ดร. นิเวศน์: ตลาดหุ้นร้าว?

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
Peter1011
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 320
ผู้ติดตาม: 105

ดร. นิเวศน์: ตลาดหุ้นร้าว?

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Vietnam VI (เป็นที่แรกๆ ที่บทความอ. จะถูก post) - 15 พฤษภาคม 64 - ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

สัปดาห์ก่อน ดัชนีหุ้นของสหรัฐนำโดยดาวโจนส์และแนสแดคตกลงมาแรงติดต่อกันประมาณ 3 วันและทำให้ดัชนีหุ้นตกลงไปประมาณ 4-5% ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวที่รุนแรงมากในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะในช่วงเร็ว ๆ นี้ที่ดัชนีมักจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้นักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยต่างก็ “แห่” เข้ามาลงทุนและดันให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์และเครื่องมือการลงทุนอื่นโดยเฉพาะคริปโตเคอเรนซี่ปรับตัวขึ้นไปอย่างแรงและต่อเนื่องมายาวนาน เหตุผลที่หุ้นตกลงมาแรงนั้น นักวิเคราะห์ต่างก็ชี้ไปที่ภาวะเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2021 ที่ปรับขึ้นสูงถึง 4.2% ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโตขึ้นอย่างร้อนแรงและในที่สุดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางจะต้องปรับขึ้น นอกจากนั้น เม็ดเงิน QE ที่ถูกอัดฉีดเข้าไปในระบบจำนวนมหาศาลก็อาจจะต้องลดลงหรือถูกดูดออก และถ้าเป็นอย่างนั้น ตลาดหุ้นก็จะตกลงมาอย่างแรง เพราะว่าที่จริงแล้ว ดัชนีหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาร้อนแรงยาวนานนั้นก็เป็นเพราะเม็ดเงินที่รัฐอัดเข้าไปในระบบก่อนหน้านั้นนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ภายในสิ้นสัปดาห์ หุ้นก็ปรับตัวกลับขึ้นมาแรงประมาณครึ่งหนึ่งของที่ตกลงไป ดูเหมือนว่านักลงทุนจะไม่ได้กลัวหรือกังวลมากนัก คนส่วนใหญ่น่าจะยังคิดว่าหุ้นจะดีต่อไปอีกนาน

การปรับตัวลงของหุ้นสหรัฐส่งผลไปยังตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลงมาแรงพอ ๆ กัน และก็น่าจะปรับตัวกลับขึ้นไปตามหุ้นอเมริกาเหมือนกันโดยที่ไม่เว้นตลาดหุ้นไทยที่หุ้นตกลงมาแรงโดยเฉพาะวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ที่ช่วงหนึ่งดัชนีตกลงไปถึงประมาณ 70 จุดหรือ 4.5% ในเวลาสั้น ก่อนที่จะปรับตัวกลับขึ้นมาเหลือเพียง -20 กว่าจุด สำหรับผมแล้ว เหตุการณ์ในตลาดหุ้นสหรัฐและของไทยอาจจะเป็นสัญญาณ “อันตราย” ว่าตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องยาวนานและสามารถ “ฝ่า” วิกฤติโควิด-19 มาได้อย่างเหลือเชื่อนั้น อาจจะใกล้ถึงเวลา “หยุด” หรือตกลงมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะถ้าปัจจัยเรื่องสภาพคล่องทางการเงินที่เอื้ออำนวยนั้นกำลังจะหยุดลงและเม็ดเงินถูกทยอย “ดูดออก” เพื่อนำพาให้เศรษฐกิจโลกกลับมาสู่ “สภาวะปกติ” หลังจากที่มีการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมโหฬารมานานกว่า 10 ปี

การวิเคราะห์ของผมนั้น ผมคงไม่ถกเถียงเรื่องของนโยบายหรือผลกระทบต่อตลาดหุ้นซึ่งก็มีคนพูดถึงกันมากแล้ว ผมชอบดู “ประวัติศาสตร์” และเชื่อว่าประวัติศาสตร์มี “พลัง” และสำหรับเรื่องของตลาดหุ้นเองนั้น ประวัติศาสตร์ของดัชนีตลาดหุ้นก็มักจะบอกหรือทำนายอะไรหลาย ๆ อย่างได้ บางทีดีกว่าการที่จะมาวิเคราะห์และทำนายถึงเหตุการณ์อะไรต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่เกิด หรือเกิดขึ้นแล้วก็ไม่มีผลกระทบต่อดัชนีตามที่คาด ตามที่ผมเห็นนั้น ดูเหมือนว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์มักจะมี “รอบยาว ๆ” ของความรุ่งเรืองและเติบโตและก็ตามด้วยรอบยาว ๆ ของความตกต่ำ โดยที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับภาวะของเศรษฐกิจปีต่อปีอะไรมากนัก บางทีตลาดหุ้นอาจจะขึ้นเพราะคนในประเทศส่วนใหญ่กำลังมีอายุมากขึ้นและเก็บเงินลงทุนเพื่อการเกษียณในตลาดหุ้นก็เป็นได้

