่อพัฒนา Check list ให้สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ

35.พยายามเป็นอิสระจากองค์ความรู้ในตลาด

36.เวลาที่ชีวิตมีความเครียด วิตกกังวลอย่างหนัก ต่อให้มีเงินมากสักเท่าไรก็ไม่ช่วยอะไร

37.สภาพจิตใจที่ดี ประกอบด้วย 3 สิ่ง Self, Control, Connection
Self คุณค่าของตัวคุณ บางทีการที่กระจายทำหลายเรื่อง ก็อาจจะช่วยลดความคาดหวังเวลาหนึ่งงานนั้นล้มเหลว
Control : ควบคุมสิ่งต่างๆในชีวิตในส่วนที่เรา Control ได้ เช่น Control Process ในการเลือกหาหุ้น
Connection : มีคนที่พร้อมจะ Support คุณในช่วงที่สภาพจิตใจไม่ Ok การมีเพื่อนที่ดี ครอบครัวที่ดี
พยายาม invest/ลงทุนในเรื่องความสัมพันธ์ และต้องดูแลรักษาสภาพจิตใจของคุณให้ดี

38.การลงทุนคือการมองไปข้างหน้า (อนาคต) ไม่ใช่มองแต่กระจกหลัง (อดีต) โดยเราอาจจะมองอดีตและปัจจุบัน เพื่อพยายาม Forecast อนาคต

39.Valuation จุดยาก คือต้องเข้าใจบริษัทอย่างถ่องแท้ ว่ารายได้จากไหน, ค่าใช้จ่ายคืออะไร เพื่อจะหากำไรของบริษัทและนำไปสู่การ valuation

40.ความสุขควรจะอยุ่ระหว่างการทำ Process ไม่ใช่การได้ Result เพราะที่เจอมา สำเร็จถึงเป้าหมายแล้วก็ดีใจได้แค่สักแป็บเดียว และไม่มีอะไรรอเราหลังเส้นชัย (หลังเส้นชัยคือความว่างเปล่า)

P’ไม้ฟืน
41.ทำอะไร ควรจะทำให้พอดี บางอย่างทำมากเกินไปก็ทำให้ใจเป็นทุกข์
Session 4 ชีวิตที่มากกว่าการลงทุน (อ.นิเวศน์, อ.ไพบูลย์)

42. ถึงจุดๆหนี่ง ผลการตรวจสุขภาพทุกๆ 6 เดือน อาจจะมีความสำคัญกว่าหลายๆสิ่ง เช่นการลงทุน

43.มีหลายๆ คนที่ไม่สามารถรับแรงเสียดทานจากการเป็นหนี้ เพราะฉะนั้นระวังการใช้ Margin, Blocktrade, เอาเงินกู้บ้านไปลงทุน และเงินลงทุนควรจะต้องมีการ Diversify บ้าง

อ.นิเวศน์
44.Skill ที่สำคัญ ชีววิทยา และการศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษย์ , ยีน

อ.ไพบูลย์
45.ชีวิตไม่ใช่การลงทุนเงินทองเพียงอย่างเดียว , บางทีการตื่นขึ้นมา ไม่ป่วยไม่ไข้ ก็ถือว่าดีแล้ว , ความสุขที่หายไปส่วนใหญ่มาจากความกังวล



ผมขออนุญาตเรียบเรียงเนื้อหาใหม่ตามที่ผมเข้าใจครับ รวมไปถึงอาจจะอธิบายเพิ่มเติมในบางจุดเพื่อให้เพื่อนๆท่านอื่นๆเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้นครับ ซึ่งลำดับของเนื้อหาอาจจะไม่ตรงกับที่ทางวิทยากรได้พูด ในกรณีที่อาจจะไม่ตรงกับเนื้อหาที่วิทยากรต้องการสื่อสาร ผมขอความกรุณาเพื่อนๆท่านอื่นที่ไปฟังในวันดังกล่าวช่วยแนะนำเพิ่มเติมหรือแก้ไขให้ด้วยครับ

ขอขอบคุณ Web Thaivi ที่ได้ให้ความรู้ในด้านการลงทุนให้กับผมและเพื่อนๆนักลงทุนท่านอื่นอยู่เสมอ .
ขอขอบคุณวิทยากรทุกๆท่าน (ดร.นิเวศน์, ดร.ไพบูลย์, พี่ธันวา, พี่โจ, พี่ชาย, พี่หลิน, พี่เชาว์, พี่มี่, พี่ไม้ฟืน, พี่เบส)
ที่กรุณาให้ความรู้คำแนะนำในด้านการลงทุนแก่ผมและนักลงทุนท่านอื่นๆเป็นอย่างสูงครับ
ขอบคุณทีมงานที่จัดงานนี้ทุกท่านที่เหน็ดเหนื่อยจัดงาน VI ยิ่งใหญ่แบบนี้ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้แก่นักลงทุนทุกท่าน

และขอขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านครับที่ช่วยแนะนำความรู้ในด้านการลงทุนให้ผมอยู่เสมอๆ

ขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงครับ
earthcu/ 24 Aug 23
(2 Years Promise)
Life is beautiful + Financial freedom within 2015 by investment stock & real estate
โพสต์โพสต์