หน้า 1 จากทั้งหมด 1

มุมมองการฟื้นตัวของกลุ่มโรงแรม โดย เซียนมี่

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.พ. 07, 2021 8:18 pm
โดย เม่ากลับใจ
มุมมองการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจโรงแรม
โดย เซียนมี่ ทิวา ชินดาพงศ์

🛫🛫🛫🛫🛫🛫🛫🛫🛫🛫🛫🛫
=========================

เป็นประจำทุกสัปดาห์ที่มีความเคลื่อนไหวอะไรในตลาดหุ้นในสัปดาห์นั้น สิ่งที่แอดมินทำเป็นประจำ คือ การขอความเห็น “เซียนมี่ ทิวา ชินธาดาพงศ์” ในกลุ่มนั้นๆเกี่ยวกับการลงทุนว่ามีประเด็นอะไรใหม่ๆบ้างที่มีการอัพเดท เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ในการลงทุน

ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มโรงแรม ได้แก่ MINT, CENTEL และ ERW มีความเคลื่อนไหวที่รุนแรงและปริมาณการซื้อขายที่มากกว่าปกติ แอดมินฯ จึงได้ลองสอบถามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนในกลุ่มโรงแรมกับทาง “เซียนมี่” ว่า มีประเด็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป, มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจในการลงทุนหรือไม่ หรือ เซียนมี่ มีความคิดเห็นต่อกลุ่มนี้อย่างไร

โดย “เซียนมี่” ให้ความเห็นว่ากลุ่มโรงแรมที่มีการเคลื่อนไหวรุนแรงในสัปดาห์ทีผ่านมานั้นน่าจะเป็นการมองไปในอนาคตว่าธุรกิจโรงแรมน่าจะฟื้นตัว โดยเป็นการเล่นเพื่อไปรับอนาคตที่น่าจะเกิดขึ้น แต่เซียนมี่มองว่าการฟื้นตัวของโรงแรมนั้นอาจจะใช้ระยะเวลาที่นานกว่าที่ตลาดคาดคิดจากหลายๆเหตุผล

1. จากการเดินทางด้วยเครื่องบินสำหรับระยะทางที่ไกลระดับข้ามทวีปนั้น “สายการบินที่บินตรง (Direct Flight)” และ “สายการบินที่ต้องเปลี่ยนเครื่อง (Transit Flight)” นั้นมีปริมาณเฉลี่ยผู้โดยสารเท่าๆกันที่ประมาณ 50%

โดยค่าตั๋วเครื่องบินสำหรับ “Direct Flight” นั้นแพงกว่าตั๋วเครื่องบิน Transit Flight ประมาณ 1 เท่าตัว เช่น หากบินตรงจากประเทศไทยไปประเทศอังกฤษ ค่าตั๋วเครื่องบินสำหรับ Direct Flight จะอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาท แต่หากเดินทางด้วย Transit Flight ค่าตั๋วเครื่องบินจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท

สำหรับ #Direct_Flight กลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มลูกค้าระดับบนซึ่งโดยมากเป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุประมาณ 50 ปี ขึ้นไป ซึ่งในสถานการณ์ COVID-19 กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มช่วงอายุที่มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจาก COVID-19 สูงในกรณีที่มีการเสียชีวิต ดังนั้นหาก สถานการณ์ COVID-19 ยังไม่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ผลกระทบจากการเดินทางของกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้น่าจะยังไม่กลับมา เพราะการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวเพื่อสันทนาการอาจจะไม่คุ้มค่าหากต้องเสี่ยงกับการเสียชีวิต ดังนั้นกว่ากลุ่มนี้จะกลับมาเดินทางอาจจะต้องสถานการณ์ COVID-19 หายไปเลย หรือ วัคซีนสามารถหยุดการระบาดของเชื้อ COVID-19 แบบมีนัยยะ

สำหรับตั๋วเครื่องบินสำหรับ #Transit_Flight กลุ่มลูกค้าโดยมากจะเป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลาง และ รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นถึงวัยกลางคนที่ต้องการท่องเที่ยวด้วยค่าใช้จ่ายที่ Value to Money หรือ คุ้มค่าสำหรับเงินที่จ่าย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีอัตราความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่ต่ำในกรณีติด COVID-19

