การแข่งขัน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

การแข่งขัน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าดิฉันชอบดูการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นกีฬา แข่งสุดยอดเชฟ แข่งร้องเพลง หรือแข่งแชมป์หลากหลายประเภทแบบในรายการทีวีแชมเปี้ยน

ดิฉันจึงมาวิเคราะห์แล้วพบว่า จริงด้วยสิ! เราไม่ได้ชอบดูอย่างเดียว บางอย่างเราก็ชอบแข่งด้วย

การแข่งขันทำให้ผู้เข้าแข่งขันได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง ซึ่งอาจจะมีมากกว่าที่เราคิด หรือประเมิน นอกจากนั้นการเข้าแข่งขัน หรือการดูการแข่งขัน จะทำให้เราได้เรียนรู้เทคนิคจากคนเก่งอื่นๆที่เข้าแข่งขันด้วย

ตอนเรามีกำลัง เราเข้าแข่งขันเพื่อพัฒนาศักยภาพ และสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นเลิศ
เมื่อเราเป็นหัวหน้า เราจะกลายเป็นทั้งผู้เข้าแข่งขันและโค้ช ผู้แนะนำให้ทีมของเราพัฒนาศักยภาพ
เมื่อเรามีประสบการณ์มาก และอยู่ในวัยที่แข่งไม่ไหวแล้ว เราก็เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก่ผู้เข้าแข่งขัน

ยิ่งเป็นยุคนี้ ยุคที่มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นมาก คนของยุคเบบี้บูม หรือเจนเอ็กซ์ อาจจะใช้เทคโนโลยีไม่คล่องเท่าคนยุคเจนวาย หรือ มิลเลนเนียล การรวมพลังกันทำงานจึงเกิดผลดีมากขึ้น คนรุ่นใหม่ได้ใช้ความสามารถทางเทคโนโลยี คนรุ่นเก่าได้ใช้ความสุขุม การประมวลผล และประสบการณ์ในการทำให้โครงการต่างๆประสบความสำเร็จ

ข้อดีของการแข่งขันตั้งแต่เด็ก คือ การได้พัฒนาทักษะชีวิตที่สำคัญ เช่น ความเห็นอกเห็นใจ การฝึกความอดทน การฝึกความเพียร รู้จักความผิดหวัง และการได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาด

ข้อเสียของการแข่งขัน คือ ความกดดันทางอารมณ์และความรู้สึก และหากแข่งขันในสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพของตน ก็อาจจเกิดความรู้สึกด้านลบ เช่นรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ด้อยค่าตัวเอง หัวเสีย และอาจเสียความมั่นใจในตัวเอง

ทุกคนมีเวทีของตัวเองค่ะ ความเก่งของคนเราไม่เท่ากัน และเราก็ไม่สามารถเก่งทุกอย่างได้ หากเรามีโอกาสค้นพบความสามารถของตนเองตั้งแต่เด็ก เราจะสามารถพัฒนาพรสวรรค์ของเราได้

ศาสตราจารย์ ดร. โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Professor Dr. Howard Gardner) นักจิตวิทยา อาจรย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นผู้นำเสนอทฤษฎีพหุปัญญา หรือ Theory of Multiple Intelligence เมื่อปี พ.ศ. 2526 แบ่งแยกความฉลาดของคนเราเป็น 8 ประเภท จากเดิมที่จะมีการวัดความฉลาดเฉพาะทางทักษะการคิดและคำนวณ

