จีดีพีไตรมาส 1 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2021/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

จีดีพีไตรมาส 1 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2021/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ เชื่อกันว่าปัจจัยขึ้นอยู่กับการเร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ที่ขนานกันแบบเส้นตรง จีดีพีไทยในไตรมาส 1 หดตัวลงจากไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว 2.6% แต่หากประเมินการเปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อนหน้า (คือปลายปีที่แล้ว) โดยปรับฤดูกาลแล้วจีดีพีจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% แปลว่าการฟื้นตัวของจีดีพีนั้นเริ่มหมดกำลังลง เพราะหากดูการขยายตัวเป็นรายไตรมาส (quarter on quarter)

จะเห็นว่าชะลอตัวลงจากขยายตัว 6.3% ในไตรมาส 3 ปีที่แล้วมาเป็น 1.1% ในไตรมาส 4 และเหลือเพียง 0.2% ในไตรมาส 1 ที่เพิ่มผ่านมา ซึ่งจะต่ำกว่าตัวเลขจีดีพีของสหรัฐอย่างมากเพราะจีดีพีสหรัฐนั้นปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 8.4% ในไตรมาส 3 ตามด้วยการขยายตัวอีก 1.1% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว และการขยายตัว 1.6% ในไตรมาส 1 ของปีนี้เพราะได้รับอานิสงค์ทั้งจากการเร่งปูพรมฉีดวัคซีนและแรงขับเคลื่อนจากนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่แจกจ่ายให้แบบไม่ยั้งมือ

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ซึ่งสภาพัฒน์ฯ ก็ได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจลงไปจากครั้งก่อนหน้าที่ 2.5-3.5% มาเป็น 1.5-2.5% หรือตัวเลขกลมๆ คือจากการขยายตัว 3% มาเป็น 2% ในปีนี้

ถามว่า 1% มีความหมายมากน้อยเพียงใด คำตอบคือจีดีพีในปีนี้จะมีมูลค่าด้อยลงไปจากประมาณการเดิม (เมื่อ 15 ก.พ. 2021) ที่ 16.41 ล้านล้านบาท มาเป็น 16.25 ล้านล้านบาทในการประเมินล่าสุด (เมื่อ 17 พ.ค. 2021) เป็นการสูญเสียประมาณ 160,000 ล้านบาทหรือเท่ากับว่ารายได้ต่อหัวของประชาชนไทยในปีนี้จะลดลงไปประมาณ 2,283 บาท

การลดลงดังกล่าวนั้นน่าจะไม่ใช่เพราะจีดีพีในไตรมาส 1 ออกมาต่ำกว่าเกณฑ์เพราะตัวเลขจริงที่รายงานออกมานั้นใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจของไทย แต่น่าจะเป็นการปรับแนวโน้มของเศรษฐกิจหลังจากมีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้เมื่ออ่านเอกสารในรายละเอียดก็จะพบสมมติฐานและข้อสรุปที่มีนัยสำคัญเกี่ยวกับการประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ตลอดจนสมมติฐานเกี่ยวกับการระดมฉีดวัคซีนที่พบสรุปได้ดังนี้

1.สมมติฐานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดคือจะสามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดและไม่นำไปสู่การบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดและเป็นวงกว้างมากขึ้นไปกว่าปัจจุบัน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะ “เริ่มผ่านพ้นจุดสูงสุดในช่วงพฤษภาคม 2564”

2.การกระจายวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี “โดยประชากรไทยร้อยละ 75 จะได้รับวัคซีนภายในปี 2564 ส่งผลให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศภายไนไตรมาสแรกของปี 2565”

3.การฉีดวัคซีนทำให้สามารถผ่อนคลายมาตรการและ “เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วให้เดินทางเข้ามาได้มากขึ้นโดยไม่ต้องกักตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564”

4.รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 170,000 ล้านบาท ลดลงจากคาดการเดิมที่ 320,000 ล้านบาท ส่วนต่างเท่ากับ 150,000 ล้านบาท (ซึ่งใกล้เคียงกับการลดลงของการประมาณการจีดีพีทั้งปีที่กล่าวถึงข้างต้นที่ลดลง 160,000 ล้านบาท)

5.กรณีฐานคาดว่าจะสามารถกระจายวัคซีนให้กับพื้นที่เป้าหมายได้ตามกำหนดเพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้สามารถผ่อนคลายมาตรการ “เปิดรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเก็ต (Phuket Sand Box)ภายในไตรมาส 3 และพื้นที่นำร่องอื่นๆ ภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564”

แนวคิดในปัจจุบันนั้นดูเสมือนว่าเสียงส่วนใหญ่ จะเชื่อว่าการเร่งฉีดวัคซีนคือตำตอบทุกประการสำหรับการยุติการแพร่ขยายของโรคและสำหรับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยทั้งสองจะพัฒนาไปด้วยกันแบบเส้นตรง (linear) แต่ผมเกรงว่าการฉีดวัคซีนนั้น แม้จะค่อยๆ ลดความเสี่ยงและความสูญเสียจากการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต แต่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจนั้นจะไม่ง่ายดายและพัฒนาไปตามจำนวนวัคซีนที่เร่งฉีด

