อยู่กับความผันผวน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

อยู่กับความผันผวน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผู้ลงทุนไม่ว่าจะหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ ต่างก็ได้สัมผัสกับความผันผวนของราคาสินทรัพย์ต่างๆกันอย่างถ้วนหน้า ทั้งราคาของหุ้นที่มีทั้งวิ่งขึ้นวิ่งลง บางตัววิ่งลงไปแล้วยังไม่กลับขึ้นมา บางตัวก็กลับขึ้นมาเกินกว่าราคาก่อนจะปรับลดลงไป ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แล้วหยุด แล้วค่อยๆซึมลง แม้ราคาของพันธบัตร และหุ้นกู้ ก็ยังผันผวนกว่าปกติ ไม่ต้องพูดถึงราคาของคริปโตเคอร์เรนซีที่พุ่งจนกราฟจะทะลุจอ แล้วก็ดิ่ง แล้วก็พุ่ง แล้วก็ตก

เราจะต้องอยู่กับความผันผวนไปเรื่อยๆค่ะ จำได้ไหมคะที่ดิฉันเคยเขียนถึงการลงทุนในปี 2561 และ 2562 ว่าตลาดต่างๆมีความผันผวนน้อยผิดปกติ แล้วเราก็มาพบ ปี 2563 และ 2564 ที่ตลาดผันผวนมาก

ในการจัดการกับความผันผวน หากเป็นมืออาชีพ ก็บริหารจัดการด้วยการใช้อนุพันธ์ทางการเงิน ยกตัวอย่างเช่น หากกลัวราคาขึ้นไปมาก ก็ซื้อออพชั่นที่จะซื้อ (Call Option) เอาไว้ เพื่อให้สามารถซื้อหลักทรัพย์ได้ในราคานั้น ไม่ว่าราคาตลาดจะขึ้นหรือลงไปมากน้อยเพียงใด โดยยอมจ่ายค่าออพชั่นให้กับผู้ขาย

หรือหากถือหลักทรัพย์ไว้ แล้วกลัวราคาตก ก็ซื้อออพชั่นที่จะขาย (Put Option) เอาไว้ เพื่อที่จะสามารถขายหลักทรัพย์ได้ในราคานั้น ไม่ว่าราคาตลาดจะขึ้นหรือลงไปมากน้อยเพียงใด

และยังสามารถทำตรงกันข้ามกัน คือ หากคิดว่าราคาไม่ตก หรือถ้าตกจนถึงจุดหนึ่งก็สนใจที่จะเข้าไปซื้อ ท่านสามารถขายออพชั่นให้คนอื่นเอาหลักทรัพย์มาขายให้ท่านในราคาที่กำหนด (หากตกลงไป)ได้ หากไม่ตกถึงจุดนั้น ก็เลิกกันไป ท่านก็จะได้ค่าขายออพชั่นนั้นเป็นการตอบแทน

ผู้ลงทุนโดยทั่วไปมักจะเลือกจัดการกับความผันผวนสามแบบ คือ หลีกเลี่ยง ยอมรับ หรือ สนุกไปกับการซื้อๆขายๆท่ามกลางความผันผวนนั้น

ผู้หลีกเลี่ยงความผันผวน ก็จะไม่ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความผันผวนของราคาสูง ซึ่งข้อดีคือไม่มีเหตุการณ์ให้ตื่นเต้นตกใจมากนัก แต่ข้อเสียคือ คาดหวังผลตอบแทนได้ต่ำ เหมาะสำหรับผู้รับความเสี่ยงได้ต่ำ เช่น เป็นเงินที่ลงทุนเพียงระยะสั้นๆ ต้องการให้เงินต้นอยู่ครบ หรือผู้ลงทุนอายุมากแล้ว หรือเป็นเงินก้อนสุดท้ายและมีจำนวนไม่มาก อันนี้คือ Low risk, low expected return คือถ้าต้องการสบายใจแบบนี้ ก็ต้องคาดหวังผลตอบแทนที่ต่ำ

ผู้ที่ยอมรับความผันผวน ควรเป็นผู้ลงทุนระยะปานกลางถึงระยะยาว แนะนำให้บริหารจัดการความผันผวนด้วยการกระจายการลงทุนไปยังตราสารและหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ และเลือกส่วนผสมตามความสามารถในการรับความเสี่ยง หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่า จัดพอร์ตการลงทุน นั่นเอง

