สรุปความรู้ Chula Value Investing Talk 18 Feb 23 (พี่เชาว์, พี่มี่)

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
earthcu
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 362
ผู้ติดตาม: 99

สรุปความรู้ Chula Value Investing Talk 18 Feb 23 (พี่เชาว์, พี่มี่)

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เนื่องด้วยมีโอกาสร่วมงาน Chula Value Investing Talk ในวันที่ 18 Feb 23 ที่ผ่านมา จึงอยากจะสรุปความรู้ที่ได้จากงานครั้งนี้บางส่วนเผื่อเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนนักลงทุนท่านอื่นๆที่ไม่ได้มาร่วมงานนี้ครับ

วิทยากร
1.พี่เชาว์ เฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ
2.พี่มี่ ทิวา ชินธาดาพงศ์

ประวัติในช่วงแรก
-พี่เชาว์ : จบวิศวะ จุฬา ไปเรียนต่อ MBA ที่ America จากนั้นเกิด Hamburger Crisis ทำให้ต้องทำงานต่อที่นั่นแทน โดยช่วงที่อยู่ที่นั่นพยายามหาความรู้จากการอ่าน Wallstreet Journal และศึกษา CFA จนสามารถสอบผ่าน CFA level 3
กลับมาเมืองไทย ช่วงนั้นได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ของ ดร.นิเวศน์ ทำให้มีความรู้มากขึ้นและเริ่มจับจุดได้ว่า “ลงทุนยังไงให้ได้กำไร”
ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน Investment Banking วาณิชธนกิจ โดยช่วงนั้นทำขนานกันไป ซึ่งทำงานหนักทำให้ไม่ค่อยมีเวลา จึงใช้วิธีหาหุ้นดีๆ ที่สามารถถือยาวๆ ที่ไม่ต้องใช้เวลาในการติดตามมาก เป็นหุ้น Growth Stock โดยลงทุนมองยาว 5 ปี จากนั้นหาเงินมาเติม Port การลงทุน
ช่วงที่เปิด Port ปี 2005 ช่วงนั้นอ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ อ่านข้อมูลเพื่อเลือกซื้อหุ้น จนปี 2006 ได้มีโอกาสเจอหุ้น BOL ซึ่งพี่เชาว์รู้จักเนื่องจากต้องทำ Due Diligence (การตรวจสอบประเมินทรัพย์สิน ตลอดจนหนี้สินของบริษัท กรณีซื้อขายกิจการ มักจะใช้ในกรณีซื้อขายหรือเลิกกิจการ) จึงทำให้เข้าใจในธุรกิจนี้เป็นอย่างดี โดยช่วงนั้นกิจการมี Market Cap 160 Mb ยังมีขาดทุนนิดๆ และสามารถ Break Even ได้บ้าง โดยจากการตรวจสอบข้อมูลกับทาง IR ทำให้ทราบว่ามีโอกาสที่บริษัทใกล้จะกำไร ซึ่งช่วงนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่สนใจโดยใช้เงินที่ได้จากการทำงานที่ America มาซื้อเป็นหลัก จนท้ายที่สุดก็เป็นหุ้นตัวหลักที่ทำให้พี่เชาว์ประสบความสำเร็จในช่วงแรกๆ โดยช่วงนั้นพี่เชาว์ลงทุนไปด้วย + ทำงานไปด้วย จนสามารถได้รับ Dividend จากการลงทุนมากพอ ค่อยผันตัวเป็นนักลงทุนเต็มรูปแบบ

