ผู้ลงทุนนางฟ้า/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

ผู้ลงทุนนางฟ้า/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผู้ลงทุนนางฟ้า (Angel Investor) หรือจริงๆอาจจะต้องแปลว่า ผู้ลงทุนเทวดา มากกว่า เพราะจากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ เกินกว่า 70%เป็นผู้ชาย มีบทบาทมากขึ้นในการลงทุนกับธุรกิจเกิดใหม่ หรือ Startup ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา วันนี้จึงอยากจะมาเล่าถึงลักษณะของผู้ลงทุนประเภทนี้ เผื่อว่าผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง และต้องการกระจายการลงทุน จะหันมาพิจารณาเป็นผู้ลงทุนนางฟ้ากันบ้าง

กิจการที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะกิจการก่อตั้งใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้สนับสนุนเงินทุน ซึ่งเป็นได้ทั้งส่วนทุน และเงินกู้ สำหรับกิจการก่อตั้งใหม่ที่มีเงินทุนยังไม่มาก สินทรัพย์ก็ยังมีน้อยเพราะต้องทำให้ตัวเบา จึงมักไม่มีหลักประกันเพื่อนำไปขอสินเชื่อ อีกทั้งธุรกิจก็ยังไม่อยู่ตัว บางธุรกิจก็ยังไม่มีรายได้ เป็นเพียงแนวคิดและการวิจัย ต้องการเงินทุนมาสนับสนุนต่อยอด ทำสินค้าต้นแบบ และวางแผนหาลูกค้า เงินลงทุนในส่วนของตนเองและที่ชักชวนญาติพี่น้องมาลงทุน อาจจะหมดแล้ว ต้องเริ่มหาแหล่งเงินทุนจากภายนอก ในช่วงเวลาเช่นนี้ ผู้ลงทุนนางฟ้ามักจะเข้ามามีบทบาทในการลงทุนค่ะ

ผู้ที่เริ่มใช้คำว่า “Angel Investor” เป็นคนแรกคือวิลเลียม เว็ทเซล (William Wetzel) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยเงินทุนที่ชื่อ Center for Venture Research ของมหาวิทยาลัยนิวแฮมเชียร์ โดยใช้คำนี้สำหรับผู้ลงทุนบุคคลที่ใช้เงินส่วนตัวไปลงทุนในธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น (Startup) และเริ่มระดมทุนจากภายนอก

จากการทำสำรวจของหลายสถาบันพบว่า ผู้ลงทุนนางฟ้าจะใช้เวลาพิจารณาตัดสินใจลงทุนสั้นกว่า และเงื่อนไขการลงทุนง่ายกว่า กองทุนร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) นอกเหนือจากเงินทุนที่นำมาลงทุนแล้ว ผู้ลงทุนนางฟ้ายังให้การส่งเสริมสนับสนุน การช่วยเรื่องหลักการดำเนินการของกิจการ การให้คำปรึกษาและคำแนะนำในลักษณะพี่เลี้ยงหรือ mentorship และช่วยแนะนำเครือข่ายต่างๆให้กับธุรกิจ ฯลฯ โดยพบว่า กลุ่มผู้ลงทุนที่เป็นอดีตผู้บริหารระดับสูง จะช่วยด้านทรัพยากรบุคคล เพราะเล็งเห็นถึงการให้กลับคืนสู่สังคม

ผู้ลงทุนนางฟ้าจะลงทุนกิจการละประมาณ 25,000 ถึง 100,000 เหรียญ หรือประมาณ 9 แสน ถึง 3.75 ล้านบาท
ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยนิวแฮมเชียร์ ระบุว่า ปี 2020 มีเงินลงทุนในลักษณะ Angel Investment 25,300 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 885,000 ล้านบาท โดยบริษัทหนึ่งๆมีขนาดการระดมเงินเฉลี่ย 392,025 เหรียญ หรือประมาณ 13.7 ล้านบาท และมีจำนวนผู้ลงทุนนางฟ้าที่แอคทีฟอยู่ประมาณ 334,680 ราย สำหรับขนาดรวมของตลาด Yahoo Finance ระบุว่า ณ ปี 2021 ผู้ลงทุนนางฟ้า มียอดการลงทุนในกิจการต่างๆนอกตลาดหลักทรัพย์ 128,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.8 ล้านล้านบาท

