จับอาการเศรษฐกิจ สร้างทางออกวิกฤติไทย (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

จับอาการเศรษฐกิจ สร้างทางออกวิกฤติไทย (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวทางที่ ธปท.เสนอเพื่อกลบหลุมรายได้ 2.6 ล้านล้านบาทที่เกิดจาก COVID-19 กับข้อเสนอให้รัฐบาลกู้เงินอีก 1 ล้านล้านบาท

ในตอนนี้ผมขอกล่าวถึงข้อคิดของ ธปท.ที่วิเคราะห์ให้เห็นว่าเครื่องยนต์เครื่องอื่นๆ ของเศรษฐกิจไทย เช่น การลงทุนและการส่งออกจะไม่สามารถทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ รวมทั้งการเสนอให้ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในระยะกลาง ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วยและกลับมองว่าหากต้องขึ้นภาษีควรขึ้นภาษีรายได้นิติบุคคลมากกว่า

ทำไมต้องเป็นภาครัฐที่จะมีบทบาทในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจและประชาชน
  • แม้ภาคส่งออกจะขยายตัวได้สูงถึง 17.7% ในปีนี้แต่เนื่องจากการส่งอออกต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก (ซึ่งทำรายได้ให้กับต่างประเทศไม่ได้เพิ่มจีดีพีในไทย) ทำให้ธปท.ประเมินว่าการขยายตัวของการส่งออกดังกล่าว จะทำให้จีดีพีไทยเพิ่มขึ้นสุทธิเพียงประมาณ 0.5% หรือคิดเป็นเงินเพียง 75,000-80,000 ล้านบาท
  • ธุรกิจขนาดใหญ่มีกำไรต่อเนื่องแต่ไม่จ้างงานเพิ่ม แม้ว่า ณ วันนี้สามารถทำกำไรสูงกว่าก่อนโควิด-19 แล้ว ทั้งนี้งบลงทุนของบริษัทดังกล่าวก็ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดถึง 49%ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะความไม่แน่นอนและความไม่สามารถคาดการณ์ได้เกี่ยวกับแนวโน้มของการระบาดของโควิด-19 และความไม่ชัดเจนของนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้โดยปกติการลงทุนโดยภาคเอกชนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของจีดีพี (หรือประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท) ซึ่งหากฟื้นตัวอย่างช้าๆ (ธปท.บอกว่าขยายตัวประมาณ 4.4% ต่อปี) ก็แปลว่าการลงทุนอาจเพิ่มขึ้นเพียง 30,000-40,000 ล้านบาทต่อปี
  • ตรงนี้ผมเห็นด้วยกับธปท.ว่าการส่งออกและการลงทุนของภาคเอกชนปีนี้ และในอนาคตจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่เบาบางและไม่เพียงพอที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลไทยและภาคธุรกิจไทยไม่สามารถเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยไปในทิศทางใด จะมีการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในแขนงใดเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเจริญรุ่งเรืองในโลกที่ต้อง “อยู่กับโควิด-19” ไปอีกหลายปี
  • ธปท.เห็นด้วยกับมาตรการการคลังที่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมีตัวคูณสูง เช่น มาตรการคนละครึ่ง (ตัวคูณ 1.5) และและมาตรการประกันสินเชื่อ (ตัวคูณ 2 ถึง 2.6) ตรงนี้ผมก็เห็นด้วยในระดับหนึ่ง แต่ผมมีข้อสังเกตว่าเมื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขาดทุนอย่างมากเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว แปลว่าทุนได้ลดทอนลงอย่างมาก ในขณะที่คงจะกู้เงินไปจนเต็มเพดานแล้ว ดังนั้น การกู้เงินต่อไปอีกน่าจะทำได้ไม่ง่ายนัก การตั้งกองทุนเพื่อเพิ่มทุนพร้อมกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ (ไม่ใช่ให้กู้อย่างเดียว) น่าจะเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาพร้อมกันไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับธุรกิจออกจากภาคการท่องเที่ยวแบบเดิมไปสู่ธุรกิจอื่นที่น่าจะมีอนาคตมากกว่าในยุคที่ต้องอยู่กับโควิด-19
การกู้เงินเพิ่มขึ้นของภาครัฐ จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการคลังหรือความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ
  • ตรงนี้ธปท.ได้ตอบไปก่อนหน้าแล้วว่า “กู้ได้” แต่ประเด็นที่ถูกสื่อมวลชนนำเสนออย่างกว้างขวางคือ การที่ธปท.แนะนำให้รัฐบาลมีมาตรการรัดเข็มขัดในระยะปานกลางโดยเฉพาะข้อเสนอให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว เช่น หากรัฐบาลเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% จะทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 60,000 ล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะลดลง 0.33% ของจีดีพี
  • ตรงนี้ผมคิดว่ากระทรวงการคลังก็คงอยากเห็นอย่างมากเพราะมีความพยายามจะปรับภาษีมูลค่าเพิ่มกลับไปที่ 10% มานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ไม่สำเร็จเพราะมีแรงต่อต้านทางการเมืองมากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งผมคิดว่าเป็นผลมาจากการที่ภาษีดังกล่าวกระทบกับคนส่วนมากและเป็นภาษีที่เก็บจากคนจนเป็นสัดส่วนต่อรายได้สูงกว่าคนรวย (regressive tax) จึงเป็นภาษีที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ทำให้ไม่มีใครกล้าสนับสนุนมาตรการดังกล่าวอย่างเต็มปาก
  • โดยปกติแล้วผมจะไม่สนับสนุนการปรับขึ้นภาษีประเภทใดเลย โดยเฉพาะภาษีที่จะกระทบกับการลงทุนซึ่งเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในระยะยาว แต่ ณ วันนี้หากจะต้องให้รัฐบาลมีความมั่นใจว่าจะมีภาษีมาทดแทนการกู้เงินอีกมากถึง 1 ล้านล้านบาทเพื่อกลบ “หลุมรายได้” ขนาดใหญ่
ผมจะเสนอให้เพิ่มภาษีรายได้นิติบุคคลซึ่งธปท.เองก็บอกว่าธุรกิจขนาดใหญ่นั้นปัจจุบันกำลังฟื้นตัวกลับไปสูงกว่าภาวะก่อนการระบาดของโควิด-19 แล้ว (และธุรกิจ SME ที่ปัจจุบันขาดทุนกันอย่างถ้วนหน้าก็จะไม่ได้รับผลกระทบ) ทั้งนี้ตัวเลขในปี 2019 ปรากฏว่ารัฐบาลเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลได้ 896,000 ล้านบาท (อัตราภาษี 20%) ซึ่งหากคำนวณกำไรที่เกิดขึ้นจริงจากมูลค่าภาษีที่เสียให้รัฐ ก็จะได้ตัวเลขที่ประเมินได้ว่าบริษัทต่างๆ น่าจะทำกำไรได้มากถึง 4.5 ล้านล้านบาท

สำหรับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นั้นรายงานว่าปีที่แล้วทำกำไรได้ 558,000 ล้านบาทและคาดการณ์ว่าปีนี้กำไรจะเพิ่มขึ้นเป็น 790,000 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 41.6% ซึ่งดีกว่าการฟื้นตัวของจีดีพี (รายได้ของทุกคนในประเทศ) ในปีนี้อย่างมากเพราะคาดการณ์กันว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวเพียง 0.5-1.0% ครับ.
โพสต์โพสต์