นักลงทุนยังไม่กังวลโอมิครอนมากนัก/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

นักลงทุนยังไม่กังวลโอมิครอนมากนัก/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สถานการณ์เกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยมีแนวโน้มและประเด็นสำคัญที่พอสรุปได้ดังนี้

1.โอมิครอนกำลังระบาดอย่างกว้างขวาง กล่าวคือพบคนที่ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวไปแล้วกว่า 40 ประเทศ

2.มีข่าวดีว่าแม้จะติดง่าย แต่อาจไม่อันตรายมากนัก แต่ต้องรอข้อมูลยืนยัน อย่างไรก็ดี หลายรายที่ติดเชื้อโอมิครอน ได้ฉีดวัคซีนมาครบ 2 เข็มแล้ว หรือเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนแล้ว จึงเป็นไปได้ว่าโอมิครอนสามารถหลบหลีกวัคซีนปัจจุบันได้ในระดับหนึ่ง

3.จำนวนผู้ติดโควิด-19 รายใหม่ต่อวันทั่วโลกกำลังปรับตัวสูงขึ้น เช่นในสัปดาห์ที่แล้วจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกมีมากกว่า 700,000 คนต่อวัน เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันที่ต่ำกว่า 500,000 คนในช่วงต้นเดือน พ.ย. ในช่วงเดียวกันจำนวนคนติดเชื้อรายใหม่ที่แอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นจาก 321 คน มาเป็นติดเชื้อรายใหม่วันละ 16,000 คนในต้นเดือน ธ.ค.

4.แนวโน้มที่แอฟริกาใต้ดูไม่ดีเลย กล่าวคือเมื่อกลางเดือน พ.ย. การตรวจเชิงรุกพบผู้ติดเชื้อเพียง 2% แต่ในสัปดาห์ที่แล้วพบจำนวนผู้ติดเชื้อ 25% จากจำนวนที่ตรวจทั้งหมด

5.การทำโพลล์ในสหรัฐ โดย Hill-Harris เมื่อ 29-30 พ.ย. พบว่าประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง 68% แสดงความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโอมิครอน แต่มี 10% ที่ยังไม่ได้รับรู้ข่าวเกี่ยวกับโอมิครอนเลย นอกจากนั้นคนที่ลงคะแนนเสียงให้กับทรัมป์นั้นมีเพียง 49% ที่กังวลเกี่ยวกับโอมิครอน สำหรับคนที่ลงคะแนนเสียงให้ไบเดนนั้นมากถึง 90% กังวลเกี่ยวกับโอมิครอน

เมื่อดูแนวโน้มของตลาดเงินและตลาดทุนแล้วก็อาจต้องสรุปว่า ตลาดไม่ได้แสดงความเป็นห่วงโอมิครอนมากนัก (เหมือนกับคนที่ลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์) ซึ่งน่าจะสืบเนื่องมาจากการฟันธงว่าโอมิครอนไม่น่าจะทำให้ป่วยและเสียชีวิตมากกว่าเดลตา (หรืออาจจะน้อยกว่าก็ได้)

แม้ว่าหลบเลี่ยงวัคซีนได้ แต่ผู้ผลิตวัคซีนก็ให้คำมั่นสัญญาว่าสามารถปรับสูตรวัคซีนเพื่อป้องกันโอมิครอนให้เสร็จได้ภายใน 100 วัน

ที่สำคัญที่สุดคือ ความเชื่อว่าทั้งรัฐบาลและประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการใช้มาตรการควบคุมและจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น (lockdown) อีกต่อไปแล้ว เว้นแต่การดำเนินมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวดขึ้น เพื่อชะลอการระบาดของโอมิครอน

เสมือนว่ารัฐบาลต่างๆ นอกทวีปแอฟริกาเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วย “ซื้อเวลา” ในการชะลอการระบาดของโอมิครอนในประเทศของตัวเอง เพื่อให้มีเวลาในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้มีภูมิคุ้มกันในระดับที่เพียงพอในการป้องกันการป่วยหนัก?หรือเสียชีวิต อันจะเป็นภาระต่อระบบสาธารณสุข

จึงเห็นได้ว่าในหลายประเทศโดยเฉพาะที่ยุโรปและสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลพยายามบังคับให้ประชาชนทุกคนมารับการฉีดวัคซีนให้ครบ แต่มีประชาชนส่วนหนึ่งต่อต้านมาตรการดังกล่าวอย่างแข็งขัน

อย่างไรก็ดี การสำรวจความเห็นของนักลงทุน 1,538 คนในตลาดเงินและตลาดททุน โดยธนาคาร Deutsche Bank เมื่อ 29 พ.ย. พบว่ามีนักลงทุนเพียง 10% เท่านั้นที่เชื่อว่าโอมิครอนจะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับตลาดเงินตลาดทุนในปลายปี 2564 นี้

ปรากฏว่านักลงทุนกังวลมากที่สุดคือนักลงทุนจากอังกฤษที่มีสัดส่วนเท่ากับ 12% ที่เชื่อว่าโอมิครอนจะเป็นประเด็นใหญ่ในปลายปีนี้เทียบกับนักลงทุนยุโรปที่ 10% และนักลงทุนสหรัฐที่ 8% ในขณะที่นักลงทุนเอเชียจะมีความกังวลต่ำที่สุดคือมีเพียง 4% เท่านั้นที่มองว่าโอมิครอนจะเป็น “เรื่องใหญ่”

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าโอมิครอนซึ่งกำลังระบาดอย่างรวดเร็วเป็น “เรื่องเล็ก” แต่นักลงทุนน่าจะมองว่าการระบาดครั้งนี้จะไม่ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงมากนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะดังที่กล่างข้างต้น คือทั้งรัฐบาลและประชาชนก็ยังต้องการใช้ชีวิตให้เป็นปกติต่อไป จึงจะไม่เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังมากนัก

นอกจากนั้นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตได้ปรับตัวและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อทำให้ยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่นมีความถนัดมากขึ้นในเรื่อง WFH และการสั่งอาหารและสินค้าแบบออนไลน์ เป็นต้น ทำให้ Goldman Sachs สรุปว่าการออกมาตรการล็อกดาวน์ในอนาคตนั้นน่าจะส่งผลกระทบเพียง 1/3 ของผลกระทบจากการล็อกดาวน์ครั้งแรกเมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมา เพราะการปรับตัวดังกล่าวของภาครัฐและประชาชน

ดังนั้น หากสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้พัฒนาไปในทิศทางที่เลวร้ายมากขึ้นจริงๆ นักลงทุนก็คงจะค่อยๆ คลายความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ต่อไป และกลับไปให้ความสำคัญกับความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อระดับสูงที่ยืดเยื้อ อันจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับท่าทีและเร่งการลดทอนคิวอี (ยุติการพิมพ์เงินใหม่ออกมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันของภาคเอกชน) และต้องเร่งปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป

แบงก์ออฟอเมริกา พันธมิตรของภัทรฯ คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 3 ครั้งในครึ่งหลังของปี 2565 และอีก 4 ครั้งในปี 2566.
โพสต์โพสต์