ช่วงประมาณ 12 ปีเศษ ๆ ที่ผ่านมาคือตั้งแต่ต้นปี 2009 ซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐตกลงมาต่ำมากอานิสงค์จากวิกฤติซับไพร์มมาจนถึงวันนี้ ดัชนีหุ้นสหรัฐก็ปรับตัวขึ้นอย่างเร็วและแรงมาตลอด การตกลงมาในบางช่วงรวมถึงเมื่อเกิดโควิด-19 ในช่วงแรกก็เป็นการตกลงมาเพื่อที่จะขึ้นต่ออย่างรวดเร็ว ดัชนีดาวโจนส์ซึ่งเป็นตัวแทนกิจการขนาดใหญ่ในอเมริกานั้น ในช่วงต้นปี 2009 อยู่ที่ประมาณ 7,223 จุด ปรับขึ้นมาเป็น 34,382 จุด เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2021 หรือเพิ่มขึ้น 4.8 เท่าในเวลาประมาณ 12 ปีเศษ คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นปีละ 13.68% ดัชนีหุ้นแนสแดคซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นเทคโนโลยีอยู่ที่ประมาณ 1,293 กลายมาเป็น 13,429 จุด หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าให้ผลตอบแทนถึงปีละ 21.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนดัชนีหุ้น S&P 500 ซึ่งเป็นตัวแทนของอเมริกาโดยรวมนั้นเพิ่มขึ้นจากประมาณ 770 จุด เป็น 4,174 หรือเพิ่มขึ้น 5.42 เท่าและให้ผลตอบแทนปีละ 14.8% สรุปว่าช่วงประมาณ 1 ทศวรรษที่ผ่านมานั้นเป็น “ทศวรรษทอง” ของการลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกา

ทศวรรษ “ทอง” ของอเมริกาอีกช่วงหนึ่งก็คือตั้งแต่ปลายปี 1987 ถึงปลายปี 1999 และต้นปี 2000 ซึ่งตรงกับปีที่ “ฟองสบู่” หุ้นไฮเทคขึ้นสูงสุดและกำลังจะแตกคิดเป็นช่วงเวลาประมาณ 12 ปีเศษ ๆ เหมือนกันนั้น ดัชนีหุ้นดาวโจนส์เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,910 จุด เป็น 11,224 จุด หรือเพิ่มขึ้นเป็น 5.8 เท่า ผลตอบแทนทบต้นต่อปีอยู่ที่ 15.7% ดัชนีแนสแดคเพิ่มขึ้นจาก 316 จุดเป็น 4,915 จุดหรือเพิ่มขึ้นถึง 15.6 เท่าคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละถึง 24.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน และนั่นก็คือวันที่ฟองสบู่กำลังจะแตก คนที่ซื้อหุ้นในวันนั้นต้องประสบกับวิกฤติที่ทำให้หุ้นอย่างอะมาซอนตกลงไปกว่า 90% ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาเป็นหุ้นที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้ ดัชนีหุ้น S&P ในปี 1987 ซึ่งเป็นช่วงที่ตกต่ำนั้นเริ่มที่ 230 จุด กลายมาเป็น 1,527 จุด หรือเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 เท่าคิดเป็นผลตอบแทนปีละ 16.6% ซึ่งทั้ง 3 ดัชนีปรับตัวดีกว่ารอบนี้