ผู้ที่สนุกไปกับการซื้อๆขายๆท่ามกลางความผันผวน ควรมีความรู้ความชำนาญ และแนะนำให้จำกัดจำนวนเงินที่ลงทุน และมีวินัยในการตัดขายเพื่อหยุดการขาดทุน ยิ่งถ้าลงทุนในสินทรัพย์ที่ผันผวนมาก ยิ่งต้องจำกัดจำนวนเงินลงทุน เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อน ในกรณีที่การลงทุนพลิกผัน ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ตามที่ดิฉันเคยเขียนไป ตลาดการลงทุนในปัจจุบัน อยู่ในลักษณะ “กลัวมากก็เสียโอกาส กล้ามากก็เสี่ยง” เพราะความผันผวนมีมากกว่าที่เราเคยพบมา เนื่องจากเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง หุ้นของบริษัทเทคโนโลยีบางบริษัทที่มา “ถูกทาง” ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ก็สามารถมีราคาขึ้นไปได้เรื่อยๆ ตามยอดรายได้และกำไรที่เติบโตไปได้จากการที่คนต้องมาใช้สินค้าและบริการ ขณะที่หุ้นของบริษัทที่ไม่สามารถไปต่อได้ ก็ตกเอาๆ

ไม่ว่าจะลงทุนอะไร ผู้ลงทุนควรยึดปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก ถามตัวเองว่า สิ่งที่ลงทุนมีปัจจัยพื้นฐานอะไร และปัจจัยพื้นฐานนั้นอยู่ในช่วงใดของวัฏจักรเศรษฐกิจ

หากลงทุนในสิ่งที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เวลาปรับตัวลง มันจะลงแบบดิ่ง เหมือนเครื่องเล่น free fall เลยค่ะ ผู้ลงทุนในสิ่งเหล่านี้ ส่วนใหญ่จัดการกับความผันผวนลักษณะที่สาม และเมื่อผนวกกับการไม่มีพื้นฐานรองรับ หรือพื้นฐานไม่แข็งแกร่ง ยิ่งต้องจำกัดวงเงินลงทุนนะคะ

ใกล้จะสิ้นปีแล้ว จะถึงเวลาที่ต้องทบทวนพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และเหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงินของท่านที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่ผ่านมา

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ร่วมกับสำนักวิจัยซุปเปอร์โพล ทำการสำรวจภาคสนามเพื่อรับทราบสถานะทางการเงินของประชาชนในภาวะวิกฤต ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า ก่อนเกิดภาวะวิกฤตโควิด ประชาชน 30.9% มีความมั่นคงทางการเงินในระดับมาก และ 6.5%ระบุว่ามั่นคงมากที่สุด เมื่อเกิดวิกฤต 60% ของผู้ตอบแบบสำรวจ บอกว่าได้รับผลกระทบในระดับมากถึงมากที่สุด โดยในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา 66.8% ของผู้ถูกสำรวจ มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และผู้ถูกสำรวจ มีความเครียดทางการเงินเกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันถึง 62.5%

มีสัดส่วนผู้ถูกสำรวจเพียง 18.4% เท่านั้น ที่ตอบว่ามีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย หมายความว่าที่เหลืออีก 81.6% มีรายได้ไม่เพียงพอ และวิธีการที่ใช้ในการทำให้มีเงินเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายนั้น 26.9% ตอบว่านำเงินเก็บมาใช้ 24.1% พึ่งพาการจำนำและจำนอง 7.3% ใช้เงินกู้นอกระบบ และ 6.6% ขอหยิบยืมเงินจากคนในครอบครัวและเพื่อน

เมื่อท่านต้องใช้วิธีเฉพาะหน้าในการจัดการการเงิน ตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องกลับมาจัดการเงินระยะยาวให้เข้าที่ ต้องค่อยๆทำไปค่ะ จะรอให้ทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติก่อนแล้วค่อยจัด จะไม่ทันการณ์

ลองดูกันนะคะว่า ผู้ถูกสำรวจตอบว่าอย่างไร หากย้อนเวลากลับไปได้ พฤติกรรมที่ต้องการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองมีหลักๆสามอย่างคือ 1. จะเก็บออมเงินให้มากขึ้นกว่าเดิม 2. จะใช้เงินอย่างไม่ประมาท วางแผนการเงินให้รอบคอบ และ 3. จะประหยัดค่าใช้จ่าย

ขอให้ทุกท่านตั้งอยู่ในความไม่ประมาทและประสบความสำเร็จในการวางแผนการเงินเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตค่ะ
โพสต์โพสต์