ความฉลาด 8 ประเภทของ ดร. การ์ดเนอร์ประกอบด้วย

ความฉลาดทางพื้นที่ (Spatial Intelligence) เป็นความสามารถในการมองภาพใหญ่ของพื้นที่ ทิศทาง และจัดการกับพื้นที่ต่างๆ เช่น นักบิน นักเดินเรือ หรือ สถาปนิก นักหมากรุก เป็นต้น
ความฉลาดทางกาย (Bodily-Kinesthetic Intelligence) เป็นความสามารถในการใช้ส่วนต่างๆของร่างกาย หรือทั้งร่างกาย เพื่อแก้ไขปัญหา หรือเพื่อการแสดง เช่น นักเต้นรำ
ความฉลาดทางดนตรี (Musical Rhythmic Intelligence) เป็นการตอบรับกับเสียง จังหวะ ท่วงทำนอง เช่น นักดนตรี นักแต่งเพลง วาทยากร
ความฉลาดทางภาษา (Linguistic Intelligence) ฉลาดใช้ภาษาและคำพูด เสียง จังหวะ การเรียงลำดับคำพูดและการเขียน
ความฉลาดทางตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence) เป็นความสามารถในการมองภาพรวมและความเป็นเหตุเป็นผล ของการกระทำ และสัญลักษณ์ เช่น นักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์
ความฉลาดทางความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Interpersonal Intelligence) มีมนุษยสัมพันธ์ สามารถเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก และแรงจูงใจของผู้อื่น บางครั้งเรียกว่า ความฉลาดทางสังคม
ความฉลาดในการรู้จักตนเอง (Intrapersonal Intelligence) เป็นความสามารถในการรู้จักอารมณ์ ความรู้สึก และแรงจูงใจของตนเอง ทำให้ตัดสินใจในส่วนของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางครั้งเรียกว่า Self Intelligence
ความฉลาดทางธรรมชาติ (Naturalist Intelligence) ความสามารถในการรู้จักกับธรรมชาติ เช่น สามารถแยกแยะความแตกต่างของพืช หรือของเมฆ ชนิดต่างๆได้

ในภายหลังมีผู้มาเพิ่มอีกหนึ่งความฉลาดคือ ความฉลาดทางการเป็นอยู่และใช้ชีวิต (Existential Intelligence) ซึ่งจะคล้ายๆกับความฉลาดในการรู้จักตนเอง

ความฉลาดต่างๆเหล่านี้ คนเรามีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและประสบการณ์ การได้เห็น ได้เรียนรู้ จึงเป็นการเพิ่มประสบการณ์ และช่วยเสริมความฉลาดได้

ไม่ว่าจะเป็นความฉลาดด้านใด เชื่อว่าหากถูกพัฒนา หากได้มีโอกาสในการใช้และทำให้เต็มที่ เราจะสามารถเพิ่มศักยภาพของแต่ละคนได้

ศักยภาพของเราสามารถถูกพัฒนาได้อย่างไม่สิ้นสุด หากเรามี “โอกาส” ทั้งโอกาสในการเรียนรู้ และโอกาสในการแข่งขัน โดยการแข่งขันนั้นต้องเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม หรือที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า Fair และอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียม คือ มี level playing field ความเท่าเทียมไม่จำเป็นว่าต้องเท่ากัน แต่ต้องจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับผู้ที่ศักยภาพยังพัฒนาไม่เต็มที่ เช่น แบ่งกลุ่ม มือใหม่ มือสมัครเล่น กับมืออาชีพ ออกจากกัน

ดิฉันจึงชอบชมการแข่งขัน และการแข่งขันที่ดี จะช่วยพัฒนาทั้งผู้แข่งและผู้ชม

แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะติงประเทศไทยคือ เรามักจะเปลี่ยนคู่แข่งไปเรื่อยๆ ให้เหมาะสมกับความสามารถและระดับการพัฒนาของเรา สมัยทศวรรษ 1990 ดิฉันจำได้ว่า เรามาในกลุ่มกับเกาหลีใต้ พอมาปี 2000 เราอยู่ในกลุ่มแข่งกับมาเลเซีย มาถึงวันนี้ เรากำลังบอกว่าเราแข่งกับเวียดนาม การปรับแบบนี้ ทำให้เรารู้สึกสบายใจ แต่ทำให้เสียโอกาสในการดึงศักยภาพออกมาใช้ค่ะ

ทำไมเราไม่มองความสามารถของเราในมุมที่กว้างขึ้น เราอาจจะไม่อยากจะแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่แข่งขันทางคุณภาพชีวิต และความสุขด้วย อยากให้ตั้งมาตรฐานที่สูง เพื่อให้เราต้องดึงศักยภาพออกมาใช้ เช่น อยากมีความสงบ ปลอดภัย สุขภาพดี และความเหลื่อมล้ำน้อย แบบประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เป็นต้น
โพสต์โพสต์