-พี่มี่ : ในสมัยเด็ก มีความใฝ่ฝันอยากเป็นคนที่มีฐานะร่ำรวยตั้งแต่เด็ก สมัยเด็กเรียนหนังสือไม่ค่อยเก่ง พอจบ ม.3 ก็ออกมาทำอาชีพ ขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ซึ่งทางบ้านไม่เห็นด้วย จึงส่งให้ไปเรียนต่อที่ประเทศจีน เมื่อกลับมาได้ทำร้านเกมส์ที่ Big C ลาดพร้าว ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงจังหวะที่ดีทำให้สามารถสร้างรายได้ 300,000-400,000 บาทต่อเดือน ก่อนที่จะมีโอกาสมาลงทุนหุ้นโดยบังเอิญ ซึ่งหลังจากนั้นร้านเกมส์ที่ทำก็ถูกผลักดันให้ออกไปเนื่องจากหมดสัญญา
ช่วงลงทุนใหม่ๆ หุ้นตัวแรกที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีคือหุ้น HMPRO โดยซื้อที่ราคา 5 Baht (ถ้าคิดเทียบกับราคาปัจจุบัน หุ้นขึ้นมา 20-30 เท่า) โดยช่วงนั้นสนใจหุ้นตัวนี้จากการที่มีโอกาสตกแต่งบ้าน ทำให้ไปลองเดินดูที่ HMPRO และพบว่าสาขาน่าสนใจในการเดินเพื่อซื้อของ เช่นมีตัวอย่างห้องน้ำ ห้องครัวให้ดู และมองโอกาสในอนาคตว่ากิจการมี room ในการรับลูกค้าได้อีกมากมายเป็น 10 เท่า (room ในการเติบโตในอนาคตอีกเยอะ) ทำให้ขายหุ้นอื่นๆที่ขาดทุนมาซื้อ HMPRO เป็นตัวหลักใน Port ซึ่งช่วงที่หุ้นลงแรงๆ ก็ใช้วิธีคล้ายๆท่านอาจารย์นิเวศน์ โดยการขับรถไปดู ที่กิจการที่เราลงทุนว่ากิจการยังสามารถขายได้เป็นปกติ เหมือนช่วงก่อนหน้าที่หุ้นจะลง ซึ่งหลักจากถือไปไม่นานก็ได้กำไรเป็นเด้งทำให้ได้ประสบการณ์ที่ดี และมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ


-Case Study Kamart (หุ้นในอดีต) เนื่องจากพี่เชาว์ทำงานอยู่ที่อโศก ทุกวันศุกร์จะมีเต็นท์แม่ค้าขายของอยู่ ซึ่งก็ได้สังเกตเห็นผู้หญิงไปมุงกันเยอะๆ ทำให้ได้เจอกับหุ้น Kamart ที่ขายเครื่องสำอาง ที่ก่อนหน้านั้นบริษัททำเครื่องใช้ไฟฟ้า Di-star และเปลี่ยน business model มาทำเครื่องสำอางจากการที่เป็น CFA เก่าเลยเริ่ม Connecting the dot จากประสบการณ์ที่ผ่านมา จากนั้นทำการหาข้อมูลแบบเจาะลึก ทำข้อมูลเหมือนทำ Due Diligence คือศึกษาทุกแง่มุมค่อยซื้อ เช่นพยายามดูว่า เจ้าของบริษัทเป็นคนอุปนิสัยยังไง เช่นเป็นคนประหยัดไหม และต้องเป็นคนที่ดูแล้วว่านิสัยต้องไม่ขี้โกง โดยหลังจากศึกษาแล้วพบว่าราคาหุ้นของบริษัทลงมาเยอะจากการที่ขาดทุนจากธุรกิจเก่า เช่นธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า และ ธุรกิจทำรถ NGV โดยมี Market Cap ในตอนนั้นประมาณ 240 MB ซึ่งมองว่าช่วงนั้นธุรกิจใหม่กำลังเติบโตดี ในขณะที่พยายามยกเลิกธุรกิจเก่าที่ขาดทุน จึงเป็นจังหวะที่น่าสนใจในการลงทุน จนสุดท้ายก็เป็นหุ้นหลายเด้งที่ทำให้เปลี่ยนชีวิตได้

-Case Study ORI (หุ้นในอดีต)
ศึกษาบริษัท ORI จนเข้าใจธุรกิจ ว่าบริษัทมีโอกาสจะโตจากไหนบ้าง, จะมีโอกาส spin-off บริษัทย่อยอย่างไร ศึกษาข้อมูลแล้วเก็บไว้ใน watching list ก่อน แม้ว่าช่วงนั้นราคาหุ้นจะขึ้นไปสูงจน P/E 20 เท่า จากนั้น monitor บริษัท ติดตามเป็นระยะ รอจังหวะช่วง Covid-19 ราคาหุ้นของบริษัทลงมาจาก 15 บาท –> 3 บาท ซึ่งเป็นจังหวะที่ใช่
โดยตอนนั้นมองว่า 1.)Business model ดีไหม 2.)ผู้บริหาร ดีไหม 3.)ราคาหุ้นในตอนนั้นสามารถซื้อได้หรือยัง (ทำ Valuation หุ้นและต้องเขียนราคาหุ้นไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังมีสติสัมปัญชัญญะที่ครบถ้วน)

