ของดีต้องบอกต่อ/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

ของดีต้องบอกต่อ/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา อาจารย์ฝาแฝดนักวิจัยผู้มีชื่อเสียงโด่งดังของประเทศไทย คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต (แฝดน้อง) และ รองศาสตราจารย์ ยืน ภู่ วรวรรณ (แฝดพี่) ได้ร่วมกันทำหลักสูตรโควิด-19 "ชีวิตวิถีใหม่ และ ความฉลาดทางดิจิทัล" มาให้นักเรียนและประชาชนทั่วไปเรียนทางออนไลน์ ในรูปแบบ MOOC (Massively Open Online Course) ซึ่งดิฉันลองเข้าไปเรียนแล้วเห็นว่ามีประโยชน์มาก จึงอยากจะนำมาบอกต่อ

ศาสตราจารย์ยง ได้เขียนแนะนำเอาไว้ว่า “บทเรียนนี้ เน้นชีวิตวิถีใหม่ ที่ โควิด 19 ทำให้เราต้องใช้ปรับสู่วิถีใหม่ ต้องมีความฉลาดทางดิจิทัล ผม และ อาจารย์ยืน ตั้งใจทำ และใช้เวลาเกือบหกเดือนจนแล้วเสร็จ บทเรียนมี 8 บท 42 ตอน ทุกตอนมีคลิปบรรยาย มีเนื้อหาให้อ่าน มีคำถามให้ตอบ เมื่อเรียนจบ สามารถโหลดประกาศนียบัตรดิจิทัล ที่ออกโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”

หัวข้อใน 8 บท มีดังนี้คือ 1. วิกฤตการณ์โควิด 19 และผลกระทบ เนื้อหาในช่วงต้นจะเป็นการเรียนรู้เรื่องโควิดและความรุนแรงของเชื้อไวรัสตัวนี้ โดยศาสตราจารย์ ยง 2. ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) หลังจากนั้นจะเป็นเรื่องของการปรับตัวอยู่กับโรค ในระหว่างที่โรคกำลังระบาด โดยรวมถึงการปรับตัวมีวิถีชีวิตใหม่ทางดิจิทัล เพื่อลดการสัมผัส และเพื่อความสะดวกสบาย
3. การศึกษาวิถีใหม่ ซึ่งพูดถึงรูปแบบการเรียนรู้วิถีใหม่ด้วย 4. ทักษะทางดิจิทัลเพื่ออนาคต บทนี้ ดิฉันคิดว่าเป็นบทที่สำคัญ เพราะนอกจากจะได้รู้จักกับทักษะทางดิจิทัลที่จำเป็นแล้ว ยังได้เรียนรู้ถึงสิทธิการใช้ดิจิทัล 5. ความฉลาดทางดิจิทัล (DQ หรือ Digital Quotient) ซึ่งจำเป็นต้องมีในโลกสมัยนี้และโลกอนาคต “เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำรงชีวิต ที่ทำให้ใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลได้ดีขึ้น” 6. การรู้เท่าทันสื่อใหม่ เพื่อให้สามารถเลือก วิเคราะห์ แยกแยะความจริงออกจากความเห็น รู้ทันข่าวปลอม ข่าวลวง ข่าวหลอก ซึ่งจำเป็นมากในโลกดิจิทัล ที่เราไม่รู้จักตัวตนจริงๆของคนอื่นๆในโลกดิจิทัล 7. การเป็นพลเมืองดิจิทัล ซึ่งรวมถึงการจัดการเวลา การดูแลปกป้องตนเอง และปกป้องความเป็นส่วนตัว บนโลกดิจิทัล และบทสุดท้าย ซึ่งดิฉันคิดว่าสำคัญมาก คือ 8. คุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไซเบอร์

โดยตั้งแต่บทที่ 2 เมื่อเนื้อหาเป็นเรื่องราวของดิจิทัล รศ. ยืน ปรมาจารย์คอมพิวเตอร์รุ่นแรกๆของเมืองไทย ก็จะเป็นผู้บรรยาย ดิฉันเชื่อว่า คนในวัยเกิน 50 ปี คงต้องเคยใช้ตำราเรียนที่แต่งโดยอาจารย์ยืน อย่างแน่นอน ขนาดดิฉันไม่ได้จบทางด้านนี้ เวลาเข้าไปในร้านหนังสือเพื่อหาหนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาศึกษาเพิ่มเติม ยังพบกับหนังสือของอาจารย์มากมาย

อาจารย์ทั้งสองท่านแจ้งไว้ว่า เหมาะสำหรับผู้เรียนตั้งแต่นักเรียนระดับมัธยมต้น ไปจนถึงประชาชนทั่วไป สำหรับดิฉันมองว่า ใครก็ตามที่อยู่ในโลกไซเบอร์ควรจะเรียนรู้ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เริ่มจะเข้าสู่โลกไซเบอร์ เพื่อจะได้ตระหนักถึงประโยชน์และอันตรายที่อาจจะมาพร้อมกับความสะดวกและเทคโนโลยีเหล่านี้ และสำหรับสว. ผู้ที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับไซเบอร์ คือผู้ที่อยู่ในวัย 50 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่ออกจากระบบการศึกษาไปก่อนปี 2543 ท่านควรจะเข้าไปเรียนรู้ค่ะ เรียนฟรีอยู่แล้ว ขอเพียงแต่มีอินเตอร์เน็ต และสามารถแบ่งเวลาเพื่อเรียนเท่านั้น

