แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจโลก (2)/By ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจโลก (2)/By ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ครั้งที่แล้วผมตั้งประเด็นว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงเพราะ 3 เรื่องคือ สงครามที่ยูเครนซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงอย่างมาก (deflationary)
แต่ยุโรปก็ยังจะ “ส่งออกเงินเฟ้อ” เพราะสงครามทำให้ราคาพลังงานและปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นอย่างยืดเยื้อ และจะลดผลผลิตสินค้าเกษตรที่จำหน่ายออกไปสู่ตลาดโลก

อีก 2 เรื่องที่จะกล่าวถึงในบทความนี้คือ การที่ธนาคารกลางสหรัฐควบคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ และประเทศจีนที่กำลังมีปัญหาในการควบคุมการระบาดของ COVID-19

ในส่วนของประเทศจีนนั้นประเด็นคือนโยบาย Zero COVID หรือไม่ยอมอยู่กับ COVID แต่ต้องกำจัด COVID นั้น กำลังกระทบกับเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

หากจำได้เมื่อประเทศไทยใช้นโยบาย Zero COVID ในปี 2020 จีดีพีไทยติดลบ 6% และเมื่อพยายามเปิดเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2021 จีดีพีขยายตัวได้ประมาณ 1.5% ในกรณีของจีนนั้นการปิดเมือง (lockdown) นครเซี่ยงไฮ้ก็ได้ยืดเยื้อมานากว่า 1 เดือนแล้วและอาจลามไปถึงกรุงปักกิ่งอีกด้วย

กล่าวคือได้มีการประเมินว่า มาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ไปยังเมืองสำคัญๆ ของจีนกำลังกระทบกับประมาณ 40% ของเศรษฐกิจของจีนโดยรวม

ดังนั้น เป้าการขยายตัวของจีดีพีที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าเอาไว้ในปีนี้คือ 5.5% นั้นจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ โดยนักวิเคราะห์กำลังปรับคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีของจีนลงมาอยู่ที่ ประมาณ 4.5%

แต่ผมมองว่าตัวเลข 4.5% อาจจะเป็นการคาดหวังที่สูงเกินไปเพราะ 3 เหตุผลคือ

1.นักวิเคราะห์หวังว่าธนาคารกลางของจีน (PBOC) จะมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน รวมทั้งการลดดอกเบี้ย แต่ PBOC น่าจะไม่กล้าลดดอกเบี้ยและจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพียงเล็กน้อย

เพราะเกรงผลกระทบจากการทำนโยบาย ที่สวนทางกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งกำลังส่งผลให้เงินหยวนอ่อนค่าและเสี่ยงต่อการต้องเผชิญกับการไหลออกของเงินทุน (Capital flight) ซึ่งจีนได้เคยเผชิญมาแล้วในปี 2015-2017

2.มีการคาดหวังเช่นกันว่า รัฐบาลจีนจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง แต่ตรงนี้ก็เช่นกันคือรัฐบาลคงจะระมัดระวังการใช้จ่ายและแม้จะมีนโยบายเร่งรัดโครงการก่อสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังต้องพะวงกับการควบคุมการระบาดของ COVID-19 จึงเชื่อได้ว่าการกระตุ้นด้วยนโยบายการคลังไม่น่าจะได้ผลมากนัก

3.นโยบายกำจัดการระบาดของ COVID-19 นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสืบทอดอำนาจประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ทั้งนี้การประชุม Nation Congress of the Communist Party ครั้งที่ 20 ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณตุลาคมหรือพฤศจิกายนของปีนี้ จะเป็นกลไกและพิธีการที่สำคัญในการก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีตลอดชีพของสีจิ้งผิง

ดังนั้น ผมเชื่อว่ารัฐบาลจีนจะต้องพยายามปราบ COVID-19 ให้ราบคาบจนสามารถทำให้การประชุมเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์และยิ่งใหญ่ให้สมเกียรติกับการแต่งตั้งผู้นำตลอดชีพที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้น นโยบาย Zero COVID จึงต้องเดินหน้าต่อไปอย่างถอยไม่ได้

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกนั้นดูเสมือนว่าตลาดเงินตลาดทุนจะประเมินว่าผลกระทบจะเป็น net deflationary เห็นได้จากการตอบรับข่าวการปิดเมืองที่ยืดเยื้อ โดยการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาทองคำและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

แต่ผมมองว่าจีนมีความสำคัญไม่แพ้กันในการเป็นผู้ผลิตสินค้าราคาถูกและเป็นผู้ประกอบผลิตภัณฑ์รายหลักของโลก ดังนั้น ผมจึงมองว่าจีนก็จะ “ส่งออกเงินเฟ้อ” เช่นกัน

