สองเกลอมหัศจรรย์/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

สองเกลอมหัศจรรย์/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดต่างๆเริ่มทยอยส่งรายงานผลการประกอบการของไตรมาสสิ้นสุด 30 กันยายน 2564 โดยตลาดหุ้นแนสแดค มีสองบริษัทที่มีผลประกอบการโดดเด่น นั่นคือ บริษัทไมโครซอฟท์ กับ อัลฟาเบท วันนี้จึงจะขอเขียนถึงสองบริษัทนี้โดยสังเขปค่ะ

ไมโครซอฟท์ (Microsoft Corp. ชื่อย่อในการซื้อขาย MSFT) มีราคาปิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ 324.35 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น และใน 52 สัปดาห์ย้อนหลัง ราคาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 199.62 เหรียญถึง 326.10 เหรียญ หรือที่จุดสูงสุดขึ้นมาจากจุดต่ำสุด 63.37% บริษัทมีกำไรต่อหุ้น 8.94 เหรียญ และมีค่าพีอี หรือ ราคาเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้น (ของปีล่าสุด)อยู่ที่ 40.7 เท่า

ไมโครซอฟท์ เป็นหุ้นที่มีความผันผวนน้อยกว่าตลาดแนสแดคค่ะ คือมีค่าเบต้า เท่ากับ 0.8 อธิบายง่ายๆคือ ถ้าตลาดเคลื่อนไหว 1% หุ้นไมโครซอฟท์จะเคลื่อนไหว 0.8% ทำให้กราฟราคาหุ้นดูจะราบรื่นกว่าของตลาดแนสแดค

บริษัทไมโครซอฟท์ ก่อตั้งโดย พอล อัลเลน (Paul Allen) และ บิล เกตส์ (Bill Gates) โดยก่อนหน้านั้น ผู้ก่อตั้งทั้งสองคนซึ่งเป็นเพื่อนกันจากเมือง ซีแอตเติล มลรัฐวอชิงตัน ได้ตั้งบริษัทเล็กๆ ทำเรื่อง ซอฟท์แวร์ หลังจากนั้น จึงตั้งบริษัท ไมโครซอฟท์ ขึ้น เมื่อ 4 เมษายน ค.ศ. 1975 มีสินค้าหลักคือ ระบบปฏิบัติการ โดยตั้งสำนักงานในเมือง Albuquerque มลรัฐ นิวเม็กซิโก งานแรกของไมโครซอฟท์ คือการสร้างระบบปฏิบัติการให้กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือ PC ของ ไอบีเอ็ม ที่ชื่อ MS-DOS (Microsoft Disk Operating System) และได้ย้ายสำนักงานไปตั้งที่เมือง Bellevue มลรัฐวอชิงตัน ของสหรัฐอเมริกา ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1979 ก่อนจะย้ายไปตั้งที่เมือง Redmond มลรัฐวอชิงตัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ในปัจจุบัน ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1986 และเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แนสแดค ในวันที่ 13 มีนาคม 1986

ปัจจุบัน ธุรกิจของไมโครซอฟท์มีหลายด้าน เช่น MS Cloud บริการให้เช่าพื้นที่เก็บข้อมูลในคลาวด์ Microsoft Azure, ระบบปฏิบัติการ Microsoft 365, Windows 365, Microsoft Industry รวมถึง MS Advertising ช่วยหาลูกค้าให้กับธุรกิจต่างๆ และ Entertainment & Device ทำเกมและอุปกรณ์เกมต่างๆ ไมโครซอฟท์กลายเป็นซอฟท์แวร์ที่ช่วยนักพัฒนาโปรแกรมต่างๆใช้กันอย่างกว้างขวาง

กำไรจากผลประกอบการของไมโครซอฟท์ ในช่วงที่ผ่านมามักจะสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดเอาไว้ โดย สามารถขยายเครือข่าย Cloud application ได้เพิ่ม และธุรกิจ Azure ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถสร้าง จัดการ หรือใช้แอพพลิเคชั่น โดยมีสินค้ามากกว่า 200 อย่าง นั้น มียอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 48% ธุรกิจอื่นที่มียอดขายเพิ่มขึ้นยังรวมถึง Power Apps, Security และ ระบบประชุมออนไลน์ Microsoft Teams

ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้มี รายได้รวม 45,317 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิ 20,505 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 676,665 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 45% มีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) 13%

คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรในปี 2022 เท่ากับ 10.96% และในปี 2023 เท่ากับ 13.03%