-พยายามศึกษาให้รู้ Timing ของหุ้น เช่นติดตามหุ้นให้ทราบข้อมูลประมาณนึงและ monitor จากนั้นเมื่อราคาของบริษัทกลับมาถูกลงอย่างมากๆ ช่วงนั้นค่อยมาหาข้อมูลอย่างละเอียดโดยอาจจะสอบถามจากเพื่อนนักลงทุนที่ติดตามหุ้นตัวนั้นอย่างใกล้ชิดเพื่อ update ข้อมูลแล้วตัดสินใจในการลงทุนอีกทีนึง

-มองความผันผวน (Swing) ในตลาดหุ้นว่าเป็นในระยะสั้น ที่อาจจะไม่มีผลกับชีวิตในอีก 10 ปีข้างหน้า ในกรณีที่เราเลือก Bet หุ้นได้ถูกตัว (ตี Homerun) เวลาผ่านไปจะส่งผลทำให้ได้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพึงพอใจ

-มีอีกวิธีการนึงที่น่าสนใจคือทำตาราง Excel Watching List ของหุ้นไว้ จากนั้นพยายามคำนวณ % upside ของหุ้นแต่ละตัว จากนั้นทำการ Switching หุ้น กรณีที่ดูแล้วว่ามี Upside ที่มากกว่าอย่างมีนัยยะ เพราะโดยธรรมชาติในแต่ละปีจะมีการ Rotation ของอุตสาหกรรมที่น่าสนใจในแต่ละปี ซึ่งถ้าราคาหุ้นขึ้นมาในระดับที่ใกล้เคียงกับ Valuation ที่เราประเมินแล้ว เราอาจจะพิจารณาขายหุ้นเพื่อไปเลือกซื้อหุ้นตัวอื่นที่มี Upside Gain สูงกว่า (อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ก็อาจจะมีความเสี่ยง กรณีที่เราอาจจะรู้จักหุ้นตัวใหม่ไม่ดีเพียงพอเทียบกับหุ้นตัวเก่า)

-Money Management กับการซื้อหุ้น
ถ้ามีความรู้ในหุ้นนั้นไม่มากนัก ควรเลือกซื้อแค่จำนวนน้อยๆก่อน เช่น 1-3% ของ port เพราะกรณีที่เสียหายรุนแรง ราคาหุ้นตกลงไปมากกว่า 30% ก็ไม่ส่งผลกระทบกับ port มากนัก

-จำนวนบริษัทที่ถือใน Port ที่เหมาะสม
จำนวนบริษัทไม่ควรเยอะหรือกระจายจนเกินไป ช่วงแรกๆที่อาจจะไม่เก่งมากอาจจะถือลงทุนหุ้นบริษัท ไม่เกิน 10 ตัว จากนั้นผ่านไปสักระยะเริ่มมีความเชี่ยวชาญขึ้นอาจจะ Focus เหลือหลักๆ 5 ตัว โดยต้องศึกษาอย่างมั่นใจเพื่อให้เป็นหุ้นที่เปลี่ยนชีวิตได้ ส่วนกรณีที่ถือหุ้นบริษัทมากจนเกินไปอาจจะกระจายเกินทำให้ไม่สามารถตี homerun ได้
กรณีมีหุ้น 10 บริษัทใน Port
หุ้นตัวที่ 1-3 อาจจะถือในจำนวนที่เยอะ เพราะมองว่ามี Upside เยอะในขณะที่ Downside ต่ำ
หุ้นตัวที่ 6-10 อาจจะถือน้อย เพราะแม้ว่าจะมี Upside ที่เยอะ แต่ก็อาจจะมี Downside ที่สูงกว่าหุ้น 3 ตัวแรก
โดยเราอาจจะทำการบ้านให้มี Candidate list รวมกันสัก 20-30 บริษัทเพื่อไว้ติดตาม และสามารถที่จะสับเปลี่ยนกับหุ้น 10 ตัวแรกใน port ได้