(โดยสาเหตุที่ค่าตั๋วเครื่องบินสำหรับ Transit Flight ถูกกว่าเพราะว่า Transit Flight เป็นการรวบรวม Demand ของผู้โดยสารจากหลายประเทศ แล้วมารวมกันเพื่อทำให้ Occupancy ของเครื่องบินนั้นสูงโดยใช้ราคาที่ถูกลงเพื่อจูงใจให้ผู้โดยสารให้มีปริมาณที่มาก เพื่อลดความเสี่ยงจากการมี Occupancy ที่ต่ำ และเมื่อมีผู้โดยสารปริมาณมากเพียงพอ ก็จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อผู้โดยสารลดลง จึงทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินสำหรับ Transit Flight จึงถูกกว่า)

แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ที่การเดินทางโดยเครื่องบินจะเป็นการบินตรงเท่านั้น การเดินทางแบบ Transit Flight จึงลดลงไปมาก อาจจะเหลือการเดินทางภายในประเทศ หรือ ภายในทวีปเดียวกัน เพราะมีความจำเป็นในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ดังนั้นค่าตั๋วเครื่องบินจากการบินตรงที่มีราคาสูงนั้นจะทำให้ผู้ที่ยังไม่ได้เร่งรีบในการเดินทาง เช่น การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวอาจจะรอให้สถานการณ์นั้นกลับมาปกติก่อน เพราะ ไม่อยากจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินแพง

ซึ่งปัจจัยในการโดยสารเครื่องบินทั้งในกลุ่มของ Direct Flight ที่อาจจะหายไปด้วยเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจากการเสียชีวิตที่สูงหากติดเชื่อ COVID-19 และ การค่าตั๋วที่ถูกสำหรับ Transit Flight อาจจะยังไม่กลับมาในเร็วๆนี้จนกว่าสถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลาย ซึ่งประเด็นนี้น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวชาวยุโรป หรือ ชาวอเมริกา ที่เป็นกลุ่มหลักของ Transit Flight หายไป จะเหลือเพียงกลุ่มชาวเอเชียด้วยกันที่สามารถเดินทางได้ ดังนั้นภาพการฟื้นตัวอาจจะต้องใช้ระยะเวลาที่น่าจะอีกนานพอสมควร

2. ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 หากดูจาก REVPAR ของบริษัทที่เป็นกลุ่มโรงแรมที่จดทะเบียนในประเทศไทยจะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยเหตุผลที่ทำให้ REVPAR ลดลงนั้นมาจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เติบโตลดลง, กำลังซื้อของคนไทยลดลง และ ปริมาณโรงแรมที่เพิ่มขึ้น ทำให้ Supply ของโรงแรมเติบโตมากกว่า Demand จึงทำให้ REVPAR นั้นมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวแม้ว่ายังจะไม่เกิด COVID-19 สถานการณ์ช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 ก็แย่ลงเรื่อยๆ ซึ่ง ณ ตอนนั้นก็เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากของกลุ่มโรงแรมแล้ว แต่พอเจอสถานการณ์ COVID-19 นั้น REVPAR ลดลงกว่าปกติมาก ทั้งทางด้านปริมาณนักท่องเที่ยว และ ราคาต่อห้องที่ลดลง เพื่อจูงใจให้คนไทยมาลองใช้บริการ

ซึ่งหากมองข้ามไปในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เซียนมี่ มองว่า REVPAR ยังไม่น่าจะกลับไปสู่จุดเดิมได้ เพราะ ปริมาณนักท่องเที่ยวยังไม่น่าจะกลับมาเป็นปกติจากเหตุผลในข้อที่ 1 ดังนั้นก็ต้องมีการแข่งขันกันลดราคาลงเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดกัน ดังนั้นหากมองไปข้างหน้าสถานการณ์จากที่เซียนมี่ประเมินก็ยังคงมองว่าน่าจะเหนื่อยไปอีกสักระยะและการฟื้นตัวของ REVPAR ก็น่าจะฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ

ในส่วนของบริษัทที่มี Portfolio เป็นโรงแรมในต่างประเทศในโซนยุโรป เช่น MINT อาจจะยังคงได้รับผลกระทบ เพราะ โรงแรมของ MINT ในหลายๆพื้นที่นั้น มีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ต้องมีการรวมตัวของคนเป็นจำนวนมาก เช่น Fashion Week, Mobile Expo หรือ การแข่งขันฟุตบอล UEFA Champions League ซึ่งจากสถานการณ์ Covid-19 อาจจะทำให้กิจกรรมเหล่านี้ไม่สามารถจัดการได้เต็มที่ ดังนั้นอัตราการเข้าพัก หรือ ปริมาณการจัดงานอาจจะยังคงไม่สามารถกลับมาได้เป็นปกติ หรือรูปแบบการจัดงานต่างๆอาจจะเปลี่ยนแปลงไปเลยก็เป็นไปได้

