จัดลำดับความสำคัญ...สู่ความสำเร็จ/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1887
ผู้ติดตาม: 309

จัดลำดับความสำคัญ...สู่ความสำเร็จ/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ในช่วงที่ทุกคนจะต้องปรับชีวิตวิถีใหม่ ดิฉันจะขอนำเสนอบทความและข้อคิดสัก 4-5 ตอน เผื่อว่าอาจจะช่วยให้ท่านนำไปใช้ในบริบทของตัวท่านเอง ในวันนี้ขอเสนอเรื่อง “การจัดลำดับความสำคัญ” เป็นข้อคิดแรกค่ะ

ในการทำอะไรๆทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว หรือชีวิตการทำงาน สิ่งหนึ่งที่เราพบว่าเป็นจริงเสมอคือ “ทรัพยากรมีจำกัด” ไม่ว่าจะเป็น เงิน สิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ความรู้ หรือ เวลา

เมื่อทรัพยากรมีจำกัด หากต้องจัดสรรเพื่อสามารถทำให้ได้ดีที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด เราจึงต้องใช้เครื่องมือสำคัญที่สุดประการหนึ่ง นั่นคือ “การจัดลำดับความสำคัญ” ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้ว่า “Setting Priority”

การจัดลำดับความสำคัญ ใช้ได้ตั้งแต่ การทำงานให้บรรลุเป้าหมาย การจัดการเรื่องการวางแผนการเงิน การจัดการจัดสรรสิ่งต่างๆ และที่สำคัญ สามารถนำไปใช้ได้ดีกับการจัดการเป้าหมายชีวิตด้วยค่ะ

จากการสังเกต พบว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มักเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายหลักในช่วงชีวิต และพยายามทำให้ดีที่สุด ในการบรรลุเป้าหมายในช่วงชีวิตนั้น

เริ่มจากวัยเรียนก่อนเลยค่ะ ในวัยเรียนไม่ว่าจะเป็นชั้นประถม มัธยม หรืออุดมศึกษา เป้าหมายหลักคือการหาความรู้ การเพิ่มพูนทักษะชีวิต รู้จักช่วยเหลือตนเอง รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนในครอบครัวและในสังคม และสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง

ส่วนเป้าหมายอื่นๆ ล้วนเป็นเป้าหมายรองทั้งสิ้น หากเราไม่ทำเป้าหมายหลักให้ดีในช่วงวัยนี้ เราอาจจะเสียใจในภายหลัง หลายคนบอกว่า สมัยเด็กๆ ไม่ค่อยตั้งใจเรียนหนังสือ มารู้ตัวอีกครั้งหนึ่งในช่วงเรียนปริญญาโท ก็อุตส่าห์ตั้งหน้าตั้งตาเรียนจนสำเร็จด้วยดี ยังดีที่รู้ตัวทัน

การทำกิจกรรมในวัยเรียนเป็นสิ่งที่ดี ดิฉันเองก็ทำกิจกรรมเยอะมาก แต่ก็ยังยึดถือการเรียนเป็นเป้าหมายแรก เรียกได้ว่าจัดลำดับความสำคัญให้การเรียนมาก่อน ส่วนงานกิจกรรมอื่นนั้น มีความสำคัญรองลงไป

พอถึงวัยทำงาน เป้าหมายสำคัญจะแตกต่างกันไปตามแต่เป้าหมายชีวิตของแต่ละคน คนที่ยังต้องการหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว เป้าหมายหลักก็จะอยู่ที่การทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงดูบุพการี และเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของตนเองในอนาคต

ส่วนคนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว เงินและรายได้อาจไม่ใช่เป้าหมายหลัก เพราะอาจจะต้องการเน้นการทำประโยชน์เพื่อสังคม อย่างนี้ก็สามารถหางานทำที่แตกต่างออกไปได้ สามารถทำงานที่ตนเองชอบ หรือมีความใฝ่ฝันอยากทำ แม้จะไม่ก่อให้เกิดรายได้