ดิฉันพยายามหาข้อมูลลักษณะของผู้ลงทุนประเภทนี้ เท่าที่พบมีการสำรวจของ สมาคมผู้ลงทุนนางฟ้า (Angel Capital Association) ของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2017 พบว่าผู้ลงทุนเหล่านี้ มีทั้งผู้ที่เป็นผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneur หรือเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ

โดยพบว่า กลุ่มที่เป็นผู้ประกอบการ หรือเคยเป็นผู้ประกอบการ จะมีการเข้าไปช่วยบริษัทที่ลงทุนแบบมากกว่า กลุ่มที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องจำนวนเงินที่ลงทุนเฉลี่ยต่อบริษัท (ประมาณ 39,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.5 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการ ลงทุนเฉลี่ยประมาณ 28,000 เหรียญ หรือประมาณ 1 ล้านบาท)

นอกจากนี้ ยังกลุ่มผู้ลงทุนที่เป็นผู้ประกอบการยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และอาจจะเป็นกรรมการของบริษัทที่ไปลงทุน มากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการ

เกริ่นไปแล้วว่า ผู้ลงทุนที่เป็นผู้หญิง (ผู้ลงทุนนางฟ้า) มีน้อยกว่าผู้ชาย (ผู้ลงทุนเทวดา) โดยในช่วงที่สำรวจนั้น มีผู้ลงทุนหญิงประมาณ 22% แต่ในการลงทุนใหม่ สัดส่วนผู้ลงทุนที่เป็นผู้หญิง เพิ่มขึ้นเป็น 30% จึงนับว่าเป็นแนวโน้มที่ดีว่า จะมีผู้ลงทุนหญิง เข้ามาลงทุนในกิจการเกิดใหม่เพิ่มขึ้น

เงินลงทุนของผู้ลงทุนนางฟ้าต่อบริษัทน้อยกว่าเทวดาค่ะ ผู้ลงทุนนางฟ้าลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 26,000 เหรียญ (ประมาณเกือบ 1 ล้านบาท) ต่อดีล ในขณะที่ผู้ลงทุนเทวดา ลงทุนเฉลี่ย 37,700 เหรียญ (ประมาณ 1.4 ล้านบาท) ต่อดีลค่ะ

ในระยะหลัง ผู้ลงทุนนางฟ้าและเทวดาทั้งหลายมีการรวมกลุ่มกัน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ และร่วมกันลงทุน หากผู้ประกอบการใหม่ ได้เงินลงทุนจากกลุ่มผู้ลงทุนในลักษณะนี้ ก็จะประหยัดเวลาในการพบและอธิบายกับผู้ลงทุนไปได้มากทีเดียว

ท่านอาจจะสงสัยว่าผู้ลงทุนเหล่านี้ แตกต่างจากผู้ลงทุนประเภทเงินร่วมลงทุน หรือ Venture Capital อย่างไร พบว่า ขั้นตอนการลงทุนของผู้ลงทุนนางฟ้าไม่ซับซ้อน การตัดสินใจเป็นไปรวดเร็ว เพราะใช้เงินตัวเองในการลงทุน และจะรับความเสี่ยงได้มากกว่า ส่วนผู้ลงทุนที่เป็นกองทุนร่วมลงทุน จะมีขั้นตอนในการตัดสินใจนานกว่า รับความเสี่ยงได้น้อยกว่า และมีการตรวจสอบอย่างละเอียดที่เรียกว่า Due Diligence ทั้งนี้จำนวนเงินที่ลงทุนของ VC จะสูงกว่า และมักจะมาในภายหลัง เมื่อได้ทกสอบตลาดและพร้อมออกขายหรือบริการแล้ว หรือมาลงทุนเมื่อกิจการมียอดขายหรือรายได้แล้ว แต่ต้องการเงินไปขยายตลาดหรือขยายประเภทของสินค้าและบริการเพิ่มเติม

ในการประเมินธุรกิจเพื่อการลงทุนนั้น Velocity.in สรุปว่าผู้ลงทุนนางฟ้าจะมองหา ไอเดียเจ๋งๆ และทีมงานที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ผู้ลงทุนประเภท VC จะมองหาธุรกิจที่มีโอกาสทำกำไร หาตลาดได้ และตลาดมีความต้องการสินค้าและบริการ

แน่นอนว่า ขนาดของกองทุนร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) นั้น ใหญ่กว่าขนาดเงินลงทุนของผู้ลงทุนนางฟ้าเกือบเท่าตัว โดย imarc group ประมาณขนาดของตลาด VC ณ ปี 2021 ไว้ที่ 211,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.9 ล้านล้านบาท
โพสต์โพสต์