เวลาวิเคราะห์หุ้นบริษัทที่มีการเติบโตสูง เราจะดูค่า PEG หรือค่า พีอีต่ออัตราการเติบโต โดยนำพีอีมาหารด้วยอัตราการเติบโต ซึ่งของไมโครซอฟท์ พีอีปีหน้าเท่ากับ 36.69 หารด้วย 10.96 ได้ เท่ากับ 3.3 ค่าพีอีต่ออัตราการเติบโตนี้ ยิ่งตัวเลขต่ำ ยิ่งแปลว่าหุ้นยังไม่แพงค่ะ
ส่วนบริษัทที่สองคือ อัลฟาเบท (Alphabet Inc.) ซึ่งตัวย่อคือ GOOGL หรือ เจ้าของกูเกิล เสิร์ชเอ็นจิ้นยอดนิยม นั่นเองค่ะ ในช่วง 52 สัปดาห์ย้อนหลัง ราคาหุ้น เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,508.48 ถึง 2,973.00 เหรียญสหรัฐ ต่างกันถึง 97% ราคาปิด ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2564 คือ 2,916.98 เหรียญสหรัฐ มีค่าพีอี คิดจากกำไรต่อหุ้นปีล่าสุดเท่ากับ 49.57 เท่า แต่คาดว่าจะลดลง เป็น 28.59 เท่า ในปี 2021 นี้ และลดลงเหลือ 26.84 และ 22.78 เท่า ในปี 2022 และ 2023 ตามลำดับ (เนื่องจากกำไรเพิ่มขึ้น)

กูเกิ้ล มีกำไรต่อหุ้นในปีที่แล้ว 102.84 เหรียญสหรัฐ คาดว่าอัตราเติบโตของกำไรในปีนี้ เท่ากับ 74.07% และในปีหน้าจะลดลงเหลือ 6.55% ค่ะ

ประวัติของกูเกิ้ลเริ่มในปี ค.ศ. 1996 โดยเป็นโครงการวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอกสองคนของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คือ แลร์รี่ เพจ (Larry Page) และ เซอร์จี บริน (Sergey Brin) และก่อตั้งเป็นบริษัทเมื่อ 4 กันยายน 1998 ตั้งสำนักงานอยู่ในเมือง Mountain View มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดแนสแดค เมื่อ 19 สิงหาคม ค.ศ. 2004 โดยเสนอขายหุ้นจำนวน 19,605,052 หุ้น ในราคาหุ้นละ 85 เหรียญ ทำให้ตอนนั้นมีมูลค่าตลาด (Market Capitalization) เท่ากับ 23,000 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่ามากทีเดียวในตอนนั้น และเปลี่ยนเอาบริษัทกูเกิ้ลไปเป็นบริษัทลูก โดยเอาบริษัทโฮลดิ้ง อัลฟาเบท ขึ้นมาจดทะเบียนแทน เพื่อให้บริษัทที่จดทะเบียนทำธุรกิจได้หลากหลายมากขึ้น

ณ ปัจจุบัน บริษัทมีมูลค่าตลาดถึง 1,938,864 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 64 ล้านล้านบาท โดยมีธุรกิจเสิร์ช โฆษณา ระบบปฏิบัติการ แพลทฟอร์ม เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการ Android, Google Chrome OS, Google TV, Google Books

ในไตรมาสที่สามของปีนี้ กูเกิ้ลมีรายรับ 65,118 ล้านเหรียญ (ประมาณ 2.15 ล้านล้านบาท) มีกำไรสุทธิ 18,936 ล้านเหรียญ (ประมาณ 624,888 ล้านบาท) มีอัตรากำไรสุทธิ 29% และมีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) 8%

สำหรับค่า PEG หรือค่า พีอีต่ออัตราการเติบโตนั้น กูเกิ้ล มี PEG 1.94 เท่าค่ะ (ข้อมูลจากแนสแดค) ต่ำกว่าไมโครซอฟท์ แปลว่าหุ้นราคาไม่สูงมาก อาจจะเป็นเพราะผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าไมโครซอฟท์ และอัตราการเติบโตก็ไม่ได้สม่ำเสมอเท่าไมโครซอฟท์ อีกประการหนึ่งคือ ราคาหุ้นสูงมาก หุ้นละเกือบ 3,000 เหรียญ หรือเกือบ 100,000 บาท แม้จะสามารถซื้อหุ้นเป็นเศษส่วนได้ แต่กูเกิ้ลก็ดูจะเป็นหุ้นขวัญใจผู้ลงทุนสถาบันมากกว่าผู้ลงทุนรายย่อยค่ะ

ทั้งสองบริษัทมีสภาพคล่องสูงมาก โดยไมโครซอฟท์ มีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นอยู่ 130,600 ล้านเหรียญ (ประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท) และ กูเกิ้ล มีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นอยู่ 141,999 ล้านเหรียญ (ประมาณ 4.7 ล้านล้านบาท) สามารถจะซื้อโครงการหรือบริษัทที่มีสินค้าและบริการดีๆมาเติมในพอร์ตสินค้าของบริษัท เพื่อให้สามารถสร้างรายได้และกำไรได้เพิ่มอีกค่ะ

หมายเหตุ : ข้อมูลผลประกอบการจาก NASDAQ บทความนี้เป็นกรณีศึกษา ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะแนะนำให้ลงทุนหรือไม่ลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าวแต่อย่างใด การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
โพสต์โพสต์