-วิธีการเลือกหุ้นตาม Framework ของวิศวกร
มอง Probability ว่าโอกาสที่จะถูกได้เท่าไร และมองว่ามีโอกาสเกิดกี่ %
และมอง Probability ว่าโอกาสที่จะผิดจะเสียเท่าไร มีโอกาสเกิดกี่ %
เปรียบเหมือนเวลาเล่นไพ่ Poker กรณีไพ่ในมือดีๆก็ลงทุนเยอะๆ ส่วนกรณีไพ่ในมือไม่ดีก็อย่าไปสู้
ต้องรู้โอกาสการลงทุนเพื่อพิจารณาเลือกซื้อหุ้น (สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจาก The Dhandho investor)
เช่นย้อนกลับไป Case Kamart ในอดีตตอนนั้น ศึกษามองว่า Chance (โอกาส) ประมาณ 80% เพราะไปลองศึกษาบริษัทที่คล้ายคลึงกันอย่าง Mistine พบว่ามียอดขาย 10,000 MB ในขณะที่กำไรประมาณ 1,000 MB และมองว่ากรณี Mistine เข้าตลาดหลักทรัพย์มีโอกาสเป็นหุ้น P/E ที่สูงเช่น 30-40 เท่า ทำให้มองว่า Market Cap ของ Kamart ในตอนนั้นที่ 160-240 MB มีโอกาสอีกมากที่จะเติบโตได้ ซึ่งเป็นจังหวะที่น่าสนใจมากในการลงทุน (Why not homerun?)
มองเวลาซื้อหุ้นให้มองเป็นเรื่อง Expected Value
เช่นกรณี มีโอกาสที่ 70% จะมีโอกาสที่ราคาขึ้นไป 3 เท่า ในขณะที่มีโอกาสที่ 30% จะมีโอกาสที่ราคาหุ้นลงไปครึ่งนึงก็มองว่ายังมีความเสี่ยงอยู่พอสมควร ในกรณีที่ซื้อหุ้นก็อาจจะซื้อไม่มากเช่นไม่เกิน 5% ของ Port เป็นต้น

-Focus ชีวิตให้ถูก บางทีคนเราอาจจะลืมตัว มัวไปแต่ทำงานเยอะจนเกินไป จนลืมเรื่องอื่นๆที่อาจจะสำคัญ เช่นการมีเวลาศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุนเป็นต้น

-บทเรียนหุ้นวัฏจักร (Ex.อสังหาริมทรัพย์) ถ้ากำไรดีมากแล้วเราควรจะต้องขายออกไป เพราะหุ้น วัฏจักรจะเป็นรอบๆ ต่อให้ตัวเลข pre-sale ของบริษัทอสังหายังดูดี แต่ราคาหุ้นก็สามารถลงไปแรงๆได้ และพยายามอย่ามี Bias โดยการรักหุ้นจนเกินไป เน้นว่าหุ้นวัฏจักร ต้องมี “จุดขาย” จะขายหมูบ้างก็ไม่เป็นไร

-อยากเริ่มต้นลงทุนต้องเริ่มยังไง
1.)ศึกษาหาความรู้ Framework ของนักลงทุน โดยต้องค่อยๆเรียนรู้ อย่าเพิ่งคิดว่าเรารู้ดีแล้ว เปิดใจรับฟังคนอื่น พยายามวางเป้าหมายในการลงทุนให้ชัด และลงทุนในหุ้นที่เราเข้าใจเป็นอย่างดีเท่านั้น พยายามมี Check list การลงทุนเป็นของตัวเอง โดยต้องพยายามหาหุ้นที่ตรง criteria กับ check list ของเรา
องค์ประกอบที่สำคัญที่สุด - ”Passion ที่จะทำให้รู้ว่าเราจะไปไหน” โดยหาเป้าหมายที่ต้องการให้เจอ โดยเราอาจจะต้องหา Intrinsic Motivation (แรงจูงใจในส่วนตัว) ของตัวเองให้เจอเพื่อให้เราสามารถศึกษาหุ้นได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
อ่านให้เยอะ และ รู้จักถามให้เยอะๆ ชีวิตการลงทุนเราจะดีขึ้นเรื่อยๆจนสามารถมีฐานะที่ดีได้
มองว่าการลงทุนจะสามารถเปลี่ยนชีวิตของเราได้ เช่นคนชั้นกลางกรณีมีมีความมั่งคั่งระดับ 100MB ก็อาจจะสามารถส่งต่อความมั่งคั่งให้ลูกหลานได้