ซึ่งในกลุ่มโรงแรม ต้นทุนหลักจะเป็น Fixed Cost ดังนั้นการขาดหายไปของรายได้ หรือ Revpar ที่ลดลง หมายถึงกำไรที่ลดลงทันที

ในด้านต้นทุน ต้นทุนหลายๆอย่างนั้นทางกลุ่มโรงแรมอาจจะพอที่จะควบคุมได้ เช่น ต้นทุนพนักงาน (โดยการลดเวลาการทำงาน, ยกเลิกการทำ OT, ลดเงินเดือนพนักงาน, ลดเงินเดือนผู้บริหาร หรือ ไม่จ่ายโบนัส เป็นต้น) หรือ , ค่าสาธารณูปโภค (เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ) เแต่ในด้าน “ต้นทุนดอกเบี้ย” ที่เป็นสัดส่วนที่มากต่อต้นทุนนั้นเป็นต้นทุนคงที่ที่ส่งผลต่อกระแสเงินสดจริงที่ปรับลดลงได้ยาก ซึ่งอาจจะเป็นต้นทุนที่ทำให้หลายๆผู้ประกอบการโรงแรมนั้นอาจจะยังไม่สามารถกลับมาทำกำไรได้หากต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยจริง

ซึ่งในกลุ่มโรงแรมนั้น บางบริษัทมีต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่น้อย หรือบางบริษัทมีต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงมาก ซึ่งหากสถานการณ์ยังดีขึ้นแบบช้าๆ การเพิ่มทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องนำความเสี่ยงเรื่องดอกเบี้ยจ่ายที่มากหรือน้อยมาประกอบการตัดสินใจที่จะลงทุนและคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะต้องเพิ่มทุนในอนาคตหรือไม่

ซึ่งประเด็นต้นทุนดอกเบี้ยนี้ก็อาจจะเป็นจุดดีสำหรับกลุ่มโรงแรมที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เพราะ หากสถานการณ์ลากยาว การเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อเสริมสภาพคล่องสามารถทำได้ไม่ยาก แต่หากเป็นโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และมีการกู้เงินเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถเสริมสภาพคล่องได้ก็อาจจะทำให้โรงแรมหลายๆแห่งนั้นปิดกิจการลงไป ซึ่งก็น่าจะทำให้ Supply ของกลุ่มโรงแรมที่มีมากนั้นลดลง ก็อาจจะส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นกลับมาทำกำไรได้ดีกว่าเดิมจาก Supply ที่ลดลง หรือ อาจจะเป็นโอกาสในการซื้อโรงแรมที่ปิดกิจการในราคาถูกลงเนื่องจากโรงแรมที่เป็นหนี้เสียในระบบ

ซึ่งถึงแม้ว่าภาพที่ “เซียนมี่” ได้ให้มุมมองเอาไว้อาจจะทำให้เรากังวลได้ว่าการฟื้นตัวนั้นอาจจะใช้ระยะเวลาที่นานกว่าที่คิด และ รวมถึงการกลับมาทำกำไรของบริษัทเหล่านี้ แต่ “เซียนมี่” ก็เชื่อว่าการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวนั้นต้องกลับมาไม่ช้าก็เร็ว เพราะ เราคงไม่มีอะไรที่สามารถ Disrupt ประสบการจากการเดินทางได้เองจริง ดังนั้นกลุ่มโรงแรมก็น่าจะกลับมาแน่ เพียงแค่เมื่อไร ถ้าสถานการณ์ COIVD-19 หากฟื้นตัวได้เร็ว แน่นอนว่าผลตอบแทนจากการลงทุนก็จะได้เร็วและมาก แต่หากสถานการณ์ COVID19 คลี่คลายช้า แทนที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี บริษัทอาจจะมีความเสี่ยงในการเพิ่มทุน ดังนั้นก็อยู่ที่นักลงทุนว่าจะจับ Timing ไหนให้เหมาะสมที่สุดเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะเวลาที่สั้นที่สุด หรือ ลดความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องที่จะนำไปสู่การเพิ่มทุน

กราบขอบพระคุณ #เซียนมี่ ทิวา ชินธาดงพงศ์ สำหรับการแบ่งปันมุมมอง มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

การลงทุนมีความเสี่ยง เม่าเพียงให้ข้อมูลในการลงทุน กรุณาพิจารณาให้รอบคอบ และ ครบทุกมุมก่อนการลงทุนทุกครั้ง

ชอบกด like ใช่กด share
ฝากเพจการลงทุน “เม่ากลับใจ”
ไว้ในอ้อมใจนักลงทุนทุกท่านด้วยครับ

💥💥💥💥💥💥💥💥💥💥💥