ปัญหาประชากรของสังคมไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

ปัญหาประชากรของสังคมไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยดูเหมือนจะตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาการแก่ตัวของประชากรไทย มีการนำปัญหามาพูดคุยกันอย่างแพร่หลาย และนำเสนอมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุดังกล่าว

แต่แล้วทุกอย่างก็เงียบไปโดยที่ปัญหาการเพิ่มของประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องไม่ได้ลดน้อยลง ตรงกันข้ามตัวเลขล่าสุดที่ตีพิมพ์โดยสภาพัฒน์ฯ สะท้อนว่าปัญหาได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2020 ที่ผ่านมาและน่าจะเป็นปัญหาต่อเนื่องมาในปีนี้
ปีหน้าที่เรากำลังเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่หรือไม่นั้น เป็นปีเดียวกันที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์คือมีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีหรือมากกว่า) จำนวนประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 20% ของประชากรทั้งหมด โดยประเทศไทยใช้เวลาเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์เพียง 17 ปี ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีเวลาเตรียมการมากถึง 50-100 ปี
สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าในอีก 19 ปีข้างหน้า (ปี 2583 หรือ 2040) ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณ 3.5% ต่อปี กล่าวคือจะเพิ่มจาก 12.5 ล้านคนเป็น 20.5 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว ในขณะที่ประชากรในวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) จะลดลงจาก 43 ล้านคนในปี 2563 เหลือ 36 ล้านคนในปี 2583

กล่าวคืออัตราส่วนประชากรวัยแรงงานต่อประชากรสูงอายุจะลดลงจาก 3.6 คนต่อ 1 คน เหลือเพียง 1.8 คนต่อ 1 คน ทำให้ประชากรผู้สูงอายุจะเป็นภาระกับประเทศได้อย่างมากหากกลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าวสุขภาพไม่ดีและทำงานเลี้ยงตัวเองไม่ได้มากเพียงพอ

บางคนอาจบอกว่าทางออกคือการเร่งให้ผู้ที่ใกล้จะเป็นผู้สูงอายุ ณ ปัจจุบันรีบออมเงินให้มากๆ เพื่อให้มีเพียงพอที่จะใช้จ่ายตอนแก่เฒ่า แต่ตรงนี้ต้องเข้าใจว่าสามารถทำได้ในเชิงของบุคคล (คือรวบรวมกำลังซื้อเอาไว้ใช้เวลาที่ไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้) แต่คนจำนวนมากทำพร้อมกันไม่ได้

เพราะหากต้องออมเงินเอาไว้ในลักษณะที่ให้ผลตอบแทนต่ำเพื่อลดความเสี่ยงเช่นพันธบัตรรัฐบาลและไม่ได้ทำงานเพื่อสร้างผลผลิตออกมา ก็แปลว่าในระบบเศรษฐกิจจะมีผลผลิตน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการใช้สินค้าและบริการส่วนเกินของกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำงานดังกล่าว
หมายความว่าคนในวัยทำงานที่เหลือเพียง 36 ล้านคนนั้นจะต้องมีผลผลิตต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างมากให้ได้ผลผลิตที่มีเพียงพอสำหรับตัวเอง สำหรับผู้สูงอายุและสำหรับกลุ่มเด็กเล็กที่ยังต้องได้รับการเลี้ยงดูอยู่ อันจะเป็นภาระที่หนักมาก

เพราะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากจะมีอำนาจทางการเมืองมากในการเลือกรัฐบาลที่ตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ เช่น เรื่องของเบี้ยผู้สูงอายุและค่ารักษาพยาบาลที่จะทำให้รัฐบาลต้องหาทางเร่งเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากคนที่อยู่ในวัยทำงาน
ตัวเลขของกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงานของรัฐบาลไทยคือกลุ่มคนอายุ 15-59 ปี ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าในโลกปัจจุบันที่จะต้องมีการศึกษาและความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีนั้นกว่าจะเริ่มทำงานที่ให้ผลผลิตสูงได้จะต้องได้รับการศึกษาและฝึกฝนที่เพียงพอจนกระทั่งอายุ 21-22 ปีเป็นอย่างน้อย ดังนั้นคนในวัยทำงานจึงจะมีน้อยลงไปอีก

การระบาดของ COVID-19 ทำให้ปัญหาการชะลอตัวของการขยายตัวประชากรทวีความรุนแรงขึ้นอีก เห็นได้จากตัวเลขล่าสุดสำหรับปี 2020 ของสภาพัฒน์ฯ และรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุปี 2563 พบว่า ปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 6 แสนคน (587,368 คน) ในขณะที่มีคนตายกว่า 5 แสนคน ทำให้ในปี 2563 มีคนเกิดมากกว่าคนตายเพียง 85,930 คน หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มประชากรเพียง 0.12% ในปีดังกล่าว แตกต่างจากปลายศตวรรษที่แล้วที่มีคนเกิดเฉลี่ยปีละเกือบ 1 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 4 แสนคน

ปีนี้การระบาดของ COVID-19 รุนแรงมากกว่าปีที่แล้ว กล่าวคือน่าจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตเฉพาะจาก COVID-19 มากถึง 20,000 คนและอาจมีผู้เสียชีวิตเพราะไม่สามารถไปโรงพยาบาลเพราะกลัว COVID-19 อีกจำนวนไม่น้อยด้วย นอกจากนั้นเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้วเราก็เห็นข่าวที่ระบุว่าหญิงตั้งครรภ์นั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจาก COVID-19 จึงน่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายครอบครัวตัดสินใจเลื่อนแผนการมีบุตรออกไปก่อน

ดังนั้น ผมจะไม่แปลกใจเลยหากในปี 2021 นี้ จำนวนประชากรในประเทศไทยจะไม่เพิ่มขึ้นซึ่งจากการคาดการณ์ของสภาพัฒน์นั้นจำนวนประชากรไทยจะถึงจุดสูงสุดประมาณปี 2030 แต่ดูเสมือนว่าจุดสูงสุดดังกล่าวอาจมาถึงเร็วกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของหลายๆ คนยังจะดูไม่น่าไว้ใจเพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าการมีบุตรและเลี้ยงลูกจนโตนั้นเป็นภาระและความรับผิดชอบทางการเงินที่หนักหน่วงมาก

ประเด็นสุดท้ายคือเราย่อมต้องการให้คนไทยที่เกิดใหม่มานั้น นอกจากจะมีจำนวนที่เพียงพอแล้ว ก็ควรจะต้องมีคุณภาพด้วยคือพ่อ-แม่ควรต้องมีความพร้อมทั้งปวง แต่ตัวเลขการคาดการณ์ประมาณอัตราเจริญพันธ์รวม (Total Fertility Rate หรือ TFR) เป็นรายภาคดูจะไม่เป็นเช่นนั้น

รูปภาพ

ดังเห็นได้จากตาราง ซึ่ง TFR จะต่ำมากสำหรับภาคที่ค่อนข้างจะร่ำรวย เช่น กทม.แต่ TFR จะสูงกว่ามากในภาคที่ยากจนกว่า เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เป็นต้น

ทางออกสำหรับประเทศไทยในระยะยาวคือการเพิ่มการเกิดของเด็กที่มีคุณภาพ การจะให้ผู้สูงอายุทำงานมากขึ้นและมีสุขภาพดีขึ้นเป็นเพียงมาตรการที่ลดภาระในระยะสั้นและระยะกลางครับ.
โพสต์โพสต์