“อเมริกากับจีน : ทะเลาะจริง ค้าขายจัง”/กฤษฎา บุญเรือง

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

“อเมริกากับจีน : ทะเลาะจริง ค้าขายจัง”/กฤษฎา บุญเรือง

โพสต์ที่ 1

โพสต์

จีนควบคุมโควิดได้ แต่อเมริกากลับรับมือไม่ไหว

สองมหาอำนาจเดินกันคนละทาง แข่งขันด้านความมั่นคง เศรษฐกิจและเทคโนโลยี โฆษณาชวนเชื่อโจมตีกัน ชาวโลกดูเหมือนถูกบังคับให้ต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

โอลิมปิกฤดูหนาวกำลังจะเริ่มขึ้นที่จีนวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ เป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลจีน จะแสดงถึงความสามารถในการควบคุมโควิดแบบเข้มงวด รักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน การมีวินัยและปฎิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ เป็นสิ่งที่ชาวจีนทำเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว เป็นวัฒนธรรมความรับผิดชอบส่วนบุคคลซึ่งฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก ครั้งนี้โลกจะได้เห็นกีฬาและสภาพความเป็นอยู่ของชาวจีนในปัจจุบัน

บทเรียนที่ญี่ปุ่นเผชิญกับการระบาดเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าจากโอลิมปิกฤดูร้อนที่ผ่านมา ทำให้ผู้นำจีนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะครั้งนี้เชื้อโอมิครอนติดต่อเร็วมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ชาวเมืองTianjinและXian รับคำสั่งล็อกดาวน์กักกันตัวอยู่ในที่จำกัด ชาวXian 14ล้านคน ถูกระดมตรวจหาเชื้อและถูกร้องขอให้อยู่ภายในเคหะสถานจนกว่าจะมีผลการตรวจออกมา

รายงานข่าวส่วนใหญ่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของประชาชน แต่เริ่มมีข่าวออกมาระยะหลังว่ามีการประท้วงบ้าง เพราะประชาชนบางกลุ่มมีความเดือดร้อนจากการขาดแคลนอาหาร

ทางการจีนรายงานผู้ติดเชื้อประมาณ 124 คนต่อวัน ตัวเลขนี้หากเป็นจริง นับว่าประสิทธิภาพในการควบคุมโรคติดต่อดีกว่าชาติอื่น โดยตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรวม 104,379 คน ติดเชื้อปัจจุบัน 3,460 คน เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 4,636 คน

เทียบกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตัวอย่างของประเทศทางตะวันตก ซึ่งโครงสร้างวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตไม่ชอบกฎระเบียบการบังคับ ชาวอเมริกันติดเชื้อปัจจุบันรวมยอด 65.2 ล้านคน เสียชีวิตแล้ว 869,212 คน ยอด ผู้ติดเชื้อปัจจุบันเฉลี่ยวันละ 783,569 คน ดูความแตกต่างแล้วน่าตกใจครับ

ทั้งสองประเทศนี้เป็นเหมือนกระจกเงา ให้เราเห็นถึงชาวโลกสองแบบ เลือกปฏิบัติคนละด้าน แบ่งเป็นกลุ่มเข้มงวด และกลุ่มปล่อยวาง

หากความคิดสองแนวทางนี้เดินเป็นคู่ขนานต่อไป แต่ละฝ่ายเชื่อมั่นกับนโยบายของฝั่งตนเอง บางประเทศเข้มงวดแต่ประเทศหย่อนยาน หรือบางประเทศอยากเข้มงวด แต่ทำไม่ได้เนื่องจากมีเงื่อนไขที่แก้ไม่ตก การปิดกั้นพรมแดนตีวงล้อมของกลุ่มเข้มงวดนั้น อาจจะมีประสิทธิภาพระยะหนึ่ง แต่การกระจายของการแพร่เชื้อในกลุ่มหย่อนยาน ก็อาจจะวนกลับมาเป็นอันตรายรุมเร้า ติดเชื้อกลับไปมาไม่สิ้นสุด