-Peter Lynch .”One up on wall street” ทุกคนมี Edge ในบางเรื่อง เน้นสิ่งที่คุณรู้ดีกว่าคนอื่น (ศึกษาก่อนคนอื่น) จุดที่เราชอบ จุดที่เรารู้เป็นอย่างดี เพื่อไปลงทุนหุ้นที่คุณรู้จริงๆจะเป็นวิธีการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ

-Question : Process เริ่มในการหาหุ้นทำอย่างไร
Answer : ศึกษาหุ้นที่อยู่ในชีวิตประจำวัน โดยมองธุรกิจไหนดี ไม่ดีจากการใช้ชีวิต เช่นเวลาเราไปร้านสะดวกซื้อ/ไปห้าง ก็พยายามสังเกตว่าสินค้าประเภทไหน/ร้านประเภทไหนที่ขายดีมากๆ จากนั้นทำเป็น watch list ไว้เบื้องต้นเพื่อศึกษารายละเอียดอีกที
อีกวิธีคือการพยายามอ่าน /ฟัง Opportunity Day ของบริษัทบ่อยๆ โดยฟังไปก็ต้องพยายามมีชุดคำถามเพื่อถามตัวเองเช่น 1.)อุตสาหกรรมนี้ดี/ไม่ดี แนวโน้มในอนาคตเป็นยังไง 2.)Business Model ของบริษัทดี? ไม่ดี? Business model แบบนี้จะ work หรือเปล่า 3.) ผู้บริหารที่ดีเป็นอย่างไร เช่นต้องมีความกระหาย Passion ที่จะทำให้กิจการเติบโตหรือเปล่า โดยนักลงทุนเป็นนักเลือก พยายามเลือกคนที่มีอนาคตที่สุด โดยหมั่นตั้งคำถาม, อ่านและข้อมูลที่มีประโยชน์ จากนั้นเราถึงจะมี Knowhow มากพอจนทำให้เกิด Wisdom (ภูมิปัญญา) ขึ้นมาได้


-Question : ถ้าไม่มีประสบการณ์ลงทุนเลย เริ่มจากไหนดี
Answer : เริ่มจากลองอ่าน Web Thaivi ดู แล้วฝึกถามไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ check list ที่สำคัญในการลงทุนครบ ลองผิดลองถูก คิดและลงมือทำ , ฝึกอ่านหาข้อมูลการลงทุน , ไปฟังคนที่เก่งๆบรรยายเช่น สมัยก่อนอาจจะมีมุงหลังงานของ ดร.นิเวศน์ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจ key สำคัญของการลงทุนหุ้นในแต่ละกลุ่ม ซึ่งเราควรเลือกอาจารย์ให้ถูกคน และพยายามได้มีโอกาสคุยกับนักลงทุนเก่งๆจะทำให้เราเรียนรู้ได้ไว , อ่านกระทู้ “ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ” ก็เป็นวิธีการที่ดี เพราะจะได้เรียนรู้ Point ที่สำคัญของการลงทุนหุ้นในแต่ละตัวเป็นต้น ฝึกไปเรื่อยๆก็จะทำให้เก่งขึ้นได้