เมื่อทำงานหารายได้ไประยะหนึ่ง คนก็จะสามารถสร้างฐานะขึ้นมาได้ หลังจากนั้น ก็จะสามารถกลับไปทำสิ่งที่เป็นเป้าหมายรองที่ยังไม่ได้ทำในช่วงชีวิตที่ผ่านมาได้ เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือสังคม การเข้าไปมีบทบาทในการผลักดันเรื่องต่าง ๆ เสนอแนะข้อคิดเห็นดี ๆ และสร้างสรรค์เพื่อการปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ
ตอนเรียน ดิฉันก็ทำกิจกรรมมากพอสมควรตามที่ได้กล่าวไปเบื้องต้น เมื่อเรียนใกล้จบ ดิฉันตัดสินใจว่าจะต้องทำงานที่สามารถหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัวได้ เพราะดิฉันต้องการรายได้ จึงไม่ได้ไปทำงานเพื่อสังคม เช่นการสมัครไปอาสาพัฒนาชนบท เพราะดิฉันเชื่อว่าเราต้องช่วยตัวเองให้แข็งแรงและมั่นคงก่อน เราจึงจะสามารถไปช่วยคนอื่นได้ โดยไม่ทำให้ตัวเองหรือครอบครัวของตนเองเดือดร้อน โดยมองว่าในภายหลัง เมื่อฐานะของเรามั่นคงแล้ว เราสามารถช่วยได้มากกว่าที่เราจะช่วยตอนเรายังไม่มั่นคง

เปรียบเสมือนข้อแนะนำที่สายการบินแจ้งให้ทุกคนทราบกรณีฉุกเฉินที่ระดับออกซิเจนในเครื่องลดลง ท่านต้องสวมหน้ากากออกซิเจนให้ตนเองก่อน แล้วจึงไปสวมให้เด็ก หรือผู้อื่น เพราะหากท่านแข็งแรง ท่านและคนอื่นที่ท่านช่วยจะมีโอกาสรอดหมด แต่หากท่านไม่แข็งแรง อ่อนแรงเพราะขาดออกซิเจน ท่านอาจช่วยคนอื่นไม่ได้ และท่านก็อาจจะไม่รอดด้วย

ในช่วงสูงวัย ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาแล้ว สิ่งที่ช่วยได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินหรือสิ่งของ แต่”ประสบการณ์” และ “คำแนะนำ” เป็นสิ่งที่มีค่า เป็นสิ่งที่เงินทองก็ไม่สามารถซื้อได้ หากเราถึงวัยที่มีประสบการณ์ เราสามารถบอกเล่า หรือให้คำแนะนำกับคนอื่นๆที่ยังไม่มีประสบการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ด้านบวก หรือลบ ค่ะ

แต่สมัยนี้ การแบ่งปันประสบการณ์ หรือให้คำแนะนำให้กับคนรุ่นใหม่ อาจถูกมองว่า”เชย” “ล้าสมัย” “ไดโนเสาร์” ต้องระวังให้ดี อาจต้องถามผู้ฟังก่อนว่า อยากรับฟังหรือไม่ หากเขาไม่อยากฟัง เราจะได้ไม่เสียเวลา เสียพลังงาน และเสียความรู้สึกในการเล่าให้ฟังค่ะ

เราไม่ควรดูถูกประสบการณ์ของใครเลย เพราะมันได้เกิดขึ้นจริง และการที่เราได้รับฟังประสบการณ์มากๆ เราก็มีข้อมูลที่สามารถจะทำให้เราทราบว่า อย่างนี้เป็นแนวทางที่ควรทำ อย่างนี้เป็นแนวทางที่ไม่ควรทำ แต่หากไม่รับฟังเลย ก็จะไม่ได้ฟัง ถือเป็นการเสียโอกาสอย่างยิ่ง เยาวชนจึงไม่ควรตัดโอกาสตัวเองด้วยการเหมารวมว่า ผู้สูงวัย “เชย” และมีองค์ความรู้ที่ใช้กับยุคสมัยนี้ไม่ได้

แน่นอนว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป ประสบการณ์บางอย่างไม่เหมือนเดิม แต่แก่นของมันเหมือนเดิมค่ะ หากนำมาวิเคราะห์ แต่ละกรณีจะบอกเราว่า ทำไมเหตุการณ์นั้นจึงเกิดขึ้น จะป้องกันไม่ให้เกิด (กรณีเป็นสิ่งไม่ดี) หรือจะทำให้เกิดขึ้นอีก (กรณีเป็นสิ่งที่ดี) ได้อย่างไร เราเรียนรู้จากรูปแบบ จากสถานการณ์รอบข้าง และจากพฤติกรรมตอบสนอง ที่เกิดขึ้นในกรณีต่างๆได้

ผู้เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น จากมุมมองและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของผู้อื่น จึงเป็นผู้ที่สามารถบริหารจัดการบุคคลได้ดี

การจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายชีวิตในแต่ละช่วงชีวิต เป็นพื้นฐานแรกของกุญแจสู่ความสำเร็จในชีวิตค่ะ
โพสต์โพสต์