ช่วงระหว่างปี 1999 จนถึงปี 2008 เป็นเวลา 9 ปี ดัชนีดาวโจนส์แทบจะไม่ขยับไปไหนเลย หุ้นเป็นไซ้ต์เวย์ตลอดและตกหนักในปีวิกฤติซับไพร์ม 2009 เหลือเพียง 7,223 จุด จากจุดเริ่มต้นที่ 11,000 จุดหรือลดลง ประมาณ 34% คิดเป็นติดลบปีละ 4.5% แบบทบต้น กลายเป็น “Lost Decade” หรือ “ทศวรรษที่หายไป” โดยที่ทุกอย่างของอเมริกาก็ดูเหมือนว่าจะ “ปกติดี” ดัชนีแนสแดคเองนั้น หลังจาก “ฟองสบู่ไฮเท็ค” ปี 2000 แตก ดัชนีก็ตกลงไปแรงจาก 4,915 จุด เหลือเพียง 1,221 จุดหรือลดลงถึง 75% ในเวลา 2 ปีครึ่ง หลังจากนั้นก็ปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่เคยขึ้นไปเกิน 3,000 จุดก่อนที่จะเจอวิกฤติซับไพร์มซ้ำในปี 2008 ที่ทำให้ดัชนีตกลงไปอีกเหลือเพียง 1,293 จุด ในต้นปี 2009 กลายเป็น “Lost Decade” แม้ว่าการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี่ของอเมริกาจะก้าวหน้าไปมากมาย โดยเฉลี่ยแล้ว ดัชนีหุ้นแนสแดคติดลบไปประมาณปีละ 13.8% ในเวลาติดต่อกัน 9 ปี และนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่เข้าไปซื้อหุ้นเทคในยามที่เป็นฟองสบู่และขายไปในช่วงที่ตลาดหุ้นตกต่ำต่อเนื่องยาวนานเป็นทศวรรษ

ดัชนีหุ้น S&P ซึ่งเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจอเมริกาโดยรวมก็ไม่ได้ดีไปกว่าดัชนีหุ้นอื่นมากนัก ในช่วงเกือบ 10 ปี จากดัชนี 1,527 จุดในปี 2000 หุ้นก็ค่อย ๆ ไหลลงไปเรื่อย ๆ ประมาณ 2 ปีแล้วก็ค่อย ๆ ปรับตัวขึ้นไปเรื่อยในเวลาประมาณ 4 ปี จึงกลับไปที่เดิมในช่วงปี 2007 ก่อนที่จะตกลงมาเนื่องจากวิกฤติซับไพร์มในต้นปี 2009 เหลือเพียง 770 จุด คิดเป็นการตกลงมาถึง 50% ในเวลา 8.5 ปี หรือลดลงแบบทบต้นเฉลี่ยปีละ 7.7% และกลายเป็น “ทศวรรษที่หายไป” ของตลาดหุ้นทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจก็เป็นปกติ เพียงแต่ว่าเป็นช่วงที่ตามมาจาก “ทศวรรษทอง” ที่หุ้นให้ผลตอบแทนสูงติดต่อกันมาปีละถึง 16.6% เป็นเวลากว่า 10 ปี

ผมไม่รู้ว่า “ทศวรรษทอง” ของหุ้นอเมริกาใกล้จบหรือยัง การตกลงมาของหุ้นรอบนี้อาจจะเป็นสัญญาณเตือนก็ได้เพราะมันดำเนินมานานมากพอ ๆ กับ “ประวัติศาสตร์” ที่เคยเกิดขึ้นในปี 1988 ถึงปี 2000 และการปรับตัวขึ้นของหุ้นในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาก็สูงมากและหุ้นแทบจะไม่เคยเหงาเลย นอกจากนั้น ระดับของการ “เก็งกำไร” วัดจากปริมาณการซื้อขายหุ้นโดยเฉพาะของนักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยก็สูงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบน่าจะไม่ต่ำกว่า 50 ปี ดังนั้น ถ้ามันเป็นจุดจบจริงก็น่าจะกระทบกับดัชนีหุ้นแรงและน่าจะยาวนาน บางทีอาจจะกลายเป็น “ทศวรรษที่หายไป” ใหม่ก็เป็นได้ แน่นอน คนจำนวนมากในวันนี้คงจะบอกว่าตลาดหลักทรัพย์เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเดิม มันเป็น “New Normal” แล้ว ที่หุ้นจะโตไปเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลร้อยแปด ส่วนตัวผมเองก็คิดว่ามันก็เป็นไปได้ แต่ถ้าไม่ใช่ล่ะ ความเจ็บปวดก็คงจะรุนแรงมาก ดังนั้น ระวังตัวให้มากขึ้นก็คงจะดี ตลาดเขาเตือนแล้วนะ

====================================================================================================

อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ผมไม่ชัวร์กับเรื่องนี้เพราะ สิ่งที่แน่นอนในอนาคตคือความไม่แน่นอน
To try not to lose money in stocks is when you know what you own and why you own it so that you can buying things well and own a great company at a fair price, therefore the time to sell it is - almost never!
โพสต์โพสต์