-Question : ทำไมหุ้นบางตัวใน port พี่ราคาขึ้นไปราคาสูงๆ แล้วทำไมถึงไม่ขายออกไปก่อน
Answer : ไม่ทราบ คนเรามองย้อนหลัง พูดยังไงก็พูดได้ (ชีวิตจริง ไม่ได้ง่ายเหมือนดูกราฟย้อนหลัง) อนาคตเป็นยังไงต้องดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ถามว่าราคาหุ้นขึ้นไปเยอะๆ ปกติก็มีอยู่ 3 อย่าง คือ 1.ซื้อเพิ่ม 2.ถือ หรือ 3.ขาย แต่ในหลายๆครั้ง ขายแล้วราคาหุ้นไปต่อ เราอาจจะได้แค่เด้งเดียว ในขณะที่ถือต่ออาจจะได้เป็น 10 เด้ง เป็นต้น
ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น (กรณีที่ไม่ขายหุ้นที่ราคาสูงๆ) ก็ทำให้ได้เรียนรู้และปรับกลยุทธ์เช่นในรอบหลังๆที่หุ้นราคาขึ้นไปสูงๆก็มีรินขายหุ้นออกไปบ้างจำนวนนึงแล้วค่อยซื้อหุ้นเพิ่มเพื่อลงทุนตอนที่ราคาลงมาในระดับที่น่าสนใจก็กลับไปซื้อหุ้นนั้นเพิ่มเติม

-แนะนำหนังสือในการลงทุน
1.)One Up On Wall Street เหนือกว่าวอลสตรีท 2.) The Dhandho Investor นักลงทุนดันโด 3.)Common stock and uncommon profits หุ้นสามัญกับกำไรที่ไม่สามัญ
4.)หนังสือที่ อ.นิเวศน์ เขียน 5.) 2030: How Today's Biggest Trends Will Collide and Reshape the Future Of Everything อนาคตอันใกล้ไม่มีอะไรเหมือนเดิม 6.) AI Superpowers

-ตัวอย่าง Check List การลงทุน
1.)ธุรกิจมี MOAT และมี DCA (Durable Competitive Advantage) ความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน?
2.)กิจการจะโต?
3.)ผู้บริหารเก่ง? เช่นมุ่งมั่นพาองค์กรไปข้างหน้า, พูดแล้วทำได้จริง โดย trackback ย้อนหลัง
4.)ราคาหุ้นตอนนี้เป็นยังไง เมื่อเทียบกับ Valuation
5.)Demand/Supply ของสินค้านั้นในระยะ 2 ปีข้างหน้า?
6.)Portfolio Management

-ปัจจัยที่อาจจะทำให้หุ้นขึ้น 10 เด้ง
1.)ต้องมีคนที่มองผิดมหันต์ (เป็นธุรกิจที่โตได้อย่างยาวนาน)
2.)หุ้นที่คนคิดว่ามันไม่โต แต่จริงๆบริษัทเติบโต
3.)หุ้นเติบโตที่อาจจะใช้เงินลงทุน Capex ต่ำ

-วิธีการหาหุ้น 10 เด้ง
คัดจาก Business Model ที่ดีของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก่อน ซึ่งอาจจะเหลือจำนวนไม่เยอะเช่น 30 ตัว จากนั้นดูพัฒนาการของบริษัทและงบการเงิน โดยต้องพยายามหาหุ้นที่บริษัทมี MOAT (ป้อมปราการของบริษัท) ที่แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆและเก่งขึ้นเรื่อยๆ โดยบริหารโดยคนที่เก่งมีความสามารถ ยิ่งนานวันยิ่งชนะในการแข่งขัน เป็นบริษัทที่ค่อนข้างมี surprise ในแง่ดีเรื่อยๆเป็นต้น

-Question : ในปีนี้ยังมีหุ้น Superstock ที่มีโอกาสขึ้น หลายเด้งในอนาคตไหม
Ans : 1.)มองหุ้นกลุ่มที่ประเทศไทยทำได้ดี และมีโอกาสขยายกิจการไปยังต่างประเทศได้ เพราะในอนาคตหลายๆประเทศ แถบนี้จะมีคนชั้นกลางเกิดใหม่ที่มีกำลังซื้อเกิดขึ้นอีกเยอะ เช่นประเทศจีน India Indonesia Vietnam 2.)หุ้นที่มีความใหม่ เช่นใช้ AI Analytic เป็นต้น แต่เราต้องรู้ในสิ่งนั้นจริงๆ ซึ่งบางทีสิ่งพวกนี้จะเป็น Intangible ที่มี Network Effect ได้


-ความเชื่อเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อย่างพี่น้องตระกูลไรท์ที่เชื่อว่าเราสามารถที่จะบินได้ สุดท้ายก็ทำให้เราบินได้จริงๆ