สำหรับผู้ที่มีความรู้พื้นฐานอยู่บ้างแล้ว หรือผู้ที่ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับ โควิด 19 อย่างสม่ำเสมอ ก็อาจข้ามเนื้อหาบางส่วนในช่วงต้นได้ แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ตั้งแต่บทที่ 4 เป็นต้นไปไม่ควรข้ามไปค่ะ

อาจารย์ยืน เคยโพสต์ในเฟซบุ้คเมื่อปีที่แล้ว เกี่ยวกับการศึกษาวิถีใหม่ (ดิฉันขอปรับคำว่า “แบบปกติใหม่”เป็น “แบบวิถีใหม่” เพื่อให้เหมือนกันทั้งบทความ) ซึ่งดิฉันเห็นด้วยอย่างมาก ดังนี้ “ผู้เรียนสามารถเลือกเรียน ตามที่ตนเองสนใจ เลือกเรียน กับ อาจารย์คนไหนก็ได้ ต่อนี้ไป การศึกษาจะมาอยู่ในมือผู้เรียน ที่เลือกอาจารย์ หรือ ความรู้ที่อยากเรียนได้ ไม่ใช่ ผู้สอนหรือโรงเรียนเลือกผู้เรียน ทั้งนี้ ต้นทุนของการศึกษาถูกลงมาก การเรียนจะสะดวกขึ้นมาก อยู่ที่ไหน ก็เรียนได้ การศึกษาเป็นแพลตฟอร์มที่นำผู้เรียน เข้าหาอาจารย์ที่เลือกได้....จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยมองย้อนดูตัวเอง สมัย สอบเข้าเรียนวิศวะ ไม่ได้เลือกแพทย์เหมือนอาจารย์ยง ชอบคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ทำได้ดีมาก เลือกวิศวกรรม ตลอดสี่ปี ในหลักสูตรปริญญาตรี ไม่มีเรียนวิชาใดเกี่ยวกับชีววิทยาเลยแม้แต่น้อย แต่เรียนคณิตศาสตร์พื้นฐานมาก เรียนวิศวกรรมไฟฟ้า ต่อมาเรียนทางด้านวิศวกรรมระบบ และ วิศวกรรมอุตสาหกรรม มาสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ และเปลี่ยนมาทางดิจิทัล คอมพิวเตอร์ แต่ที่น่าแปลกคือ ในช่วงเวลาตั้งแต่ โควิดระบาด สนใจอยากรู้เรื่องไวรัส ต้องศึกษาทางเคมี ชีวโมเลกุล และชีววิทยา ชีวสารสนเทศ สามารถเรียนรู้เองได้เร็วมาก เริ่มจากจินตนาการ ตั้งคำถาม หาคำตอบ ที่อยากรู้ได้ทุกเรื่อง ทำให้เข้าใจชีววิทยาระดับโมเลกุล ด้วยการเรียนรู้เองแบบวิถีใหม่ ซึ่งทำให้ค้นหา เรียนรู้ เข้าใจโครงสร้างโมเลกุล การฟอร์ม ดีเอ็นเอ และ สามารถอธิบาย กระบวนการตัดต่อสาย ดีเอ็นเอได้ เข้าใจหลักการ RT-PCR วัคซีนแบบ mRNA ที่หลายประเทศสนใจ กำลังแข่งพัฒนา อีกทั้งหาคำตอบแนวคิดของการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ การทำจีเอ็มโอ หรืออนาคต กับการสร้างชีวิตใหม่ ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานจินตนาการทางคณิตศาสตร์ที่มีพื้นอยู่ ทำให้เห็นว่า การศึกษาของเด็กไทยต้องปรับอีกมาก การศึกษาแบบวิถีใหม่ จะไม่แยกขอบเขตวิชาแบบเดิม ทุกวิชาความรู้จะเชื่อมเป็นเนื้อเดียว ไม่มีการแยก ชีว ฟิสิกส์ เคมี จึงมั่นใจว่า การศึกษาในยุคโควิด จะเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล จะหันจากผู้สอน ไปหาผู้เรียน และเป็น Self Directed Learner บนพื้นฐานของแหล่งความรู้ที่มีมากมาย ไม่ต้องรอจากครูสอนอีกต่อไป”

สำหรับดิฉันยึดคติมาตลอดว่า “ไม่มีใครแก่เกินกว่าที่จะเรียนรู้ได้”ค่ะ ดิฉันเรียนใกล้จะจบแล้ว กว่าที่ท่านจะได้อ่านบทความนี้ ดิฉันคงจะได้รับประกาศนียบัตรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว

รอช้าอยู่ไย คลิกเข้าไปเรียนรู้ได้เลยค่ะ
https://learningdq-dc.ku.ac.th


หมายเหตุ

ศาสตราจารย์ นพ. ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2540
รองศาสตราจารย์ ยืน ภู่วรวรรณ รางวัลนักวิจัย ประดิษฐ์คิดค้น จากสภาวิจัยแห่งชาติ 7 ครั้ง เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2539 ผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มอ. มก. และ สพฐ. และเป็นที่ปรึกษา คิวบิกครีเอทีฟ
โพสต์โพสต์