ตัวอย่างเช่นในครั้งที่แล้วผมเขียนถึงกรณีของสหรัฐอเมริกาที่ทุกคนมีความมั่นใจทำให้เกิดการแย่งกันเที่ยวแย่งกันใช้เงินและมลรัฐโอไฮโอต้องออกสลากรางวัล 1 ล้านเหรียญต่อสัปดาห์เพื่อให้ประชาชนที่เหลือมาฉีดวัคซีนให้ครบ ทั้งๆที่ ณ ปัจจุบันสหรัฐก็ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 38,000 คน เทียบเท่ากับประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 7,600 คนและสหรัฐก็ยังมีผู้ที่เสียชีวิตจาก COVID-19 วันละ 650 คน เทียบเท่ากับประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตวันละ 130 คน ดังนั้นความมั่นใจทางเศรษฐกิจจึงอาจไม่สามารถคิดเป็นสัดส่วนของการติดเชื้อรายใหม่และการเสียชีวิตจาก COVID-19 เพียงอย่างเดียว

นอกจากนั้นก็ยังมีกรณีศึกษาในต่างประเทศเช่นประเทศชิลีที่ฉีดวัคซีนไปแล้วเป็นจำนวนมากแต่ผู้ติดเชื้อก็ยังสูงอยู่ ทำให้ต้องกลับมามีมาตรการเข้มงวดอีกและเกาะ Seychelles ที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนจนครบแล้วแต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดหรือในอีกด้านหนึ่งคือการระบาดที่รุนแรงขึ้นในประเทศที่นึกว่าสามารถควบคุม COVID-19 ได้เป็นอย่างดีเยี่ยมแล้ว เช่น ไต้หวันและสิงคโปร์

หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีนกับการระบาดของโรคและความสามารถในการเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นไม่ได้เดินไปด้วยกันในลักษณะหนึ่งต่อหนึ่งดังที่บางคนอาจจะคิดกันอยู่ในขณะนี้ แต่อาจต้องมองไปถึงประเด็นความเสี่ยงอื่นๆ เช่น

1.การฉีดวัคซีนที่เพียงพอนั้นอาจไม่ใช่เพียงแค่การฉีดวัคซีนให้คนไทย 50 ล้านคนครบ 2 โดสคือ 100 ล้านโดส เพราะอาจต้องเผชิญกับการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาและความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (booster shot) ดังนั้นการให้ได้มาซึ่งความมั่นใจทางเศรษฐกิจอาจหมายถึงความจำเป็นในการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพและหลากหลายประเภท (ที่สามารถเลือกใช้ในการควบคุมการระบาดของไวรัสที่กลายพันธุ์) ตัวอย่างเช่นสหภาพยุโรปซึ่งมีประชากร 447 ล้านคน สั่งซื้อวัคซีน 900 ล้านโดสบวกกับการจองซื้อวัคซีนอีก 900 ล้านโดสหรือประเทศอังกฤษที่สั่งซื้อวัคซีน 5-6 ประเภทรวมทั้งหมด 560 ล้านโดส (อังกฤษกับไทยมีประชากรเท่ากันคือ 68 ล้านคน)

2.ประเทศอื่นๆ อาจฉีดวัคซีนอย่างเชื่อช้าเพราะมีรายได้น้อยหรือเช่นกรณีของไต้หวันและญี่ปุ่นจะฉีดวัคซีนแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะทำให้การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ของโลกโดยรวมมีความล่าช้าอาจต้องรอถึงกลางปี 2023 หรือล่าช้ากว่านั้นก็เป็นได้ ดังนั้น การเปิดประเทศอย่างเสรีเพื่อให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างเต็มที่จึงอาจทำไม่ได้ไปอีกนาน 2-3 ปี

3.ในระยะสั้นนี้การระบาดที่กว้างขวางและรวดเร็วขึ้นในพื้นที่กทม.และจังหวัดข้างเคียง อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและฉับพลันได้ เช่น การต้องยุติการก่อสร้างเพราะคนงานภาคก่อสร้างติด COVID-19 หรือคนงานที่โรงงานแปรรูปอาหารต้องหยุดงานเพราะมีข่าวการติดเชื้อ ทำให้ประเทศที่ซื้ออาหารแปรรูปจากไทยขาดความมั่นใจและชะลอหรือยกเลิกการสั่งซื้อสินค้า

ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวแปรต่างๆ ที่สามารถกระทบกับการคาดการณ์ การเร่งฉีดวัคซีนและเปิดรับการท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้น แม้จะเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในปี 2021 แต่อาจไม่ใช่ตัวแปรทั้งหมดที่จะยืนยันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กล่าวคือเป็น “necessary but not sufficient condition” ครับ".
โพสต์โพสต์