หรือเรากำลังจะถูกบังคับให้อยู่แบบแยกกัน แต่พบกันทางดิจิตัล

ชาวโลกอาจมาถึงจุดที่ต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า มาตรฐานใหม่ คือการใช้นวัตกรรมสื่อสาร การทำธุรกรรมระหว่างประเทศแบบพบกันตัวต่อตัวจะเริ่มลดลง การเดินทางท่องเที่ยว การศึกษาหรือทำธุรกิจ จะปรับเปลี่ยนมาเป็นออนไลน์

การประชุมในปัจจุบัน หลายประเทศที่มีทรัพยากรเทคโนโลยีสูง เริ่มยอมรับว่าการใช้เทคโนโลยีวิดีโอคอลต่างๆเป็นมาตรฐานใหม่ ส่วนการพบกันระหว่างบุคคลนั้นจะสงวนไว้ในกรณีที่จำเป็น ซึ่งต่อไปอาจจะเป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นความพิเศษ

ปีนี้ย่างเข้าปีที่หกที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนเห็นเด่นชัด และส่งผลกระทบกับแทบทุกชาติ เพราะอิทธิพลของสองมหาอำนาจนี้ครอบคลุมซับซ้อน ประชาชนในแต่ละประเทศก็มีการวิจารณ์ถกประเด็นว่าจะเลือกฝ่ายใดดี โซเชียลมีเดียยิ่งทำให้อุณหภูมิการเมืองเพิ่มความร้อนและอาจกลายเป็นไฟไหม้ป่า

เศรษฐกิจอเมริกันเองระยะนี้ก็น่าเป็นห่วง เพราะรัฐบาลเพิ่มเงินอัดฉีดเลี้ยงไข้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้กระแสเงินหมุนเวียนในระบบสูง เกิดผลกระทบต่อเนื่อง เงินเฟ้อประมาณ 7% ต่อปี ซึ่งหมายถึงมูลค่าของเงินอเมริกันดอลล่าร์ลดลง นวัตกรรมบล็อกเชนจึงถูกดันออกมา เพื่อเป็นทางเลือกไว้เผื่อระบบล่ม เรื่องของคริปโต digital assets ระยะนี้จึงติดลมบน

ทางรัฐบาลจีนซึ่งทดลองใช้ดิจิตัลหยวน central bank digital currency ก็จะฉวยโอกาสโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้แสดงถึงสมรรถภาพของเทคโนโลยีล้ำหน้าเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ชาวโลกเห็น เป้าหมายสำคัญคือการลดอิทธิพลของอเมริกันดอลล่าร์

กระแสกดดันให้แต่ละประเทศต้องเลือกมหาอำนาจ จะเอาอเมริกาหรือจีนนั้น ก่อนที่เราจะเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดูสถิติของการค้าขายระหว่างสองประเทศนี้ เราอาจจะเห็นภาพอะไรชัดเจนมากขึ้น

ปีค.ศ. 2020 สหรัฐกับจีนค้าขายระหว่างกัน 615.2 พันล้านดอลลาร์ ส่งออก 164.9 พันล้านดอลลาร์ และนำเข้า 450.4 พันล้าน แปลว่าสหรัฐขาดดุลการค้ากับจีน 285.5 พันล้านดอลล่าร์ รายงานข่าวล่าสุดสรุปปีค.ศ. 2021 สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอีกเป็น 396.5 พันล้านดอลล่าร์

นี่เป็นหลักฐานชัดเจนว่าชาวอเมริกันซึ่งเป็นผู้บริโภคอันดับหนึ่ง ยังมีความจำเป็นจะต้องพึ่งพาจีนในการผลิตสินค้าป้อน และจีนเองก็ต้องพึ่งพาผู้บริโภคในสหรัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตนเองต่อไป

การแข่งขันและความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่างสองมหาอำนาจนี้มีจริง แต่ผู้บริโภคทั้งสองด้านยังต้องพึ่งพาอาศัยกัน ปากอย่างหนึ่งใจอย่างหนึ่ง เราพึงสังเกตครับ

ปีเสือเป็นปีแห่งอำนาจ ปีแข่งขัน เสือมีความกล้าหาญและความทะเยอทะยาน เราพร้อมรับตรุษจีนปีเสือด้วยความไม่ประมาท รักษาสุขภาพ และจัดระเบียบความสมดุลย์เศรษฐกิจในครอบครัว ปีนี้จะมีโชคชัยมหาศาลครับ
โพสต์โพสต์