เรื่องสุดท้ายที่น่าเป็นห่วงที่สุดในสายตาของนักลงทุนคือ การที่ธนาคารกลางสหรัฐคาดการณ์ผิดพลาดอย่างมาก ทำให้ต้องรีบเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามเงินเฟ้อ (behind the curve) ซึ่งผมมีข้อสังเกตดังนี้

1.ธนาคารกลางสหรัฐ “หลงทาง” อย่างน้อยครึ่งปีเมื่อปีที่แล้วโดยการยืนยันว่าเงินเฟ้อที่สหรัฐจะอยู่ที่ระดับสูงเพียงชั่วคราว แต่ปรากฏว่าเงินเฟ้อยังอยู่ที่ระดับ 7-8% ทำให้ต้องกลับลำและเร่งขึ้นดอกเบี้ย

แต่การคาดการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐว่า จะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปถึงประมาณ 3.0% ในปลายปีนี้นั้นก็ใช่ว่าจะสามารถปราบเงินเฟ้อได้ในความเห็นของผม เพราะเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับสูงมากและยังมีปัจจัยต่างๆ ที่จะขับเคลื่อนให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปได้อีก

2.ในอดีตนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อไล่ตามเงินเฟ้อ โดยธนาคารกลางสหรัฐส่วนใหญ่จะประสบความล้มเหลว กล่าวคือธนาคารกลางย่อมต้องการปรับดอกเบี้ยขึ้นให้สูงเพียงพอที่จะกระตุกให้เงินเฟ้อลดลงกลับเข้าสู่กรอบ (ประมาณ 2% ต่อปี) โดยไม่ทำให้จีดีพีชะลอตัวลงมากเกินหรือทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาก (soft landing)

แต่ในช่วง 60 ปืที่ผ่านมานั้น ธนาคารกลางสหรัฐทำให้เกิด soft landing สำเร็จเพียง 4 ครั้ง แต่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย 9 ครั้งและไม่มีครั้งใดเลยที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น

ในขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นหรืออยู่ที่ระดับสูงแล้วสามารถหลีกเลี่ยงการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ดังนั้นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงประมาณ 30-40% ที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยยภายในปลายปีหน้า (2023)

ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐกล่าวอย่างแข็งขันว่าจะต้องปราบเงินเฟ้อให้ได้โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและให้เพียงพอ แต่ผมเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐน่าจะกลัวการเข้าสู่ภาวะถดถอยมากกว่ากลัวการต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 ปี

เพราะสมมุติว่าปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างรวดเร็วไปที่ 3-4% แล้ว ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ธนาคารกลางสหรัฐจะมีเครื่องมือทางนโยบาย (policy space) อยู่น้อยมากในการกอบกู้เศรษฐกิจ

กล่าวคือปรับลดดอกเบี้ยลงเพียง 3-4% มักจะไม่เพียงพอ (ในอดีตจะต้องลดดอกเบี้ยลง 5% หรือมากกว่านั้น) ที่สำคัญคือรัฐบาลกลางสหรัฐก็ยิ่งจะไม่มีเครื่องมือทางการคลังเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ เพราะหนี้สาธารณะ

(จากข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐที่เรียกว่า FRED) ณ ไตรมาส 4 ปี 2021 สูงถึง 123.4% ของจีดีพีเมื่อเทียบกับการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของสหรัฐตอนต้นปี 2008 ซึ่งหนี้สาธารณะอยู่ที่ 64.2% ของจีดีพี กล่าวโดยสรุปคือผมสงสัยว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจพร้อมที่จะให้เศรษฐกิจสหรัฐ “อยู่กับเงินเฟ้อ” นานกว่าที่หลายคนคิด

สำหรับประเทศไทยนั้นผมเชื่อว่าจะเป็นไปในทำนองเดียวกันคือกลัวเศรษฐกิจตกต่ำมากกว่าต้องการคุมเข้มเงินเฟ้ออย่างเบ็ดเสร็จ เห็นได้จากท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทยที่บอกว่าจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย

แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะว่าส่วนต่างของดอกเบี้ยไม่มีความสำคัญ (???) และเพราะเชื่อว่าเงินเฟ้อของไทยเป็นเงินเฟ้อชั่วคราว (เหมือนกับการประเมินของธนาคารกลางเสหรัฐในปีที่แล้ว)

ธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อว่า เงินเฟ้อของไทยที่กำลังจะปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 6-7% ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงและกลับเข้ากรอบนโยบาย (ประมาณ 2%) ในปีหน้า โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 0.5% (ณ ขณะนี้) เลยแม้แต่น้อยโดยให้เหตุผลว่าอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ

แต่เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่เปิดอย่างมาก และค่าเงินบาทก็เริ่มอ่อนตัวอย่างรวดเร็วแล้ว นอกจากนั้นกระแสการเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็มีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไปที่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ อันจะทำให้เงินเฟ้อสามารถ “ฝังราก” ในเศรษฐกิจไทยได้โดยไม่ยากตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป.
โพสต์โพสต์