-การลงทุนที่ดี คุณควรที่จะต้องเขียนแผนการลงทุนอย่างละเอียดก่อนที่คุณจะซื้อหุ้น

-จังหวะในการขายหุ้น
1.)ขายบางตัวใน port ที่ราคาขึ้นไปเยอะ และมาซื้อหุ้นตัวใหม่ที่มีโอกาสได้ upside สูงๆแทน
2.)ขายเมื่อมองธุรกิจผิดพลาด
Remark : ในบางกรณีก็อาจจะพิจารณาขายหุ้นบางส่วนเพื่อให้ถือเงินสดติดไว้บ้าง ซึ่งก็อาจจะทำให้ส่งผลต่อสภาพจิตใจดีขึ้นเพราะ มองว่ายังมีโอกาสและยังสามารถแก้เกมส์ได้ ซึ่งตรงจุดนี้ทุกคนมีความสามารถในการรับรู้ความเจ็บปวดจากการลงทุนไม่เท่ากัน เพราะสุดท้ายแล้วการลงทุนก็ต้องทำยังไงให้เราสามารถนอนหลับได้ ซึ่งอาจจะต้องรู้จักและสังเกตตัวเอง

-คนที่ประสบความสำเร็จ มักจะเห็นอะไรที่คนอื่นมองไม่เห็น (Peter Thiel : Zero to one) “จงมองหาอะไรสำคัญ ที่คนอื่นไม่รู้”

-Question : พี่ๆมีวิธีการทน drawdown จากการลงทุนยังไง
Answer : ต้องคิดตั้งแต่ตอนจะซื้อหุ้นให้ดีว่าในระยะ 1 ปีข้างหน้า Scenario ที่เลวร้ายจะเกิดขึ้นมีโอกาสอะไรได้บ้าง จะทำให้เราสามารถทน Drawdown จากการลงทุนได้ดีขึ้น

-ธุรกิจที่ใช่ ผู้บริหารที่เก่ง เติบโตโดยบริษัทแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จะสามารถทำให้ถือยาวได้

-องค์ประกอบของการลงทุนที่ดี 1. มีกำไร 2. ปลอดภัย 3. มีความสุข




ผมขออนุญาตเรียบเรียงเนื้อหาใหม่ตามที่ผมเข้าใจครับ รวมไปถึงอาจจะอธิบายเพิ่มเติมในบางจุดเพื่อให้เพื่อนๆท่านอื่นๆเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้นครับ ซึ่งลำดับของเนื้อหาอาจจะไม่ตรงกับที่ทางวิทยากรได้พูด ในกรณีที่อาจจะไม่ตรงกับเนื้อหาที่วิทยากรต้องการสื่อสาร ผมขอความกรุณาเพื่อนๆท่านอื่นที่ไปฟังในวันดังกล่าวหรือท่านวิทยากรช่วยแนะนำเพิ่มเติมหรือแก้ไขให้ด้วยครับ


ขอขอบคุณวิทยากรทุกๆท่าน (พี่เชาว์, พี่มี่) ที่กรุณาให้ความรู้คำแนะนำในด้านการลงทุนแก่ผมและนักลงทุนท่านอื่นๆเป็นอย่างสูงครับ
ขอขอบคุณทีมงานที่จัดงาน Chula Value Investing Talk ทุกท่านครับ น้องๆทุกคนจัดงานได้ดีมากครับ
และขอขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านครับที่ช่วยแนะนำความรู้ในด้านการลงทุนให้ผมอยู่เสมอๆ

ขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงครับ
earthcu/ 25 Feb 22


ปล.วันนี้ดีใจมากครับที่มีโอกาสได้เจอพี่ๆนักลงทุนหลายท่านที่ไม่ได้เจอกันมานาน (Ex.พี่เบิ้ม,พี่ Amorn, พี่ Note, พี่บี)
Life is beautiful + Financial freedom within 2015 by investment stock & real estate
ภาพประจำตัวสมาชิก
MoowanStock
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 52
ผู้ติดตาม: 18

Re: สรุปความรู้ Chula Value Investing Talk 18 Feb 23 (พี่เชาว์, พี่มี่)

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณสำหรับบทความครับ
โพสต์โพสต์